เจาะเทรนด์เห็นตลาด ส่งออกสินค้าไทยให้ไปรุ่ง

แม้สภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงผันผวน แต่โอกาสสินค้าส่งออกไทยยังคงมีปัจจัยเกื้อหนุนมาจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าช่วยให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้นในตลาดโลก คุณนันทวรรณ ปัญญาพินิจ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ สำนักงานตลาดพาณิชย์ดิจิทัล กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้แชร์ข้อมูลการส่งออกสินค้าไทยด้วย CBEC ให้กับผู้เข้าอบรม ITP4 Digital Exporter  ดังนี้


อัปเดตเทรนด์โลก

คุณนันทวรรณ กล่าวว่าเทรนด์เศรษฐกิจโลกในปี 2565  IMF และธนาคารโลกประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะโตที่ 4% แต่สิ่งที่จะไม่เป็นไปตามเป้าก็คือเรื่องอัตราเงินเฟ้อ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ขณะที่ประเทศไทยคาดว่าเศรษฐกิจจะโตที่ 2-4% โดยสิ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยก็คือการส่งออกและการใช้จ่ายของภาครัฐ  โดยภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยปี 2564 มีมูลค่าการส่งออกที่ 2.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็น 17.1% ขณที่การส่งออกเดือนเมษายน 2565 เพิ่มขึ้น 9.9% คิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่ 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

  • พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป คนคุ้นชินกับการซื้อของออนไลน์  มีบ้านเป็นศูนย์กลางของชีวิตผู้บริโภคจึงมองหาสินค้าเพื่อความเป็นอยู่ภายในบ้านมากขึ้น รวมถึงการใส่ใจสุขภาพ จึงมองหาสินค้าเพื่อสุขภาพ ขณะที่ผู้บริโภครายได้ลดลงจึงเลือกซื้อสินค้าที่จำเป็นมากกว่าของที่อยากได้ แล้วสินค้าอะไรบ้างที่เติบโตอย่างเห็นได้ชัด เช่น เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน  Smart Mirror  โยคะตา และศัลยกรรมพสาสติก  ขณะที่กลุ่มความบันเทิงภายในบ้านก็เติบโต โดยเฉพาะธุรกิจสตรีมมิ่งอย่าง Netflix มีผู้ใช้งานหน้าใหม่เพิ่มขึ้น 15.7 ล้านรายในปี 2020 แต่ในปี 2022 เริ่มลดลงแล้ว ขณะที่ในจีนมีผู้ชมภาพยนตร์ผ่านสื่อออนไลน์เพิ่มสูงถึง 900 ล้านรายและผู้ชมส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุอีกด้วย

nantawan

  • เทรนด์สัตว์เลี้ยง มีมูลค่าตลาด 3.2 ล้านล้านบาท โดย 3 อันดับธุรกิจสัตว์เลี้ยง ได้แก่ อาหารสัตว์  ธุรกิจยา และบริการทางการแพทย์  ซึ่งสุนัขยังคงเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมครองอันดับ 1 ที่ 63.4 ล้านตัว รองลงมา แมว 42.7 ล้านตัวและปลาสวยงาม 11.5 ล้านตัว  ทั้งนี้กลุ่ม Millennial เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงมากถึง 32% ตามด้วยกลุ่ม Baby Boomer 24%  เมื่อดูรายประเทศพบว่าประเทศอินเดียมีมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยง 10,650 ล้านบาท และมีความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยง 30,000 ตันต่อปี ขณะที่ประเทศจีนคาดว่าในปี 2025 จะมีมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงที่ 3 ล้านล้านบาท โดยกลุ่มผู้สูงอายุเป็นลูกค้าหลักเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพื่อช่วยบรรเทาความเหงาและอยู่เป็นเพื่อนแทนลูกหลาน

  • เทรนด์อาหารเป็นยา เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการอาหารเสริมที่มีคุณสมบัติช่วยเสริมสุขภาพหรืออาหารฟังก์ชันเพิ่มมากขึ้น  โดยหากดูเทรนด์ทั่วโลกตั้งแต่ปี 2555-2564 พบว่ามีอาหารประเภทฟังก์ชันวางจำหน่าย 105,162 รายการ คิดเป็น 5.4% ของสินค้าอาหารทั่วโลกทั้งหมด อาหารประเภทฟังก์ชัน 3 อันดับแรกได้แก่  1.ด้านระบบพลังงาน 23.6%  2.ด้านระบบการย่อยอาหาร 17.7% และ      3.ด้านระบบหัวใจและหลอดเลือด 17.6%  โดยตลาดที่มีการวางจำหน่ายอาหารประเภทฟังก์ชัน 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.อินเดีย 9.5% 2. สหรัฐอเมริกา 9.2% และ 3.จีน 5.7%  ส่วนไทยตั้งแต่ปี 2555-2564 พบว่ามีอาหารประเภทฟังก์ชันที่ผลิตจากไทย 1,684 รายการ คิดเป็น 6.5% ของสินค้าอาหารที่ผลิตจากไทยทั้งหมด  อาหารประเภทฟังก์ชันในไทย 3 อันดับแรกได้แก่  1.ด้านสารต้านอนุมูลอิสระ 25.1%  2.ด้านสมองและระบบประสาท 21.4% และ 3.ด้านระบบพลังงาน 20.8%  ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เช่น  ผู้สูงอายุจะนิยมพวกชาชงสมุนไพร  กลุ่มคนออกกำลังกาย นิยมโปรตีนบาร์ แนวโน้มดังกล่าวเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาสินค้าอาหารที่มีคุณสมบัติด้านดูแลป้องกันและรักษาสุขภาพ

