จากธุรกิจส่งหนังสือพิมพ์สู่การส่งผักผลไม้สดๆ ให้ชุมชน

โควิดส่งผลกระทบด้านลบไปในหลากหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก และหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบคืออุตสาหกรรมหรือธุรกิจอาหาร แต่ถ้าไม่ยอมแพ้และมองเห็นโอกาสโควิดก็อาจเป็นประตูสู่ธุรกิจใหม่ๆ ที่สร้างการเติบโตได้เช่นกัน บทความนี้จะมาเล่าตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงในกรุงโตเกียว ที่โควิดส่งผลต่อพฤติกรรมการกินของผู้คนที่ออกไปทานอาหารนอกบ้านน้อยลงมาก  ร้านอาหารจำนวนมากปิดตัวทั้งชั่วคราวและถาวร เพราะผู้คนหันมาทานข้าวที่บ้านแทน รวมทั้งซุปเปอร์มาเก็ตก็มีคนไปจับจ่ายซื้อผักผลไม้ต่างๆ น้อยลงด้วยเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในโตเกียวมีผู้สูงอายุจำนวนมากจึงกลัวที่จะไปออกไปนอกบ้านเพราะมีความเสี่ยงสูงถ้าหากติดเชื้อขึ้นมา

delivery1

สถานการณ์ส่งผลกระทบต่อผู้ค้าส่งผักผลไม้จากเดิมเคยส่งสินค้าผักผลไม้มากกว่า 300 ชนิดให้กับร้านอาหารใหญ่ น้อยในโตเกียว รวมทั้งซุปเปอร์มาเก็ตเป็นประจำทุกวันมากว่า 70 ปี ผลกระทบจากโควิดทำให้ยอดขายตกลงไปมาก บริษัทค้าส่งผักผลไม้จึงคิดหาวิธีใหม่ๆเพื่อการอยู่รอด จึงต้องเปลี่ยนจากการขายส่งมาเป็นการส่งมอบสินค้าให้กับผู้บริโภคตามบ้านเรือนโดยตรง แต่ก็มีข้อจำกัดเพราะบริษัทขายส่งไม่มีประสบการณ์ในการส่งสินค้าโดยตรงให้กับผู้บริโภค จึงจับมือกับบริษัทส่งหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ที่ส่งหนังสือพิมพ์ทุกๆ เช้าให้กับผู้รับกว่า 6,000 หลังคาเรือนในพื้นที่ที่ดูแล โดยบริษัทค้าส่งจ้างให้บริษัทส่งหนังสือพิมพ์ทำหน้าที่ส่งผักและผลไม้โดยตรงให้กับผู้บริโภค เพราะบริษัทส่งหนังสือพิมพ์รู้จักพื้นที่และคุ้นเคยกับแต่ละบ้านในชุมชนเป็นอย่างดีอยู่แล้วและปกติการส่งหนังสือพิมพ์ทั้งหมดจะเสร็จในเวลา 11 โมงเช้าทำให้บริษัทส่งหนังสือพิมพ์มีเวลาเหลือมากพอที่จะส่งผักผลไม้ต่อได้ทันที แค่ผู้สั่งบอกที่อยู่บริษัทส่งหนังสือพิมพ์ก็สามารถส่งให้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยผู้ซื้อจะได้รับสินค้าในภายในวันเดียวที่สั่งแบบสดใหม่

ทั้งสองบริษัทจึงจับมือกันโดยเริ่มต้นสร้างใบสั่งซื้อที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกสินค้าที่ต้องการได้อย่างง่ายๆ โดยมีรายการผักผลไม้ตามฤดูกาล พร้อมราคาเป็นตัวหนังสือใหญ่ๆ เป็นตารางอ่านง่าย แนบไปกับหนังสือพิมพ์ โดยผู้บริโภคสามารถทำการสั่งได้ง่ายๆ โดยการสแกน OR Code เมื่อบริษัทขายส่งเมื่อได้รับออเดอร์ก็จะคัดเลือกเฉพาะผักผลไม้ที่มีคุณภาพดีใส่กล่องๆ ละ    ออเดอร์แล้วส่งให้บริษัทส่งหนังสือพิมพ์ ทำการตรวจสอบคุณภาพสินค้าอีกครั้งและห่อสินค้าให้เรียบร้อยก่อนจัดส่ง พร้อมกับแนบวิธีการทำอาหารจากผักตามฤดูกาลไปด้วย

วิธีการนี้ทำให้บริษัทขายส่งลดต้นทุนการส่งสินค้าและสามารถเพิ่มยอดขายได้จำนวนมาก ส่วนบริษัทส่งหนังสือพิมพ์เองก็มีรายได้เพิ่มขึ้นโดยใช้ทรัพยากรเดิมและทักษะเดิมที่มีอยู่แล้ว สำหรับผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่พยายามหลีกเลี่ยงการออกไปที่ที่มีคนพลุกพล่านอย่างซุปเปอร์มาเก็ตก็แฮปปี้ เพราะคุ้นเคยกับคนส่งหนังสือพิมพ์อยู่แล้ว และได้ผักผลไม้ที่สดใหม่ภายในวันที่สั่ง ซึ่งโมเดลนี้ได้รับผลการตอบรับอย่างดีมาก มีออเดอร์เข้ามามากมาย จนสินค้าอย่างอื่น เช่น  เนื้อสัตว์ หรือแม้กระทั่งดอกไม้เองก็อยากนำวิธีนี้มาใช้บ้าง

จะเห็นว่ากลยุทธ์ในการปรับเปลี่ยนของบริษัทขายส่งผักผลไม้ในโตเกียวไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลยขอแค่ไม่ติดกับกรอบเดิมๆ และมองหาพันธมิตรในพื้นที่ที่มีความสามารถที่มาเสริมเติมเต็มซึ่งกันและกันได้ ทุกฝ่ายก็จะมีแต่วินด้วยกันหมดแม้กระทั่งผู้บริโภคก็ได้รับความสะดวกได้รับสินค้าที่สดใหม่และบริการที่รวดเร็ว ขอแค่ไม่หยุดพัฒนาและมองความต้องการของลูกค้าเป็นตัวตั้งธุรกิจของคุณก็สามารถก้าวผ่านวิกฤตและเติบโตต่อไปได้เช่นกัน

ที่มา https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/en/ondemand/video/2053192/