ธุรกิจพุ่งฉลุยได้ ถ้าไม่มองข้ามเรื่องการเงิน

ในทุกธุรกิจ “เงิน” เป็นสิ่งสำคัญในการหล่อเลี้ยงให้บริษัทดำเนินงานไปได้อย่างราบรื่นและสนับสนุนให้ธุรกิจขยายกิจการพุ่งทะยานไปข้างหน้า ยิ่งในยุคดิจิทัลที่ต้องใช้ข้อมูลในการตัดสินใจทันทีตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อผู้ประกอบการมีข้อมูลทางการเงินพร้อมอยู่ในมือ ก็จะสามารถตัดสินใจได้เร็วกว่าคู่แข่ง คุณราชิต ไชยรัตน์ CEO AccRevo แพลตฟอร์มบัญชีดิจิทัล สำหรับธุรกิจ SME และเป็นหนึ่งใน  SCB Mentor การอบรม NIA- SCB Innovation-Based Enterprise (IBE) รุ่นที่ 2 ให้คำแนะนำถึงความสำคัญของการบริหารการเงินและเทคนิคการเงินเบื้องต้นสำหรับผู้ประกอบการ SME


เพราะการเงินสำคัญสำหรับธุรกิจ


คุณราชิตกล่าวว่าหนึ่งในปัญหาที่ธุรกิจ SME เจอมากที่สุดคือเรื่องการขอสินเชื่อ เนื่องจากงบการเงินไม่พร้อม ธุรกิจ SME ส่วนใหญ่เติบโตมาด้วยความเชื่อมั่น แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่การเงินไม่มั่นคง การจะขยายธุรกิจไปก็ทำได้ยาก ถ้าขอสินเชื่อไม่ได้ ก็จำเป็นต้องควักเงินทุนเอง หรือกรณีที่จะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ถ้าการเงินไม่พร้อมก็ไม่สามารถทำได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการเงินตั้งแต่วันแรกที่กิจการยังมีรายละเอียดไม่มาก เพราะถ้าปล่อยไปจนใหญ่ขึ้น การสะสางบัญชีการเงินจะเป็นเรื่องยุ่งยากยิ่งขึ้น


การเงินมีความสำคัญ เพราะเป็นการวัดผลทางธุรกิจ และกระทบกับทุกทาง ตั้งแต่การเข้าถึงแหล่งทุนในการขอสินเชื่อ  การสร้างธุรกิจให้เติบโต การบริหารกระแสเงินสดเพื่อความอยู่รอด  การหาผู้ร่วมทุน การเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ ถ้าผู้ประกอบการไม่ให้ความสำคัญกับการเงิน ก็จะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น ไม่ทราบว่าสินค้าชิ้นไหนกำไรขาดทุน ไม่ทราบว่าต้นทุนอะไรมากอะไรน้อย ฯลฯ ยิ่งปัจจุบันที่เกิด Digital Disruption ที่กระทบกับรูปแบบธุรกิจเดิมให้ต้องเปลี่ยนแปลง แล้วยังมาเจอปัจจัย Continuous Disruption อย่าง Covid ยิ่งเร่งให้ Digital Disruption เร็วกว่าเดิม

finance-and-business-01

กรณีศึกษา Airbnb vs WeWork


คุณราชิตยกตัวอย่างเคส Airbnb กับ WeWork ที่โมเดลธุรกิจแตกต่างกันส่งผลต่อโครงสร้างการเงินและความอยู่รอดของธุรกิจ  Airbnb มีโมเดลธุรกิจแบบ Sharing Economy ที่ห้องพักเป็นของสมาชิก Host ในเครือข่าย ขณะที่ WeWork ใช้การนำพื้นที่เช่าอาคารมาแบ่งให้คนเช่าใช้งาน โมเดลธุรกิจที่แตกต่างนี้ ทำให้ WeWork มีต้นทุนคงที่ (Fixed cost) สูงกว่า Airbnb และเมื่อเกิด Covid ที่คนเดินทางไปใช้พื้นที่ไม่ได้ ธุรกิจที่มีต้นทุนคงที่สูงจะประสบปัญหาหนักกว่า


จากตัวอย่างที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าธุรกิจจะรอดหรือไม่ขึ้นอยู่กับโมเดลของต้นทุน และธุรกิจจะเติบโตไม่ได้ ถ้าผู้ประกอบการไม่สนใจเรื่องการเงิน  แม้จะมีนวัตกรรม แต่นวัตกรรมอย่างเดียวไปไม่รอด เพราะ เงินสด (Cash and Cash Equivalent) เป็นหัวใจของธุรกิจ กระแสเงินสดต้องหมุนเพื่อสร้างสภาพคล่องให้บริษัทมีเงินใช้จ่าย ถ้าทำธุรกิจ แต่ไม่กลับมาดูเรื่องการเงิน อาจเจอปัญหาดอกเบี้ย ภาษี ต้องนำรายได้และกำไรที่ทำได้จากธุรกิจไปจ่ายจนไม่เหลืออะไรเลย เช่นเดียวกับต้นทุนที่จมกับสินค้าค้างสต๊อก ต้นทุนดูแลรักษา ค่าเช่าโกดัง ฯลฯ ถ้าไม่มีการจัดการการเงินที่ดี แทนที่จะทำธุรกิจได้กำไร แต่กลับกลายเป็นหายไปกับค่าใช้จ่ายแฝงต่างๆ เหล่านี้


ระบบการเงินที่ดีมีประโยชน์อย่างไร?