  • เทรนด์ Future Food เนื่องจากคนรุ่นใหม่ใส่ใจสุขภาพจึงต้องการอาหารที่ดีต่อสุขภาพและปลอดภัย รวมถึงต้องดีต่อสิ่งแวดล้อม  ตัวอย่าง Future Food อาหารประเภทฟังก์ชัน  ได้แก่ ช่วยในการนอนหลับ ช่วยลดความเครียด ช่วยส่งเสริมสุขภาพ ช่วยส่งเสริมพลังงาน ช่วยเพิ่มสมาธิ เป็นต้น โดยในตลาดจีนพบว่าคนจีนกำลังประสบปัญหานอนไม่หลับกว่า 300 ล้านคนและมีมูลค่าตลาด Economy of Sleep ถึง 2 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ยังมี Plant Based Foods อาหารที่ทำจากพืชที่กำลังเป็นเทรนด์ โดยมีมูลค่าการซื้อขายในตลาดยุโรป 3 แสนล้านบาท , อังกฤษ 3.2 หมื่นล้านบาท , สหรัฐอเมริกา 3.3 หมื่นล้านบาท และคาดว่าปี 2027 มูลค่า Plant Based Foods ในตลาดโลกจะสูงถึง 5.7 ล้านล้านบาท

เกาะติดตลาดใหญ่ฝั่งจีน & สหรัฐอเมริกา

  • ตลาดจีน : 5 อันดับสินค้ายอดนิยม 1.โรคนอนไม่หลับ ผลิตภัณฑ์ช่วยให้นอนหลับ, วิกผมปิดผมร่วง, สปาช่วยผ่อนคลาย 2.เครื่องสำอางชาย รองพื้น ศัลยกรรม ต่อขนตา 3.ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก  4.สินค้าคนโสด แฟชั่น เครื่องแต่งกาย อาหารกินได้คนเดียว 5.สินค้าดูแลสุขภาพต้านโควิด วิตามิน อาหารเสริม

  • ตลาดสหรัฐอเมริกา : ประชากร 330 ล้านคนมากเป็นอันดับ 3 ของโลก คนซื้อออนไลน์ 260 ล้านคน  โดยไทยส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกามากเป็นอันดับ 1 คาดการณ์เติบโต 6.2%  ทั้งนี้อีก 10 ปีข้างหน้าตลาดสหรัฐอเมริกาจะมีคนกลุ่ม Gen M และ Gen Z สัดส่วนมากกว่า 50% และเป็นกลุ่มที่มีความมั่งคั่งมากที่สุดในทุกกลุ่มจึงมีความน่าสนใจในการทำตลาด  โดยสินค้าที่คน Gen M มองหา ได้แก่ 1.สินค้าเกษตรอินทรีย์หรือออแกนิค  2. Plant Based Foods 3.สินค้าเพื่อสุขภาพความงาม  เคล็ดลับพิชิตใจ Gen M ได้แก่ Smart เลือกอย่างฉลาด ปลอดภัย รักสุขภาพและใส่ใจสิ่งแวดล้อม Small เน้นสินค้าขนาดเล็กใช้งานง่าย พกพาสะดวก Speed ความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้า น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 วัน Save ชื่นชอบของคุณภาพดีราคาที่เหมาะสม และ Safe นอกจากปลอดภัยต่อสุขภาพร่างกายยังต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อม และไม่มีการทดลองในสัตว์


โมเดลเศรษฐกิจยุคใหม่ BCG

จากนโยบายของภาครัฐที่อยากส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ( BCG Economy ) เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่

  • B (Bioeconomy) เศรษฐกิจชีวภาพ คือการนำความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดจากความเข้มแข็งเดิมและสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีธาตุอาหารสูง
  • C (Circular Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน คือ การนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดปริมาณของเสียให้น้อยลงหรือเท่ากับศูนย์ โดยปรับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การเปลี่ยนของเสียจากกระบวนการผลิต Biodiesel เป็นสารมูลค่าสูง
  • G (Green Economy) เศรษฐกิจสีเขียว คือ การพัฒนาโดยคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมและความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติกำจัดแมลงแทนสารเคมี  , การใช้เอนไซน์จากจุลินทรีย์เพื่อการฟอกกระดาษ

ดังนั้นจึงอยากส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวสู่การเป็นผู้ประกอบการ BCG ลองสำรวจดูว่าธุรกิจของเรามีครบทั้ง 3 มิติหรือไม่ โดยภาครัฐจะเข้ามาช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ BCG ให้ขายสินค้าบนแพลตฟอร์มทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางการขายสินค้า BCG รวมถึงการจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์ผ่านการเชื่อมโยงทูตพาณิชย์และพาณิชย์จังหวัด เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ BCG Economy ในที่สุด


เจาะตลาดต่างประเทศด้วย Thaitrade.com

เว็บไซต์สำหรับการค้าออนไลน์ระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการของไทยที่การันตีคุณภาพสินค้าและบริการโดยภาครัฐ ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าคุณภาพส่งออกของไทย เพื่อให้ผู้ซื้อชาวต่างชาติสามารถเข้าถึงสินค้าไทยได้โดยง่ายและเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าให้ผู้ประกอบการไทย สินค้าไทย สามารถแข่งขันและได้รับการยอมรับในตลาดโลก  โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

  • Thaitrade.com ตั้งเป้ามูลค่าขายรวมตั้งแต่ปี 2554-2565 ให้ได้ 12,000 ล้านบาท
  • ยอดขายเดือนตุลาคม 2564 – พฤษภาคม 2565 อยู่ที่  1,266.69  ล้านบาท
  • ผู้ซื้อชาวต่างชาติ 217,753 ราย อันดับ  1.เวียดนาม 13.03% (ชิ้นส่วนยานยนต์,ขนม, ข้าว)  2.สหรัฐอเมริกา 11.90% (ทุเรียนแช่แข็ง,น้ำจิ้มสุกี้,ข้าวหอมมะลิ)  3.อังกฤษ  7.82% (เครื่องหอม,เก้าอี้อาร์มแชร์,น้ำจิ้มสุกี้)    4.อินโดนีเซีย 7.59% (ข้าว,เครื่องเป่าลมไฟฟ้า,เนื้อปู)  5.ไต้หวัน 5.81% (ข้าวหอมมะลิ,ถั่วดาวอินคา,ข้าวโพดกระป๋อง)
  • 5 อันดับสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด 1.อาหารและเครื่องดื่ม 56.56%  2.ชิ้นส่วนยานยนต์ 13.69%  3.สินค้าภายในบ้าน  7.60%  4.อัญมณีและจิวเวอร์รี่ 2.13%  5.ฟอนิเจอร์ 1.60%
  • 3 เหตุผลที่ผู้ประกอบการเป็นสมาชิก Thaitrade.com  1.Credibility เพราะดูแลโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีระบบคัดกรองผู้ซื้อ-ผู้ขาย มั่นใจได้ในการทำธุรกิจออนไลน์กับคู่ค้าทั่วโลก 2.World Class Business Connection มีสำนักงานส่งเสริมธุรกิจระหว่างประเทศของไทยกว่า 58 แห่ง รวมถึงเครือข่ายธุรกิจชั้นนำทั่วโลก ครอบคลุมหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของประเทศต่างๆ ที่สนับสนุนการทำธุรกิจ 3.Expand Business (ฟรีไม่เสียค่าสมาชิก) ขยายโอกาสทางธุรกิจและเพิ่มโอกาสในการค้นเจอสินค้าและมีตัวตนบนออนไลน์ในสายตาผู้ซื้อทั่วโลก
  • สมาชิก Thaitrade.com ยังได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ  เช่น กูรูที่ปรึกษาด้านการค้าออนไลน์เพื่อให้ขายสินค้าได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย, ช่วยเขียน Content ให้สินค้าถูกใจผู้บริโภคต่างประเทศด้วยภาษาที่ถูกต้อง, บริการถ่ายภาพสินค้า, เข้าอบรมสัมมนาด้านการค้าออนไลน์ และการทำ Online Business Matching จับคู่ธุรกิจขายสินค้ากับผู้ค้าตัวจริงผ่านทูตพาณิชย์ไทยทั่วโลก
  • มีร้าน Flagship Store ชื่อ TOPTHAI ในแพลตฟอร์มชั้นนำประเทศต่างๆ ได้แก่ Tmall จีน , Bigbasket อินเดีย , Amazon สหรัฐอเมริกา , Kha-leang กัมพูชา และ Blibli อินโดนีเซีย


ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศผ่าน Thaitrade.com สามารถสมัครสมาชิกได้ทาง https://www.thaitrade.com/home หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Thaitrade.com Center ศูนย์บริการให้คำปรึกษาความรู้และเทคนิคด้านการค้าออนไลน์แก่สมาชิกและผู้ประกอบการทั่วไป, Facebook @thaitradedotcom หรือ สายด่วน 1169

ที่มา : งานสัมมนา ITP4 Digital Exporter 4 โดย คุณนันทวรรณ ปัญญาพินิจ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ สำนักงานตลาดพาณิชย์ดิจิทัล กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ วันที่ 14 มิถุนายน 2565 ณ ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่