ย้อนรอยวิกฤตสั่นสะเทือนเศรษฐกิจโลก

โควิดวิกฤตสุขภาพ (Global Health Crisis) ซึ่งนำมาสู่วิกฤติเศรษฐกิจ (Global Economic Crisis) โรคที่ทำให้ทั้งโลกสั่นสะเทือนจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านพฤติกรรมระดับปัจเจกบุคคล ความเปลี่ยนแปลงโดยรวมของสังคม และที่สำคัญ คือผลกระทบในด้านเศรษฐกิจที่ต่างบอบช้ำกันทั่วโลก ไล่กันไปตั้งแต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งการยกเลิกเที่ยวบิน โรงแรม การยกเลิกกิจกรรมต่าง ๆ ลามไปถึงการชะลอการผลิตในภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกที่อยู่ภายใต้ระบบห่วงโซ่คุณค่าโลก (Global Value Chain) อันส่งผลต่อเนื่องไปสู่ผลกระทบด้านการค้าและการลงทุนทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ประชาชนเองก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายกับการป้องกันการติดเชื้อ กักตัวอยู่กับบ้านจนทำให้ขาดรายได้ จนลามมาถึงการเกิดความเครียดและปัญหาทางสุขภาพจิตตามมา นอกจากนี้ ในภาคการเงินเองการก็ส่งผลต่อการตกลงในตลาดหุ้นทั่วโลก รวมไปถึงการที่อีกหลายประเทศเลือกที่จะทำการ “ปิดประเทศ” อันทำให้เกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง...แต่นี่ไม่ใช่วิกฤตแรกที่ทำลายเศรษฐกิจโลก นับย้อนหลังไป 100 ปี โลกได้เผชิญกับแรงสั่นสะเทือนที่เขย่าเศรษฐกิจทั่วโลกมาแล้วหลายครั้ง วันนี้เราจะมาศึกษาประวัติศาสตร์ย้อยรอยเหตุการณ์ความบอบช้ำทางเศรษฐกิจระดับโลก เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจว่า ทุกอย่างมีขึ้นมีลง ไม่มีอะไรแน่นอน และเพื่อให้กำลังใจตัวเองว่า มนุษย์เรามีความเข้มแข็งแค่ไหนถึงจะต้องล้มทั้งยืน แต่ก็ยังกลับมายืนหยัดอย่างแข็งแรงได้ทุกครั้ง


The Great Depression

The Great Depression เริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1930s เรียกได้ว่าเป็นความหายนะทางเศรษฐกิจที่แผ่วงกว้าง กินระยะเวลานานและกินลึกเข้าไปในระบบเศรษฐกิจมากที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในศตวรรษที่ 20 เหตุการณ์ได้จุดชนวนจากตลาดหุ้นของสหรัฐที่ร่วงลงมาอย่างหนักตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 1929 กลายเป็นข่าวดังทั่วโลกที่ถูกเรียกว่า “Black Tuesday” ในช่วงปี 1929-1932 GDP ทั่วโลกลดลงกว่า 15% ไม่ว่าประเทศที่ร่ำรวยหรือประเทศที่ยากจนต่างได้รับผลกระทบอย่างถ้วนทั่ว ทั้งรายได้ของประชาชน รายได้จากภาษีอากร ผลประกอบการภาคธุรกิจ และราคาสินค้าต่างพากันร่วงกราว ยอดการซื้อขายระหว่างประเทศลดลงกว่า 50% อัตราการว่างงานในสหรัฐเองพุ่งสูงถึง 23% ในขณะที่บางประเทศมีอัตราการว่างงานมากถึง 33% ประทศที่ได้รับผลกระทบหนักๆ จะเป็นประเทศที่พึงพาระบบอุตสาหกรรมการผลิตและการทำเหมืองแร่ต่างๆ ในขณะที่ประเทศเกษตรกรรมก็ได้รับผลกระทบจากการที่ราคาพืชผลทางการเกษตรลดลงต่ำกว่า 60% ผลกระทบของ The Great Depression ลากยาวไปจนถึงช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2