คุณราชิตเน้นย้ำถึงประโยชน์ที่ได้จากการเงินมีระบบ คือ

1) ผู้ประกอบการจะสามารถตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างถูกต้อง รู้ฐานะทางการเงินของบริษัทตัวเองว่าตอนไหนควรรุกขยายธุรกิจ หรือควรรับ รักษาฐานตลาดของตัวเอง

2) ธุรกิจจะได้รับความเชื่อมั่นจากสถาบันการเงิน และบริษัทอื่นที่จะมาเป็นพันธมิตรทำธุรกิจร่วมกัน สร้างความเชื่อมั่น ให้ธนาคาร สถาบันการเงิน ที่เป็นหุ้นส่วนสนับสนุนให้บริษัทเติบโต และผู้ประกอบการจะสามารถทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น


บริษัทที่มีข้อมูลการเงินครบถ้วน จะมีประวัติการเงินที่ดี  ทำให้รู้สถานะการเงินปัจจุบัน ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้วางแผนสำหรับอนาคต เช่นทำ Budget คาดการณ์ว่างบการเงินบริษัทในอนาคตจะเป็นอย่างไร กำหนดทิศทางแผนธุรกิจ  เงินกู้โครงการ  กลยุทธ์ของธุรกิจ การทำพยากรณ์งบการเงิน (Financial Projection) ระดมทุนขยายธุรกิจด้วย ฯลฯ ถ้าผู้ประกอบการมีข้อมูลทางการเงินดี ก็จะสามารถวางแผนได้ดี ลดความเสี่ยงต่อความผิดพลาด


ผู้ประกอบการ SME มักประสบปัญหาการนำเงินที่ใช้ในธุรกิจ (Corporate Finance) กับเงินส่วนตัว (Personal Finance) มารวมกัน ดังนั้นสิ่งแรกที่คุณราชิตแนะนำผู้ประกอบการคือ ต้องแยกเงินสองส่วนนี้ออกจากกันให้เด็ดขาด และการวางแผนการเงินต้องดูให้รอบด้านทุกระบบงานในองค์กร ยิ่งในสถานการณ์ที่ธุรกิจต้องเจอความเสี่ยงรอบด้านในยุค New Normal คุณราชิตแนะนำให้ผู้ประกอบการดูแลจัดการการเงินในประเด็นสำคัญ ได้แก่

  • การทบทวนเงินสด บัญชีลูกหนี้การค้า วงเงินสินเชื่อ (Review outstanding cash AR Credit Line)
  • คาดการณ์เงินเข้าและเงินออก (Estimate Cash In Cash Out)
  • สำรองเงินสด (Reserve cash)
  • มองหาโอกาสหรือโมเดลธุรกิจใหม่ (Seek new opportunity and business model)

สรุปงบการเงินสำหรับผู้ประกอบการ


งบการเงิน คือการสื่อสารความสำเร็จหรือความล้มเหลวของธุรกิจไปให้คนอื่นเห็น  ส่วนสำคัญคือหน้ารายงานผู้สอบบัญชี ( Auditors’ Opinion) ที่ผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอกให้ความเห็นเกี่ยวกับงบการเงินของบริษัทว่าทำได้ถูกต้องตามมาตรฐาน มีความเสี่ยงที่ต้องกังวลหรือไม่


งบการเงินแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่


1) งบแสดงฐานะทางการเงิน (Statement of Financial Position) หรือที่ชื่อเดิมเรียกว่า “งบดุล” (Balance Sheet) ประกอบด้วย สินทรัพย์ (Total Asset) = หนี้สิน (Total Liabilities) + ทุน (Equity) การอ่านงบดุล คือการพิจารณาการใช้จ่ายเงินทุน (Use of Funds) ว่าอยู่ในรูปแบบของสินทรัพย์อะไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน  และเงินทุนได้มาจากไหน (Source of Funds) มาจากหนี้ (Liabilities) และทุน (Equity) ในสัดส่วนมากน้อยอย่างไร  ดังนั้น งบตัวนี้จึงแสดงถึง สุขภาพทางการเงิน ของบริษัท (Health) ว่ามีหนี้สินเยอะหรือไม่ ซึ่งจะนำไปสู่ภาระ การจ่ายดอกเบี้ย และส่งผลทำให้กำไรบริษัทลดลง

