เลือกลงทุนกองทุนรวมสไตล์มินิมอล

คำนิยามของคำว่า “มินิมอล” หมายถึง การกระทำอะไรก็ตามที่เน้นความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่คำนึงถึงการได้รับประโยชน์ที่ดี เช่น เน้นการเลือกซื้อของใช้ในชีวิตด้วยการจัดลำดับความสำคัญจากความจำเป็นมากที่สุดและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุ้มค่ากับเงินที่จ่าย ตรงกันข้ามข้าวของที่ไม่จำเป็นก็จะไม่ซื้อ


หากนำสไตล์มินิมอลมาใช้กับการเลือกกองทุนรวมก็สามารถทำได้ ด้วยการเน้นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนที่เข้าใจง่าย กระจายความเสี่ยงได้ดี ก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว โดยตัวอย่างกองทุนรวมที่มีสไตล์มินิมอล ได้แก่


กองทุนสมดุลตามอายุ (Target Date Fund)

กองทุนสมดุลตามอายุ ถูกออกแบบมาช่วยนักลงทุนที่อาจประสบปัญหาในการวางแผนออมเงินเพื่อวัยเกษียณว่าจะแบ่งสัดส่วนการลงทุนอย่างไรให้เหมาะสมกับช่วงอายุ โดยหลักการ คือ เมื่อเลือกลงทุนในกองทุนประเภทนี้ นักลงทุนไม่จำเป็นจะต้องมาคอยปรับสัดส่วนการลงทุนต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ช่วงเวลา หรือความสามารถในการรับความเสี่ยง ดังนั้น จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการออมเงินเพื่อเกษียณอายุที่ไม่มีเวลาติดตามภาวะเศรษฐกิจและตลาดทุนอย่างใกล้ชิด เพียงเลือกเวลาในการลงทุน เช่น 10 ปี 20 ปี หรือ 30 ปี และมีวินัยลงทุนสม่ำเสมอ


กองทุนสมดุลตามอายุจะมีนโยบายลงทุนแบบกองทุนผสมทั้งหมด ผู้จัดการกองทุนจะมีหน้าที่ดูแลปรับลดความเสี่ยงของกองทุนให้โดยอัตโนมัติตามระยะเวลา รวมถึงเลือกสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ เงินฝาก หน่วยลงทุนของกองทุนทั้งในและต่างประเทศ เช่น กองทุนรวมทองคำ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนอีทีเอฟ หรือสินทรัพย์ทางเลือกอื่น ๆ ตามความเหมาะสมให้แก่นักลงทุน โดยเน้นสร้างโอกาสรับผลตอบแทนสูงในช่วงแรกและค่อยๆ ปรับลดความเสี่ยงลงเมื่อใกล้ถึงเป้าหมายวันเกษียณอายุ


ยกตัวอย่างเช่น ผู้จัดการกองทุนจะเน้นจัดสรรน้ำหนักการลงทุนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงในช่วง 5 ปีแรก เช่น หุ้นในประเทศ หุ้นต่างประเทศ กองทุนรวมทองคำ และค่อย ๆ ปรับน้ำหนักการลงทุนให้มีความสมดุล (Balanced Portfolio) ในช่วง 5 ปีถัดมา ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ และสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ กองทุนอีทีเอฟ และในช่วง 5 ปีสุดท้ายก่อนจะเกษียณจะมีการปรับพอร์ตการลงทุนด้วยการเน้นลงทุนสินทรัพย์ปลอดภัยสูง เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น


ดังนั้น ข้อดีของกองทุนสมดุลตามอายุจะช่วยให้นักลงทุนหมดกังวลเรื่องการปรับความเสี่ยงการลงทุนให้เหมาะสมกับเป้าหมายระยะเวลาการลงทุน และเหมาะสำหรับมือใหม่ ผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนหรือไม่มีเวลาติดตามสถานการณ์ตลาดทุนอย่างใกล้ชิดอีกด้วย