The Suez Crisis

คลองสุเอชสายนี้เชื่อมระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแดง บริเวณคอคอดที่เมืองสุเอซ ประเทศอียิปต์ซึ่งเป็นเส้นทางลัดของการเดินเรือจากฝั่งยุโรปไปเอเชีย The Suez Crisis หรือ สงครามอิสราเอล-อาหรับครั้งที่สอง หรืออีกชื่อคือ สงครามไซนาย ในอิสราเอล เป็นการบุกยึดครองอียิปต์ในปลายปี ค.ศ. 1956 โดยอิสาราเอล ตามมาด้วยอังกฤษและฝรั่งเศส จุดมุ่งหมายคือการควบคุมทางด้านตะวันตกของคลองสุเอซ และเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีแห่งอียิปต์ที่ได้ถือสิทธิ์ว่าคลองนั้นให้กลายเป็นของรัฐ ภายหลังการสู้รบเริ่มต้นขึ้น ทั้งสามประเทศผู้ร่วมสงครามได้รับแรงกดดันทางการเมืองจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต รวมทั้งสหประชาชาติ จนนำไปสู่การถอนกำลังโดยประเทศทั้งสามผู้รุกราน นับว่าเป็นความอับอายอย่างมากสำหรับสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส แม้ว่าฝ่ายพันธมิตรทั้งสามประเทศต่างได้บรรลุเป้าหมายทางทหารแต่คลองกลับใช้การไม่ได้ ประธานาธิบดีสหรัฐ ไอเซนฮาวร์ ได้ตักเตือนอังกฤษว่าไม่ควรจะเข้าไปบุกรุกและขู่ว่าจะสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบการเงินของอังกฤษโดยการขายพันธบัตรเงินปอนด์ของที่สหรัฐถือไว้ออกไป อังกฤษต้องเผชิญกับความผันผวนของค่าเงินอย่างหนักจากนักเกร็งกำไรค่าเงิน ซึ่งตอนนั้นค่าเงินปอนด์ต่อดอลล่าห์สหรัฐอยู่ที่ 2.80 แต่ความผันผวนทำให้แทบไม่สามารถรักษาค่าเงินในระดับนั้นไว้ได้จนจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากสหรัฐเป็นเงิน $ 1.3 พันล้านเพื่อพยุงค่าเงินปอนด์เอาไว้ ส่วนฝรั่งเศสเองก็เผชิญกับความผันผวนและตกต่ำของค่าเงินเช่นกันจนต้องกูยืมเงินจำนวน $ 263.5 ล้านจากสหรัฐเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ส่วนอียิปต์ก็ต้องกู้ยืมเงินจาก IMF ถึงสองครั้ง อิสราเอลก็เข้าเป็นสมาชิก IMF และต้องกู้เงินเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเช่นกัน นอกจากนั้น หลังสงครามครั้งนี้ความเป็นมหาอำนาจของอังกฤษได้ลดลงระดับลงจากเทียร์ 1 ไปสู่ เทียร์ 2


THE INTERNATIONAL DEBT CRISIS 1982

The international debt crisis ก่อตัวขึ้นในวันที่ 20 สิงหาคม 1982 และลากยาวไปจนถึงปี 1989 มีผลกระทบกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ในฝั่งยุโรปตะวันออกประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักคือ โปแลนด์ โรมันเนีย ฮังการี ยูโกสลาเวีย ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่คือประเทศแถบละตินอเมริกา สาเหตุของวิกฤตเกิดขึ้นในช่วง 1960s-1970s เมื่อประเทศในแถบละตินอเมริกา ได้แก่ บลาซิล อาเจตินา และแม็กซิโก ได้กู้เงินจำนวนมหาศาลจาก International creditors หรือธนาคารเอกชน ซึ่งตอนนั้นมีเงินมหาศาลให้กู้และดอกเบี้ยต่ำ เนื่องจากได้เงินฝากจำนวนมากจากประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน จึงปล่อยกู้ดอกเบี้ยถูกกับประเทศกำลังพัฒนาเพราะมองว่ามีศักยภาพและเศรษฐกิจกำลังเติบโตทั้งประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออกและประเทศกลุ่มละตินอเมริกา ซึ่งส่วนใหญ่ขอกู้เพื่อโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมและโครงการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เนื่องจากในเวลานั้นประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในขาขึ้น ธนาคารเอกชนจึงให้กู้โดยความยินดี โดยหลายประเทศใช้เงินกู้มากถึง 12% ของรายได้ของทั้งประเทศ ทั้งๆ ที่จริงๆ โดยปกติประเทศกำลังพัฒนามักจะกู้เงินจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น World Bank หรือ IMF จะไม่กู้จากเจ้าหนี้ภาคเอกชน แม็กซิโกใช้รายได้จากน้ำมันในอนาคตเป็นหลักทรัพย์ในการกู้เงินเป็นสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐ แต่ผลปรากฏว่าราคาน้ำมันดิ่งลงมากพร้อมกับเศรษฐกิจของแม็กซิโกที่ดิ่งลงเหว ในช่วงปี 1975และ 1982 หนี้ของธนาคารเอกชนที่มาจากประเทศในกลุ่มละตินอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 20% ของหนี้ทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่าหนี้สูงถึง US$75 พันล้าน และเพิ่มสูงขึ้นเป็น $315 พันล้านในปี 1975 ในปี 1983 หนี้มีมูลค่ามากถึง 50% ของ GDP ของทั้งภูมิภาค และในที่สุดประเทศเหล่านี้ประกาศว่าไม่มีเงินจ่ายคืนเงินกู้ ซึ่งมีผลให้ปัญหาหนี้ยืดเยื้อมาจนถึงปี 1989


