How to เริ่มต้นธุรกิจส่งออกในยุคดิจิทัล

การจะนำสินค้าส่งออกไปนอกประเทศ แม้จะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย แต่ก็ยังต้องผ่านขั้นตอนหลายอย่าง ทั้งในเรื่องการคัดเลือกสินค้า การหาตลาดที่จะไป กฎเกณฑ์ของแต่ละประเทศ ไปจนถึงขั้นตอนทางศุลกากรต่างๆ ทำให้ผู้ประกอบการมือใหม่ที่ต้องการส่งสินค้าออกไปขายนอกประเทศไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ซึ่ง คุณเสริมศักดิ์ วงศ์ชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กลัฟเท็กซ์ จำกัด ได้มาให้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจส่งออกไว้ใน โครงการ ITP 4 Digital Exporter เปิดตลาดส่งออกไทย ดึงลูกค้าไกลจากต่างแดน เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565

digital-brand-export-1916280497

เริ่มต้นธุรกิจส่งออกต้องเตรียมตัวอย่างไร?

1. หากลุ่มเป้าหมาย ต้องดูว่าสินค้าที่จะส่งออกเหมาะกับกลุ่มไหน โดยดูจากพฤติกรรมการซื้อของคนในประเทศนั้นๆ เพื่อให้เข้าใจกลุ่มเป้าหมายอย่างลึกซึ้ง และนำไปจัดหา ตลอดจนพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ หรือแก้ pain point ของผู้บริโภคได้ โดยตลาดเป้าหมายสำหรับส่งออกมี 2 ตลาดหลักๆ ได้แก่

Big Market

  • ข้อดี ปริมาณการขายต่อครั้งสูง มีโอกาสเติบโตแบบก้าวกระโดด มีระบบขนส่งที่ดีและทันสมัย
  • ข้อเสีย แข่งขันเรื่องราคาสูง คู่แข่งเยอะ มีโอกาสย้ายฐานการผลิตสูงถ้ามีต้นทุนที่ต่ำกว่า รวมถึงต้องใช้เงินลงทุนหมุนเวียนตลอดเวลา

การทำธุรกิจกับตลาดใหญ่ ไม่ควรแข่งกันที่ราคา เพราะจะเสียเปรียบ แต่ควรเน้นไปที่การเป็นคู่ค้าที่รับฟังปัญหา และพร้อมช่วยเหลือ เพื่อสร้างสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีต่อทั้งสองฝ่ายในระยะยาว

Small Market

  • ข้อดี ขั้นตอนเจรจาง่ายกว่า มีการแข่งขันน้อยราย ไม่กดดันเรื่องราคา ทำให้มีโอกาสได้กำไรสูงกว่า และสามารถเติบโตได้แบบก้าวกระโดด โอกาสย้ายฐานการผลิตต่ำ
  • ข้อเสีย ยอดการส่งต่อครั้งมีจำนวนน้อย เข้าถึงวัฒนธรรม หรือความต้องการของตลาดยากกว่า

บางประเทศแม้จะเป็นประเทศเล็กๆ แต่อาจจะมีศักยภาพในการสร้างยอดขายให้ธุรกิจได้ทุกปี

2. หาจุดเด่นสินค้า สื่อสารจุดเด่นผ่านช่องทางที่ตรงกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย เช่น คลิปวิดีโอ รีวิว เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย สื่อโฆษณา ณ จุดขาย เป็นต้น

3. สำรวจคู่แข่ง ศึกษารายละเอียดสินค้า ฟังก์ชัน ราคา การทำการตลาด เทียบกับคู่แข่ง แล้วนำมาพัฒนาให้แตกต่าง หรือเหนือกว่า

4. เจรจาต่อรอง เป็นได้ทั้งการต่อรองโดยตรงหรือผ่านนายหน้า ซึ่งควรมีความยืดหยุ่นเรื่องราคา และจำนวนการสั่งซื้อ รวมถึงพัฒนาหรือหาช่องทางระบบขนส่งในแต่ละพื้นที่ เพื่อความรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย

5. คำนวณต้นทุน ประเมินกำลังการผลิต รู้โครงสร้างต้นทุนของธุรกิจ ศึกษาวิธีทำให้ต้นทุนรวมต่ำลง เช่น นโยบายเรื่องภาษี หรือการสนับสนุนจากรัฐ หากการผลิตสินค้าเองมีต้นทุนสูง ควรมองหาช่องทางใหม่ๆ ไม่ยึดติดกรอบเดิมๆ

6. ศึกษาการทำตลาดออนไลน์ ปัจจุบันมากกว่าครึ่งของประชากรโลก ซื้อสินค้าและบริการผ่านออนไลน์ ทั้งในกลุ่มอาหาร ของใช้ในชีวิตประจำวัน สินค้ามือสอง จึงต้องปรับตัวให้ไว และทันต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เพื่อสร้างยอดขายใหม่ๆ เข้ามา รวมถึงต้องรู้จักการคัดสรรพนักงานที่เข้าใจพฤติกรรมคนออนไลน์

