วางกลยุทธ์ลงทุนในช่วงตลาดตก

Bear Market หรือภาวะตลาดหมี เป็นคำจำกัดความสั้นๆ ที่นักลงทุนรู้จักกันดีเมื่อพูดถึงภาวะตลาดหุ้นในช่วงขาลง โดยคำนิยามที่นิยมใช้กันในตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะหมี คือ หากดัชนีตลาดหุ้นปรับลดลงมากกว่า 20% จากจุดสูงสุดในรอบ 52 สัปดาห์ (หรือ 1 ปี) และปริมาณการซื้อขายลดลง แต่จริงๆ แล้ว ตลาดหมีคืออะไร และมีสัญลักษณ์อะไรบ้างที่เตือนนักลงทุนว่า ตลาดหุ้นได้เข้าสู่ภาวะตลาดหมีแล้ว


ตลาดหมี คืออะไร

ตลาดหมี ใช้อ้างถึงเมื่อตลาดหุ้นปรับลดลง 20% จากจุดสูงสุดล่าสุด และยังใช้อ้างถึงดัชนีหุ้นหรือหุ้นแต่ละตัวที่ลดลง 20% หรือมากกว่านั้นจากจุดสูงสุดล่าสุดด้วย


ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะตลาดหมี

ปัจจัยหลัก คือ ความกลัว หรือความไม่แน่ใจของนักลงทุน รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น การเก็งกำไรมากเกินไป ราคาน้ำมันผันผวน หรือล่าสุดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะตลาดหมีทั่วโลก เนื่องจากนักลงทุนย้ายเงินลงทุนไปในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย (เช่น ทองคำ) นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่จะพบภาวะว่างงาน หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงเวลาที่ตลาดปรับลดลงด้วย

การลงทุนในช่วงตลาดหมี

ในฐานะนักลงทุนเมื่อเห็นพอร์ตการลงทุนของตัวเองในช่วง ภาวะตลาดหมี คงเกิดคำถามว่า “ควรทำอย่างไรดี” “ควรขายล้างพอร์ตหรือไม่” ก่อนจะตอบคำถามเหล่านี้อย่าด่วนตัดสินใจทำอะไรลงไป นักลงทุนควรทำความเข้าใจในกลยุทธ์การลงทุนช่วงตลาดหมีก่อน


1. สำคัญที่สุด คือ อย่าตื่นตระหนกในภาวะตลาดหมี

และทำความเข้าใจว่าการที่ตลาดหุ้นปรับลดลงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และตลาดขาลง คือ ภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราว และจะปรับฟื้นตัวในที่สุด โดยจากสถิติ พบว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงถึง 13% ในช่วงใดช่วงหนึ่งของปีและจะเกิดภาวะตลาดหมีทุกๆ 6 ปี


2.นักลงทุนจะต้องรู้ระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้

การทดลองลงทุนพอร์ตหุ้นจำลองก่อนการลงทุนจริงจะช่วยให้นักลงทุนรู้จักตัวตนของตนเองดีขึ้นในฐานะนักลงทุนว่าสามารถยอมรับความเสี่ยงได้แค่ไหน และพร้อมหรือไม่สำหรับการลงทุนจริง


3.ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยง

นอกจากการลงทุนในตลาดหุ้น อาจลองพิจารณาการลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์ หรืออาจลงทุนในอสังหาริมทรัพย์


4.นักลงทุนควรรู้ว่ามีเวลาในการลงทุนนานเท่าไหร่

ถ้าเริ่มลงทุนในช่วงวัย 20 - 30 ปี ควรวางแผนการลงทุนในระยะยาว เพราะมีระยะเวลาในการลงทุนนานจึงสามารถรอตลาดฟื้นตัวได้ เช่น จัดสรรเงินไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ลงทุนหุ้นประมาณ 80 - 90% โดยหุ้นที่เลือกลงทุนควรเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีความมั่นคงทางการเงิน มีเงินปันผลที่น่าพอใจ และมีโอกาสเติบโตในอนาคต ส่วนอีก 10 - 20% ควรลงทุนในตราสารหนี้และเงินฝาก