THE EAST ASIAN CRISIS 1997

วิกฤตครั้งนี้มีผลกระทบหนักกับประเทศในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสร้างความกังวลให้กับทั่วโลกว่าเศรษฐกิจจะถดถอย จุดเริ่มต้นของวิกฤตเกิดขึ้นในประเทศไทย หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 1997 เมื่อรัฐบาลไทยถูกบังคับให้ลอยค่าเงินบาทเนื่องจากประเทศขาดเงินตราสกุลอื่นๆ สำรอง โดยเฉพาะ ดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อใช้ในการพยุงค่าเงินบาท ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นลูกโซ่โดยทันที ซึ่งในความจริงแล้วก่อนหน้าการลอยตัวค่าเงินบาท รัฐบาลไทยก็เป็นหนี้ต่างประเทศจำนวนมากอยู่แล้ว ผลกระทบจากเมืองไทยขยายวงไปสู่ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ที่ต้องเผชิญกับการตกต่ำของค่าเงิน รวมทั้งตลาดหุ้นที่ดิ่งเหว และหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงขึ้น ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือไทย อินโดนีเซียและเกาหลีใต้ ในขณะที่ฮ่องกง ลาว มาเลเซียและฟิลิปปินส์ก็บาดเจ็บไม่น้อย ในขณะที่บรูไน จีน สิงคโปร์ ไต้หวันและเวียดนามได้รับผลกระทบที่น้อยกว่า สำหรับญี่ปุ่นถึงแม้จะได้รับผลกระทบไม่มากแต่ก็ถูกผลกระทบเพราะทั่วโลกขาดความเชื่อมั่นต่อประเทศในภูมิภาคนี้ไปทั้งหมด กลุ่มประเทศอาเซียนมีอัตราหนี้ต่อ GDP เพื่อมจาก 100% เป็น 167% และเพิ่มสูงถึง 180% ในช่วงพีคสุดของวิกฤต


THE RUSSIAN CRISIS 1998

The Russian financial crisis หรือที่เรียกอีกชื่อว่าวิกฤตค่าเงิน Ruble ที่กระแทกรัสเซียอย่างแรง เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อ 17 สิงหาคม 1998 รัฐบาลและธนาคารกลางรัสเซียประกาศลดค่าเงินรูเบิล เนื่องจากบริษัทน้ำมันบางแห่งในรัสเซียถูกปิดกั้นไม่ให้สามารถชำระหนี้เป็นเงินรูเบิลได้ ทำให้ต้องแลกเงินรูเบิลเป็นเงินดอลล่าร์สหรัฐหรือเงินสกุลอื่นๆ เพราะก่อนหน้าค่าเงินรูเบิลมีราคาสูงมากเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่น อีกเหตุผลที่ทำใหเกิดวิกฤตคืออัตราหนี้สินต่องบประมาณประจำปีของประเทศเพิ่มสูงขึ้นด้วยอันเนื่องมาจากสงคราม Chechya ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง $5.5 พันล้าน ซึ่งวิกฤตได้ส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอีกหลายประเทศ วันที่ 12 พฤษภาคม 1998 คนงานเหมืองแร่ทำการประท้วงที่ไม่ได้รับค่าแรงและปิดทางรถไฟสาย Trans-Siberian ซึ่งหนี้ค่าจ้างที่ไม่ได้จ่ายคนงานสูงถึง $12.5 พันล้าน วันที่ 13 กรกฎาคม 1998 IMF และ World Bank อนุมัติเงินกู้ $22.6 พันล้านกับรัสเซียเพื่อฟื้นสภาพเศรษฐกิจ ในเดือนกรกฏาคม 1998 ค่าดอกเบี้ยเงินกู้รายเดือนของรัสเซียเพิ่มขึ้นเป็น 40% ซึ่งสูงกว่าภาษีที่ประเทศจัดเก็บได้เสียอีก

 

