เช็คสุขภาพการเงิน รู้ก่อนแก้ไขได้ทัน

ในการดำรงชีวิต “เงิน” นับเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่ง ถ้ารู้จักบริหารเงินย่อมทำให้ไม่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต แต่ถ้าจัดการกับเงินไม่ดี เงินอาจสร้างปัญหาได้ ลองจินตนาการในวันเงินเดือนออกแต่เงินเดือนทั้งหมดต้องหายวับไปกับการจ่ายหนี้ ต้องเริ่มต้นด้วยการก่อหนี้ก้อนใหม่ หรือรอคอยเงินเดือนออกใหม่อีกครั้ง ซึ่งในแต่ละเดือนโดยส่วนใหญ่ผู้คนจะมีวัฏจักรการเงิน 4 แบบดังนี้
 

  • มีเงินเหลือใช้
  • มีเงินใช้แบบเดือนชนเดือน
  • มีเงินเหลือใช้บ้าง ไม่เหลือบ้าง
  • เงินไม่เหลือต้องกู้ยืมทุกเดือน


ดังนั้น สิ่งจำเป็นของทุกคน คือ การไม่ตกเป็นทาสของเงิน เพื่อทำให้ชีวิตมีความสุข เพราะเงินถือเป็นเครื่องมือสนับสนุนชีวิตให้ไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ จึงต้องหมั่นตรวจสุขภาพการเงินของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ

สภาพคล่อง

คำว่าสภาพคล่อง คือ เงินสดหรือเงินที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันที ที่มีเอาไว้เพื่อจับจ่ายใช้สอยในแต่ละวัน หรือใช้ในยามจำเป็นฉุกเฉิน ดังนั้น เงินก้อนนี้ส่วนใหญ่จะฝากเอาไว้ในบัญชีออมทรัพย์ กองทุนรวมตลาดเงิน หรือบางส่วนก็เก็บไว้ที่บ้าน


วิธีการดูว่ามีสภาพคล่องแค่ไหน ก็ให้นำเงินสดหรือเงินที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดมาบวกรวมกันว่ามีอยู่เท่าไหร่ แล้วหารด้วยค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ถ้าสภาพคล่องดี ผลลัพธ์ที่ได้ควรมากกว่า 3 เท่าขึ้นไป (ยิ่งสูงยิ่งดี) เพราะหมายถึงว่าถ้าต้องการใช้เงินแบบเร่งด่วนก็ถอนออกมาใช้ได้ทันที เช่น มีเงินสด 5,000 บาท ฝากบัญชีออมทรัพย์ 25,000 บาท ลงทุนกองทุนรวมตลาดเงิน 15,000 บาท รวมกันแล้วมีทั้งสิ้น 45,000 บาท และแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายประมาณ 15,000 บาท


45,000 หาร 15,000 ได้เท่ากับ 3 หมายความว่า ถ้าวันนี้ไม่มีรายได้เข้ามาแม้แต่บาทเดียว จะมีเงินใช้จ่ายไปได้อีกประมาณ 3 เดือน จากนั้นอาจไม่เหลือเงิน ลักษณะนี้เรียกว่า ขาดสภาพคล่อง อาจลงเอยด้วยการกู้หนี้ยืมสิน


ตลอดทั้งปี แบกหนี้ไหวหรือไม่

รายได้ เช่น เงินเดือน รายได้พิเศษ โบนัส เงินโอที ซึ่งส่วนใหญ่จะรู้คร่าว ๆ ว่าแต่ละเดือนได้เท่าไหร่ ก็นำมาบวกรวมกัน จากนั้นดูว่ามีค่าใช้จ่ายและหนี้สินที่ต้องจ่ายเท่าไหร่ เช่น ค่าอยู่ ค่ากิน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ามือถือ หนี้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนมือถือ หนี้บัตรเครดิต ก็นำมาบวกรวมกัน


