การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ SMEs และสิ่งที่ควรรู้ก่อนฟื้นฟูกิจการ

หลักสำคัญของระบบเศรษฐกิจอยู่ที่การผลิต ซึ่งปัจจัยการผลิตที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ “ทุน” และในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะต้องอ้างอิงหรือพิจารณาระบบสินเชื่อ ดังนั้นกฎหมายล้มละลายและฟื้นฟูกิจการจึงมีความสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน เช่น ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาทางการเงินยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้ในขณะที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้เพื่อให้ลูกหนี้กลับมาเป็นหน่วยทางธุรกิจของระบบเศรษฐกิจสามารถผลิตและแข่งขันได้ โดยมีกฎหมายล้มละลายและฟื้นฟูกิจการช่วยรักษามูลค่าของกิจการของลูกหนี้ไว้    ด้วยมาตรการที่เรียกว่า สภาวะพักการชำระหนี้ (Automatic Stay) ไม่เพียงแต่จะเกิดประโยชน์แก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้เท่านั้น หากแต่ยังเกิดประโยชน์แก่บุคคลที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ด้วย เช่น ลูกจ้างของลูกหนี้ คู่ค้าของลูกหนี้


ด้วยเหตุนี้เองจึงกล่าวได้ว่ากฎหมายดังกล่าวสามารถส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนสนใจในการทำธุรกิจ และเป็นปัจจัยสำคัญนักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นในการลงทุน  หรือเลือกประกอบธุรกิจในประเทศไทย ดังเช่นข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการกฎหมายด้านการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (UNCITRAL) กล่าวว่า หากการดำเนินคดีล้มละลายใดขาดการประสานความร่วมมือที่ดีระหว่างศาลและเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ทรัพย์สินที่จะถูกนำมาบังคับคดีย่อมสูญหาย มีการฉ้อฉล หรือปิดบัง ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบ ต่อสถานะทางการเงินของบริษัทที่ล้มละลาย ตลอดจนความสามารถในการประกอบธุรกิจต่อไปได้ของผู้ประกอบการ หรือนักลงทุนอีกด้วย เพราะกฎหมายดังกล่าวสามารถรักษาความเป็นระเบียบของสังคมและความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ในบรรดากิจการทางพาณิชย์ที่สำคัญของประเทศไทยประเภทหนึ่งก็คือ วิสาหกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises) หรือเรียกย่อว่า SMEs โดยข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) แสดงให้เห็นว่าปี 2561 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่มาจาก SMEs มีมูลค่า 7,013,971 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.0 ของ GDP รวมทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีสัดส่วนร้อยละ 42.4 โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 5.0 เร่งขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.8 และเมื่อพิจารณามูลค่า GDP ตามขนาดวิสาหกิจ พบว่า วิสาหกิจขนาดย่อม (SE) มีมูลค่า GDP เท่ากับ 5,010,991 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30.7 และวิสาหกิจขนาดกลาง (ME) มีมูลค่า GDP เท่ากับ 2,002,980 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.3 มีอัตราการขยายตัวจากปีก่อนหน้าเท่ากับร้อยละ 5.4 และ 3.9 ตามลำดับ จะเห็นได้ว่า SMEs มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ถ้าหาก SMEs ประสบปัญหาทางด้านการเงินที่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน หรือลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เช่นลูกหนี้มีทรัพย์สินไม่พอกับหนี้สิน หรือลูกหนี้มีกระแสเงินสดไม่พอชําระหนี้ ระบบกฎหมายล้มละลายที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีกฎหมายในส่วนฟื้นฟูกิจการสำหรับ SMEs เพื่อเป็นทางเลือกให้ SMEs เพิ่มขีดความสามารถและความเข้มแข็งในการแข่งขันทางการค้าต่อผู้ประกอบการ SMEs


อย่างไรก็ตาม SMEs ย่อมมีลักษณะแตกต่างกัน ในการดำเนินการกิจการค้าพาณิชย์ย่อมประสบปัญหาทางด้านการเงิน หรือประสบปัญหาในทางการค้าและการลงทุน เช่น ขาดแหล่งเงินทุน ศักยภาพในการแข่งขันมีน้อย จนกระทั่งขาดทุน มีหนี้สินได้ และมีความจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งการฟื้นฟูกิจการเป็นกระบวนการทางศาล โดยผู้ร้องขอต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลต่างหากจากคดีแพ่ง หรือคดีล้มละลายธรรมดา เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาทางการเงินของลูกหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้กลับมาบริหารกิจการได้อีกครั้ง โดยที่จุดประสงค์ของการฟื้นฟูกิจการมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินการต่อไปได้ และเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้มากกว่าที่จะให้ลูกหนี้ล้มละลาย

เมื่อพิจารณาปัญหาอุปสรรคของการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว เห็นว่า SMEs ส่วนใหญ่ เป็นกิจการที่มีขนาดเล็ก และส่วนใหญ่เป็น บุคคลธรรมดาไม่จดทะเบียนพาณิชย์ ฉะนั้น โอกาสที่ SMEs จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ จึงแทบไม่มีด้วยเงื่อนไข สภาพของกิจการที่มิได้เป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน จำกัด จำนวนทุนที่น้อยย่อมไม่มีโอกาสที่จะมีหนี้สินถึงจำนวน 10 ล้านได้ ด้วยความจำเป็นดังกล่าว ในปีพ.ศ. 2559 เป็นต้นมา พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2559 ได้เพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วย การฟื้นฟูกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการฟื้นฟูกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ได้ โดยสรุปหลักการสำคัญเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของ SMEs ดังนี้


5 หลักการสำคัญเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของ SMEs ที่ควรรู้


1. ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือห้างหุ้นส่วน ก็ขอฟื้นฟูกิจการได้ หากมีลักษณะเป็น SMEs ตามกฎหมาย ขณะเดียวกันบริษัทจำกัด หากมีลักษณะเป็น SMEs แล้ว ก็มีสิทธิขอฟื้นฟูกิจการแบบ SMEs ได้ด้วยเช่นกัน


2. ขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการของ SMEs
รวบรัดกว่าขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการแบบปกติ เพราะถ้าฟื้นฟูกิจการแบบเดิม ต้องให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการก่อน จึงจะเริ่มกระบวนการจัดทำและบริหารแผนฟื้นฟูกิจการได้ แต่ในการฟื้นฟูกิจการแบบ SMEs แผนฟื้นฟูกิจการต้องจัดทำมาก่อน และแนบไปพร้อมกับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งถ้ามีเหตุให้ฟื้นฟูกิจการได้ และศาลเห็นชอบกับแผนที่เสนอมา ศาลจะมีคำสั่ง "ให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน" และนำไปสู่ขั้นตอนบริหารแผนทันที


3. กำหนดคำนิยามของลูกหนี้
ตามกฎหมายฟื้นฟูกิจการฉบับเก่านั้น “ลูกหนี้” หมายถึง บริษัทจำกัด บริษัทมหาชน และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเท่านั้น อาจเกิดปัญหาในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ หรือผู้ประกอบธุรกิจของ SMEs เพราะ SMEs ไม่ได้จัดตั้งองค์กรรูปแบบบริษัทเท่านั้น แต่มีทั้ง บุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน และห้างหุ้นส่วนจำกัด


4. ใครบ้างที่มีสิทธิยื่นคําขอฟื้นฟูกิจการ SMEs

  • ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วน สามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจํากัด และบริษัทจํากัด ที่ประกอบธุรกิจที่มีลักษณะเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ขึ้นทะเบียนกับสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

  • เจ้าหนี้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการของลูกหนี้ซึ่งอาจเป็นคนเดียวหรือหลายคนรวมกัน หนี้ที่เกิดจากการดําเนินกิจการของลูกหนี้คือ หนี้ที่ลูกหนี้สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการประกอบกิจการทางการค้าตามปกติของลูกหนี้


5. ลูกหนี้มีจํานวนหนี้เท่าใดจึงสามารถยื่นคําขอฟื้นฟูกิจการได้ แบ่งได้เป็นกรณี ดังนี้

  • กรณีลูกหนี้เป็นบุคคลธรรมดา ต้องมีจํานวนหนี้ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป

  • กรณีลูกหนี้เป็นคณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจํากัด บริษัทจํากัด หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง ต้องมีจํานวนหนี้ตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป

  • กรณีลูกหนี้เป็นบริษัทจํากัด ต้องมีจํานวนหนี้ตั้งแต่ 3 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 10 ล้านบาท


กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ SMEs ถือเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาแก่ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ให้ได้มีโอกาสฟื้นฟูกิจการและไม่เป็นบุคคลล้มละลาย เพื่อจะได้รักษาองค์กรทางธุรกิจไว้ และทำให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินการต่อไปได้ โดยเจ้าหนี้จะได้รับการชำระหนี้อย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งจะทำให้เกิดผลดีต่อเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจในภาพรวม และเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้มแข็ง

บทความโดย :  อังค์วรา ไชยอนงค์