Tool เด็ดให้ SME ไทย ยืนหนึ่งใน Amazon.com

ต่อเนื่องจากบทความ “ เทคนิคเตรียมความพร้อมและเหตุผลที่ SME ไทย ควรไปขายตลาดโลกกับ Amazon.com “ ที่แนะนำโอกาสให้ SME ไทยโกอินเตอร์ ลุยขายของในตลาดออนไลน์ที่อเมริกาที่มีฐานลูกค้ากว่า 300 ล้านคน บทความนี้จะมาเจาะลึกถึงโปรแกรม/เว็บไซต์/แอปพลิเคชั่นต่างๆ ที่ช่วยติดอาวุธให้ผู้ประกอบการสามารถไปลุยตลาดโลกได้อย่างแข็งแกร่ง และต่อกรในสมรภูมิอีคอมเมิร์ซระดับโลกได้

1.ค้นหาสินค้าที่  “ใช่” ด้วย Jungle Scout

เว็บไซต์ www.junglescout.com เป็น Tool ที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนผู้ขายในการทำธุรกิจบน amazon.com ได้อย่างครบเครื่อง โดยเฉพาะในตอนเริ่มต้นที่ผู้ขายสามารถใช้ Tool นี้ตอบโจทย์คำถามยอดฮิต “อะไรขายดีใน Amazon?” แล้ว “เราจะขายอะไรดี”


ในโลกธุรกิจ สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนกระโจนเข้าสู่สนามการแข่งขัน คือ “สำรวจตลาด”และประเมิน “คู่แข่ง”  ในตลาด Amazon.com ก็เช่นกัน สิ่งที่ผู้ขายต้องดู คือ เว็บ Amazon.com ที่อเมริกาเขาขายอะไรกัน? สินค้าที่เราตั้งใจขายมีความต้องการหรือเปล่า? และทำไมสินค้าจึงขายได้? การจะหาคำตอบตรงนี้ให้เข้าไปที่เว็บ Amazon เปลี่ยน Shipping Location จาก Thailand เป็น  USA (สมมติว่าเป็น New York) หน้าเพจที่มีการ Customized ตามโลเคชั่น ก็จะโชว์สินค้าก็จะเปลี่ยนเป็นเหมือนที่ลูกค้าใน New York เห็น ตรงนี้เราก็จะพอทราบได้ว่าสินค้าอะไรที่คน New York นิยม หากเรามีสินค้าในใจที่อยากขายอยู่แล้ว ให้ใส่ Keyword สินค้า ซึ่งผล Search Result จะแสดงว่ามีคนขายของอย่างเดียวกันนี้กี่ราย ถ้าผลการ Search มากกว่า 10,000 นับว่าเป็น Mass Product ถ้าน้อยกว่า 10,000 ก็จัดว่าเป็น Niche Product


ในส่วนปัจจัยที่คนเลือกซื้อของกับผู้ขาย ได้แก่ ราคาขายของแต่ละร้าน จำนวนดาวที่ลูกค้าให้รีวิว (5-1 ดาว), ยอดรีวิว ซึ่งยอดรีวิวเยอะจะหมายถึงจำนวนคนมาซื้อเยอะ และยอดรีวิวก็ใช้ประมาณการยอดขายได้อีกด้วย เพราะโดยตามสถิติแล้วคนซื้อ 1% ที่จะกลับมารีวิวสินค้า นอกจากนี้ยังรวมถึงเครื่องหมาย (Badge) ที่สินค้าได้จาก Amazon.com เช่น Bestseller, Amazon Choice และ Prime เป็นต้น


