จับตา “ทุนจีน” ปักฐานลงทุนไทย

จีนเริ่มก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก โดยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีฐานะเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภครายใหญ่ของโลก และอีกบทบาทที่สำคัญของจีนคือการเป็นนักลงทุนที่มีเม็ดเงินมหาศาลลงทุนในประเทศต่างๆ คุณมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์แนวโน้มการลงทุนของจีนในไทย เชื่อมั่นจีนมองไทยมีศักยภาพใช้ปักฐานเป็นศูนย์กลางขยายสู่ตลาดอาเซียน


ในปี 2019 จีนยื่นขอการลงทุนเป็นอันดับ 1 ในไทย


จากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในปี 2018ประเทศจีนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงสุดเป็นครั้งแรกและสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และในปี 2019 ทิ้งห่างจากประเทศอันดับสองถึง 4 เท่า โดยในปี 2019 ประเทศจีนขึ้นแท่นอันดับหนึ่งในการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติอย่างเห็นได้ชัดด้วยมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 2.9 แสนล้านบาทในกว่า 270 โครงการ เฉลี่ยโครงการละ 1 พันล้านบาท และแม้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 ประเทศจีนประสบวิกฤตโควิด-19 จะมีการลงทุนในไทยเพียง 120 โครงการ อย่างไรก็ดีจากการที่รัฐบาลจีนควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ประเทศจีนสามารถฟื้นตัวก่อนประเทศอื่นๆ ซึ่งคาดว่าในครึ่งปีหลังตัวเลขการลงทุนจากการลงทุนของนักลงทุนจีนจะกลับมาสูงเช่นเดิม

china-investment-in-thailand-01

ผลสำรวจชี้นักลงทุนจีนอยากมาไทยเพิ่มขึ้น


ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยกลุ่มธุรกิจจีน ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (Economic Intelligence Center: EIC) จัดทำการสำรวจทิศทางการลงทุนของนักลงทุนจีนในประเทศไทยภายหลังโควิด-19 โดยจัดทำแบบสอบถามและสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทจีนขนาดกลางและขนาดใหญ่ ทั้งที่อยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีนและในประเทศไทยจำนวน 170 ราย ถึงแผนการลงทุนขยายธุรกิจในประเทศไทย พบว่า นักลงทุนจีนมากกว่า 2 ใน 3 มีความสนใจที่จะขยายการลงทุนมายังประเทศไทยภายในระยะเวลา 1-2 ปีข้างหน้า ที่น่าสนใจคือราว 60% เป็นกลุ่มที่ไม่เคยลงทุนหรือทำธุรกิจในประเทศไทยมาก่อน ประเมินประเทศไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพ อีกทั้งมีความพร้อมและอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่จะสามารถก้าวเป็นศูนย์กลางแห่งอาเซียน เพื่อเชื่อมโยงตลาดสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งแตกต่างจากมุมมองในอดีตที่มองว่าประเทศไทยเป็นเพียงฐานการผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม 66% ได้วางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนในประเทศไทย โดยแนวโน้มนักธุรกิจจีนกำลังปรับโครงสร้างการลงทุนในไทยจากอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูง สู่การลงทุนขนาดเล็กลง มุ่งเจาะภาคอุตสาหกรรมบริการ และเทคโนโลยี ในขณะเดียวกัน แนวโน้มใหม่นี้ถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเผชิญกับคู่แข่งที่มีความได้เปรียบทั้งด้านต้นทุนที่ต่ำกว่า และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า รวมถึงประสบการณ์จากตลาดที่มีการแข่งขันสูงในประเทศจีน


“สิ่งที่พบในการสำรวจครั้งนี้คือการลงทุนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและกระจายตัวกว่าเดิมอย่างมีนัยยะสำคัญเกินความคาดหมาย กล่าวคือการลงทุนจะไม่กระจุกอยู่ในธุรกิจเก่าๆ อย่างการลงทุนขนาดใหญ่ สร้างฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกเป็นหลักแบบเดิม แต่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเป็นการลงทุนขนาดเล็กลงในหลากหลายธุรกิจมากขึ้น เช่นภาคธุรกิจบริการ โลจิสติกส์ เทคโนโลยีไอที ตลอดจนอุตสาหกรรมที่อยู่ใน supply chain ของธุรกิจที่มีอยู่แล้ว ซึ่งแม้มูลค่าเงินทุนที่เข้ามาใหม่ต่อโครงการจะไม่มากเท่ากับสมัยก่อน แต่จะมีจำนวนโครงการเพิ่มมากขึ้น และมีความเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของไทยมากกว่าที่ผ่านมา ผมเชื่อมั่นว่า ในระยะ 2-3 ปีหลังจากที่การระบาดของโควิด-19 หาย การเดินทางกลับมาได้เหมือนเดิม เม็ดเงินลงทุนจากประเทศจีนในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นอีกมาก” คุณมาณพกล่าว


สำหรับสาเหตุที่มีการปรับโครงสร้างการลงทุนของจีนในประเทศไทยจากที่เดิมเคยเป็นโครงสร้างการลงทุนแบบกระจุกตัวมาเป็นโครงสร้างการลงทุนแบบกระจายตัวที่มากขึ้นนั้น คุณมาณพมองว่ามาจาก 3 สาเหตุหลัก คือ 1) การปรับตัวของเศรษฐกิจของประเทศจีนในช่วง 10 ปีที่ผ่าน ที่กระจายจากภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาสู่ภาคบริการและการบริโภคมากขึ้น ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศจีนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซึ่งส่งผลสะท้อนมาถึงการลงทุนของจีนในต่างประเทศด้วย 2) ประเทศจีนเริ่มมีแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคใหม่ๆเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสินค้าคุณภาพเทียบเท่าระดับโลกในราคาย่อมเยาและเริ่มเป็นที่รู้จักในตลาดโลก แบรนด์สินค้าเหล่านี้จึงเห็นโอกาสเข้ามาลงทุนเพื่อเปิดตลาดจำหน่ายสินค้าในประเทศไทยและประเทศอื่นในแถบอาเซียน 3) การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ของจีน ทั้ง AI และอุตสาหกรรมแนวใหม่ เช่นพลังงานทดแทน รถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ ที่นักลงทุนจีนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นที่จะนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาขยายและส่งออกตลาดต่างประเทศ

ปัจจัยที่จีนอยากมาลงทุนในไทย


คุณมาณพกล่าวถึงการที่นักธุรกิจจีนอยากเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น มาจาก 2 ปัจจัยที่สำคัญได้แก่ 1) ความเหมาะสมของประเทศไทยเอง ทั้งในเรื่องของศักยภาพตลาดไทยรวมไปถึงทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมในเชิงยุทธศาสตร์เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงสู่กลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายสนับสนุนการลงทุน ตลอดจนระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน ตั้งแต่ระดับสูงลงมาถึงระดับประชาชนทั่วไป ความเป็นมิตรและการต้อนรับเป็นอย่างดีของคนไทยทำให้คนจีนรู้สึกอบอุ่น 2) สถานการณ์ความขัดแย้งของประเทศจีนกับประเทศตะวันตก โดยเฉพาะปัญหาสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐฯ ก็เป็นปัจจัยผลักดันให้นักลงทุนจีนหันมาลงทุนในภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น


โอกาสและความท้าทายของธุรกิจไทย


การเข้ามาของนักลงทุนจีนก่อให้เกิดการจ้างงาน การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี ที่สร้างคุณค่าต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในอีกทางหนึ่งถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเผชิญกับคู่แข่งที่มีความได้เปรียบทั้งด้านต้นทุนที่ต่ำกว่า และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า รวมถึงประสบการณ์จากตลาดที่มีการแข่งขันสูงในประเทศจีน “ผมเชื่อว่าสิ่งที่นักธุรกิจไทยต้องเตรียมพร้อมคือการทำความเข้าใจกับลักษณะการทำธุรกิจของนักธุรกิจจีน รูปแบบหรือโมเดลการทำธุรกิจที่เขาเคยทำอยู่ในประเทศจีน เพราะเขาน่าจะใช้โมเดลที่ทำอยู่นั้นมาเป็นส่วนประกอบการตัดสินใจและแนวทางการทำธุรกิจในไทย หากเราศึกษาและเรียนรู้สิ่งที่เขาทำอยู่แล้วในประเทศจีน ก็จะสามารถหากลยุทธ์ เตรียมพร้อมรับมือธุรกิจจีนในประเทศไทยได้ดีกว่า สุทธิแล้วการเข้ามาของนักลงทุนจีนที่เพิ่มขึ้นจะเป็นโอกาสทางธุรกิจมากกว่าความท้าทายหรือความเสี่ยงสำหรับผู้ประกอบการไทย” คุณมาณพกล่าว ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจะต้องเตรียมพร้อมธุรกิจเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้น โดยยกระดับกระบวนการผลิตสินค้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนแนวทางการร่วมเป็นคู่ค้ากับนักลงทุนจีนเพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีความได้เปรียบในเรื่องความเข้าใจตลาดผู้บริโภคไทย กฎหมายและข้อบังคับต่างๆในประเทศไทย รวมถึงความสามารถจัดหาวัตถุดิบ โดยทักษะทางด้านภาษาจีน ความเข้ารู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมจีนจะเป็นสิ่งที่ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการและแรงงานไทยสามารถคว้าโอกาสจากการเข้ามาของนักลงทุนได้อย่างเต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้น


ทั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์พร้อมที่จะเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ช่วยสนับสนุนให้การขยายธุรกิจของทั้งสองประเทศเดินหน้าต่อไปอย่างแข็งแกร่ง ด้วยศักยภาพเครือข่ายสาขาต่างประเทศของธนาคารไทยพาณิชย์ทั่วภูมิภาค โดยเฉพาะ สาขาเซี่ยงไฮ้ สาขาฮ่องกง และสำนักงานผู้แทนกรุงปักกิ่ง ตลอดจนทีมงานที่เข้าใจบริบทของจีนและไทยอย่างลึกซึ้ง พร้อมให้คำปรึกษาและมอบบริการทางการเงินครบวงจรที่สามารถช่วยสนับสนุนให้แผนการลงทุนขยายธุรกิจประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ สามารถติดตามอ่านรายงานผลสำรวจทิศทางการลงทุนของนักลงทุนจีนในประเทศไทยภายหลังโควิด-19 ฉบับเต็มได้ที่ https://www.scb.co.th/cn/investment-knowledge.html