จัดพอร์ตลงทุนระยะสั้น กลาง ยาว อย่างไรให้สำเร็จ

ในชีวิตของเรามักมีความต้องการต่างกันตามแต่ละช่วงอายุ เช่น วัยรุ่นอยากได้รองเท้าเท่ๆ สักคู่ เมื่อมีเงินเดือนเป็นของตัวเองก็อยากได้รถยนต์ อยากไปเที่ยวต่างประเทศ เมื่อฐานะมั่นคงก็ต้องการสร้างครอบครัว  มีบ้านเดี่ยวสักหลัง ที่สำคัญมีเป้าหมายเก็บเงินเพื่อวัยเกษียณ


การลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวม คือ การวางแผนการเงินที่มีโอกาสทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์ทั้งสองเป็นเพียงเครื่องมือทางการเงินเพื่อทำให้ไปถึงเป้าหมายที่ต้องการเท่านั้น


การวางแผนการเงินที่แท้จริง คือ การวางเป้าหมายให้เหมาะสมและลงทุนให้สอดคล้องกับสไตล์และความต้องการของตัวเอง และหาหนทางลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เทคนิคสำคัญประการหนึ่งเพื่อให้ประสบความสำเร็จ คือ การตั้งเป้าหมายการลงทุนตามระยะเวลา

การลงทุนระยะสั้น

ธรรมชาติของเป้าหมายทางการเงินระยะสั้น  คือ  เพื่อตอบสนองความต้องการส่วนตัว เช่น การท่องเที่ยว เก็บเงินดาวน์รถยนต์ ดังนั้น การจัดพอร์ตลงทุนจึงอยู่ในช่วง 1 – 3 ปี


เช่น นาย ก. อายุ 25 ปี ทำงานบริษัทเอกชน เงินเดือน 27,000 บาท ตั้งใจว่าอีก 1 ปีข้างหน้าจะเก็บเงินให้ได้ 30,000 บาทเพื่อไปดาวน์รถยนต์ ขณะที่ นาย ข. อายุ 27 ปี เงินเดือน 30,000 บาท วางแผนว่า 3 ปีข้างหน้าจะเก็บ 50,000 บาทไปเที่ยวญี่ปุ่น


เนื่องจากเป็นการเก็บเงินเพื่อตอบสนองความต้องการส่วนตัว ดังนั้น เป้าหมายที่กำหนดขึ้นมาต้องไม่กระทบกับสถานะทางการเงินหรือการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญอย่าให้กระทบต่อการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ


สำหรับการลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการระยะสั้นควรเน้นเรื่องความปลอดภัย ดังนั้น พอร์ตลงทุนจึงควรเป็นแบบระมัดระวัง เน้นลงทุนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง มีสภาพคล่องสูง โดยคาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 5% ต่อปี


เช่น กองทุนรวมตราสารเงิน  ประมาณ 20% กองทุนรวมตราสารหนี้  ประมาณ 30% กองทุนรวมผสม ประมาณ 40% และกองทุนรวมหุ้น ประมาณ 10% เป็นต้น


เพื่อให้ได้เงิน 30,000 บาทตามเป้าหมาย นาย ก. ต้องลงทุนทุกเดือนๆ ละ 2,444 บาท เป็นเวลาเป็นเวลา 12 เดือน และต้องได้ผลตอบแทน 5% ส่วนนาย ข. ต้องลงทุนทุกเดือนๆ ละ 1,291 บาท เป็นเวลา 36 เดือน (3 ปี) และจัดพอร์ตลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 5% ถึงจะเก็บเงินได้ 50,000 บาท

การลงทุนระยะปานกลาง

เป้าหมายการเงินระยะปานกลางมักเป็นการเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต หรือยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น เช่น มีบ้านเดี่ยว หรือเพื่อแต่งงาน ดังนั้น เป้าหมายการเก็บเงินจะอยู่ช่วงประมาณ 3 – 7 ปี


