ถอดบทเรียนจากซีรีส์ฮิต The Good Doctor: เรามีผู้ตัดสินใจแทนทางสุขภาพ และ Living Will แล้วหรือยัง

วันก่อนผู้เขียนมีโอกาสได้นั่งดูซีรีส์ฝั่งอเมริกาเรื่องฮิต The Good Doctor บทละครตอนหนึ่งนำเสนอแง่มุมการรักษาและช่วยชีวิตคนไข้ที่ประสบอุบัติเหตุได้อย่างน่าสนใจเลยอยากนำมาเล่าให้ฟังสนุกๆ เทียบเคียงกับกฎหมายในประเทศไทยเกี่ยวกับสิทธิ์ของผู้ป่วยในการตัดสินใจรักษา
 

(บทความมีเนื้อหาสปอยล์เนื้อเรื่องในตอน) ซีรีส์นี้ชื่อตอน ‘Not Fake’ เล่าเรื่องราวอุบัติเหตุทางรถยนต์ของกลุ่มบ่าวสาว ญาติ และเพื่อนๆ ที่กำลังเดินทางไปเข้าสู่งานพิธีการ มีคนเจ็บหลายสิบคนในที่เกิดเหตุ หนึ่งในนั้นคือ มาร์โค เจ้าบ่าวของงาน ขาของเขาได้รับบาดเจ็บสาหัสกระดูกขาแหลกละเอียด จนไม่สามารถต่อได้ หัวหน้าทีมศัลยแพทย์ วินิจฉัยว่ามาร์โคต้องได้รับการรักษาด่วน โดยการตัดขาเพื่อรักษาชีวิต แต่คุณหมอตัวเอกของเรื่อง ดร.ฌอน เมอร์ฟี เสนอทางเลือกอื่นที่ท้าทายกว่า 

ทีมศัลยแพทย์จึงเสนอทางเลือกสองทางให้กับญาติคือ 1. ตัดขาเพื่อรักษาชีวิต หรือ 2. ผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกขาใหม่ด้วยกระดูกขาเทียม โดยทางเลือกแรกทำง่ายกว่า โอกาสเสียชีวิตต่ำแต่มาร์โคจะสูญเสียขาไปหนึ่งข้าง ส่วนทางเลือกที่สองเป็นวิธีการรักษาแบบใหม่ ซึ่งไม่เคยมีใครทดลองทำ และมีความเสี่ยงที่มาร์โคอาจเสียชีวิตในระหว่างผ่าตัด แต่ความน่าลองของวิธีนี้คือมาร์โคจะยังมีขา ไม่ต้องใช้ชีวิตต่อไปแบบคนพิการ เมื่อมาถึงตอนนี้คุณหมอได้ถามญาติใกล้ชิด ได้แก่ พ่อ แม่ และโซเนีย คู่หมั้น (ซึ่งเป็นเจ้าสาวที่กำลังเดินทางไปงานแต่งงานตนเอง) ว่ามาร์โคมอบหมาย ‘ผู้ตัดสินใจแทนทางสุขภาพ’ หรือไม่ แต่ทั้งสามไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผู้นั้นคือใคร มีหน้าที่อะไร?

คุณหมอเห็นว่ากรณีนี้โซเนียยังไม่ได้เป็นภรรยาของมาร์โค ญาติสนิทคือพ่อแม่จึงมีสิทธิ์เป็นผู้ตัดสินใจแทนมาร์โคในเรื่องสำคัญอย่างยิ่งนี้ พ่อและแม่ตัดสินใจให้ใช้ทางเลือกแรกตัดขาเพื่อรักษาชีวิตลูก แต่โซเนียคัดค้านด้วยเหตุผลว่าเธอรู้จักมาร์โคดีกว่า และคิดว่าหากมาร์โคมีสติที่สามารถตัดสินใจได้เอง เขาจะตัดสินใจเสี่ยงดวงและเลือกการผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกขาเพื่อรักษาขาของตนเองไว้ เมื่อคนใกล้ชิดที่สุดมีความเห็นต่างกัน โรงพยาบาลจึงขอให้ผู้พิพากษามาจัดการเรื่องนี้ทันที และในที่สุดผู้พิพากษาตัดสินให้ผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกขาด้วยเหตุผลว่าโซเนียรู้จักมาร์โคในฐานะผู้ชายคนหนึ่ง แต่พ่อแม่รู้จักมาร์โคในฐานะลูก (His parents know him as their child while his fiancé knows him as a man)

