วิถีตัวแม่ นก-สินจัย เปล่งพานิช

เรื่อง: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์


คุณสามารถทำงานเดียวได้ตลอดชีวิตโดยไม่คิดลาออกได้ไหมครับ?

มีผู้หญิงเก่งอยู่ท่านหนึ่งทำได้ครับ และทำได้ดีมากจนเป็นที่เคารพไม่เฉพาะในวงการที่เธอทำงานอยู่ แต่ขยายไปถึงการเข้าไปอยู่ในใจคนไทยทั้งประเทศด้วย


พี่นก สินจัย เปล่งพานิช คือผู้หญิงท่านนั้นครับ


ผมได้มีโอกาสเรียนเชิญพี่นก สินจัย เปล่งพานิช มาพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์การทำงานกันที่ธนาคารไทยพาณิชย์ในหัวข้อ “วิถีตัวแม่” และนี่คือบทเรียนที่พี่นกมอบไว้ให้พวกเราเพื่อใช้ในการทำงานครับ


เลือก – รับผิดชอบ - เรียนรู้

ตั้งแต่สมัยเป็นนักแสดงหน้าใหม่ ในยุคที่นักแสดงต้องมีสังกัดเพื่อรับงานจากต้นสังกัด พี่นกซึ่งเป็นนักแสดงหน้าใหม่เลือกที่จะไม่เซ็นสัญญาขึ้นกับสังกัดไหน และเป็นฝ่ายเลือกงานเอง บริหารจัดการชีวิตเอง ซึ่งต่างจากวิถีของนักแสดงในยุคนั้น ปัจจุบันพี่นกยังคงเป็นนักแสดงไม่มีสังกัด รับงานด้วยตัวเองทุกชิ้น ชีวิตอาจจะยุ่งยากหน่อยที่ไม่มีผู้จัดการ แต่พี่นกบอกว่าการเป็นผู้จัดการในตัวเองเป็นการฝึกความรับผิดชอบ และทำให้เราเป็นผู้เลือกเฟ้นงานที่ทำอย่างแท้จริง


สิ่งที่ต้องแลกกันกับการเป็นคนเลือกงานก็คือ เราอาจจะทำงานไม่ได้ “จำนวน” มาก พี่นกเลือกรับงานแสดงปีละ 1-2 เรื่องเพื่อที่จะได้มีเวลาโฟกัส ช่วงที่แสดงละครเวทีเรื่อง “บัลลังก์เมฆ” พี่นกตัดสินใจไม่รับงานใดๆ และโฟกัสที่ละครเวทีเรื่องนี้เรื่องเดียวตั้งแต่ตื่นนอนจนล้มตัวลงนอนอีกครั้งเป็นเวลา 8 เดือน รายได้อาจจะลดลง แต่คุณภาพที่เราให้กับงานจะมีมากขึ้น กลายเป็นว่าละครเวทีเรื่อง “บัลลังก์เมฆ” เป็นหนึ่งในมาสเตอร์พีซทางการแสดงของพี่นก พี่นกบอกว่า พี่นกทำงานแบบไม่เน้นปริมาณแต่เน้นคุณภาพ เป็นแบบนี้ตั้งแต่เข้าวงการจนปัจจุบัน เพราะอยากทำงานทุกชิ้นด้วยความภูมิใจ ได้ทุ่มเทกับงานจริงๆ เพราะงานแต่ละชิ้นมีคนเกี่ยวข้องมากมาย ทุกคนตั้งใจอยากให้งานออกมาดีด้วยกันหมด ถ้าพี่นกมีเวลาให้ไม่มากพอ หรือไม่สามารถโฟกัสที่งานนั้นได้เท่าที่ควร คนอื่นๆ ก็จะได้รับผลกระทบด้วย กลายเป็นว่า แม้พี่นกจะมีงานแสดงปีละไม่กี่เรื่อง แต่ทุกเรื่องก็ตั้งใจ มีความแตกต่าง ได้เรียนรู้ใหม่ทุกเรื่อง และเป็นหลักไมล์ทางคุณภาพให้พี่นกได้มีผลงานอื่นๆ ต่อมา


พูดเรื่องความรับผิดชอบต่อหน้าที่แล้ว พี่นกเล่าให้ฟังเรื่องหนึ่งที่ทำให้ทึ่งในตัวพี่นกก็คือ ตอนที่พี่นกแสดงละครเวทีเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ระหว่างที่กำลังเปิดรอบการแสดงอยู่นั้นเกิดโรคหวัดระบาด ทำให้ทั้งทีมงานและนักแสดงไม่สบายกันไปหมด พี่นกเองก็พยายามรักษาสุขภาพอย่างดีที่สุด แต่แล้วพี่นกก็ไม่สบายขึ้นมา ปกติแล้วคุณบอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ ผู้กำกับจะมีกฎว่าถ้านักแสดงไม่สบายก็ต้องพัก ต้องเปลี่ยนคน แต่พี่นก สินจัย เป็นนักแสดงคนเดียวที่คุณบอยไม่มีนักแสดงมาเปลี่ยนได้ ซึ่งพอพี่นกไม่สบาย ตอนแรกคุณบอยก็ต้องขอหยุดการแสดงเพื่อให้พี่นกพัก แต่พี่นกตัดสินใจแสดงต่อโดยไม่บอกให้ใครรู้ว่าไม่สบาย เพราะทุกคนจะกังวลกันหมด แม้หลังฉากตอนที่ “แม่พลอย” จะไม่ได้ออกไปอยู่หน้าเวที พี่นกจะนอนฟุบอยู่ แต่พอต้องออกไปหน้าเวที พี่นกบอกว่าไม่รู้ว่าเอาพลังมาจากไหน ทุกอย่างรื่นไหลหมด ไม่มีใครรู้ว่าพี่นกป่วย สุดท้ายพี่นกซัดการแสดงทั้ง 5 รอบในระหว่างที่ป่วยอยู่ได้อย่างไม่มีที่ติ พี่นกบอกว่าพลังมาจากการที่เรารู้สึกว่าเราอยากทำ เราเลือกแล้วว่าจะทำหน้าที่นี้ ก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด จะไม่มีอะไรมาหยุดเราได้ เราต้องรับผิดชอบจนงานนี้ออกมาสมกับที่เราเลือกแล้วว่าจะทำ


แน่นอนว่าเมื่อเป็นผู้เลือกเองก็อาจจะมีบางครั้งที่เราเป็นฝ่ายที่เลือกงานผิด พี่นกเองก็เคยเลือกงานผิด ไม่ได้เลือกงานถูกทุกครั้ง และต้องรับความเสี่ยงกับผลลัพธ์ที่อาจจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง แต่พี่นกบอกว่าเป็นความรับผิดชอบของเรา เพราะเราเป็นคนเลือกที่จะทำเอง เราจะได้เรียนรู้ว่าเลือกผิดก็จะได้บทเรียนแบบนี้ ยังดีกว่าคนอื่นเลือกผิดมาให้เรา อย่างน้อยเราเป็นคนเลือกผิดเอง เราจะได้เรียนรู้เอง


พอเราเป็นฝ่ายเลือกทำสิ่งที่อยากทำจริงๆ  เราจะมีแรงบันดาลใจที่อยากจะทำให้สำเร็จ เราจะอยากตื่นขึ้นมาเพื่อทำงานนั้น ซึ่งทุกวันนี้พี่นกบอกว่า พี่นกรู้สึกยังคงอยากตื่นขึ้นมาทำงานอยู่ทุกวันเหมือนเดิม


เมื่อ “รุ่นใหญ่” ต้องอยู่ร่วมกับ “รุ่นใหม่”

แม้จะเป็นนักแสดงมาหลายสิบปี แต่ผมก็ยังเห็นพี่นกร่วมงานกับทีมงานรุ่นใหม่ๆ อยู่เสมอสลับกับทีมงานรุ่นใหญ่ สิ่งที่พี่นกเล่าให้ฟังก็คือ พี่นกให้เกียรติคนทำงานรุ่นใหม่ เพราะสมัยพี่นกโตมา พี่นกมาจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ครูพักลักจำจนมาเป็นวิชาของตัวเอง แต่คนรุ่นใหม่เรียนรู้มาเป็นวิชาชีพ มีความรู้ใหม่ๆ แบบที่รุ่นพี่นกอาจจะไม่เคยได้เรียนมาก่อน เพราะฉะนั้น พี่นกถือว่าคนรุ่นใหม่เป็นคนเก่ง พี่นกมาทำงานก็เพื่อเรียนรู้จากคนเหล่านี้ผ่านการแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน เราแชร์วิธีการทำงานด้วยกันได้ พี่นกมีประสบการณ์แบบหนึ่งมา คนรุ่นใหม่มีประสบการณ์อีกแบบหนึ่งมา เรามาปรับจูนร่วมกันได้ สุดท้ายถ้างานออกมาดีก็เป็นความชื่นใจของทุกคนเหมือนกัน


สิ่งที่น่ายินดีอย่างหนึ่งคือ แม้พี่นกจะเป็นนักแสดงรุ่นใหญ่ แต่ก็มีคนรุ่นใหม่หลายๆ คนเปิดรับพี่นกโดยเป็นฝ่ายเดินเข้าหามาขอให้พี่นกร่วมงานด้วยกัน เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องการเปิดใจเข้าหากันทั้งสองฝ่าย ถ้าคนรุ่นใหม่ไม่รู้สึกว่าคนรุ่นใหญ่ล้าหลัง เช่นเดียวกับที่คนรุ่นใหญ่ไม่รู้สึกว่าคนรุ่นใหม่ไม่มีประสบการณ์ ต่างฝ่ายต่างให้เกียรติ เห็นข้อดี และช่วยกันเสริมทีมให้แข็งแกร่ง ทั้งคนรุ่นใหญ่และคนรุ่นใหม่ก็จะอยู่ร่วมกันได้


ขณะเดียวกัน เวลาทำงานกับคนรุ่นใหม่ พี่นกจะดูว่าคนไหนแนะนำได้ก็จะแนะนำ คนไหนไม่พร้อมจะเปิดตัวเองก็ไม่จำเป็นต้องแนะนำ พี่นกถือว่าพี่นกไม่ได้เข้ามา “สอน” ใคร แต่มาเพื่อทำงานเป็นทีม สิ่งไหนที่พี่นกทำเพื่อเป็นประโยชน์กับการทำงานได้ก็ยินดี ซึ่งรวมไปถึงการช่วยแนะนำสิ่งที่ดีให้กับผู้ร่วมงาน

ผิดพลาดให้เห็นว่าเป็น “มนุษย์” เหมือนกัน

ขึ้นชื่อว่าต้องประกบกับนักแสดงระดับนก สินจัยแล้ว ใครๆ ก็เกร็ง พอเกร็งแล้วก็จะแสดงไม่ได้สักที พี่นกเคยต้องถ่ายซีนอารมณ์ที่พี่นกต้องร้องไห้ซึ่งพี่นกน้ำตาร่วงตั้งแต่เทคแรก แต่นักแสดงที่เล่นด้วยยังไม่สามารถแสดงได้ เล่นเท่าไรก็ยังไม่ได้สักที ซึ่งพี่นกก็ร้องไห้ไปทั้งหมดเป็นสิบกว่าเทค และร้อง-ใหม่-ทุก-เทค! นักแสดงที่เล่นด้วยก็เครียดมาก พี่นกเลยเป็นฝ่ายให้กำลังใจ ไม่เคยต่อว่า ไม่แสดงความรำคาญหรือลำบาก พี่นกจะเข้าไปคุยเพื่อช่วยนักแสดงทำความเข้าใจตัวละคร ช่วยสลายกำแพง


ที่ผมประทับใจมากและไม่เคยคิดว่าจะมีคนใช้วิธีการแบบนี้มาก่อนก็คือ เมื่อพี่นกเห็นว่านักแสดงเกร็งเพราะพี่นกเล่นดีไม่มีที่ติแต่ตัวเองเล่นไม่ถึงสักที พี่นกจะทำเป็นจำบทผิดบ้าง มีความผิดเล็กๆ น้อยๆ ให้เห็น เพื่อช่วยให้บรรยากาศการถ่ายทำผ่อนคลาย ที่สำคัญคือทำให้เห็นว่า เห็นไหม ขนาดพี่นกเองยังผิดพลาดได้ พี่นกไม่ใช่เทพ เราทุกคนเป็นมนุษย์ เราผิดพลาดกันได้หมดแม้กระทั่งคนที่มีประสบการณ์สูงอย่างพี่นก พี่นกผิดพี่นกก็แค่เริ่มใหม่ พอพี่นกผิดให้นักแสดงคนอื่นเห็นบ้าง เขาก็รู้สึกผ่อนคลาย สุดท้ายก็แสดงได้ ทุกคนผ่านไปด้วยกันหมด


สำหรับผมแล้ว ผมรู้สึกได้ว่ามันคือวิธีการสลายอีโก้ของตัวเอง คนเราส่วนใหญ่ไม่ชอบให้คนเห็นความผิดพลาด ทำอะไรก็ต้องเป๊ะตลอด ไม่ผิดแม้แต่นิดเดียว แต่พี่นกทำให้เห็นว่าเก่งแค่ไหนก็ผิดได้ เราต้องยอมเผยให้คนอื่นเห็นความผิดพลาดของเราได้เหมือนกัน ถ้าเรายึดติดว่าเราผิดไม่ได้ เราก็จะเกร็ง คนรอบข้างก็จะเกร็งไปด้วย ความผิดพลาดของเราบางอย่างอาจช่วยให้คนอื่นเห็นความเป็นมนุษย์ของเรา และรู้สึกว่าเราใกล้ชิดกันมากขึ้น ไม่เกร็ง ขณะเดียวกัน ก็เป็นตัวอย่างให้คนอื่นได้เรียนรู้ว่า คนเก่งเมื่อผิดพลาดแล้วก็แค่เริ่มต้นใหม่ ไม่ต่างกับเราทุกคน


อีกสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากพี่นกคือ การทำงานในกองละครเป็นการทำงานกันเป็นทีม ไม่ใช่ฉันผ่านแล้วฉันรอดแล้วและฉันจะไม่แคร์คนอื่น สุดท้ายทุกองค์ประกอบต้องไปพร้อมกันถึงจะรอด พี่นกผ่านคนเดียวแต่คนอื่นไม่ผ่านก็ไม่ได้ เราต้องแคร์คนอื่นด้วย สุดท้ายทุกคนต้องผ่านไปด้วยกัน เหมือนการวิ่งเข้าเส้นชัยที่ต้องวิ่งพร้อมกันทุกคน พี่นกวิ่งเร็วนำโด่งเข้าเส้นชัยคนเดียวก็ไม่มีความหมาย บางครั้งก็ต้องยอมวิ่งช้าลง ยอมล้มบ้าง เพื่อประคองให้ทุกคนเข้าเส้นชัยพร้อมกันได้


การทำงานในองค์กรก็เหมือนกันครับ เราจะเจอทั้งคนเก่งกว่า คนอ่อนกว่า เจอคนที่มีความสามารถหลากหลายที่เราต้องทำงานร่วมกันให้ได้เพื่อความสำเร็จขององค์กร ถ้าเรารู้ตัวว่าเรามีประสบการณ์บางเรื่องมากกว่า เราต้องให้โอกาสคนที่มีประสบการณ์น้อยกว่า เป็นตัวอย่างที่ดีให้เขาเห็น เราต้องนึกถึงว่าเราเองก็เคยผ่านจุดที่ประสบการณ์น้อยมาก่อน และเพราะเราได้รับโอกาสจากคนอื่นเราถึงได้มีวันนี้ เพราะฉะนั้น คนเราเมื่อมีประสบการณ์มากกว่าแล้ว อย่าลืมเป็นฝ่ายให้โอกาสคนอื่นด้วย


เราอาจจะยอม “ช้า” ลงเพื่อให้เราทุกคนไปได้ “ไกล” ขึ้น เหมือนกับการที่ถ้าเราอยากไปให้ “เร็ว” ให้เราไปคนเดียว แต่ถ้าอยากไปให้ “ไกล” เราต้องไปด้วยกัน ช้าหน่อย แต่ทุกคนจะช่วยกันพาทีมไปได้ไกลกว่าแน่นอน


วิธีการรับมือกับมนุษย์ติสท์แตก

ผมถามพี่นกในฐานะที่เป็นทั้งนักแสดงและผู้จัดว่า พี่นกน่าจะเคยเจออิทธิฤทธิ์ของนักแสดงที่ “ติสท์แตก” อยู่บ้าง ยิ่งพี่นกอยู่ในอุตสาหกรรมที่คนทำงานมีความเป็นตัวเองสูง มีความเป็นศิลปินสูง มีอีโก้สูงว่างั้นเถอะ พี่นกรับมือกับคนแบบนี้อย่างไร พี่นกตอบไว้น่าสนใจมากครับว่า ไม่ต้องไปถึงคนอื่นไกล ทุกคนมีความติสท์แตกได้หมดถ้าจัดการตัวเองไม่ได้ แค่เราจัดการตัวเองที่แต่ละวันมีอารมณ์ขึ้นลงเมื่อมีสิ่งกระทบใจก็ยังยาก และยังต้องพยายามจัดการให้ได้เลย เพราะฉะนั้น ตัวเราเองก็ต้องจัดการความติสท์แตกที่มีไม่ให้มาทำลายตัวเองและทำร้ายคนรอบข้างให้ได้


เช่นเดียวกัน เมื่อเราทำให้คนอื่นเห็นว่าเราตั้งใจทำงาน มีวินัยในการทำงาน ไม่เคยมาสาย ไม่เคยดูถูกคนอื่น หรือไม่ทำตัวเรื่องมากให้คนอื่นทำงานยากไปด้วย กลายเป็นว่าพี่นกก็สามารถดึงดูดคนอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกันนี้มาร่วมงานด้วยเสมอ คล้ายกับการที่คนเหมือนๆ กันมักจะดึงดูดซึ่งกันและกัน เมื่อคนเห็นพี่นกไม่เรื่องมากก็ไม่มีใครกล้าเรื่องมากขึ้นมา ที่สำคัญ พี่นกไม่ได้เพิ่งมาทำตัวแบบนี้ แต่ทำแบบนี้มานานแล้ว เพราะฉะนั้น จะทำอะไรก็น่าเชื่อถือไปด้วย คนก็เกรงใจและเรียนรู้ที่จะเอาเป็นแบบอย่างเอง ถ้าเราอยากได้คนไม่เรื่องมาก แต่เราเป็นคนเรื่องมากมาตลอดก็ไม่มีทางที่จะได้คนดีๆ มาร่วมงานด้วย


แต่แน่นอนว่าพี่นกเองก็เคยเจอความเรื่องมากของนักแสดงบ้าง สิ่งที่พี่นกทำคือรับฟังความต้องการของเขา แต่จะให้ในสิ่งที่เหมาะสม มีเหตุผล และเท่าเทียมกันทุกคน ไม่มีการปฏิบัติต่อใครเป็นพิเศษไม่ว่าคุณจะเป็นนักแสดงหรือทีมงาน เช่น ถ้านักแสดงต้องดูแลรูปร่าง พี่นกก็จะบอกให้เตรียมข้าวกล้องหรืออาหารที่ดีต่อสุขภาพไว้ในกอง แต่เตรียมไว้เผื่อทุกคน ไม่ใช่เฉพาะนักแสดงอย่างเดียว เพราะฉะนั้น ทุกคนที่ทำงานด้วยก็จะได้รับการดูแลเหมือนกันหมด ขณะเดียวกัน พี่นกก็ใช้วิธีป้องกันปัญหาด้วยการคัดเลือกนักแสดงและทีมงานที่ไม่มีชื่อเสียงในความเรื่องมากตั้งแต่ต้น ถ้าใครขึ้นชื่อว่าเรื่องมาก ทำงานด้วยยาก ก็ขอเลือกที่จะไม่ทำงานด้วยเลยจะดีกว่า และไปเลือกคนที่เราสบายใจที่จะทำงาน และมั่นใจได้ว่าเขาจะทำงานออกมาได้ดีที่สุดแทน


เพราะฉะนั้น หลักๆ แล้ว เราต้องจัดการความติสท์แตกในตัวเองให้ได้ มีวินัยในการทำงานเพื่อเป็นตัวอย่างและดึงดูดคนแบบเดียวกันเข้ามาร่วมทีม และให้ความเท่าเทียมกับทุกคน


เราอยู่จุดไหนของยอดเขา?

ผมถามพี่นกว่า ถ้าเปรียบเส้นทางการทำงานของพี่นกเป็นการเดินทางไปยอดเขา ตอนนี้พี่นกกำลังวิ่ง กำลังเดิน หรือกำลังหยุดพักอยู่ และกำลังอยู่ ณ จุดใดของภูเขา


พี่นกตอบว่า กำลังเดินอยู่ แวะดูนั่นดูนี่ไปเรื่อย ยังไม่เคยคิดว่าจะถึงยอดเขาแล้วหรือยัง เพราะเป้าหมายไม่ได้อยู่ที่ยอดเขา พี่นกคิดว่าจะเดินไปเรื่อยๆ บางทีก็นั่งพักและสังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัวบ้าง แต่จะไม่หยุดนาน เพราะหยุดนานแล้วจะเบื่อ เดี๋ยวจะขี้เกียจและไม่อยากทำอะไรต่อ คนเราก็แบบนี้หยุดพักได้แต่อย่าหยุดพักนาน


เพราะยังมีอะไรให้เราเรียนรู้อีกเยอะระหว่างการเดินทาง