(ขอยกตัวอย่าง นาย ก. และนาย ข. เหมือนเดิม แต่ให้ทั้งสองมีอายุเพิ่มขึ้นคนละ 1 ปี)


เช่น นาย ก. อายุ 26 ปี เงินเดือน 28,500 บาท ตั้งใจว่าอีก 5 ปีข้างหน้า (ตอนอายุ 30 ปี) จะเก็บเงินให้ได้ 100,000 บาทเพื่อดาวน์บ้านเดี่ยว ส่วนนาย ข. อายุ 28 ปี เงินเดือน 31,500 บาท มีแผนเก็บเงิน 500,000 บาทเพื่อเป็นงานแต่งงานในอีก 6 ปีข้างหน้า (ตอนอายุ 33 ปี)


เนื่องจากเป็นการเก็บเงินที่ใช้เวลานานพอสมควร จึงสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงความเสี่ยงสูงได้ และเน้นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง ดังนั้น การลงทุนที่เหมาะสมควรเน้นกองทุนรวมประเภทต่างๆ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ ประมาณ 10% กองทุนรวมผสม ประมาณ 20% กองทุนรวมหุ้น ประมาณ 50% และลงทุนหุ้นปันผล ประมาณ 20% โดยคาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 8% ต่อปี เป็นต้น


เพื่อให้ได้เงิน 100,000 บาทตามเป้าหมาย นาย ก. ต้องลงทุนทุกเดือนๆ ละ 1,775 บาท เป็นเวลา 48 เดือน (4 ปี) ด้วยผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 8% ขณะที่นาย ข. เก็บเงินประมาณ 5,433 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 72 เดือน (6 ปี) ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 5% ถึงจะเก็บเงินได้ 500,000 บาท


ในส่วนของนาย ก. หลังจากในปีแรกที่ได้เงินดาวน์รถครบตามแผนที่วางเอาไว้แล้ว ในปีถัดก็ไม่ต้องกันเงินไปเก็บออมสำหรับดาวน์รถอีก ดังนั้น เงินเก็บในแต่ละเดือนก็จะเป็นเป้าหมายเพื่อดาวน์บ้านเท่านั้น (1,775 บาท) ขณะที่นาย ข. เนื่องจากเป้าหมายเก็บเงินเพื่อไปญี่ปุ่นยังมีต่อไป ทำให้ต้องกันเงินเพื่อนำไปลงทุนรวมกันเดือนละ 6,724 บาท (เงินลงทุนเพื่อไปเที่ยวญี่ปุ่น 1,291 + เงินลงทุนเพื่องานแต่ง 5,433 บาท)

การลงทุนระยะยาว

ถ้าพูดถึงแผนการเงินระยะยาวจะหมายถึงการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ ดังนั้น ระยะเวลาการลงทุนจึงขึ้นอยู่กับความต้องการเกษียณ เช่น ปัจจุบันอายุ 30 ปี ต้องการเกษียณตอน 60 ปี แสดงว่ามีเวลาในการก็บเงิน 30 ปี เป็นต้น


การวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณมีความสำคัญมากกว่าการเก็บเงินระยะสั้นและปานกลาง เพราะมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตช่วงวัยเกษียณ ทุกคนจึงต้องวางแผนให้รอบคอบและชัดเจนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย


(ขอยกตัวอย่าง นาย ก. และนาย ข. เหมือนเดิม แต่ให้ทั้งสองมีอายุเพิ่มขึ้นคนละ 1 ปี)


นาย ก. อายุ 27 ปี เงินเดือน 30,000 บาท วางแผนชีวิตเกษียณจากการทำงานตอนอายุ 60 ปีและจะไปใช้ชีวิตที่ต่างจังหวัดและอยากมีเงินใช้เดือนละ 25,000 บาท และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่จนถึง 85 ปี หมายถึงจะใช้ชีวิตหลังเกษียณ 25 ปี หรือ 300 เดือน แสดงว่าก่อนเกษียณต้องมีเงินเก็บอย่างน้อย 7,500,000 บาท (25,000 คูณ 300)


