ทำความรู้จักเงินบาทดิจิทัล

ปัจจุบัน รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทยอยออกเงินสกุลดิจิทัลของตัวเอง เช่น จีน สวีเดน ฝรั่งเศส และในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยก็จะมีสกุลเงินดิจิทัลสำหรับประชาชน โดยจะเข้ามาเพิ่มทางเลือกในการชำระเงินที่มีอยู่ ไม่ได้มาทดแทนทำให้ทางเลือกใดหายไป


เงินบาทดิจิทัล มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือ Digital Currency Electronic Payment (DCEP) ที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศไทย (ธปท.) โดยสกุลเงินดิจิทัล เรียกว่า บาทดิจิทัล และเนื่องจากเงินบาทดิจิทัลเป็นตัวเงินจริง แต่อยู่ในรูปของดิจิทัลที่ไม่สามารถจับต้องได้ (ไม่ได้อยู่ในรูปเงินสดหรือธนบัตรแบบเดิม) ดังนั้น จึงมีค่าเท่ากับธนบัตร เช่น เงินสด 100 บาท เท่ากับ 100 บาทดิจิทัล เป็นต้น


เงินบาทดิจิทัลมีความแตกต่างจากเงินสดที่อยู่รูปธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ คือ ปกติเวลาจะใช้เงินสดก็ต้องถอนเงินฝากมาเพื่อใช้จ่ายเงินผ่านมือกัน ซึ่งต่างจากเงินบาทดิจิทัล ที่ไม่มีอะไรให้จับต้องได้แต่เป็นเงินที่ออกโดยธนาคารกลาง สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายและมีสินทรัพย์ภาครัฐหนุนหลัง เหมือนเงินสด


ดังนั้น ก่อนจะใช้งานได้จะต้องนำเงินฝาก/เงินสดมาแลกไปเก็บไว้ในกระเป๋าเงินดิจิทัล เช่น ต้องการ 100 บาทดิจิทัล ก็ต้องนำเงินสดหรือนำเงินไปฝาก 100 บาท แล้วเก็บเอาไว้ในแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ที่ทางธนาคารหรือผู้ให้บริการทางการเงินที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแล แต่หากไม่มีสมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ตหรือบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงิน ก็ยังสามารถเข้าถึงการใช้งานได้ เช่น ผ่านการ์ดที่ใช้แตะเพื่อรับจ่ายเงิน

baht-digital

เงินบาทดิจิทัล คือ สกุลเงินที่ถูกสร้างขึ้นมาในรูปแบบดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกันกับคริปโตเคอร์เรนซี แต่เงินบาทดิจิทัลจะออกโดยธนาคารกลาง เปรียบเสมือนเงินสดหรือธนบัตรแต่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ภาระหนี้จะไม่ได้อยู่ที่ตัวกลางแต่อยู่ที่ธนาคารกลางโดยตรง ไม่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งมีคุณสมบัติในการเป็นสื่อกลางเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ สามารถรักษามูลค่า ขณะที่คริปโตเคอร์เรนซีที่ออกโดยภาคเอกชนและมุ่งเน้นการใช้เพื่อเก็งกำไรและแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ


เงินบาทดิจิทัลแตกต่างจากเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) โดย e-money เป็นเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกโดยสถาบันการเงินและผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินภายใต้กฎหมายระบบการชำระเงิน ผู้ให้บริการจะออก e-money ให้แก่ผู้ใช้ที่เติมเงินไว้ล่วงหน้าเพื่อเอาไปจ่ายสินค้าและบริการในวงปิด เฉพาะเครือข่ายที่รับชำระ e-money นั้น ซึ่งอาจอยู่ในรูปการ์ด เช่น บัตรรถไฟฟ้า บัตรเติมเงิน หรืออยู่ในเครือข่ายของผู้ให้บริการ ซึ่งมูลค่าของ e-money ในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์จะเท่ากับมูลค่าเงินที่เติมไว้ ซึ่งต่างจาก เงินบาทดิจิทัลที่ออกใช้โดย ธปท. ใช้จ่ายชำระได้ในวงกว้าง ทำให้ใช้งานกันได้อย่างทั่วถึงมากกว่า


เงินบาทดิจิทัลต่างจากคริปโทเคอร์เรนซีที่สร้างขึ้นโดยภาคเอกชน ซึ่งมีมูลค่าผันผวนมากและยังไม่มีกฎหมายเงินตรารองรับ นอกจากนี้ยังแตกต่างจากคริปโทเคอร์เรนซีบางประเภทที่มีกลไกตรึงมูลค่ากับสกุลเงินหลักหรือสินทรัพย์อื่นให้ราคาผันผวนน้อยลง (Stablecoins) ซึ่งผู้ถือก็อาจไม่สามารถมั่นใจได้ว่า สินทรัพย์ที่ใช้ตรึงมูลค่า มีอยู่จริงหรือไม่และใครจะเป็นผู้รับรอง (ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย)


ดังนั้น เงินบาทดิจิทัลจะเข้ามาเพิ่มความสะดวกสบาย ลดต้นทุนการเดินทาง การฝากถอนหรือเก็บรักษาเงินสด เพิ่มประสิทธิภาพให้เงินสดน่าใช้ขึ้นด้วยเทคโนโลยีทางการเงินแบบใหม่หรือต่อยอดนวัตกรรมบริการการเงินใหม่ ๆ ในอนาคต


ประโยชน์ของเงินบาทดิจิทัลที่มีผลต่อเศรษฐกิจ คือ อัตราการหมุนเวียนในการจับจ่ายใช้สอยจะสะดวกรวดเร็ว ทำให้เกิดอัตราการหมุนเวียนของเงินจากการบริโภค เศรษฐกิจประเทศมีโอกาสขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็วขึ้น โดย ธปท. รายงานความคืบหน้าในการพัฒนาเงินบาทดิจิทัลว่ามีแผนที่จะเริ่มทดลองใช้เงินบาทดิจิทัลในช่วงปลายปี 2565 กับธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน


จากเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยภาคเอกชนสะดวกขึ้น แต่อาจเผชิญความเสี่ยงบางประการ เช่น ความผันผวนสูง การโจมตีและถูกโจรกรรมทางไซเบอร์


ดังนั้น เงินบาทดิจิทัลเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนได้เข้าถึงสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดย ธปท. ซึ่งมีความน่าเชื่อถือและปลอดภัยสูง เอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงเป็นการวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานระบบการเงินไทยให้พร้อมรับมือกับโลกการเงินในอนาคต และเป็นทางเลือกของการออกใช้เงินภาครัฐให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค