ใช้ดาต้าอย่างไรเพื่อสร้าง Storytelling Contents ให้โรงแรมฮิตติดชาร์ต

หัวใจสำคัญในการชนะศึกธุรกิจในยุคนี้ไม่ใช่แค่มีเงินและความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น ในยุค New Normal ธุรกิจที่จะกำชัยชนะเหนือคนอื่นได้ ต้องนำดาต้ามาใช้ประโยชน์ เมื่อมีดาต้าเหนือกว่า ก็มีแต้มต่อในชัยชนะได้มากกว่า ตัวอย่างเช่น SCB ในการนำพาองค์กรฝ่าวิกฤตโควิดมาได้เพราะมีดาต้าที่ดีและใช้ดาต้ามาวิเคราะห์อย่างถูกต้อง ดูแลลูกค้าได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ ซึ่งภาพรวมนั้นเกิดจากการลงทุนเรื่องดาต้าและนำมาใช้อย่างจริงจัง

การเก็บและนำดาต้ามาใช้ ไม่ได้สำคัญเฉพาะในองค์กรขนาดใหญ่ แต่ในระดับ SME หรือธุรกิจโรงแรมเองก็มีความสำคัญมากเช่นกัน บทความนี้ผู้เชี่ยวชาญในการใช้ดาต้าเพื่อนำมาสร้างคอนเทนต์ในรูปแบบ Storytelling จาก SCB สามท่านได้แก่ คุณสุธีรพันธ์ สักรวัตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการตลาด, คุณอนันต์ จินาวงศ์ ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่าย Marketing Technology และคุณกมลสร วารีแสงทิพย์ Manager, Digital Campaign Planning & Execution มาให้ความรู้ทั้งในส่วนของการเก็บดาต้า การนำดาต้ามาใช้ในการผลิตคอนเทนต์ให้เหมาะกับวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งการทำ Ads targeting บน Facebook


กลยุทธ์และเป้าหมายทางธุรกิจ 6 ประเภท

กลยุทธ์หรือทางเลือกในการทำธุรกิจมี 6 แบบให้เลือกตามตาราง แกนแนวตั้งคือตัวสินค้า/บริการและช่องทางการจัดจำหน่ายที่เรามีอยู่แล้ว เช่น OTA หรือช่องทางใหม่ที่ต้องสร้างขึ้นมา ส่วนแกนแนวนอนคือกลุ่มเป้าหมาย เช่น เดิมเน้นกลุ่มลูกค้าต่างชาติ วันนี้ต้องเปลี่ยนมาเน้นลูกค้าคนไทย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยกลุ่มเป้าหมายเดิมที่มีอยู่กับกลุ่มเป้าหมายใหม่ หรืออาจมองเป็น Segment เช่น กลุ่มท่องเที่ยวหรือกลุ่มนักธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งทั้งสองแกนสามารถแบ่งกลยุทธ์ทางธุรกิจออกได้เป็น 6 แบบได้แก่

  1. กลยุทธ์ขายสินค้าเดิมกับกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีอยู่ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก แต่ไม่สร้างความแตกต่าง ทำอย่างไรให้จากที่ขายได้ 50% เพิ่มเป็น 80% ในกลุ่มลูกค้าเดิม

  2. กลยุทธ์ขายสินค้าใหม่กับกลุ่มลูกค้าเดิม กลุ่มลูกค้าเดิมมีความต้องการอะไรใหม่ๆ หรือไม่

  3. กลยุทธ์ใช้สินค้าเดิมแต่ทำอย่างไรจะดึงลูกค้าของคู่แข่งมาได้

  4. กลยุทธ์ขายสินค้าใหม่เจาะกลุ่มเป้าหมายของคู่แข่ง ดูว่ากลุ่มลูกค้ากลุ่มไหนที่ยังมีศักยภาพและสามารถพัฒนาบริการให้ดึงลูกค้ากลุ่มนี้ให้ได้

