ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
เงินเฟ้อ (Inflation) คืออะไร? ต้องกังวลแค่ไหน เรื่องน่ารู้สำหรับนักลงทุน
พอได้ยินว่าคำว่า “เงินเฟ้อขยับขึ้น” นักลงทุนคงร้อนๆ หนาวๆ กันบ้างกันแล้ว เพราะเงินเฟ้อถูกยกให้เป็นความเสี่ยงสำคัญเรื่องหนึ่งสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์แทบจะทุกประเภท และสาเหตุที่เงินเฟ้อเร่งตัวตั้งแต่ต้นปี 2561 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่ามาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เด่นชัด โดยเฉพาะฝั่งอุปสงค์ที่เร่งตัวหนุนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อันเป็นปัจจัยการผลิตเร่งตัวสูงขึ้น เช่น ถ่านหิน, ก๊าซธรรมชาติ, น้ำมัน เป็นต้น
ถ้าพูดถึงความน่ากลัวของเงินเฟ้อ หนีไม่พ้นการทำให้ค่าของเงินลดลง จะซื้อของแต่ละชิ้นก็ต้องใช้เงินมากขึ้น วิธีการแก้ปัญหาเบื้องต้นก็คือ หาทางเพิ่มค่าของเงินในกระเป๋าตัวเองให้มากกว่าเดิม หรืออย่างน้อยๆ ก็หาให้ได้เท่ากับเงินเฟ้อที่เสียไปด้วยวิธีการลงทุนต่างๆ
นอกจากเงินเฟ้อมีผลต่อการปรับตัวขึ้นลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ยังมีผลกระทบต่อผลตอบแทนจากการลงทุน ทั้งผลตอบแทนที่อยู่ในรูปดอกเบี้ยจากการฝากเงินหรือผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เพราะเงินเฟ้อที่ขยับขึ้น ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ปรับลดลง
ตัวอย่าง
· สินทรัพย์ A ให้ผลตอบแทน 2% ต่อปี
· อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 3.5% ต่อปี
สมมติว่ามีเงิน 1 ล้านบาท นำไปลงทุนสินทรัพย์ A พอครบ 1 ปี จะมีเงิน 1,020,000 บาท หรือเพิ่มขึ้น 2% แต่กลับซื้อของได้น้อยลง 3.5% เพราะเงินเฟ้อทำให้อำนาจซื้อ (Purchasing Power) ของเงินลดลง หรือพูดได้อีกอย่างว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนสินทรัพย์ A แพ้เงินเฟ้อ (เงินเฟ้อ – ผลตอบแทนที่ได้รับ)
คำถามที่ตามมา ก็คือ “ลงทุนอะไร ให้ชนะเงินเฟ้อ”
ตามหลักทฤษฎีแล้ว ช่วงอัตราเงินเฟ้อขยับขึ้น การลงทุน “ทองคำ” ดูดีที่สุด เพราะเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าในตัวเองและป้องกันเงินเฟ้อได้ดีมาก แต่มีหลายคนที่รู้สึกว่าทองคำนั้น ถึงแม้จะซื้อได้ง่าย แต่เวลาขายไม่ค่อยสะดวก หรือบางคนไม่อยากถือทองคำ เพราะเก็บรักษายาก
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ภาระจึงตกมาอยู่ที่ “หุ้น” ถึงแม้หลายคนอาจมองว่าช่วงเศรษฐกิจกำลังขยายตัว ตลาดหุ้นมีความผันผวนและความเสี่ยงสูง การกำหนดกลยุทธ์การลงทุนจึงทำได้ยาก ถ้าไม่ระมัดระวัง นอกจากจะไม่สามารถป้องกันเงินเฟ้อได้แล้ว ยังมีโอกาสขาดทุน
อย่างไรก็ตาม หุ้นก็ยังเป็นทางเลือกกับการลงทุนช่วงเงินเฟ้อกำลังจะมา แต่ต้องเลือกหุ้นที่มีความปลอดภัยสูง นั่นคือ หุ้นที่ให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) สูง โดยอัตราผลตอบแทนดังกล่าว สามารถดูได้ที่เว็บไซต์แต่ละบริษัท (ข้อมูลนักลงทุนสัมพันธ์) จะมีข้อมูลปีปัจจุบันและย้อนหลัง 5 – 10 ปี หรือจากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งทำการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวย้อนหลัง 5 ปี
อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล คำนวณจากมูลค่าปันผลต่อหุ้นเทียบกับราคาหุ้น หากหุ้นตัวใดมีอัตราสูง หมายถึงหุ้นตัวนั้นให้ผลตอบแทนเงินปันผลสูง นักลงทุนสามารถเปรียบเทียบระหว่างหุ้นแต่ละตัว เพื่อดูว่าหุ้นไหนน่าสนใจมากกว่ากัน โดยอัตราผลตอบแทนนี้สามารถลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหุ้นได้
โดยปกติหุ้นที่มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลควรให้สูงกว่าระดับเงินเฟ้อ สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ถ้าเป็นเช่นนั้น หากสนใจควรมองอัตราผลตอบแทนระดับสูงขึ้น เช่น 5% ขึ้นไป
หุ้นที่ให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง นอกจากจะสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อแล้ว ต้องมีคุณสมบัติเรื่องประวัติการจ่ายเงินปันผลที่ดีสม่ำเสมอ ฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง กระแสเงินสดเป็นบวก สภาพคล่องในการซื้อขายระดับที่ดี ซึ่งสามารถศึกษาข้อมูลดังกล่าวได้จากเว็บไซต์แต่ละบริษัท (ข้อมูลนักลงทุนสัมพันธ์), เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือบทวิจัย จากนักวิเคราะห์หลักทรัพย์
ระดับผลตอบแทนของเงินปันผล สะท้อนถึงความสามารถของบริษัท ในการสร้างผลกำไรและการจ่ายเงินปันผลในแต่ละปี นอกเหนือจากนี้แล้วสามารถดูได้จากประวัติการทำอัตราผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น หรือ Return on Equity (ROE) ว่าบริษัทไหนทำออกมาดีที่สุด ซึ่ง ROE เป็นการบอกแนวโน้มการทำกำไรจากสินทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตัวเลขสูงๆ หมายถึง บริษัทมีการทำกำไรที่ดี และมีโอกาสจ่ายเงินปันผลหรือราคาหุ้นปรับขึ้นในอนาคต
ถ้าไม่ชอบหุ้น แล้วมีอะไรอื่นอีกหรือไม่ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อ คำตอบคือ มี นั่นคือ อสังหาริมทรัพย์ เพราะเป็นสินทรัพย์ไม่ขึ้นกับความผันผวนของภาคอุตสาหกรรมและตลาดหุ้น หากแบ่งเงินมาลงทุนย่อมช่วยลดความเสี่ยงและได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น
แต่การที่จะซื้ออสังหาฯ เช่น ที่ดิน ก็ต้องใช้เงินทุนสูงพอสมควร ใช้เวลาในการหาทำเลที่ต้องการ มีขั้นตอนเยอะพอสมควรในการซื้อขายและจัดทำเอกสาร และหากซื้อแล้วก็ต้องบำรุงดูแลสม่ำเสมอ ดังนั้น ทางออกจึงอยู่ที่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กอง REITs หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน
กองทุนเหล่านี้ รู้จักกันดีว่าเป็น Income Fund หมายถึง กองทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอ และที่ผ่านมาจะพบว่ากองทุนเหล่านี้จะจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ โดยนับตั้งแต่ปี 2552 – 2560 กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และกอง REITs ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5.08% ต่อปี
จากนี้เป็นต้นไป เงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มค่อยๆ ปรับขึ้น แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้เงินในกระเป๋าเรามีมูลค่าลดลง เพราะถ้ารู้จักช่องทางการลงทุน รับรองสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้อย่างแน่นอน