แม้ในเว็บ Amazon.com จะมีข้อมูลแสดงอยู่แล้ว แต่การจะไปสำรวจข้อมูลทั้งหมดเป็นร้อยพันไอเท็ม คงเป็นการสิ้นเปลืองเวลามาก ฟังก์ชั่นสำคัญของ Tool Jungle Scout คือการช่วยวิเคราะห์ศักยภาพของสินค้าภายในคลิกเดียว เพียงใส่ชื่อไอเท็มสินค้าที่อยากขาย Tool จะกวาดข้อมูลสินค้าชนิดนั้นมาหมด แล้ววิเคราะห์ ค่าเฉลี่ยยอดขายต่อเดือน (Average Monthly Sales) ราคาขายเฉลี่ย (Average Price) ยอดขายต่อเดือน รายได้ จำนวนรีวิว คุณภาพรีวิวของแต่ละเจ้า ที่สำคัญคือการให้คะแนนประเมินว่าเป็นสินค้าที่น่าจะนำมาขายหรือไม่ โดยดูจากความต้องการของตลาดและการแข่งขัน แล้ววิเคราะห์มาเป็นคะแนน 1- 10 ถ้าสินค้าที่คุณหมายตาได้คะแนนมากกว่า 5 ขึ้นไป ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จสูง


อยากส่งสินค้าไปขายแล้วใช้มั้ย? อย่ารอช้า มาดู Tool ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการตัวต่อไป

2. สร้างรีวิวสินค้าให้น่าเชื่อถือ ใช้ “Early Reviewer Program”



เมื่อเลือกสินค้าส่งขายได้แล้ว และมีการเปิด Account ขึ้น Listing ขายสินค้าของตัวเอง


มีรูปถ่ายสวยงาม รายละเอียดสินค้าครบถ้วน อ่านกระชับ ไม่เยิ่นเย้อ สิ่งที่สำคัญที่ทำให้ Listing ของเรามีความน่าเชื่อถือและลูกค้าตัดสินใจซื้อของจากเรา คือ “Product Review” ทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ ซึ่งจากสถิติของ Amazon.com แล้ว เมื่อ Listing มี 5 รีวิวขึ้นไปจะส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น ผู้ขายจะต้องทำให้ Listing ได้ 5 รีวิวอย่างเร็วที่สุด ซึ่งตรงนี้  Amazon.com ก็มีโปรแกรม “Early Reviewer Program” ช่วยสนับสนุนผู้ขาย โดยจะส่งโปรโมชั่นมอบส่วนลดซื้อของอะไรก็ได้ใน Amazon.com ให้กับลูกค้าที่กลับมารีวิวสินค้า Listing ของเรา โปรโมชั่นที่ Amazon.com จัดให้ก็นับว่าช่วยจูงใจนักช้อปออนไลน์กลับมารีวิวสินค้าอย่างได้ผล

3. กลยุทธ์เรียกลูกค้า แจกสินค้าตัวอย่าง ผ่าน Amazon Giveaway


ปกติแล้วถ้าเป็นร้านค้าที่มีหน้าร้านทั่วไป การแจกสินค้าทดลองใช้ ก็เป็นหนึ่งในโปรโมชั่นที่มักจะทำกันเพื่อเรียกลูกค้า กลยุทธ์นี้ก็สามารถทำได้กับการตลาดออนไลน์ เป็นเทคนิคการ seeding ช่วยเพิ่มอันดับ Ranking ให้ผลการ search สินค้าอยู่ในหน้าแรกๆ โดย Amazon.com มีโปรแกรม Amazon Giveaway ด้วยการแจกตัวอย่างสินค้าฟรีให้ลูกค้าที่สนใจโดยมากรอกข้อมูลที่อยู่ทิ้งไว้ โดยผู้ขายสามารถกำหนดอัตราส่วนการแจกตัวอย่างสินค้าได้ว่าจะแจกมากน้อยแค่ไหน เช่น 10 แจก 1 หรือ 5 แจก 1 เป็นต้น กลยุทธ์นี้ นอกจากจะช่วยในเรื่องการ Trial และ Visibility ของสินค้า เรายังได้ข้อมูลลูกค้าที่มีความสนใจสินค้าของเรา เพื่อนำไปทำโปรโมชั่นชวนซื้อต่อไป และยังมีโอกาสที่ลูกค้าจะกลับมารีวิวสร้างความน่าเชื่อถือให้สินค้าเราอีกด้วย

4.  คิดคำนวณต้นทุนค่าบริการ FBA (Fulfillment by  Amazon)