2) งบกำไรขาดทุน (Statement of Comprehensive Income) บ่งบอก ความมั่งคั่ง ของธุรกิจ (Wealth) ว่ามีความสามารถทำกำไรได้ขนาดไหน ตั้งต้นด้วยยอดขาย/รายรับ (Sales/Revenues) หักลบด้วยค่าใช้จ่าย (Expenses) ได้รายได้ก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (Earnings before interest & Tax) จากนั้นนำไปหักดอกเบี้ย (Interest) และภาษี (Tax) ออกมาเป็นกำไรสุทธิ (Net Profit)

3) งบกระแสดเงินสด (Statement of Cash Flow) สะท้อน พฤติกรรม การใช้เงินของบริษัท (Behavior) โดยแบ่งออกเป็น 3  กิจกรรมได้แก่ กิจกรรมการดำเนินงาน การจัดหาเงิน การลงทุน  ถ้าอยากทราบว่าธุรกิจบริษัททำเงินดีหรือไม่ ให้ดูที่กิจกรรมดำเนินงาน ถ้าตัวเลขติดลบแสดงว่าเงินที่ใช้ในบริษัทมาจากทางอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของบริษัท บริษัทที่ไม่อยู่ตลาดหลักทรัพย์ไม่ต้องทำงบกระแสเงินสดก็ได้ แต่ถ้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทุกบริษัทต้องทำงบตัวนี้

นอกจากนี้ ยังมีหมายเหตุประกอบงบ (Note to Financial Statement) แจ้งให้ผู้อ่านงบทราบว่าบริษัทเป็นธุรกิจอะไร หลักการบัญชีที่ใช้ มีหนี้สินที่ไม่ได้บันทึกไว้ที่ควรเปิดเผย หมายเหตุที่ควรทราบ เช่นการถูกฟ้องร้อง มีคดีความ ธุรกิจมีภาระผูกพันอะไรบ้าง ฯลฯ ซึ่งการให้ข้อมูลที่ดีจะให้งบการเงินบริษัทดูน่าเชื่อถือ

Financial Ratio บอกอะไร?


อัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio) เป็นการนำตัวเลขในงบการเงินมาวิเคราะห์การดำเนินงานของธุรกิจในแง่มุมต่างๆ  เช่น อัตราส่วนความสามารถในการบริหารสินทรัพย์ของกิจการ (Asset Performance Ratio) อัตราส่วนลูกหนี้หมุนเวียน (A/R Turnover Ratio) อัตราส่วนความสามารถทำกำไร (Profitability Ratio) อัตราส่วนโครงสร้างทางการเงิน (Equity Leverage) อัตราส่วนสภาพคล่อง (Liquidity Ratio)  อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (Return on Equity) เป็นต้น ตัวเลข Financial Ratio เป็นตัวชี้วัดว่าตัวเลขในงบดีหรือไม่ ต้องมีการปรับปรุงการดำเนินงานส่วนไหนหรือไม่


นวัตกรรมกับการบริหารการเงิน


คุณราชิตกล่าวว่าการลงทุนคิดค้นนวัตกรรม หรือนำนวัตกรรมมาแก้ปัญหา ต้องสามารถวัดผลได้ว่าจะคืนทุนเมื่อไร วัดความคุ้มค่าว่าควรทำหรือไม่ (Feasibility) ตลอดทั้ง Innovation Process ตั้งแต่การพัฒนาองค์ความรู้ในขั้นตอนที่ 1 มาพัฒนาตัวต้นแบบ (Prototype) และทดลองตลาด มาสู่ช่วงจะนำนวัตกรรมมาใช้เชิงการค้า (Commercialization and Scaling Up) ในขั้นตอนที่ 3  โดยใช้ตัวชี้วัดต่างๆ เช่น มูลค่าสุทธิปัจจุบัน (Net Present Value : NPV) ที่ปรับค่าเงินในอนาคตมาเป็นปัจจุบัน  วัดจุดคุ้มทุน จุดกำไร (Breakeven Point) อัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return : IRR) และระยะเวลาคืนทุน (Payback Period)

นอกจากนั้น คุณราชิตยังกล่าวถึงบริการ Share Services นับเป็นนวัตกรรมที่ผู้ประกอบการอาจจะพิจารณานำมาใช้เพื่อให้การบริหารจัดการงานฟังก์ชั่นต่างๆ ของธุรกิจอย่างการเงินการบัญชี จัดซื้อจัดจ้าง ทรัพยากรบุคคล และงานเทคโนโลยีให้มีมาตรฐาน เพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายลง เช่น Document Management System (DMS), Blockchain to pay (B2P), Account Payable Web, E Banking Call Center เป็นต้น


ที่มา : หลักสูตร NIA- SCB Innovation-Based Enterprise (IBE) รุ่นที่ 2 โดยคุณราชิต ไชยรัตน์ CEO AccRevo แพลตฟอร์มบัญชีดิจิทัล สำหรับธุรกิจ SME วันที่ 27 มกราคม 2564