ช่องทางในการทำการตลาดดิจิทัล

  • Social Media Marketing ใช้ Social Media เป็นช่องทางศึกษา insight ลูกค้า คู่แข่ง ตลอดจนใช้ในการเสริมภาพลักษณ์แบรนด์ สร้างการรับรู้ การมีส่วนร่วมกับแบรนด์ เพื่อเพิ่มลูกค้าและ conversion
  • Content Marketing สร้างเนื้อหาที่มีคุณค่าให้กลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็น ภาพโฆษณา คลิปวิดีโอ อินโฟกราฟิก โดยมุ่งเน้นให้กลุ่มเป้าหมายกลับมาสร้างรายได้ให้ธุรกิจ
  • Email Marketing แม้จะเป็นการตลาดแบบดั้งเดิม แต่สร้างยอดขายให้ธุรกิจได้เป็นอย่างดี สามารถใช้ได้ทั้งการต้อนรับสมาชิกใหม่ และแจ้งข่าวสารโปรโมชันกับลูกค้าเก่าเพื่อให้กลับมาซื้อซ้ำ
  • Search Engine Optimization และการทำ Search Ads เป็นการทำการตลาดโดยใช้เนื้อหาเป็นกลไกทำให้เว็บไซต์ของเราติดอันดับต้นๆ ในผลการค้นหาของ Google เพื่อเพิ่มโอกาสในการพาคนเข้ามายังเว็บไซต์ และเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าให้ได้มากขึ้น

จะ Go Inter ทำอย่างไรได้บ้าง?

  1. เข้าอบรม/สัมมนา เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค และช่องทางการขายสินค้าในแต่ละประเทศผ่านผู้เชี่ยวชาญ
  2. เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสำรวจตลาดและดูความต้องการของผู้ซื้อ หากมีธุรกิจส่งออกอยู่แล้ว การเข้าร่วมคณะผู้ประกอบการเพื่อจับคู่เจรจาการค้ากับชาวต่างชาติก็เป็นกิจกรรมที่ควรทำ
  3. สร้างแบรนด์ ด้วยการสร้างจุดขาย สร้างความแตกต่าง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ สามารถทำผ่านโครงการ Talent Thai, การเข้าร่วมประกวด, การขอรับเครื่องหมายยืนยันคุณภาพสินค้าหรือบริการกับโครงการต่างๆ เช่น โครงการรางวัล Design Excellence Award (DEmark) สำหรับสินค้าที่มีการออกแบบดี, โครงการรางวัล Prime Minister’s Export Award สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจดีเด่น, โครงการตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mask (TTM : เครื่องหมายรับรองคุณภาพสินค้าไทย) หรือรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่น ซึ่งรางวัลเหล่านี้ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้องค์กร และใช้เป็นแต้มต่อในการดำเนินธุรกิจได้
  4. วิจัยและพัฒนาสินค้าอย่างสม่ำเสมอ เสริมจุดแข็ง ปรับจุดอ่อน ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยตอบสนองความต้องการของลูกค้า
  5. ศึกษาตลาด และพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เช่น วัฒนธรรม พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย หรือทำเลในแต่ละประเทศว่าเหมาะจะดำเนินธุรกิจด้านใด
  6. ปรับเปลี่ยนวิธีคิด ทำการค้าแบบใหม่ เช่น ไม่กำหนดจำนวนขั้นต่ำต่อการสั่งซื้อ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขาย ตลอดจนนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้า
  7. สื่อสารให้ชัดเจน เข้าใจง่าย หลากหลายช่องทาง เช่น Online Video, Display Ads, Social Media Posts เป็นต้น
  8. ศึกษากฎหมาย และกฎระเบียบในการส่งออก เช่น ใบอนุญาตต่างๆ กฎเกณฑ์การนำเข้า หรือห้ามนำเข้าสินค้า


คุณเสริมศักดิ์ได้แนะนำเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ไว้ 2 เว็บไซต์ คือ ThaiTrade.com ซึ่งเป็นแหล่งรวมผู้ซื้อและผู้นำเข้าจากทั่วโลกในการเข้ามาติดต่อซื้อขายกัน นอกจากนี้ยังมีบริการขายสินค้าในปริมาณน้อยผ่านระบบ SOOK (Small Order OK) เพื่อนำไปทดลองขาย และเว็บไซต์ของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการค้ายุคใหม่ ( https://nea.ditp.go.th ) ซึ่งมีองค์ความรู้ที่น่าสนใจหลากหลายรูปแบบ มีกิจกรรมพัฒนาศักยภาพที่ครอบคลุมทั้งการเรียนการสอนแบบห้องเรียนทั่วไป และ E-Learning ที่สามารถเข้าถึงผู้ประกอบการได้ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