สำหรับการสังเกตกองทุนสมดุลตามอายุก็สามารถดูที่ปีในชื่อกองทุนนั้น ๆ เช่น SCB2566, SCB2576, SCB2586 เป็นต้น ซึ่งตัวเลข 2566, 2576 หรือ 2586 คือ กำหนดปีที่นักลงทุนในกองทุนนั้นต้องการจะเกษียณอายุ โดยมองที่เป้าหมายปีเกษียณเป็นตัวตั้ง แล้วนำมาปรับให้เข้ากับนโยบายการลงทุนในเหมาะสมกับช่วงเวลาลงทุนจนถึงเป้าหมายนั้น

กองทุนรวมดัชนี

กองทุนรวมดัชนี (Index Fund) เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งหมดที่ประกอบกันเป็นดัชนี โดยพยายามเลียนแบบให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงที่กองทุนรวมนั้น ๆ ลงทุนให้มากที่สุด


ยกตัวอย่าง กองทุนรวมดัชนีที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยก็จะมีนโยบายลงทุนในดัชนี SET50 คือ ลงทุนในหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปใหญ่ที่สุดทั้ง 50 ตัวในตลาดหุ้นไทย หรือดัชนี SET100 จะลงทุนในหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปใหญ่ที่สุดทั้ง 100 ตัวในตลาดหุ้นไทย นอกจากนี้ยังลงทุนในหุ้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น กองทุนรวมดัชนีที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ก็จะลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด


ดังนั้น ไม่ว่าดัชนีอ้างอิงนั้นจะเคลื่อนไหวไปทางไหน ผลตอบแทนกองทุนรวมดัชนีจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน เช่น ดัชนี SET100 มีผลตอบแทน 5% กองทุนรวมดัชนีที่มีนโยบายลงทุนในดัชนี SET100 จะมีผลตอบแทนใกล้เคียงหรือเท่ากับ 5% เช่นเดียวกัน หากดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์มีผลตอบแทนติดลบ 3% กองทุนรวมดัชนีที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะมีผลตอบแทนใกล้เคียงหรือติดลบ 3%


โดยกลยุทธ์ลงทุนของกองทุนดัชนีจึงมีความเรียบง่าย เพราะจะทำการลงทุน เช่น หุ้นที่ประกอบเป็นดัชนีจากนั้นก็ถือลงทุนในระยะยาว ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงในกรณีที่หุ้นตัวใดตัวหนึ่งมีผลตอบแทนปรับลดลงหรือขาดทุน เช่น กองทุนรวมดัชนี SET100 ที่ลงทุนในหุ้นมากถึง 100 ตัว ดังนั้น นักลงทุนจึงสามารถกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนที่มีการกระจุกตัว


สำหรับการดูว่ากองทุนรวมไหน คือ กองทุนรวมดัชนี สามารถสังเกตจากชื่อกองทุนซึ่งจะตั้งตามดัชนีอ้างอิง เช่น กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ SET50 Index หมายถึงเป็นกองทุนรวมดัชนีอ้างอิงกับดัชนี SET50 Index หรือกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ SET Banking Sector Index ก็เป็นกองทุนรวมดัชนีอ้างอิงกับดัชนีหุ้นกลุ่มแบงก

ด้วยเหตุนี้จึงถูกออกแบบมาให้ง่ายสำหรับลงทุนเพราะไม่ต้องศึกษาข้อมูลหรือลงรายละเอียดในหุ้นแต่ละตัว อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนจำเป็นต้องศึกษาว่ากองทุนรวมจะลงทุนในดัชนีอ้างอิงหุ้นหรือสินทรัพย์ประเภทไหนก่อนที่จะเลือกลงทุนกองทุนรวม ไม่ต่างไปจากการซื้อของ ที่ต้องรู้ว่ากำลังซื้ออะไร สำหรับผู้ที่เริ่มต้นลงทุนหรือวางแผนเก็บเงินเพื่อใช้หลังเกษียณอาจเลือกกองทุนรวมที่มีความเข้าใจง่าย มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ซึ่งกองทุนสมดุลตามอายุและกองทุนรวมดัชนีก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