  5. กลยุทธ์ขายสินค้าเดิมแต่หาลูกค้าใหม่ คือใหม่ทั้งเราและใหม่ทั้งคู่แข่ง เช่น ทำอย่างไรให้ลูกค้าที่พัทยามาเที่ยวภูเก็ตแทน

  6. กลยุทธ์ขายสินค้าใหม่กับลูกค้าใหม่ เป็นข้อที่ยากที่สุดแต่ถ้าทำได้จะประสบความสำเร็จได้มากกว่า

Model ในการเกิดพฤติกรรม

สมการจิตวิทยาในการทำนายพฤติกรรมของมนุษย์ B= MAT ที่อธิบายว่าการจะเกิดพฤติกรรมได้ต้องมีปัจจัย 3 ตัวคือ M=Motivation A=Ability T= Trigger

Motivation คือแกนแนวตั้ง ถ้าอยู่ด้านล่างแปลว่าไม่มีแรงจูงใจ ถ้าอยู่ด้านบนแปลว่าแรงจูงใจสูง

Ability คือแกนแนวนอน เป็นความสามารถในการทำพฤติกรรมนั้น ถ้าอยู่ด้านขวาคือง่ายที่จะทำ อยู่ด้านซ้ายคือยากที่จะทำ


T คือ Triggers คือการกระตุ้น ต้อง Trigger ให้ถูกจุด ถูกคน ถูกเวลา

ถึงมีแรงจูงใจแต่ไม่มีความสามารถพฤติกรรมก็ไม่เกิด ความสัมพันธ์ของ M กับ A เกิดเป็นกราฟเส้นโค้งแบบกลับด้าน พื้นที่ที่อยู่เหนือกราฟคือพื้นที่ที่จะเกิดพฤติกรรม แต่อะไรที่อยู่ใต้เส้นกราฟพฤติกรรมจะไม่เกิด จึงต้องทำให้ครบทั้ง 3 ตัว พฤติกรรมจึงเกิดได้


ประเภทของดาต้าและการนำไปใช้ในเชิงการตลาด

แหล่งข้อมูลของดาต้าสามารถมาจากที่ไหนได้บ้างและเมื่อมีดาต้าแล้ว จะสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงการตลาดได้อย่างไร โดยเฉพาะการนำข้อมูลมาสร้าง Segmentation เพื่อการสร้างคอนเทนต์ที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม มี 3 ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจคือ ประเภทของดาต้า, การนำดาต้าไปใช้ และการวิเคราะห์ดาต้า

ประเภทดาต้า

  • First party data คือดาต้าที่เราเป็นผู้เก็บรวมรวมเอง เรามีสิทธิในการใช้ และเรารู้ว่าข้อมูลมีความถูกต้อง เช่นข้อมูลลูกที่ค้าเช็คอินเข้าพัก รวมทั้ง Behavioral data ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ซึ่งสามารถบอกได้ว่าลูกค้าเป็นแบบไหน, CRM data เกี่ยวกับลูกค้า ลูกค้ามาจากที่ไหน ทานอะไรบ้าง มากี่โมงกลับกี่โมง ต้องเอารถไปรับที่สนามบินมั้ย รวมทั้งข้อมูลจากการสำรวจความพึงพอใจเมื่อเช็คเอาท์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ดีสามารถสร้าง Profile ลูกค้าได้ Zero party data เป็น Preference ของลูกค้า เป็นส่วนต่อขยายของ First party data เช่น ชอบห้องแบบไหน ชั้นบน ชั้นล่าง ชอบห้องมุมไหน ซึ่งเป็นข้อมูลที่นำมารวมกับข้อมูลข้างบนเพื่อดูว่าลูกค้าเป็นอย่างไร แล้วเราควรจะคุยกับเขาแบบไหน

  • Second party data คือดาต้าของคนอื่นแต่มีความถูกต้องมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ส่วนมากเป็น Partner data ความเชื่อถือในข้อมูลจาก 100% อาจเหลือ 80% เช่น ข้อมูลจากบัตรเครดิตหรือสายการบิน ที่นำมาแชร์กัน เช่น บัตรเครดิตรู้ว่าลูกค้ารายนี้ชอบไปเที่ยวที่ไหน การใช้ Second party data จะไม่ใช้โดดๆ จะใช้คู่กับ First party data ที่เราเก็บเอง