 

เรื่องราวนี้ทำให้ผู้เขียนอยากเล่าว่า หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้จริงๆ ในประเทศไทยใครจะเป็นผู้ตัดสินใจแทน (Surrogate Decision-Maker) มาร์โคในเรื่องนี้ ‘ผู้ตัดสินใจแทน’ ในบริบทการแพทย์ หมายถึงบุคคลที่ผู้ป่วยที่มีสติ และได้ทำข้อตกลงไว้ก่อนเกิดเหตุหรือก่อนเจ็บป่วยหรือในระหว่างเจ็บป่วย เป็นบุคคลที่ผู้ป่วยเชื่อใจว่าจะเป็นคนที่เข้าใจคุณค่าและความตั้งใจของผู้ป่วยมากที่สุด และสามารถตัดสินใจเลือกการรักษาแทนผู้ป่วยได้โดยจะทำหน้าที่เมื่อผู้ป่วยหมดความสามารถในการตัดสินใจ (หมดสติ)
 

ในประเทศไทย วงการแพทย์และสาธารณสุขได้รับทราบปัญหาในทางปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเป็นเวลานานจนเมื่อ พ.ศ. 2550 เราได้มีกฎหมายที่ให้สิทธิ์คนไทยแสดงเจตนาเกี่ยวกับการเสียชีวิตของตนเองในมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดยทุกคนสามารถทำหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าให้คนอื่นทราบว่าตนเองไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน เช่น ไม่ต้องการใส่ท่อช่วยหายใจในกรณีที่สมองตายแล้ว ไม่ต้องการเจาะคอเพื่อให้อาหาร ต้องการกลับไปรักษาแบบประคับประคองที่บ้าน และที่สำคัญคือสามารถแสดงเจตนาว่าต้องการให้ผู้ใดเป็น ‘ผู้ตัดสินใจแทน’ ในกรณีที่หมดสติ ซึ่งระบุให้เป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกันในครอบครัว เช่น ไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ลูกกัน เป็นต้น

doctor-loan-desktop

หนังสือแสดงเจตนาดังกล่าวถูกเรียกเป็นภาษาไทยว่า ‘พินัยกรรมชีวิต’ และเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘Living Will’ พอเรียกกันว่า พินัยกรรมชีวิต หลายท่านจึงอาจสับสนว่ามันเกี่ยวอะไรกับพินัยกรรมตามกฎหมายมรดก ที่ระบุว่าต้องการส่งต่อทรัพย์สินให้ผู้ใดเมื่อตนเองเสียชีวิต แต่พินัยกรรมชีวิตนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นหนังสือแสดงเจตนารมณ์ว่าต้องการจะเสียชีวิตแบบไหน มีผลในช่วงสุดท้ายก่อนจะเสียชีวิต และไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับเรื่องการส่งต่อทรัพย์สิน ในขณะที่พินัยกรรมเป็นคำสั่งสุดท้ายกำหนดว่าต้องการยกทรัพย์สินของตนเองให้ใครบ้าง และมีผลเมื่อคนคนนั้นไม่อยู่แล้ว
 

Living Will จึงเป็นเครื่องมือช่วยวางแผนชีวิตช่วงสุดท้ายเรื่องการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่จะสื่อสารกับครอบครัวและบุคลากรทางการแพทย์ ในกรณีที่ไม่สามารถสื่อสารหรือแสดงเจตนาเหล่านั้นด้วยตนเองได้อีก เพื่อให้เข้าใจ มีแนวทางการดูแลที่ชัดเจน ตรงตามความต้องการที่แท้จริงของเจ้าตัว

การทำหนังสือแสดงเจตนาเลือกวิธีการรักษาในช่วงสุดท้ายของชีวิต (Advance Directive) หรือ Living Will ต้องทำแบบไหนมาดูกัน

  • ทุกคนสามารถทำได้เมื่อมีอายุ 18 ปี และมีสติสัมปชัญญะสามารถเขียนหรือพิมพ์ได้ 
  • ไม่มีรูปแบบตายตัว สามารถทำขึ้นได้ด้วยตนเอง เช่น เขียนด้วยลายมือ เขียนในสมุด เขียนในแบบฟอร์มของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นต้น
  • เขียนแล้วสามารถเปลี่ยนแปลงหรือเขียนใหม่ได้ โดยต้องระบุวันที่ไว้ด้วย เพราะกฎหมายจะถือฉบับที่แก้ไขครั้งสุดท้ายเป็นสำคัญ
  • ไม่ใช่การุณยฆาต หรือการอนุญาตให้เร่งการตาย หรือการทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเร็วเข้า (Active Euthanasia)
  • ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิตเท่านั้น ในกรณีที่ยังรักษาได้ ต้องรักษากันไปตามปกติ
  • ไม่ใช่การทอดทิ้งผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยยังคงได้รับการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) เพื่อให้จากไปอย่างสงบ 
  • ช่วยวางแผนเรื่องอื่นๆ นอกจากเรื่องทางการแพทย์ เช่น ต้องการพบใคร ต้องการการเยียวยาจิตใจแบบไหน ต้องการเสียชีวิตที่ไหน เป็นต้น
  • เมื่อทำเสร็จแล้วให้เซ็นชื่อ มีพยานหรือไม่ก็ได้ แล้วเก็บฉบับจริงไว้กับตัว โดยถ่ายสำเนานำไปแนบไว้ในเวชระเบียน เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์รับทราบ และทำตามความต้องการดังกล่าว
  • สามารถระบุผู้ใกล้ชิดที่จะเป็นผู้ตัดสินใจแทนได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว หรือสื่อสารไม่ได้ หากมีสิ่งที่ต้องตัดสินใจเพิ่มเติมนอกจากความต้องการที่ระบุไว้

 

แต่หากเป็นกรณีที่ผู้ป่วยแบบมาร์โค คือไม่ได้ทำหนังสือแสดงเจตนาไว้ในประเทศไทย เมื่อผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว คุณหมอมักจะให้ญาติใกล้ชิดเรียงตามลำดับเป็นผู้ที่จะตัดสินใจแทน เช่น ถ้ากรณีมีสามีหรือภรรยา จะได้สิทธิ์ตัดสินใจเป็นลำดับแรก รองลงมาคือพ่อแม่ หรือกรณีผู้สูงอายุ ผู้ตัดสินใจมักเป็นบุตรของผู้ป่วย ซึ่งหากญาติมีความเห็นตรงกันก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าญาติมีความเห็นไม่ตรงกัน หมอจะฟังความเห็นของญาติคนไหน  
 

ในเรื่องนี้กฎหมายไทยไม่ได้เรียงลำดับญาติไว้ ในทางกฎหมายได้ลำดับญาติไว้เฉพาะเรื่องการรับมรดกเท่านั้น ดังนั้นในเวชปฏิบัติ กระบวนการ Informed Consent แพทย์ส่วนใหญ่จะถามญาติที่มาส่งผู้ป่วย หรือญาติที่เฝ้าผู้ป่วยอยู่ว่า เขามีอำนาจตัดสินใจแทนญาติทุกคนหรือไม่ หากไม่สามารถตัดสินใจคนเดียวได้ แพทย์มักแนะนำให้พาญาติที่มีอำนาจร่วมตัดสินใจมาพบแพทย์ด้วย ยิ่งในสังคมไทยที่เป็นครอบครัวใหญ่ จึงมักเจอปัญหาหน้างานบ่อยครั้ง การทำหนังสือแสดงเจตนาไว้จึงจะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้มาก อย่างไรก็ตาม หากเกิดกรณีอย่างในซีรีส์ที่คู่หมั้นเห็นไม่ตรงกับพ่อแม่ ทางปฏิบัติของสาธารณสุขไทยมักจะให้พ่อแม่เป็นผู้ตัดสินใจ เพราะถือว่าคู่หมั้นยังไม่ได้สมรสตามกฎหมาย ซึ่งจุดนี้อาจจะไม่เป็นไปตามความต้องการของผู้ป่วยที่แท้จริง เพราะการให้ความยินยอมรักษาพยาบาลเป็นการจัดการเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายของผู้ป่วยต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างผู้ป่วยและผู้แทนในทุกมิติที่ไม่ใช่แค่ลำดับญาติตามกฎหมาย และยังต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของร่างกายผู้ป่วยเป็นสำคัญ

 

ในจุดนี้ประเทศที่ระบบกฎหมายการแพทย์และการสาธารณสุขมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น ประเทศกลุ่มยุโรป ออสเตรเลีย จึงให้สิทธิ์ผู้ป่วยที่จะเป็นผู้ให้ความยินยอมเท่านั้น โดยเอาการตัดสินใจของญาติเป็นเพียงข้อพิจารณาประกอบความเห็นของแพทย์ โดยในหลายประเทศได้บัญญัติกฎหมาย (Statutes) ไว้เป็นข้อยกเว้นกำหนดลำดับผู้ให้ความยินยอม หลักเกณฑ์และขั้นตอนในการให้ความยินยอม รวมถึงข้อจำกัดของการให้ความยินยอมแทนไว้

 

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทุกคนต้องดูแลรักษาสุขภาพตนเองและครอบครัวกับวิกฤตโควิดครั้งนี้ การติดเชื้อ การเข้าสู่ภาวะโคม่า การเสียชีวิตที่ไม่ได้คาดหมาย เป็นข่าวแต่ละวัน มันโยงได้กับความสำคัญของการวางแผนเรื่องการเสียชีวิตรวมถึงการรักษาพยาบาลตนเองได้อย่างชัดเจนและเห็นภาพชัดที่สุด จึงควรเป็นอย่างยิ่งที่เราจะหาวันสงบๆ นั่งเงียบๆ ลองนึกว่าเราอยากให้ใครเป็นผู้ตัดสินใจแทนทางสุขภาพของเราและทำหนังสือแสดงเจตนาไว้ให้ชัดเจน 
 

SCB Family Office ทีมงานผู้ให้บริการที่ปรึกษาวางแผนการเงินของครอบครัว เพื่อส่งผ่านความมั่งคั่งในระยะยาวให้แก่ทายาทอย่างยั่งยืน สำหรับลูกค้า SCB PRIVATE BANKING, SCB FIRST และ SCB PRIME สนใจรับคำปรึกษา สามารถติดต่อผ่าน RM (Relationship Manager) หรือที่ปรึกษาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (Personal Banker) ของท่าน

 

อ้างอิง:

  • พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550
  • ราชกิจจานุเบกษา ประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เรื่องนิยามปฏิบัติการ (Operational definition) ของคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) สำหรับประเทศไทย พ.ศ. 2563
  • การรักษาพยาบาลผู้ป่วยวาระสุดท้ายใครมีอำนาจตัดสินใจ, ศ. แสวง บุญเฉลิมวิภาส 
  • ศูนย์ข้อมูลข่าวสารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 
  • Facebook Page ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม
  • หนังสือ ‘ดูแลชีวิตและทรัพย์สินอย่างไรให้หายห่วง’, ศ. แสวง บุญเฉลิมวิภาส
  • ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์
  • คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • การคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วยกรณีการรักษาพยาบาล, วุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์

บทความโดย กมลชนก รามโกมุท
ผู้อำนวยการ Estate Planning and Family Office ธนาคารไทยพาณิชย์


ข้อมูล ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2564

ขอบคุณข้อมูลจาก The Standard Wealth