จัดสรรสินทรัพย์ อย่างไรให้เวิร์ก

การจัดสรรพอร์ตการลงทุน (Asset Allocation) คือ การกระจายเงินไปลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท ไม่ลงทุนเพียงสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง การเลือกสินทรัพย์การลงทุนที่หลากหลายและมีการกำหนดสัดส่วนในพอร์ตการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการผสมผสานทั้งหุ้น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ หรือเงินสด เป็นต้น เพื่อบรรลุเป้าหมายการลงทุน โดยจะพิจารณาจากอัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจากสินทรัพย์แต่ละประเภทเพื่อกำหนดสัดส่วนการลงทุนให้สอดคล้องกับความสามารถในการรับความเสี่ยงและระยะเวลาที่ต้องการลงทุน โดยการจัดสรรพอร์ตการลงทุนหลัก ๆ มี 6 กลยุทธ์  ดังนี้

กลยุทธ์ที่ 1 การกระจายสินทรัพย์การลงทุนโดยเน้นสินทรัพย์ที่หลากหลาย (Strategic Asset Allocation)

เป็นกลยุทธ์การลงทุนด้วยการกำหนดสัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลงทุนในระยะยาว (มากกว่า 1 ปี) โดยจัดสรรเงินลงทุนให้ครอบคลุมทุกสินทรัพย์ทั่วโลก เช่น หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ไทย ตราสารหนี้ต่างประเทศ และทรัพย์สินทางเลือกอื่น ๆ เช่น ทองคำ โดยวิธีการจัดสรรเงินลงทุนก็ให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของตัวเองและผลตอบแทนเป้าหมายของพอร์ตโดยรวมที่วางเอาไว้ 


กลยุทธ์นี้เหมาะกับผู้ที่เน้นลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายในระยะยาว หรือผู้ที่ไม่มีเวลาในการติดตามข้อมูลการลงทุนเป็นรายวัน จึงกำหนดสัดส่วนสินทรัพย์แต่ละประเภทให้สอดคล้องกับความสามารถในการรับความเสี่ยงและผลตอบแทนคาดหวังตั้งแต่เริ่มต้น รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนได้เพราะไม่ได้ปรับพอร์ตบ่อย ๆ


อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์นี้ไม่เหมาะกับช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและส่งผลให้ตลาดการลงทุนมีความความผันผวนรุนแรง เพราะหากไม่ปรับพอร์ตอาจทำให้เกิดผลขาดทุนในบางสินทรัพย์ที่อยู่ในพอร์ตลงทุน

 

กลยุทธ์ที่ 2 เน้นการคงสัดส่วนการจัดสรรเงินลงทุน (Constant-Weighting Asset Allocation)

เป็นกลยุทธ์เน้นการปรับสัดส่วนการลงทุน (Rebalance) ให้กลับมาสู่สัดส่วนที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรก หมายความว่า เมื่อมูลค่าสินทรัพย์มีการเปลี่ยนแปลงและทำให้สัดส่วนสินทรัพย์ในพอร์ตต่างไปจากนโยบายที่ตั้งไว้ตอนแรกก็ต้องทำการปรับสัดส่วนการลงทุน


กลยุทธ์นี้จะช่วยในการพิจารณาว่าหากสินทรัพย์ใดที่มูลค่าสูงกว่าราคาแท้จริงก็ขายเพื่อทำกำไร และนำมาจัดสรรใหม่เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง เป็นการปรับสมดุลของผลตอบแทนและความเสี่ยงตามที่กำหนดเอาไว้ตั้งแต่เริ่มต้น  


กลยุทธ์นี้เหมาะสำหรับผู้ที่เน้นลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายในระยะยาวและมีเวลาในการติดตามข้อมูลข่าวสาร โดยจะปรับพอร์ตลงทุนให้สมดุลเมื่อเห็นว่ามูลค่าสินทรัพย์มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเป้าหมายเดิมที่วางเอาไว้ แต่ข้อด้อย คือ ไม่เหมาะกับผู้ที่ตัดสินใจปรับพอร์ตด้วยการใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล

asset allocation1

กลยุทธ์ที่ 3 เน้นการจัดสรรเงินลงทุนให้สอดคล้องกับสภาวการณ์จริง (Tactical Asset Allocation)

แม้ว่าในภาพรวมจะมีการกำหนดสัดส่วนการกระจายการลงทุน และเป้าหมายการลงทุนระยะยาวไว้แล้ว แต่ระหว่างทางอาจมีสถานการณ์หรือปัจจัยที่ส่งกระทบต่อการลงทุน จึงต้องปรับสัดส่วนการลงทุนตามสภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลาเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการลงทุน เพื่อรักษาระดับความเสี่ยงและผลตอบแทนให้เหมาะสม เช่น เดิมตั้งเป้าหมายการลงทุนในหุ้นไทย 50% และลงทุนในตราสารหนี้ 50% โดยลงทุนระยะตามที่กำหนดไว้ เช่น 1 ปี แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง เช่น เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว นักลงทุนต่างประเทศกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทย การส่งออกขยายตัวชัดเจน ก็สามารถเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไทยเป็น 70% และลงทุนในตราสารหนี้ 30% ได้