  • Third party data เป็นดาต้าจากบุคคลที่ 3 เก็บมาให้ เช่น Facebook, Google เช่น ข้อมูลจาก Facebook จะได้ข้อมูลในลักษณะเป็นกลุ่ม เช่น กลุ่มของคนที่ชอบท่องเที่ยว กลุ่มคนชอบดำน้ำ แต่จะไม่มีข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ เบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมล

การนำดาต้าไปใช้

  • ทำความเข้าใจกับดาต้า การนำดาต้าจากหลายๆ แหล่งมารวมกัน แล้ววิเคราะห์ว่าเราเข้าใจข้อมูลอย่างไร เสร็จแล้วนำมาหาว่าเราจะใช้ข้อมูลนั้น สื่อสารกับใคร คนที่เราต้องการสื่อสารด้วยมีลักษณะอย่างไร

  • จะนำเสนออะไรให้กลุ่มเป้าหมาย เมื่อทำแล้วก็เก็บข้อมูลอีกรอบหนึ่งว่าสิ่งที่คิดถูกต้องหรือไม่ ถ้าผิดก็ลองใหม่ บริษัทที่จะประสบความสำเร็จ ไม่ใช่คิดถูกตั้งแต่ครั้งแรกแต่ต้องค่อยๆ เรียนรู้และปรับปรุง เพราะโลกเปลี่ยนไว บริบทต่างๆ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด


ข้อมูลจาก BCG มีการศึกษาว่าแบรนด์นำดาต้าไปใช้ทำอะไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นที่ First party data โดยแบ่งการใช้เป็น 3 กลุ่ม คือ

  • การหา Insight เพื่อเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้า

  • การคาดการณ์อนาคต เมื่อทำความเข้าใจลูกค้าเยอะๆ เราควรจะบอกได้ว่าจริงๆ แล้วลูกค้ามองหาอะไรหรือจะเกิดอะไรขึ้น การหา Audience การ Define audient และการทำ Targeting audience รวมทั้งการวัดผล

  • การทำ One to one หรือ Segment based marketing ทำการสื่อสารที่แตกต่างสำหรับลูกค้าแต่ละกลุ่มเพื่อทดสอบว่าการสื่อสารแบบไหนได้ผล

  • วิเคราะห์ข้อมูล 4 ขั้นตอน

i. Descriptive ว่าเกิดอะไรขึ้น เช่น มีคนจองโรงแรมมากี่ราย

ii. Diagnose ว่าทำไม ทำไมเราขายได้มาก ทำไมขายได้น้อย

iii. Predictive การมองไปในอนาคต

iv. Ultimate เรามีวัตถุประสงค์แบบนี้แล้วเราจะทำอย่างไรให้ข้อมูลบอกเราว่าเราต้องทำอะไรบ้าง


การกำหนดกลุ่มลูกค้าสามารถใช้ Demographic, Behavior, Interest, Phycology และ Sizing

  • เก็บดาต้าและวิเคราะห์อย่างไร

หลายๆ คนมักคิดว่าตัวเองไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีระบบในการเก็บข้อมูลที่ดีพอ ซึ่งจากการศึกษาของ Google พบว่าปัญหาหลักไม่ใช่เรื่องของการไม่มีเทคโนโลยี แต่คือการไม่สามารถนำข้อมูลที่มีอยู่มาเชื่อมต่อกันได้ แหล่งที่สามารถนำดาต้ามาได้ เช่น Website analytics , Social media analytic, Online sale, Offline sale, Advertising platform เช่น Google, Facebook, สภาพอากาศ สภาพอากาศช่วงไหนขายดี การใช้ Google Trend การดูดาต้าต้องดูหลายๆ มุม หลายๆ Perspective


Concept ABC จาก Google Analytics

  • A -Acquisition เราพาใครมาที่เว็บไซต์บ้าง นำทุก Traffic ที่มา คัดดูว่าลูกค้าเป็นอย่างไร Visitor ที่เข้ามามีโปรไฟล์แบบไหน
  • B- Behavior ลูกค้าเข้ามาที่หน้าไหน อยู่นานแค่ไหน ออกไปตอนไหน ออกไปจากหน้าไหน
  • C- Conversion ลูกค้าจองหรือไม่ ลงทะเบียนหรือไม่


ใช้ Concept 1H 5W คือ How, What, Who, When, Where, Why


Persona – คือลักษณะของคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร ชอบอะไร จะได้สร้างวิธีที่จะสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจน เพราะแม้คนกลุ่มอายุช่วงเดียวกันก็มี Interest ที่ต่างกัน ต้องหาว่าใครที่เหมาะกับโรงแรมหรือธุรกิจเรามากที่สุด

จิตวิทยาและพฤติกรรมของผู้บริโภค

ผลการวิจัยในด้านจิตวิทยา ของบริษัท Roland Berger บอกว่า Character ของแบรนด์ หรือของผู้บริโภคมีทั้งหมดกว่า 20 แบบ โดยแต่ละคนจะไม่ได้เป็นแบบใดแบบหนึ่งเพียงแบบเดียว แต่จะใช้แต่ละคาแรคเตอร์ที่ต่างกันไปในแต่ละเหตุการณ์ แต่ละบริบท แต่ละโอกาส โดยโครงสร้างของการแบ่งคาแรคเตอร์จะประกอบด้วยแกนแนวตั้งและแนวนอน

  • แกนแนวตั้ง

E ด้านบนคือ Emotion ยิ่งอยู่เหนือเส้นตรงกลางยิ่งใช้อารมณ์ตัดสินมากขึ้น เช่นความหรูหรา

R ด้านล่างคือ Rational คือตรรกะ เหตุผล เช่น เรื่องราคา มีการพิสูจน์มาแล้ว ปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ

  • แกนแนวนอน แนวลบ แนวบวก

ด้านขวาจะเป็นพฤติกรรมที่ Active ส่วนพฤติกรรมทางด้านซ้ายจะเป็น Passive คือเนือย เรื่อยๆ


มุมบนขวา
คือ Trill ตื่นเต้น รู้สึกสบายใจ Care free, Cool, trendy เก๋


มุมล่างขวา
ชอบการบริการ ชอบ Technology ต้องการประสิทธิภาพ การ Customize ต้องเป็นตัวตนแบบที่ชอบ ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนตามความต้องการ


ตรงกลางด้านบน
หรูหรา Vitality, Wellness, Classic พรรคพวกเพื่อนฝูง คุณภาพ ผ่านการยืนยันมาแล้ว สงบสุข มั่นคงปลอดภัย


ซ้ายบน
ยุติธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบ อิงธรรมชาติ สงบสุขภายในใจ


ซ้ายล่าง
คุ้มค้า คุ้มราคามีการเปรียบเทียบ Smart shopping ราคาถูกที่สุด เน้นเรื่องราคา

คำถามคือโรงแรมหรือธุรกิจของคุณอยู่กลุ่มไหน?


การออกแบบและการคิดคอนเทนต์ในเชิงกลยุทธ์

เคล็ดลับของ digital Marketing คือ ต้องใช้ให้ถูกทั้งคอนเทนต์และเทคนิค จะขาดตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้


ปัจจุบันคอนเทนต์ในโลกใบนี้มีเยอะมากและมีหลายรูปแบบมาก สิ่งที่โรงแรมทำอยู่อาจเป็นแค่ 2-3 รูปแบบในคอนเทนต์ที่มีกว่า 20 รูปแบบ

