QR Code สแกนพลิกโลก

หากย้อนไปเมื่อปี ค.ศ. 2009-2010 คุณคงสงสัยไม่น้อยว่าเจ้าสัญลักษณ์สี่เหลี่ยมอย่าง “QR Code” (ย่อมาจาก Quick Response Code) จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเราขนาดไหน


ในตอนนั้นการใช้งาน QR Code มีเพียงแค่ใช้กล้องบนสมาร์ทโฟนโฟกัสที่สัญลักษณ์บนหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสารหรือป้ายโฆษณา แล้วข้อมูลต่างๆ อย่างลิงก์เว็บไซต์ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ก็จะปรากฏต่อสายตาอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องใช้นิ้วจิ้มอักษรเพื่อค้นหาเลยแม้แต่ตัวเดียว ช่วงนั้นเราต่างทึ่งในความสามารถของมัน แต่ก็ยังคิดว่าไม่น่าจะเข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตของเรานักนอกเสียจากตอนถ่ายรูปเพื่อ “เพิ่มเพื่อน” ในแอปพลิเคชั่น LINE


จนกระทั่งข่าวจากประเทศจีนกล่าวถึงเจ้า QR Code นี้ยิ่งกว่าดาราดังคนไหน เพราะไม่ว่าจะตามตลาดสด ศูนย์รวมร้านอาหาร หรือร้านขายของข้างทาง เขามีป้าย QR Code ติดไว้หน้าร้าน ลูกค้าก็ยกสมาร์ทโฟนแชะจ่ายเงินได้เลย และยิ่งมี “Mobile Payment” จึงเข้ามาเปลี่ยนแปลงการจับจ่ายในชีวิตประจำวันของชาวจีนให้ผลัดใบสู่ “สังคมไร้เงินสด” อย่างเต็มตัว แม้แต่วนิพกพเนจรหรือนักดนตรีข้างทางยังต้องปรับตัวติด QR Code ที่กล่องใส่เงินเลยด้วยซ้ำ!


ทั้งหมดนี้ขับเคลื่อนโดยผู้ให้บริการ 2 เจ้าดังอย่าง WeChat และ Alipay ทำให้ยอดการจับจ่ายผ่านมือถือของชาวจีนเมื่อปี 2016 พุ่งสูงไม่มากไม่มาย แค่ 5.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 27.5 ล้านล้านบาทเท่านั้นเอง!


หากให้ฉายภาพและดึงเข้ามาใกล้ตัวคนไทยอีกสักนิดจะพบว่าเมื่อปี 2559 ร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ในไทยเริ่มติดป้าย Alipay สื่อสารกับนักท่องเที่ยวจีนกว่า 10 ล้านคนที่มาเยือนบ้านเรา เปิดให้ชาวจีนจ่ายค่าสินค้าและบริการผ่านมือถือได้ง่ายๆ ไม่ต้องกังวลว่าเงินสดที่แลกมาจะไม่พอกับความต้องการช้อปปิง หรือแม้แต่ในซีรีส์เกาหลียอดฮิตตัวละครยังยกมือถือจ่อไปที่ QR Code จ่ายค่าสินค้าที่เจ้าของแบรนด์เป็นสปอนเซอร์ละครเรื่องนั้นๆ โดยไม่ต้องพกกระเป๋าสตางค์ให้ยุ่งยาก ดูสะดวกง่ายจนเราแอบเคลิ้มอยากใช้ระบบนี้ตามไปด้วย

QR Code จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทยอีกต่อไป แต่ได้เข้ามาปฏิวัติพลิกโฉม “โลกแห่งการเงิน” ของเราอย่างสิ้นเชิง อาศัยความสะดวกชักจูงให้คนรุ่นใหม่โบยบินสู่สังคมไร้เงินสด ธนาคารใหญ่ทั้งหลายอัดแคมเปญโฆษณาบนหน้าจอทีวีและออนไลน์เพื่อดึงผู้ประกอบการและเจ้าของร้านค้าทั่วประเทศทั้งรายใหญ่รายย่อยเข้ามาเปิดใช้ QR Code ซึ่งสามารถผูกบัญชีธนาคารกับเลขบัตรประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือได้มากกว่า 1 ธนาคารตามข้อกำหนดพร้อมเพย์ และจะได้รับอุปกรณ์เป็นป้าย QR Code ของร้านค้านั้นๆ ไว้ให้ลูกค้าแชะจ่ายเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์หรือกระแสรายวันอย่างสะดวก อย่างเช่นแม่มณี Money Solution ของ SCB ที่มาตอบโจทย์ให้พ่อค้าผู้ประกอบการแก้ปัญหาการที่ต้องมีเงินสดใบเล็กใบย่อยไว้เตรียมทอนลูกค้า แต่ตอนนี้ไม่ต้องกังวลว่าเงินสดที่ได้มาจะหายไป เพราะทุกอย่างจัดเก็บในระบบหมดแล้ว


ขณะที่มิติของคนซื้อสินค้าทั่วไปเรียกได้ว่า “ง่ายแค่ปลายนิ้ว” คำพูดนี้อธิบายได้อย่างเห็นภาพมากที่สุดแล้ว เพราะสามารถใช้มือถือสแกน QR Code เพื่อโอนเงินช้อปปิ้งออนไลน์จ่ายเงินในตลาดสด, ตลาดนัด, โรงอาหาร, ร้านกาแฟ, แท็กซี่, รถเมล์ หรือกระทั่งวินมอเตอร์ไซค์ก็ยังจ่ายได้เช่นกัน


ความดีงามของ QR Code ไม่ได้มีเพียงแค่นั้นแต่ยังพ่วงเรื่องการจัดระเบียบวินัยทางการเงินเพิ่มขึ้นเพราะทำให้เราหันมาใช้จ่ายผ่านมือถือซึ่งเป็นการใช้เงินของตัวเอง ทำให้ระมัดระวังเรื่องการนำเงินในอนาคตมารูดจ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้นด้วย


เมื่อเทคโนโลยีเสิร์ฟความง่ายถึงปลายนิ้วขนาดนี้ เหลือเพียงแค่คนซื้อและคนขายเปิดใจลองใช้งานให้ชินมือ เพื่อก้าวข้ามสู่โลกการเงินใบใหม่ซึ่งยังมีเรื่องให้ตื่นตาตื่นใจอีกเพียบในอนาคต