ในทางกลับกันถ้าลงทุนในช่วงวัย 40 - 50 ปี ซึ่งใกล้วัยเกษียณ ควรกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น จัดสรรเงินไปลงทุนประมาณ 70% ไปไว้ในที่ปลอดภัย เช่น ตราสารหนี้และเงินฝาก ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 30% ให้แบ่งมาลงทุนในหุ้นระยะยาว เพื่อเพิ่มพูนเงินออมและเงินลงทุนให้มากขึ้น

5. ในช่วงตลาดหมี นักลงทุนบางรายอาจเทขายหุ้นทั้งหมดในทันที

เพราะกลัวว่าราคาจะปรับลดลงไปมากกว่านี้ และเมื่อตลาดค่อยๆ กลับมา ราคาหุ้นค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น นักลงทุนจะเข้าซื้อด้วยความหวังว่าจะทำกำไรได้ ซึ่งมีความขัดแย้งกับสิ่งที่นักลงทุนควรทำ คือ “ซื้อถูก ขายแพง” เพราะนักลงทุนใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ และขาดการวางแผนที่ดี จึงเกิดความผิดพลาดและสวนทางกับสิ่งที่ควรจะทำ ถ้านักลงทุน พิจารณาอย่างรอบคอบและวางแผนการลงทุนในระยะยาว จะสามารถรับมือในสถานการณ์ช่วงตลาดปรับตัวลงได้ และรอจังหวะเพื่อทำกำไรในช่วงเวลาที่เหมาะสม


6. วอร์เรน บัพเฟฟต์ กล่าวไว้ว่า “ช่วงเวลาที่ตลาดปรับตัวลดลง คือ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่นักลงทุนจะรู้ว่าผู้ประกอบการใดที่มีศักยภาพอย่างแท้จริง”

ในสถานการณ์ช่วงวิกฤติ COVID-19 บริษัทที่ผลประกอบการไม่มีคุณภาพจะได้รับผลกระทบอย่างมาก แต่บริษัทที่มีผลประกอบการที่มีคุณภาพอย่างแท้จริงจะผ่านช่วงเวลาที่ตลาดปรับตัวลงได้ และนั่นคือหุ้นที่นักลงทุนต้องค้นหาให้เจอ และลงทุนเพื่อทำกำไร

7. อย่าลังเลที่จะลงทุนเพราะคิดว่า ยังไม่ใช่ราคาที่ต่ำที่สุด

นักลงทุนควรเน้นการลงทุนในระยะยาว และสิ่งที่ควรพิจารณาในช่วงที่ตลาดปรับตัวลง คือ ลงทุนอย่างสม่ำเสมอและมีวินัย โดยการลงทุนแบบทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ (Dollar Cost Average: DCA) เป็นทางเลือกที่เหมาะสม ถึงแม้ว่าการทยอยลงทุนจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด (หากมองถึงเรื่องผลตอบแทน) แต่ก็เป็นวิธีที่ดีที่สุดถ้ามองเรื่องการบริหารความเสี่ยง ยิ่งในช่วงที่ราคาสินทรัพย์เพื่อการลงทุนได้ปรับลดลงมามาก หากลงทุนแบบ DCA ในช่วงนี้จะทำให้ได้ต้นทุนที่ต่ำ


8. อดทนและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

นอกจากจะไม่ตื่นตระหนกในภาวะตลาดหมีแล้ว อีกคุณลักษณะหนึ่งที่นักลงทุนควรมี คือ ความอดทนและใช้เวลาศึกษาตลาดหมีให้เข้าใจ เพื่อป้องกันไม่ให้ทำผิดพลาดในช่วงเวลาที่ตึงเครียดจากภาวะตลาดขาลง


เมื่อรู้จักตลาดและเข้าใจความเสี่ยงที่เผชิญอยู่ จะสามารถวางแผนได้อย่างดี และหาโอกาสสร้างผลตอบแทนได้อย่างแน่นอน