คอนเทนต์แบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ

1. Entertain สร้าง Awareness ด้วยอารมณ์ความรู้สึก ทำให้รู้จัก

2. Educate สร้าง Awareness ด้วยการให้ความรู้

3. Inspire ใช้ปิดการขายด้วยอารมณ์

4. Convince ปิดการขายด้วยตรรกะ เหตุผล


กลุ่ม Awareness ทำให้เขารู้จัก แต่บางคนสร้างคอนเทนต์แบบนี้แต่อยากได้ยอดขาย ซึ่งคอนเทนต์กลุ่มนี้ไม่เหมาะกับการปิดยอด เพราะไม่มีพลังในการขายของ แต่สร้าง Awareness ได้ดีเพราะคนชอบแชร์ทำให้คนรู้จัก คือการตอบคำถาม Why buy ซึ่งพอทำ Awareness สำเร็จสิ่งที่ต้องทำต่อคือกลุ่มที่ 2 Why you และ กลุ่มที่ 3 คือ Why now ซึ่งคือ Funnel ในการทำ content
 

a. Why buy ทำให้คนรู้จักเป็น Branded content เช่น คลิปไวรัลต่างๆ บทความต่างๆ หรือจ้าง Influencer ไปเขียน Blog post การแถลงข่าว การทำ Infographic ไกด์หรือคู่มือต่างๆ ซึ่งข้อมูลบางอย่างอาจไม่เกี่ยวกับธุรกิจของเราโดยตรงก็ได้
 

b. Why you คนเริ่มมี Awareness เริ่มตัดสินใจ เป็นช่วง Consideration อาจมี Community forum, หรือกรุ๊ปคนมาเที่ยวภูเก็ต, การจัด Event, Demo video 360 องศา ทำให้เห็นบรรยากาศในโรงแรม, การทำ Live, Trip Advisor, คนจะเสิร์ชหาข้อมูล พอคนสนใจอาจจะมาเข้าเว็บไซต์ ที่มีข้อมูลคำถามต่างๆ ที่ลูกค้าอาจสงสัย
 

c. Why now ทำไมต้องซื้อตอนนี้ เพื่อเร่งรัดการตัดสินใจ กลยุทธ์ของ Why now คือ Endorsement ใช้ Influencer, รีวิว, Rating, Case study ช่วงปิดการขายคอนเทนต์ที่เป็นตรรกะ เหตุผลสำคัญมาก

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเราใช้คอนเทนต์ผิดกลุ่ม ผิดช่วงผิดเวลา


การทำ Ads targeting บน Facebook

การทำ Ads targeting เป็นหนึ่งในเทคนิคที่จะช่วยให้กำชัยชนะได้ สำหรับการสร้าง Ads targeting บน Facebook นั้น จะทำที่ Facebook ads manager d­­ashboard โดยในบทความนี้จะเน้นที่ Campaign Objective


Campaign objective ของ Facebook แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่

  • Awareness คือ Why buy ซื้อ Ads, Boost post ใช้คอนเทนต์ที่เป็นกลุ่ม Awareness
  • Consideration คือ Why you ซื้อ Ads, Boost post ในคอนเทนต์ที่เป็นกลุ่ม Consideration
  • Conversion คือ Why now ซื้อ Ads, Boost post ในคอนเทนต์ที่เป็นกลุ่ม Conversion

สมมติซื้อ Ads – Boost post คอนเทนต์ที่เป็น Brand Awareness นั้น Facebook จะทำให้ Ads ของเรามีคนเห็นเยอะที่สุด โดย จะมีการคิดเงินเมื่อลูกค้าจดจำ Ads ได้ โดย Facebook ads หน้าตาจะเหมือน Facebook post ทั่วไป แต่เมื่อคลิก จะไม่เหมือน ถ้าเราเลือกวัตถุประสงค์เป็น Lead ads เมื่อลูกค้ากดแล้วจะมีฟอร์มให้กรอก พอกรอกเสร็จจะไปที่ Thank you page ซึ่งอาจมีปุ่มคลิก next เพื่อไปดูรายละเอียดที่หน้า Website ที่กำหนด ซึ่ง Lead ads Facebook จะมาเก็บเงินเมื่อลูกค้ากดส่งแบบฟอร์ม หรือ Ads ที่ต้องการให้ลูกค้าดาวโหลดน์แอป Facebook จะคิดเงินเมื่อผู้ใช้งานดาวโหลดแอป เป็นต้น

จะเห็นว่าจุดเริ่มต้นหน้าบ้านหน้าตาคอนเทนต์จะเหมือนกันหมด แต่หลังบ้านเมื่อลูกค้าคลิกจะไม่เหมือนกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่เราเลือก ต้องกำหนดก่อนว่าตอนนี้ลูกค้าอยู่ใน Stage ไหน แล้วอยากให้เขาทำอะไร ซึ่งวัตถุประสงค์นั้นจะไปสะท้อนว่า Content จะทำออกมาใน Format ไหน


การ Boost Post เป็น Ads ชนิดหนึ่งเป็นโพสต์ที่ขึ้นไปบนหน้า Wall แล้ว โดยจะมีปุ่ม Boost อยู่ข้างๆ เมื่อคลิกปุ่ม Boost สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราจะไปซื้อ Engagement คือจะได้คนมาอ่านมา มา Like, Share หรือ Comment ซึ่งบางครั้งนั่นอาจไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่อยากได้ เช่นจริงๆ แล้วโรงแรมมีฟอร์มที่อยากให้ลูกค้าคลิกและกรอกแบบฟอร์มให้สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นการซื้อ Ads ครั้งนี้วัตถุประสงค์จึงไม่ใช่สสร้าง Engagement ดังนั้นการ Boost post จึงไม่ใช่คำตอบทั้งหมด

 

การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย

  1. Location สามารถกำหนดได้ว่า Ads จะไปโชว์ที่ไหน

  2. Demographic เช่น เพศ อายุ

  3. Interest เลือกได้จากการไปดูโพสต์ที่มีคนมา Interact เยอะๆ เขาสนใจเรื่องอะไร เช่น สนใจเรื่อง promotion

  4. Connection เช่น คนที่ Like page หรือไม่ Like page

  5. Behavior เขากำลังจะไปเที่ยวที่ไหนหรือเปล่า เที่ยวอยู่ที่ไหนรึเปล่า ซึ่งทั้ง 5 แบบต้องซื้อดาต้าจาก Facebook ซึ่งเป็น Third party data

  6. Custom audience ข้อมูลลูกค้าที่เป็น email เบอร์โทรศัพท์ที่เรามี ข้อมูลเหล่านี้สามารถอัพโหลดขึ้นไปที่ Facebook ให้ทำการ Match แล้วสื่อสารเฉพาะกับลูกค้ากลุ่มนั้น ซึ่งข้อมูลเป็นการรวมกันระหว่างข้อมูลของเราขึ้นไปเจอกับ User profile ของ Facebook ซึ่งสุดท้ายก็กลายเป็น Third party data อยู่ดี

  7. Look a like เป็น Audience ที่มีความคล้ายคลึงกับกลุ่มที่เราต้องการ เช่น กลุ่ม Custom audience

โดยสรุปการทำ Facebook Targeting ให้ได้ผลนั้นต้องประกอบด้วย 3 R คือ


Reach = ต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้องในเวลาที่ถูกต้อง

Relevance = เนื้อหา ชิ้นงานต้องเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย วัตถุประสงค์และบริบทต่างๆ

Result = บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ โดยโฟกัสที่การโดยเลือกวัตถุประสงค์ในการยิง Ads ที่ถูกต้อง


จะเห็นได้ว่าการที่จะสร้างคอนเทนต์ให้ประสบความสำเร็จเพื่อสร้างการรับรู้ ทำให้โรงแรมหรือธุรกิจเป็นที่รู้จัก เป็นตัวเลือกที่นักท่องเที่ยวหรือลูกค้าพิจารณา และสุดท้ายตัดสินใจซื้อ ต้องอาศัยการวิเคราะห์และใช้ดาต้าอย่างถูกต้อง ถ้าทำได้ ชัยชนะก็จะอยู่ในมือเราได้

ที่มา: โครงการอบรมหลักสูตร SCB IEP BOOTCAMP : THE HOSPITALITY SURVIVAL, Phuket