ปรับพอร์ตหุ้นรับวิกฤต

ในทางสงครามเรามักจะได้ยินคำกล่าว “สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร” ซึ่งมีความหมายว่า “ตราบใดที่ยังไม่หมดเวลา เรายังคงมีความหวังอยู่เสมอ แม้จะแค่นาทีเดียวก็ตาม” ในการลงทุนก็เช่นกัน ตราบใดที่เรายังลงทุนอยู่ ก็จงอย่าประมาทคิดว่าเราประสบความสำเร็จทำเงินมากมายแล้ว เพราะพอร์ตการลงทุนที่มีกำไรมหาศาล อาจจะตกลงมาอย่างแรงจนกำไรหดหาย หรือกลายเป็นขาดทุนได้ ในทางกลับกัน หากเรายังขาดทุนอยู่ ก็ไม่ได้หมายความว่า เราประสบความล้มเหลวในการลงทุน เพราะการลงทุนเป็นกิจกรรมระยะยาว ที่เราต้องศึกษาเรียนรู้ และพัฒนากลยุทธ์การลงทุนไปตลอดชีวิต


ในการเป็นนักลงทุนระยะยาว ผลตอบแทนที่เราได้รับจากการลงทุน ในบางช่วงก็ดีหรือดีมาก แต่บางช่วงก็แย่หรือแย่มาก เช่น ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ที่เราอาจจะขาดทุนได้ในระดับ 40 – 50% ของมูลค่าพอร์ตการลงทุน และอาจทำให้กำไรที่เราเคยทำได้หายไปหมด ก็อย่าเพิ่งท้อใจ เพราะนี่คือสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นตลอดเวลา และเคยเกิดขึ้นกับ “เซียน” หรือนักลงทุนระดับโลกด้วยเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่เราควรทำ (แทนที่จะมัวมานั่งท้อใจหรือถอดใจจากการลงทุน) ก็คือ เราควรมาทบทวนว่าเราได้รับบทเรียนอะไรบ้าง และเราจะปรับกลยุทธ์การลงทุนของเราอย่างไรดี?


สำหรับพอร์ตการลงทุนระยะยาวที่ดี จะเกิดขึ้นได้ เพราะหุ้นบางตัวที่มีขนาดใหญ่สามารถสร้างผลงานที่โดดเด่นต่อเนื่องอย่างยาวนาน ซึ่งนั่นจะช่วยให้ผลตอบแทนโดยรวมของพอร์ตเติบโตหรือต้านภาวะเลวร้ายของตลาดได้ นั่นแปลว่าเราต้องมองภาพโมเดลธุรกิจ (Business Model) ของหุ้นที่เราจะลงทุนให้ออกว่าตอบโจทย์ธีมการลงทุนระยะยาวของโลก หรือของประเทศหรือไม่ เช่น เรากำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย เราก็อาจพิจารณาการลงทุนในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ (Healthcare) หรือการลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร เราก็จำเป็นต้องกิน ต้องใช้ เป็นต้น


บทเรียนถัดมา คือ เราต้องหมั่นวิเคราะห์ความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นของเรา คือ จะต้องมีการประเมินความเสี่ยงของหุ้นทุกตัวที่เราลงทุนว่าเป็นอย่างไร มีความเสี่ยงสูงแค่ไหน พื้นฐานของธุรกิจ และความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวเปลี่ยนแปลงไปแล้วหรือยัง นอกจากความเสี่ยงของกิจการแล้ว เราอาจต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของการตบแต่งบัญชีของบริษัทด้วย เพราะในระยะยาวแล้ว ปัจจัยที่ทำให้หุ้นนั้นเป็นผู้ชนะในตลาด คือ ผลประกอบการของบริษัทนั่นเอง

ดังนั้นในวิกฤต หุ้นที่จะอยู่รอด และพร้อมที่จะกลับขึ้นมาใหม่ คือ หุ้นที่มีความสามารถในการแข่งขันของกิจการที่ยังแข็งแกร่ง บริษัทที่ยังเติบโต และราคาหุ้นไม่แพงเกินไป และจะเป็นหุ้นที่สามารถฝ่ามรสุมของตลาดหุ้นได้ดีที่สุดในทุกสถานการณ์


แล้วเราจะหาหุ้นเหล่านี้เจอได้อย่างไร บทความนี้จึงมีทางเลือกการลงทุนในยามวิกฤตมาเล่าสู่กันฟัง


สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนโดยเน้นความปลอดภัย อย่างที่กล่าวไปแล้ว ในภาวะวิกฤตเราต้องมองหาหุ้นที่ปลอดภัย หรือ Defensive Stock ซึ่งเป็นหุ้นที่ราคาไม่ขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ เช่น หุ้นที่อยู่ในหมวดอาหาร และสาธารณูปโภค ที่ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นของจำเป็นต้องใช้ ทำให้บริษัทมีรายได้ที่ค่อนข้างต่อเนื่อง ด้วยความไม่ผันผวนของราคาหุ้นกลุ่มนี้ ทำให้หุ้นกลุ่มนี้มีความเสี่ยงค่อนช้างต่ำ เมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มอื่นๆ ที่มีความหวือหวากว่า ทำให้ไม่สามารถคาดหวังผลตอบแทนในรูปของส่วนต่างกำไร (Capital Gain) ที่สูงมากได้ กลยุทธ์ในการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ จึงเหมาะกับตอนที่ตลาดมีแนวโน้มเป็นขาลง และเราไม่รู้ว่าตลาดจะลงไปลึกแค่ไหน


นอกจากนี้หุ้นที่น่าพิจารณาสำหรับการลงทุนในภาวะวิกฤต คือ หุ้นที่อยู่ใน SET50 ที่ราคาลงมามากและสามารถจ่ายเงินปันผล โดยคิดเป็นผลตอบแทนจากเงินปันผล หรือ dividend yield ที่สูงกว่า 5% โดยให้พิจารณาจากหุ้นที่อยู่ในทั้ง SETHD (SET High Dividend) และใน SET50 ก็จะเป็นหุ้นใหญ่ที่จ่ายปันผลสูง การที่เราเลือกลงทุนในหุ้นที่อยู่ใน SET50 เพราะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีฐานะการเงินที่ดี มีความมั่นคง ก็น่าที่จะมีสายป่านที่ยาว และสามารถฟันฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ ยิ่งราคาลงมาเยอะ ยิ่งเป็นโอกาสในการเข้าซื้อสะสม ซึ่งเท่ากับว่าเราได้ลงทุนในหุ้นใหญ่ในราคาที่มีส่วนลด และการที่เราพิจารณาผลตอบแทนจากเงินปันผลประกอบการลงทุนด้วย เป็นเพราะว่า บริษัทที่สามารถจ่ายเงินปันผลได้อย่างต่อเนื่อง คือ บริษัทที่สามารถสร้างกำไรได้อย่างสม่ำเสมอนั่นเอง เราอาจจะย้อนไปดูประวัติความเป็นมาย้อนหลังของบริษัทกลุ่มนี้ว่าเคยผ่านวิกฤตมากี่ครั้ง และบริษัทสามารถกลับมาได้ทุกครั้งหรือไม่ หุ้นที่ผ่านร้อนผ่านหนาว มาได้ทุกวิกฤต ก็น่าจะเป็นหลุมหลบภัยให้เราได้อีกครั้ง


สามาถเข้าไปดูรายชื่อหุ้นที่อยู่ใน SETHD และ SET50 ได้ดังนี้

SETHD https://marketdata.set.or.th/mkt/sectorquotation.do?sector=SETHD&language=th&country=TH

SET50 https://marketdata.set.or.th/mkt/sectorquotation.do?sector=SET50&language=th&country=TH

ส่วนกลุ่มสุดท้ายที่อยากจะแนะนำ คือ หุ้น Super Stock ที่จะโตได้ 10 เท่าในทศวรรษต่อไป ซึ่งหากนักลงทุนสนใจในหุ้นกลุ่มนี้ จะต้องทำการบ้านอย่างหนัก การที่หุ้นจะโต 10 เท่าในอีก 10 ปีข้างหน้าได้ เท่ากับว่าเราจะได้ผลตอบแทนแบบทบต้นที่ 25.89% ต่อปี (ต้องคำนวณด้วยเครื่องคิดเลขทางการเงินหรือ financial calculator โดยใส่มูลค่าปัจจุบันหรือ PV = 1, มูลค่าอนาคตหรือ FV = 10, ระยะเวลา คือ 10 ปี ก็จะคำนวณอัตราผลตอบแทนแบบทบต้นได้ที่ 25.89%) หุ้นที่จะโตได้ มาจากผลประกอบการที่เติบโต มักเป็นบริษัทขนาดเล็กที่กำลังจะเติบโต มีความสามารถในการทำกำไรที่สูง คือ มีอัตราการเติบโตของยอดขายและผลกำไรที่เด่นชัด และคาดว่าจะยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรได้สูงต่อไปในอนาคต เมื่อเราต้องการหาหุ้นที่ให้ผลตอบแทนอย่างน้อย 25.89% ต่อปี ก็เท่ากับว่าเราต้องมองหาหุ้นที่มีกำไรเติบโตอย่างน้อย 25.89% ต่อปีนั่นเอง


ดังนั้นนักลงทุนที่สนใจอยากลงทุนในหุ้น Super Stock จึงต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์พื้นฐานกิจการ โมเดลธุรกิจของกิจการว่าจะสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องได้หรือไม่ อีกทั้งต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์งบการเงินของกิจการอีกด้วย ยิ่งโดยเฉพาะในภาวะวิกฤตเช่นนี้ ให้นักลงทุนมองหาหุ้นที่อยู่ในแนวโน้มการลงทุนใหญ่หรือ Mega Trend (เช่น เทคโนโลยี อีคอมเมิร์ซ หรือเฮลธ์แคร์) และผลประกอบการที่ประกาศออกมาเมื่อเทียบกับก่อนเกิดวิกฤตไม่ลดลงมาก ทรงตัว หรือเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งเป็นการแสดงถึงความแข็งแกร่งของกิจการ


ข้อควรระวังในการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ คือ การไล่ราคา เพราะเมื่อมีความต้องการมาก ราคาก็จะสูงขึ้นตามไปโดยปริยาย ทำให้นักลงทุนอาจจะซื้อหุ้นมาในราคาที่สูงกว่าปัจจัยพื้นฐาน นอกจากนี้นักลงทุนที่นิยมลงทุนในหุ้นเติบโต เนื่องจากมีความคาดหวังว่ากำไรในอนาคตจะมีอัตราการเจริญเติบโตในอัตราที่สูงมาก อย่างไรก็ตามหากบริษัทไม่สามารถทำกำไรได้ในอัตราที่สูงตามที่ตลาดได้คาดหวังไว้ ราคาของหุ้นกลุ่มนี้ก็อาจมีการปรับตัวลงที่รุนแรงกว่าหุ้นในกลุ่มอื่นๆ ได้


กล่าวโดยสรุป ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ คนที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนระยะยาว คือ คนที่เรียนรู้จากความผิดพลาด มีการศึกษาหาความรู้ และเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ ก็จะสามารถคว้าโอกาสในยามวิกฤตนี้ไปได้ ขอเพียงแค่ไม่ถอดใจจากการลงทุนไปเสียก่อน


บทความโดย : นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร