Digital Riser ส่องประเทศดาวรุ่งในโลกเศรษฐกิจดิจิทัล

วิกฤตโรคระบาดที่ส่งผลกระทบทั่วทั้งโลกมากว่าสองปี ทำให้เราเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลที่กลายมาเป็นทางรอดของธุรกิจ เกือบทุกบริษัทในทุกธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจมาใช้ช่องทางดิจิทัล ขณะที่บริษัทซึ่งมีพื้นฐานและกระบวนการแบบดิจิทัลมาตั้งแต่แรกก็สามารถดำเนินงานไปได้อย่างราบรื่น เมื่อ Digital Revolution ได้เกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลประเทศต่างๆ ก็ได้สำรวจความสามารถของตัวเองในการเปลี่ยนผ่านและคงไว้ซึ่งจุดแข็งในการแข่งขันท่ามกลางกระแสดิสรัปชั่นตลอดทศวรรษหน้า ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “Digital Competitiveness” และ “Digital Riser”


อะไรคือ Digital Competitiveness


การวัด Digital Competitiveness หรือความสามารถแข่งขันด้านดิจิทัล ซึ่งบ่งชี้ถึงศักยภาพในการศึกษาและนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นตัวผลักดันหลักในการ transform เศรษฐกิจ ธุรกิจ ภาครัฐและสังคมในวงกว้าง ซึ่งจากรายงาน Digital Riser Report 2021 จัดทำโดย European Center for Digital Competitiveness, ESCP Business School ได้ทำการประเมินความเปลี่ยนแปลง Digital Competitiveness ของกว่า 140 ประเทศในช่วงตั้งแต่ 2018-2020 แสดงให้เห็นการพัฒนาหรือความถดถอยในความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัลของแต่ละประเทศ ประเทศที่ได้คะแนนพัฒนามาก จะได้ชื่อว่าเป็น “Digital Riser”

digital-riser-03

Digital Competitiveness วัดจากอะไร


เกณฑ์วัด 2 มิติสำคัญว่าประเทศไหนมี Digital Competitiveness มากน้อยแค่ไหน พิจารณาจาก Mindset และ Ecosystem ที่เอื้อต่อการมีอยู่บริษัทที่ใช้ดิจิทัลสร้างโมเดลธุรกิจ ด้วยเหตุผลว่าการ transformation จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อ 2 มิตินี้ได้รับการพัฒนาอย่างเพียงพอ โดยแตกย่อยตัวชี้วัดลงไปอีก ได้แก่


· Ecosystem : เงินสนับสนุนธุรกิจดิจิทัล (Venture Capital Availability), ต้นทุนการเริ่มต้นธุรกิจ (Cost to start a business) เวลาที่ใช้ในการเริ่มต้นธุรกิจ (Time to start a business) ความผ่อนปรนในการจ้างแรงงานต่างชาติ (Ease of hiring foreign labour) และ ทักษะของบัณฑิต (Skillset of graduates)


· Mindset : ทักษะด้านดิจิทัลของประชากรวัยทำงาน (Digital skills among active population) ทัศนคติที่มีต่อความเสี่ยงในการเป็นผู้ประกอบการ (Attitudes towards entrepreneurial risk) ความหลากหลายด้านแรงงาน (Diversity of workforce) อัตราการสมัครมือถือและบรอดแบนด์ (Mobile-broadband subscriptions) บริษัทที่เปิดรับความคิด Disruptive (Companies embracing disruptive ideas)


และจากที่ทุกประเทศก็มุ่งพัฒนามิตินี้เช่นกัน ดังนั้นปัจจัยความเร็วและประสิทธิภาพในการลงมือทำจริง จึงถูกนำมาใช้พิจารณาการจัดลำดับด้วย โดยรวบรวมคะแนนย้อนหลัง 3 ปีมารายงานผลซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าจับตามอง

แคนาดายึดอันดับ 1 กลุ่มประเทศ G7


ในบรรดากลุ่มประเทศ G7 แคนาดา เป็นอันดับหนึ่งของประเทศที่มีการพัฒนาความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัล (Top Digital Riser) รองมาคืออิตาลี และฝรั่งเศส โดยแคนาดาชนะขาดด้วยการริเริ่มแผน “Innovation and Skills Plan” ซึ่งรวมถึงกองทุนนวัตกรรมเชิงกลยุทธ์ ที่จะสร้างและรักษางานมากกว่า 7 หมื่นตำแหน่ง ด้วยงบลงทุนกว่า 45 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 รวมถึงแผน “Innovation Superclusters Initiative” ทุ่มงบ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐร่วมทุนในกว่า 270 โครงงานในธุรกิจคลัสเตอร์ต่างๆ เพื่อผลักดันนวัตกรรมนำมาใช้ในธุรกิจ และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจของประเทศ


มังกรจีนผงาด


ในกลุ่มประเทศ G20 จีนเป็นอันดับหนึ่งของการเป็น Top Digital Riser และยุโรปชาติไหนเลยที่ติดท๊อปทรี Digital Riser ของกลุ่ม G20 และเมื่อเจาะลึกในรายละเอียดพบว่าซาอุดิอาระเบียนและจีนเป็นสองชาติที่พัฒนาเรื่อง ecosystem และ Mindset มากที่สุด ขณะที่อินเดียถดถอยลงทั้งสองด้าน ส่วนญี่ปุ่นได้คะแนนต่ำเรื่อง Mindset สิ่งที่น่าจับตามองของจีนคือโครงการ “Made in China 2025” ที่สนับสนุน 10 ภาคธุรกิจหลักที่จีนมุ่งหมายจะเป็นผู้นำของโลก ซึ่งก็มี Information Technology และ Robotics รวมอยู่ด้วย อีกทั้งรัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) เป็นหนึ่งในความสำเร็จของชีวิตคนจีน


เวียดนาม & กัมพูชา นำโด่งในอาเซียน


ในละแวกใกล้บ้านอาเซียน เวียดนามเป็น Top Digital Riser สามปีล่าสุด โดยพัฒนาอย่างมากทั้งเรื่อง Ecosystem และ Mindset โดยมีโครงการ “National Digital Transformation Program 2025” มีเป้าหมายทดลองเทคโนโลยีและโมเดลใหม่ๆ ปรับปรุงกระบวนการธุรกิจให้ทันสมัย โดยภายในปี 2030 คาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะมีสัดส่วน 30% ของ GDP เวียดนาม อีกประเทศที่จับตา คือกัมพูชาที่มีการลงทุนการศึกษาด้านดิจิทัลอย่างหนัก ภายใต้แผน The New Generation School Programme เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา


แชมป์เก่าเริ่มถดถอย


ประเทศที่ขึ้นชื่อความแข็งแกร่งเรื่องเทคโนโลยี อย่างเยอรมนี ญี่ปุ่น กลับทำผลงานได้ไม่ดีนัก ขณะที่สิงคโปร์และเกาหลีใต้ ก็ทำคะแนนได้ปานกลาง ในส่วนสหรัฐอเมริกาสูญเสียความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัลในช่วงสามปีที่ผ่านมา โดยมีคะแนน -72 จากความถดถอยด้าน Ecosystem ขณะที่จีนมีได้คะแนนเพิ่มขึ้นถึง 211 แต้มจากความแข็งแกร่งในเรื่องของ Mindset

ทั้งนี้ สรุปแนวทางในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล 2 ประเด็น ได้แก่


1)  ตั้งเป้าหมาย “คิดใหญ่” มีแผนการครอบคลุมชัดเจน


ตัวอย่างเช่นประเทศจีนที่ดำเนินการผลักดันเรื่องการเป็นผู้ประกอบการและนวัตกรรมอย่างครอบคลุมทุกด้าน เช่นแผน “Made in China 2025” ที่สนับสนุน 10 ภาคธุรกิจหลักที่จีนตั้งเป้าจะเป็นผู้นำของโลก ซึ่งชาติอื่นๆ ก็มีวิสัยทัศน์ “คิดใหญ่” เกี่ยวกับอนาคตในโลกดิจิทัลเช่นกัน อย่างเวียดนามต้องการให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วน 30% ของ GDP ภายในปี 2030 ฮังการีมีเป้าหมายเป็นหนึ่งในสิบประเทศผู้นำเทคโนโลยีดิจิทัลในยุโรปภายในสิ้นทศวรรษนี้ ที่สำคัญ Digital Riser ที่ประสบความสำเร็จต้องมีแผนชัดเจนที่จะไปสู่เป้าหมายด้วย อย่างอิตาลี เปิดตัวแผน “Repubblica Digitale” ส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้ประชากรของประเทศ


2) โฟกัส “การเป็นผู้ประกอบการ”


บราซิล เป็นตัวอย่างประเทศที่ทั้งภาครัฐและเอกชนกระตุ้นส่งเสริมเรื่องการเป็นผู้ประกอบการ ผ่านโครงการอย่าง InovAtiva Brasil, StartOut Brasil และ The National Committee of Start-Up Support Initiatives หรือที่อียิปต์ รัฐบาลได้สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีพาร์ค 6 แห่ง เพื่อบ่มเพาะสร้างนวัตกรรมและผู้ประกอบการ เช่นเดียวกับรัฐบาลแคนาดา ที่ลงทุนมากกว่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐในโครงการ “Innovation Supercluster” ผลักดันนวัตกรรมที่ใช้กับธุรกิจเพื่อเป็นขุมพลังทางเศรษฐกิจ หรือประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน อย่างกัมพูชา ก็มีการตั้ง VC ร่วมทุนกับสตาร์ทอัพ 500 แห่ง สนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มเทคโนโลยี


ในทศวรรษหน้าที่ทุกแห่งหนมุ่งไปสู่โลกดิจิทัล สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องรีบทำคืออย่ารีรอที่จะ transform ตัวเอง ซึ่งหลักสำคัญของการ transform คือถามลูกค้าว่าต้องการอะไร หาลูกค้ากลุ่มใหม่ ยิ่งถ้าเราเข้าใจลูกค้า ก็จะรู้ว่าควรนำนวัตกรรมมาใช้ในการ transform อย่างไร และจะสามารถ transform ธุรกิจให้ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลได้ในที่สุด


ที่มา
https://digital-competitiveness.eu/wp-content/uploads/Digital_Riser_Report-2021.pdf
https://digital-competitiveness.eu/wp-content/uploads/Study-Summary-English.pdf
https://www.weforum.org/agenda/2021/09/countries-rank-highest-digital-competitiveness/