ก่อนอื่นขออธิบายถึงระบบ FBA อีกครั้ง ระบบ FBA ย่อมาจาก Fulfillment by Amazon เป็นระบบโลจิสติกส์ที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SME ขายสินค้าในตลาดอีคอมเมิร์ซที่อเมริกาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงผู้ประกอบการส่งสินค้าไปยังคลังสินค้า Amazon.com ที่อเมริกา เมื่อมีออเดอร์เข้ามา ทางทีมงาน Amazon.com จะช่วยแพ็คสินค้าส่งไปให้ลูกค้า และยังช่วยดูแลเรื่องงานบริการลูกค้า ตอบคำถาม รวมถึงการคืนหรือเปลี่ยนสินค้าด้วย


นอกจากการอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์แล้ว การใช้บริการระบบ FBA ยังทำให้สินค้าของเราเข้าถึงลูกค้ากลุ่มสมาชิก Prime Member ที่จ่ายค่าสมาชิกรายปีและได้สิทธิค่าส่งฟรี ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้กว่า 3 แสนคนจัดเป็น Heavy Buyer ที่ซื้อเยอะ ซื้อบ่อย และลูกค้า Prime Member จะเลือกซื้อสินค้าที่ติดเครื่องหมาย Prime เป็นอันดับแรกๆ และการที่จะได้มาซึ่งเครื่องหมาย Prime ผู้ขายสินค้านั้นจะต้องใช้บริการระบบ FBA


ทั้งนี้ ผู้ขายที่ใช้บริการระบบ FBA จะถูกคิดค่าใช้จ่ายบริการในส่วนนี้ โดย Amazon.com จะแบ่งค่าใช้จ่ายเป็น 2 ส่วนได้แก่

  • ค่าจัดการออเดอร์ ได้แก่ ค่าหยิบ แพ็คสินค้า ค่าจัดการน้ำหนักสินค้า ซึ่งจะจ่ายเป็นรายชิ้นเมื่อเกิดออเดอร์

  • ค่าวางสินค้าในคลัง โดยคิดเป็นรายชิ้นต่อเดือน แบ่งเป็นระยะสั้นช่วง 1-6 เดือนแรก และระยะยาว เดือนที่ 7-12 และตั้งแต่เดือนที่ 12 ขึ้นไป ซึ่งค่าบริการระยะสั้นคิดน้อยมาก แต่จะมีค่าบริการจะสูงขึ้นหากมีสินค้าคงคลังเหลือเยอะหลัง 6 เดือนเป็นต้นไป

ผู้ขายที่ต้องการทราบค่าใช้จ่ายบริการ FBA เพื่อประกอบการคำนวณต้นทุนสามารถเช็คค่าใช้จ่ายได้ผ่าน www.tinyurl.com/testFBA โดยใช้หมายเลข ASIN ของสินค้าที่เหมือนหรือใกล้เคียงกับสินค้าที่เราต้องการส่งไปขาย ก็จะพอประมาณการค่าใช้จ่ายบริการ FBA ได้

นอกเหนือจากโปรแกรม Tool ต่างๆ เหล่านี้ ยังมีเทคนิค กลยุทธ์ต่างๆ ที่ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ส่งสินค้าไปทำตลาดออนไลน์บน Amazon.com โดย Amazon Global Selling Thailand ได้มีโครงการ Jump Start 6 สัปดาห์ เพื่อให้ความรู้ผู้ประกอบการที่สนใจ โดยในตอนจบโครงการสัปดาห์ที่ 6 ผู้ประกอบการจะได้ส่งสินค้าล็อตแรกไปขายจริงบน Amazon.com และ SCB SME ในฐานะพันธมิตรโครงการนี้ ก็จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการเรื่องสินเชื่อ ตลอดจนการจัดทำรูปถ่ายสินค้า รายละเอียดสินค้าเป็นภาษาอังกฤษเพื่ออัพโหลดขึ้น Listing หน้าเว็บ Amazon.com การวิเคราะห์สถานการณ์ทางธุรกิจ รวมถึงโปรแกรม Jungle Scout ด้วย


สำหรับผู้ที่สนใจกิจกรรมดีๆ ที่ SCB มอบให้กับผู้ประกอบการ SME ในครั้งต่อไป สามารถติดตามข่าวสารกิจกรรมของธนาคารได้ผ่าน SCB SME Community จากช่องทาง Facebook Group และ ทางเว็บไซต์ของ SCB SME -ที่นี่-