THE GREAT RECESSION 2008

The Great Recession เป็นช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในขาลงในช่วงปี 2007-2009 ซึ่งความรุนแรงของวิกฤตก็แตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ IMF กล่าวว่า THE GREAT RECESSION เป็นหนึ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจที่รุนแรงนับตั้งแต่ The Great Depression เมื่อปี 1932 มีหลายปัจจัยร่วมกันที่ทำให้เกิด GREAT RECESSION แต่เหตุการณ์หลักที่จุดชนวนระเบิดก็คือ housing bubble ในสหรัฐในช่วงปี 2005-2006 ที่ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในอเมริกาดิ่งลงอย่างมาก และลูกหนี้สินเชื่อบ้านจำนวนมากทิ้งบ้านและเลิกผ่อนบ้านต่อ เพราะมูลค่าที่กู้สูงกว่าราคาบ้าน ณ ตอนนั้นอย่างมาก ทำให้เกิดหนี้สูญจำนวนมหาศาล หรือที่เรียกว่า subprime mortgage crisis GPD ของสหรัฐลดลง 4% ทำให้ความสามารถในการบริโภคของคนอเมริกันลดลงซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้การเติบโตของ GDP โลกลดลงจาก 5% ในปี 2007 เป็น 2% ในปี 2009 IMF ประมาณการว่า หนี้สูญของสถาบันการเงินทั่วโลกอยู่ที่ US $ 1.5 หมื่นล้าน ราคาน้ำมันตกลงกว่า 50% ซึ่งสถานการณ์ลากยาวจนถึงปี 2009 และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก


THE EUROPEAN CRISIS 2010

วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป เกิดขึ้นปลายปี 2009 เป็นวิกฤตหนี้นานหลายปีซึ่งเกิดขึ้นในรัฐสมาชิกสหภาพยุโรป หลายประเทศได้แก่ กรีซ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ สเปน และไซปรัส โดยประเทศเหล่านี้ไม่สามารถใช้หนี้ที่รัฐบาลก่อไว้หรือก่อหนี้ใหม่ชดใช้หนี้เก่าได้ ถ้าไม่ได้รับความความช่วยเหลือของภาคีภายนอกอย่างกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ IMF ความกลัววิกฤตหนี้สาธารณะ เริ่มมีขึ้นในหมู่นักลงทุน โดยเป็นผลมาจากระดับหนี้สินภาคเอกชนและภาครัฐที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก สาเหตุของวิกฤตดังกล่าวแตกต่างกันไปตามประเทศ ในหลายประเทศ หนี้สินเกิดจากการโอนหนี้สินภาคเอกชนจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ไปเป็นหนี้สาธารณะ โดยการให้เงินช่วยเหลือระบบการธนาคารเพื่อชะลอเศรษฐกิจหลังฟองสบู่แตกของรัฐบาล โครงสร้างของสหภาพยุโรป ที่เป็นสหภาพการเงิน (เงินสกุลเดียว) โดยปราศจากสหภาพการคลัง (กฎภาษีและบำนาญสาธารณะต่างกัน) มีส่วนให้เกิดวิกฤตการณ์ และทำให้ผู้นำยุโรปไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ในกรีซ มีคนจรจัดไร้บ้านยืนเรียงแถวจำนวนมากเพื่อรอรับอาหาร ผู้สูงอายุที่รอเงินบำนาญหลายคนฆ่าตัวตาย หรือป่วยแต่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาหรือแม้แต่ได้รับยา ร้านค้ามากมายต้องปิดตัว คนหนุ่มสาวอายุต่ำกว่า 25 ปีไม่มีงานทำ ทั้งหมดเนื่องมาจากปัญหาหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล งบประมาณของประเทศต้องพึ่งพาการกูยืมทั้งหมด ซึ่งก็มีสาเหตุมาจากการบริหารของรัฐที่ล้มเหลว ความอ่อนแอของภาคธุรกิจและอัตราเงินเฟ้อที่สูง ส่วนประเทศอื่นอย่างเช่นโปรตุเกสเดิมก่อนเข้าร่วมเป็นสมาชิก EU ก็มีรายได้ต่อหัวของประชากรต่ำอยู่แล้วเมื่อเข้าเป็นสมาชิก EU เริ่มกู้เงินและใช้จ่ายเงินมากขึ้น และเป็นอีกหนึ่งประเทศในยุโรปที่มีหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนสูงที่สุด


จากตัวอย่างเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกจะเห็นได้ชัดว่าความแน่นอนคือความไม่แน่นอน และความมีวินัยทางการเงินไม่ก่อหนี้ก่อสินจนเกินตัวเป็นเรื่องสำคัญ ในฐานะประชาชนตัวเล็กๆ ก็เช่นกัน สิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือรู้จักหาและรู้จักเก็บ มีวินัยในการใช้เงิน และรู้จักลงทุนอย่างเหมาะสม เริ่มวางแผนการเงินและเริ่มลงทุนเพื่อต่อยอดความมั่นคงและมั่งคั่ง ตั้งแต่วันนี้ SCB มีผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนที่หลากหลาย ซึ่งสามารถเลือกให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินและระดับความเสี่ยงที่รับได้ สนใจลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงย สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ -ที่นี่-

 

อ้างอิง

http://nationalarchives.nic.in/sites/default/files/new/Final_Major_Financial_Crisis-i_0.pdf

https://en.wikipedia.org/wiki/Great_Depression

https://en.wikipedia.org/wiki/1998_Russian_financial_crisis