วิธีเช็กว่าระหว่างรายได้กับรายจ่าย อย่างไหนจะมากกว่ากันก็นำรายได้ทั้งหมดหารด้วยค่าใช้จ่ายและหนี้ที่ต้องจ่าย ถ้าผลลัพธ์ออกมาได้มากกว่า 1 แสดงว่ารอดหรือบริหารจัดการหนี้ได้อยู่หมัด แต่ถ้าผลลัพธ์น้อยกว่า 1 อาจหมายถึงรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายและการจ่ายหนี้ ถือเป็นสัญญาณอันตราย ต้องรีบหาทางแก้ไขกันเนิ่น ๆเช่น เงินเดือน 35,000 บาท (ทั้งปีได้ 420,000 บาท) โบนัส 50,000 บาท โอทีเดือนละ 2,000 บาท (ทั้งปีได้ 24,000 บาท) รวมแล้วทั้งปีมีรายได้ 494,000 บาท


ค่าใช้จ่ายรายเดือน 15,000 บาท (ทั้งปี 180,000 บาท) ผ่อนหนี้เดือนละ 10,000 บาท (ทั้งปี 120,000 บาท) รวมค่าใช้จ่ายทั้งปี 300,000 บาท 494,000 หาร 300,000 ได้เท่ากับ 1.65 หมายความว่า ปีนี้มีเงินใช้จ่ายและเพียงพอในการจ่ายหนี้ แต่ถ้าในระหว่างปีมีการกู้หนี้ยืมสินเพิ่ม เงินอาจเริ่มตึงและอาจมีปัญหากับภาระหนี้สิน ดังนั้น ถ้าไม่จำเป็นอย่าก่อหนี้เพิ่ม

มั่งคั่งแค่ไหน

เช็กความมั่งคั่ง ด้วยการนำสินทรัพย์ทุกอย่างตั้งแต่เงินฝากในบัญชีต่าง ๆ เงินลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น กองทุนรวม หุ้น ทองคำ ที่ดิน บ้าน พูดง่าย ๆ สินทรัพย์ทุกอย่างที่สามารถขายได้นำมารวมกัน  จากนั้นมาดูฝั่งหนี้สิน ด้วยการสำรวจหนี้สินทุกประเภท เช่น หนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต หนี้ผ่อนสินค้าต่าง ๆ ให้นำมารวมกัน


วิธีการเช็ก ให้นำสินทรัพย์ทั้งหมดลบด้วยหนี้สินทั้งหมด ยิ่งผลลัพธ์บวกมากเท่าไหร่ ยิ่งมั่งคั่งมากเท่านั้น ถ้าผลลัพธ์ติดลบ แสดงว่าน่าเป็นห่วง เพราะถ้าขายทรัพย์ที่มีทั้งหมดวันนี้ก็ไม่พอไปจ่ายหนี้ ดังนั้น ถ้าอยากมั่งคั่ง ต้องเป็นหนี้เท่าที่จำเป็น

 

นิสัยการใช้เงินแบบ David Bach

 

นิสัยการใช้เงิน

กำหนดชีวิตว่า

แบบที่ 1

ใช้จ่ายเท่าที่หามาได้ ไม่มีเก็บ

จน

แบบที่ 2

ใช้จ่ายเกินกว่าที่หาได้

เป็นหนี้ตลอดชีวิต

แบบที่ 3

ใช้จ่ายน้อยกว่าที่หาได้ หัก 10% เป็นเงินออม

คนทั่วไป

แบบที่ 4

ใช้จ่ายน้อยกว่าที่หาได้ หัก 20 – 30% เป็นเงินออม

มั่งคั่ง

แบบที่ 5

ใช้จ่ายน้อยกว่าที่หาได้ หัก 50% โดย 20% เป็นเงินออม อีก 30% นำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อให้ออกดอกออกผล ตามหลักให้เงินทำงานแทนตัวเอง

เศรษฐีเงินล้าน

ที่มา : หนังสือ จากหนังสือ START LATE FINISH RISH เขียนโดย David Bach นักวางแผนการเงิน


David Bach กล่าวว่าเหตุผลที่คนส่วนใหญ่ล้มเหลวทางการเงิน ไม่ใช่เพราะมีรายได้น้อยเกินไป แต่เพราะนิสัยใช้เงินเกินตัว ดังนั้น การที่จะมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นจนนำไปสู่การมีอิสรภาพทางการเงิน ไม่ได้อยู่ที่ต้องหาเงินให้มากขึ้นเสมอไป แต่อยู่ที่การใช้จ่ายเงินอย่างรู้คุณค่า เกิดประโยชน์สูงสุดและมีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรง