ถอดสูตรพลังสร้างสรรค์ในแบบ Innovator Mindset

การสร้างสรรค์นวัตกรรมเป็นคำที่พูดกับหนาหูในทุกแห่งหนของแวดวงคนทำงาน ในนาทีนี้หลายองค์กรต่างปรารถนาให้มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมเกิดขึ้น แล้วอะไรคือสิ่งที่เอื้อให้เกิดนวัตกรรม เงินทุน เทคโนโลยี ผู้บริหารที่เก่งกาจ หรือ บุคลากรที่มีพรสวรรค์ (Talent)?  คุณรวิศ หาญอุตสาหะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถจำกัด ได้แชร์ความเห็นเรื่องนี้ในหัวข้อ “The Innovator’s Mindset ชุดความคิดของนักนวัตกรรม”

นวัตกรรมเกิดขึ้นที่ไหน

คุณรวิศกล่าวว่า ในปัจจุบันที่หลายองค์กรมีทีมงานนวัตกรรมที่ตั้งขึ้นมาทำงานสร้างสรรค์โดยเฉพาะ แต่นวัตกรรมไม่ใช่งานของแค่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะบังคับให้เกิดขึ้นได้ เพราะนวัตกรรมเป็นกระบวนการปลูกฝังในการทำงานทุกวัน และจะไม่เกิดในที่ที่มีการลงโทษเมื่อเกิดความล้มเหลว เพราะถ้าถูกลงโทษก็ไม่มีใครอยากเสี่ยงทำอะไรใหม่ๆ  ซึ่งที่จริงแล้วองค์กรควรยินดีกับความล้มเหลวในการริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ด้วยซ้ำ เพราะความไม่กลัวล้มเหลวนำไปสู่การสร้างสรรค์ ดังนั้นจึงต้องย้อนถามว่าองค์กรเรามีวิธีจัดการกับความล้มเหลวอย่างไร ซึ่งในหลายแห่งใช้แนวทาง A spectrum of reason for failure เป็นกรอบการจัดการกับความล้มเหลวกรณีต่างๆ ด้วยวิธีต่างกัน 

สองแกนขององค์กร Exploit และ Explore

คุณรวิศมองว่าการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่รับผิดชอบโดยทีมงานทดลอง (Explore) ทุกอย่างจะยุ่งเหยิงจับแพะชนแกะ ไม่มีแบบแผน ไม่เหมือนกับธุรกิจที่อยู่ตัวสร้างผลกำไรได้แล้ว (Exploit) ดังนั้นการวัดผล Explore ก็จะไม่เหมือนกับ Exploit ที่วัดผลประสิทธิภาพต่างๆ ได้ แต่จะวัดผลโดยใช้หลักการ OKR ( Objectives & Key Results) โดยบริษัทปัจจุบันควรมีธุรกิจ 2 รูปแบบนี้เป็นแกนหลักขับเคลื่อนในองค์กร

 

ไอเดียของเราเวิร์คจริงมั้ย?

จากสถิติการออกสินค้าใหม่ ผลคือ 72% ของสินค้าใหม่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่รีบออกสินค้าเร็วเกินไป ทั้งๆ ที่ยังไม่เข้าใจลูกค้าดีพอ คำถามที่ต้องตอบให้ได้ ก็คือ สิ่งที่เราทำตอนนี้มีคนอยากได้จริงหรือเปล่า? หรือเราแค่อยากทำ ถ้าคำตอบเป็นข้อหลังจะเป็นสิ่งที่อันตรายมาก เพราะความต้องการของเราไม่เหมือนกับของลูกค้า ดังนั้นก่อนจะสร้างสรรค์สินค้าใหม่ จึงต้องมั่นใจว่าไอเดียเวิร์คจริงมั้ย?

กฎ 4 ข้อแห่งการทดลองสร้างนวัตกรรม

จากคำถามข้างบน จึงนำมาซึ่งกฎการทดลอง 4 ข้อที่คุณรวิศแนะนำให้เช็คลิสต์สำหรับผู้ประกอบการในการสร้างนวัตกรรม

  • ลดความไม่แน่นอน (uncertainty) : ก่อนจะสร้างอะไรใหม่ ให้ลดความไม่แน่นอนให้ได้มากที่สุด เช่นหากจะตั้งร้านค้า แล้วอยากรู้ว่าโลเคชั่นที่ตั้งที่ว่าเวิร์ค มันเวิร์คจริงมั้ย? ก็ลองทดสอบร้านค้าใน Facebook ทดสอบว่าโลเคชั่นนี้มีความต้องการสินค้าจริงมั้ย?

  • เริ่มจากสเกลเล็กก่อน : ในช่วงทดลองตอนแรก ยิ่งใส่เงินมากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสล้มเหลวมากขึ้นเท่านั้น และแผนธุรกิจที่ใช้กับการธุรกิจแบบเดิมไม่เหมาะที่จะนำมาใช้สร้างธุรกิจนวัตกรรม สิ่งที่สำคัญคือ ต้องมีการทดสอบสมมติฐาน (Hypothesis Testing) เช่น เคสที่อีลอน มักส์มีไอเดียจะผลิตรถยนต์ EV ซึ่งเขาต้องการรู้ว่ารถยนต์ EV เป็นที่ต้องการของลูกค้าหรือไม่ จึงทำการทดสอบสมมติฐานด้วยการเปิดให้คนที่สนใจลงชื่อจ่ายเงิน $100 จองรถ ถ้ามีคนลงชื่อมากกว่า 5,000 คน โปรเจ็กต์ได้ไปต่อ มักส์ได้ทดสอบเพื่อยืนยันสมมติฐานอีกครั้ง ด้วยการให้คนจ่าย $5,000 เป็นเงินมัดจำการผลิต ถ้ามีคนจ่ายมัดจำมากกว่า 1,000 คน จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการผลิต ซึ่งก็นำไปสู่การเปิดตัวรถ Tesla รุ่นแรก

  • สร้างพื้นที่ และ วัฒนธรรมแห่งการสร้างสรรค์ : สิ่งที่ทำให้นวัตกรรมเกิดได้ “ไม่ใช่เงิน” แต่คือ วัฒนธรรมองค์กร และ Innovator Mindset โดยผู้บริหารมีหน้าที่สร้างพื้นที่เปิดรับความล้มเหลวในองค์กร” เพื่อการบ่มเพาะบรรยากาศที่เอื้อต่อการเกิดนวัตกรรม ที่สำคัญผู้บริหารไม่ใช่คนเลือกไอเดีย แต่เป็นไอเดียที่เลือกตัวมันเอง (จากความต้องการของลูกค้า) ถ้าผู้บริหารบอกชอบไอเดียนี้มากกว่าไอเดียอีกอันจะเป็นการทำลายวัฒนธรรมการสร้าง Innovation    ทั้งนี้ อุปสรรคทำให้นวัตกรรมเกิดยาก ได้แก่ วัฒนธรรมที่การตัดสินใจขึ้นอยู่กับความเห็นผู้บริหาร ต้องมีการทำ Business Plan ตลอดเวลา และ การนำความล้มเหลวมาตัดสินความก้าวหน้าทางอาชีพการงาน
     
  • นวัตกรรมเป็นทักษะที่ต้องเรียนรู้ ซ้อมบ่อยๆ และพลังขององค์กรในเจเนอเรชั่นถัดไป ไม่ใช่ความรู้  (knowledge) เพราะความรู้เป็นสิ่งที่หยุดนิ่ง แต่คือการเรียนรู้ (Learning) ที่ต้องเรียนรู้ให้ทันกับความเร็วของ กระแส Disruption ที่เกิดขึ้น