ปักหมุดเวียดนาม Rising Star แห่ง CLMV

จากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจและขั้วมหาอำนาจการค้าโลก ส่งให้ชื่อประเทศ “เวียดนาม” กลายเป็นหนึ่งในตลาดการค้าการลงทุนน่าจับตามอง ซึ่ง Jaspal Company Limited ผู้นำธุรกิจ Fashion Retailing เป็นหนึ่งในธุรกิจไทยที่ไปลงทุนขยายกิจการในเวียดนาม โดย คุณชนิตา สายเชื้อ Chief Finance Officer บริษัท Jaspal Company Limited มาพูดคุยถึงการไปเปิดสาขาแบรนด์แฟชั่นต่างๆ ในเครือ รวมถึงโอกาสการเติบโตของธุรกิจที่เวียดนาม

vietnam-rising-clmv-01

จุดเริ่มต้นขยายธุรกิจ & ความน่าสนใจของตลาดเวียดนาม


คุณชนิตาเล่าถึงการเข้าไปเปิดร้านจำหน่ายสินค้าแฟชั่นแบรนด์ “LYN” ที่นครโฮจิมินท์ ประเทศเวียดนาม ในชื่อบริษัท “JPS Fashion (Vietnam)” เมื่อปีพ.ศ.2560 ว่ามาจากการเห็นโอกาสที่สินค้ากระเป๋าเครื่องหนังแบรนด์ LYN เป็นที่นิยมในกลุ่มลูกค้าชาวเวียดนาม การตัดสินใจขยายธุรกิจจึงนำโดย LYN เป็นแบรนด์แรกตามด้วยแบรนด์ Superdry, Jelly Bunny โดยมีหน้าร้านของตัวเองทั้งหมด 17แห่งอยู่ตามถนนสายสำคัญและห้างสรรพสินค้าชั้นนำที่นครโฮจิมินท์และกรุงฮานอย มียอดขายปี 2563 ที่ผ่านมากว่า 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะมีรายได้เติบโตเป็น 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564


“ประเทศเวียดนามจัดเป็นตลาดที่มีศักยภาพด้านธุรกิจ Retailing โดยมีปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ การเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) เป็นดาวรุ่งในกลุ่มประเทศ CLMV เศรษฐกิจกำลังขยายตัว ดูได้จากตัวเลข GDP เพิ่มขึ้นทุกปี รวมถึงตลาดผู้บริโภคกำลังเติบโต เพราะโครงสร้างประชากร (Demographic) ที่กลุ่มคนอายุน้อยเพิ่มมากขึ้น ตรงข้ามกับไทยเราที่กำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ ประกอบกับประชากรมีรายได้มากขึ้นทำให้มีชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น และมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องจากการเป็นประเทศฐานผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นักลงทุนต่างชาติต่างก็ให้ความสนใจเข้าไปลงทุน”


นอกจากที่เวียดนามแล้ว Jaspal ได้ลงทุนใน 4 ประเทศในเอเชีย รวมถึงประเทศกัมพูชาด้วย ซึ่งมี 16 สาขาที่เมืองพนมเปญ โดยแบรนด์ LYN ประสบความสำเร็จในกัมพูชาอย่างมาก ด้วยความที่กัมพูชาอยู่ติดกับประเทศไทย และสามารถรับสื่อต่างๆ ของไทยได้ ส่งผลต่อรสนิยมของคนกัมพูชาที่รู้จักและชื่นชอบแบรนด์สินค้าของไทยว่าเป็นของดี มีคุณภาพ

ความแตกต่างระหว่างเวียดนาม – ไทย


การเข้าไปทำตลาด Fashion Retailing ในเวียดนามที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 96 ล้านคนต้องปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับพฤติกรรมลูกค้าที่แตกต่างจากคนไทย ซึ่งทาง Jaspal ไม่ได้ปรับเปลี่ยน Brand Image  แต่จะปรับในส่วนของ Day to Day Promotion แคมเปญการตลาด โปรโมทสินค้าโดยใช้ Local Influencer Blogger “ในส่วนของแบรนด์ LYN คนเวียดนามรู้จักดีอยู่แล้ว ส่วนที่ยากคือแบรนด์อื่นๆ อย่าง Jelly Bunny ที่ทีมการตลาดต้องสร้าง Brand Awareness โดยไปศึกษาทำความเข้าใจตลาดเพื่อทำกลยุทธ์โฆษณาโปรโมทสินค้า ในส่วนของ LYN ที่มี Brand Awareness อยู่แล้ว ก็มีการใช้ Local Celebrities และโปรโมททางออนไลน์เยอะตามเทรนด์การตลาดในปัจจุบัน ในเรื่องพฤติกรรมลูกค้าชาวเวียดนามจะให้ความสนใจเรื่องราคา ค่อนข้างมีความ price-sensitive มากกว่าเมื่อเทียบกับคนไทย” คุณชนิตากล่าว


นอกจากช่องทางการตลาด Offline ทางหน้าร้าน ช่องทางตลาดออนไลน์ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน และเพิ่งเปิดตัว www.lynvn.com เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์ที่คาดว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และยังมีการใช้ Social Media เป็นเครื่องมือสื่อสารกับลูกค้าอีกด้วย “Sales ต้องหาทางเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น เช่นสื่อสารผ่าน LINE หรือ Facebook เป็นบริการ Chat & Shop และโทรไปหาลูกค้ามากขึ้น เพิ่มเติมจากการขายออนไลน์ เพราะการขายผ่านออนไลน์ยังมีข้อจำกัด ได้รับผลตอบรับดีในสินค้าบางกลุ่มอย่างแบรนด์ LYN ที่เป็นกระเป๋ารองเท้า โดยเฉพาะกระเป๋าที่ซื้อออนไลน์ได้ง่าย แต่ถ้าเป็นเสื้อผ้า ยอดขายผ่านออนไลน์ยังไม่ดี ยิ่งพวกเสื้อผ้า Fashion ที่ขนาดเสื้อผ้าแต่ละคอลเล็กชั่นแตกต่างกัน  ลูกค้าก็ไม่ค่อยอยากซื้อออนไลน์ถ้าซื้อก็มีโอกาสเอาสินค้ามาคืนสูง”


ปรับกลยุทธ์ ลดผลกระทบช่วงโควิด


ในช่วงที่โควิดระบาดช่วงต้นปี ทางร้านสาขาในเวียดนามก็ต้องปิดชั่วคราวตามมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งทางสำนักงานที่กรุงเทพฯ ที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ก็ได้ทบทวนแผนธุรกิจและปรับแผนลดการผลิตสินค้าทั้งหมดไม่เฉพาะแต่ในเวียดนามแต่รวมถึงสินค้าสำหรับตลาดในไทยและประเทศอื่นๆ ด้วย ซึ่งการปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจอย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ก็ช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19

ทำธุรกิจที่เวียดนามมีความเสี่ยงอะไรบ้าง?


เมื่อมองจากภาพรวมตลาดจะมีโอกาสลู่ทางธุรกิจค่อนข้างสดใส แต่ในโลกธุรกิจก็ย่อมมีความเสี่ยง ซึ่งในความเห็นของคุณชนิตาแบ่งความเสี่ยงเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ความเสี่ยงทางตลาด (Market Risk)  ได้แก่ ต้นทุนค่าเช่าร้านสูงกว่าประเทศไทย และสำหรับธุรกิจ Retailing แล้วถือว่าเป็นค่าเช่าที่แพงเมื่อเทียบกับโอกาสในการสร้างยอดขาย เนื่องจากมีคู่แข่งจำนวนมาก การแข่งขันสูง ทำให้การทำกำไรทำได้ไม่ง่ายนัก และจำนวนนักท่องเที่ยวก็น้อยกว่าเมื่อเทียบกับไทย


อีกหนึ่งความเสี่ยงคือความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์ (Regulatory Risk) ระเบียบขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท กฎระเบียบแบงก์ชาติและกฎเกณฑ์การจ่ายภาษี และอื่นๆ ที่เกี่ยวกับทางราชการที่ต้องทำให้ถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียกับชื่อเสียงและการทำธุรกิจ  “กล่าวโดยสรุปคือ Regulatory Risk ทั้งหมดของเวียดนามค่อนข้างเยอะ เพราะเขายังคงเป็นระบบสังคมนิยมอยู่ มีกฎระเบียบ มีเอกสารที่ต้องใช้จำนวนมาก และมีความซับซ้อนพอสมควร” อย่างไรก็ดีการมีธนาคารพาณิชย์ไทยอย่าง SCB ไปเปิด สาขาโฮจิมินท์ซิตี้ ในเวียดนาม ช่วยสนับสนุนให้การเปิดตลาดใหม่ลุล่วงไปได้ด้วยดี “การลงทุนธุรกิจต่างแดน สิ่งที่เราต้องการจากธนาคารไม่ใช่แค่การกู้ยืมเงินอย่างเดียว แต่รวมถึงการช่วยเหลือเรื่องข้อมูล Insight ทั้งเรื่องตลาดและกฎระเบียบต่างๆ  ซึ่ง SCB สาขาเวียดนามมีชื่อเสียงมานาน มีความรู้เรื่องตลาดเวียดนามเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาก เพราะในเรื่องของการเงินทุกธนาคารก็มีบริการเหมือนกัน แต่การที่จะเลือกใช้บริการแบงก์ไหนเรามองที่ความรู้ความเชี่ยวชาญในตลาดเป็น Value Added Service ที่ธนาคารมอบให้เรา” คุณชนิตากล่าวสรุป

ลูกค้าที่สนใจประกอบธุรกิจใน CLMV หรือประเทศเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Subregion: GMS) ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขาต่างประเทศที่พร้อมจะดูแลและให้บริการ สนใจติดต่อได้
- ที่นี่ -