ส่วนนาย ข. อายุ 29 ปี วางแผนชีวิตเกษียณจากการทำงานตอนอายุ 60 ปี อยากมีเงินใช้เดือนละ 30,000 บาท แต่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่จนถึง 80 ปี ดังนั้น ต้องมีเงินเก็บก่อนเกษียณอย่างน้อย 7,200,000 บาท


เนื่องจากเป็นการวางแผนการเงินระยะยาวจึงสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ นาย ก. และนาย ข. สามารถจัดพอร์ตลงทุนผ่านกองทุน RMF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น 30% กองทุนรวมผสม 20% กองทุนรวมหุ้น 20% และอีก 30% ลงทุนในหุ้นปันผล โดยคาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 10% ต่อปี เป็นต้น (จากนั้นทั้งคู่ค่อยปรับพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมกับช่วงอายุที่เพิ่มขึ้น ด้วยการทยอยลดสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงสูงลง)


สมมติว่านาย ก. ตัดสินใจเก็บเงินเพื่อวัยเกษียณตั้งแต่อายุ 27 ปี ไปจนถึงอายุ 60 ปี (ระยะเวลา 34 ปี หรือ 408 เดือน) ถ้าเป้าหมายการเงินอยู่ที่ 7,500,000 บาท หมายความว่าต้องเก็บเงินเดือนละ 2,190 บาท ด้วยผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 10%


เช่นเดียวกัน นาย ข. เก็บเงินเพื่อเอาไว้ใช้หลังวัยเกษียณตั้งแต่อายุ 29 ปี ไปจนถึงอายุ 60 ปี (ระยะเวลา 32 ปี หรือ 384 เดือน) ถ้าเป้าหมายการเงินอยู่ที่ 7,200,000 บาท หมายความว่าต้องเก็บเงินเดือนละ 2,585 บาท ด้วยผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 10%


อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนาย ก. ยังต้องเก็บเงินดาวน์บ้านไปจนถึงอายุ 30 ปี ดังนั้น ช่วงอายุ 27 – 30 ปี ต้องกันเงินเก็บไว้ 3,965 บาท (เงินเก็บดาวน์บ้าน 1,775 บาท + เงินเก็บเพื่อเกษียณ 2,190 บาท) และนับตั้งแต่อายุ 31 ปี จะเหลือเพียงเงินที่ต้องเก็บเพื่อเกษียณอายุ


ส่วนนาย ข. ยังเหลือเก็บเงินเพื่อไปเที่ยวญี่ปุ่นอีก 1  ปี และงานแต่งงานอีก 5 ปี ดังนั้น ตอนอายุ 29 ต้องกันเงินเก็บไว้รวม 9,309 บาท (เงินเก็บเพื่อเที่ยวญี่ปุ่น 1,291 บาท + เงินเก็บเพื่องานแต่ง 5,433 บาท + เงินเก็บเพื่อเกษียณ 2,585 บาท) แต่พออายุ 30 จนถึงอายุ 33 จะเก็บเงินต่อเดือนรวม 8,018 บาท (เพราะเก็บเงินเพื่อไปเที่ยวญี่ปุ่นถึงเป้าหมายแล้ว) ถัดจากนั้นไปจนถึงอายุ 60 จะเหลือเก็บเงินเพื่อวัยเกษียณเท่านั้น


จะเห็นได้ว่าหากต้องการประสบความสำเร็จจากการวางแผนการเงินระยะสั้น ระยะปานกลางหรือระยะยาว สิ่งสำคัญ คือ การมีเป้าหมายชัดเจน คำนึงถึงการกระจายความเสี่ยง แล้วลงมือปฏิบัติอย่างมีวินัย เพื่อช่วยให้การลงทุนมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