กลยุทธ์นี้เหมาะกับผู้มีวินัยในการลงทุนสูง ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพราะต้องปรับสัดส่วน (Rebalance) เพื่อรักษาระดับความเสี่ยงและผลตอบแทนให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและเพื่อรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น จึงไม่เหมาะกับผู้ที่เน้นลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายในระยะยาว หรือผู้ที่ไม่มีเวลาในการติดตามข้อมูลการลงทุนเป็นรายวัน


กลยุทธ์ที่ 4 การกระจายการลงทุนแบบไดนามิกที่พร้อมปรับตัวอยู่เสมอ (Dynamic Asset Allocation)

เป็นการลงทุนที่ปรับเปลี่ยนไปตามการขึ้นลงของตลาดหรือภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ด้วยการพิจารณาการลงทุนในแต่ละประเภทสินทรัพย์มากกว่าการกระจายสัดส่วนของสินทรัพย์ เช่น กรณีที่คาดการณ์ว่าราคาหุ้นจะปรับตัวลดลงก็ควรขายออกเพื่อลดความเสี่ยงในการขาดทุน และไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นที่ได้รับประโยชน์ในสภาวะตลาดช่วงนั้น


กลยุทธ์นี้เหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างสูงและมีประสบการณ์ในการลงทุน เพราะจะไม่มีการกำหนดทั้งสัดส่วนและระยะเวลาที่แน่นอน แต่จะเน้นผลตอบแทนเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักใช้กับนักลงทุนสถาบันหรือผู้จัดการกองทุน ดังนั้น จึงไม่เหมาะกับผู้ที่เริ่มต้นลงทุนและรับความเสี่ยงได้ไม่สูง เนื่องจากต้องใช้ประสบการณ์สูงในการคาดการณ์แนวโน้ม  

กลยุทธ์ที่ 5 การจัดสรรเงินลงทุนแบบมีประกัน (Insured Asset Allocation)

เน้นการลงทุนและจัดสรรสินทรัพย์เชิงรับ โดยกำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำเอาไว้ตายตัว ดังนั้น การซื้อ ถือครอง และขาย จะมุ่งเป้าที่ผลตอบแทนไม่ให้ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งเอาไว้และพยายามจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนและให้ได้ผลตอบแทนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้


กลยุทธ์นี้เหมาะกับนักลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยงมากนักหรือค่อนข้างกังวลกับความผันผวน แต่ก็มีความยืดหยุ่นในระดับหนึ่งในการปรับแผนการลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทน ดังนั้น จึงไม่เหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง ๆ


กลยุทธ์ที่ 6 การจัดสรรเงินลงทุนแบบบูรณาการ (Integrated Asset Allocation)

เน้นการลงทุนโดยนำปัจจัยเศรษฐกิจ สถานการณ์แวดล้อม คำนึงถึงความเสี่ยงที่รับได้มาพิจารณาให้เหมาะกับรูปแบบการลงทุน ดังนั้น สินทรัพย์ที่ลงทุนจึงจะสอดคล้องกับความเสี่ยง อาจเป็นไปได้ทั้งความหลากหลายของประเภทสินทรัพย์และความหลากหลายทางกลยุทธ์ นอกจากผลตอบแทนที่คาดหวังในอนาคตแล้ว ก็ยังคำนึงถึงผลตอบแทนที่เป็นไปได้ระหว่างทางด้วย แต่ก็พร้อมที่จะปรับพอร์ตลงทุนเมื่อเกิดสิ่งที่ไม่ได้คาดการณ์ระหว่างทางด้วย 


กลยุทธ์นี้เหมาะกับผู้ที่มีประสบการณ์การลงทุนและสามารถประเมินแนวโน้มการลงทุนได้ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และปรับพอร์ตลงทุนได้ตลอดเวลาตามความสามารถในการรับความเสี่ยงและผลตอบแทนคาดหวัง จึงอาจไม่เหมาะกับที่เน้นลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายในระยะยาว หรือผู้ที่ไม่มีเวลาในการติดตามข้อมูลการลงทุน


โดยสรุปแล้ว ทุกกลยุทธ์จำเป็นต้องอาศัยการพิจารณาทั้งภาพรวมเศรษฐกิจ สถานการณ์ ณ ช่วงเวลานั้น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุน ความเสี่ยงที่รับได้ เป้าหมายผลตอบแทน และอายุของนักลงทุนมาประกอบกัน นอกจากนี้ ยังต้องพร้อมปรับเปลี่ยนเมื่อมีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นระหว่างทาง โดยต้องอาศัยข้อมูล การวิเคราะห์รอบด้าน หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน เพื่อสามารถเลือกใช้กลยุทธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับตัวเอง