การทำธุรกิจให้ยั่งยืนหลังวิกฤต COVID-19

Systems Thinking เป็นแนวคิดของนักชีววิทยาที่มีชื่อว่า Bertalanfy เป็นการคิดในภาพรวมที่เป็นระบบ โดยมีส่วนประกอบย่อยๆ ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงไปหาส่วนประกอบใหญ่ เป็นวิธีคิดที่ช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ในมุมมองใหม่ๆ ช่วยคาดคะเนแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและวางแผนรองรับสถานการณ์ต่างๆ


หากนำการคิดเชิงระบบนี้มาวิเคราะห์หาปัจจัยที่ช่วยทำให้ธุรกิจยั่งยืนหลังวิกฤต COVID-19 จะพบว่า มีปัจจัยย่อย 4 ประการ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันและเป็นรากฐานของธุรกิจที่ยั่งยืนได้

1. People

พนักงานที่มีความรู้และมีศักยภาพ คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจยั่งยืน ในภาวะปกติใหม่นี้ควรสนับสนุนให้แต่ละบทบาทหน้าที่ในองค์กรมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น พนักงานสามารถโยกย้ายตำแหน่งหรือสับเปลี่ยนหน้าที่กันได้ โดยองค์กรจัดให้มีการอบรมเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มทักษะความสามารถให้กับพนักงาน และจากวิกฤตที่ผ่านมา ผู้นำองค์กรต้องรู้ว่าทักษะความรู้ใดที่จำเป็นในสถานการณ์ที่คับขันและจัดให้มีการอบรมทักษะนั้น เพื่อให้พนักงานมีศักยภาพพร้อมต่อการขับเคลื่อนองค์กรในอนาคต


เนื่องจากเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้น เจ้าของธุรกิจจึงควรให้พนักงานได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยและนำมาใช้ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากศักยภาพของมนุษย์ไม่มีขีดจำกัด การพัฒนา ส่งเสริม และเพิ่มพูนความรู้ให้กับพนักงานจึงเท่ากับเป็นการสร้างกำลังสำคัญ หรือที่เรียกว่า Asset ให้กับองค์กรนั้นเอง


2. Internal Process

การปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการภายในองค์กรให้เป็นแบบใหม่จะช่วยให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและรูปแบบการทำงานในปัจจุบันมากขึ้น เช่น การบันทึกเวลาเข้าออกงานและตรวจสอบการทำงานของพนักงานผ่านระบบออนไลน์ การประเมินผลงานโดยดูที่ความสำเร็จของงานเป็นหลัก การเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูลขององค์กรเพื่อป้องกันการรั่วไหลในกรณีที่พนักงานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จากหลายสถานที่


นอกจากนี้ ควรออกนโยบายในการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ และการเงินของพนักงาน เช่น การเพิ่มวันลาป่วย การเพิ่มวงเงินในการรักษาพยาบาล การปรับชั่วโมงการทำงานเพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงเวลาที่การจราจรแออัด และการให้กู้ยืมเงิน เพื่อช่วยให้คุณภาพชีวิตของพนักงานดีขึ้น


อีกประการที่สำคัญ คือการพัฒนาการสื่อสารภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพโดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้สามารถติดตามงานได้อย่างใกล้ชิด และเพื่อให้พนักงานได้รับข่าวสารขององค์กรที่ชัดเจนและถูกต้องในช่วงเวลาที่เหมาะสม

3.Finance

ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจจะยั่งยืนได้ ต้องอาศัยรายได้เป็นปัจจัยสำคัญ หลังจากธุรกิจเริ่มฟื้นตัวและเริ่มมีรายได้เข้ามา เจ้าของธุรกิจยังคงต้องใช้มาตรการที่รัดกุมเพื่อบริหารการเงินในบริษัท โดยให้ความสำคัญกับกระแสเงินสด ด้วยการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และรีบสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าเพื่อให้มีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง


ทั้งนี้ เจ้าของธุรกิจควรมีกระแสเงินสดเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน สิ่งที่สำคัญต่อมาอีกประการ คือ สภาพคล่องทางการเงิน เจ้าของธุรกิจควรมีมาตรการเชิงรุกในการหาแหล่งรายได้เพิ่มเติม เช่น การเสนอส่วนลดให้กับลูกค้าหากสามารถชำระเงินได้เร็วขึ้น หรือการขายทรัยพ์สินที่ไม่จำเป็นต้องใช้งานเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินสด นอกจากนี้ ควรประเมินความเสี่ยงทางการเงินอย่างสม่ำเสมอเพื่อดำเนินการแก้ไขก่อนที่จะกลายเป็นปัญหา


4.Community

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งของผู้บริโภคที่สนับสนุนธุรกิจให้เติบโตนั้น คือ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนใกล้เคียงนั่นเอง หากมองในรูปแบบสังคมที่พึ่งพาอาศัยกันและกัน เมื่อคนในชุมชนช่วยซื้อสินค้าหรือใช้บริการ เจ้าของธุรกิจก็สามารถช่วยตอบแทนสังคมได้หลากหลายวิธี เช่น การรักษาราคาสินค้าหรือบริการให้เหมาะสมกับกำลังซื้อของผู้บริโภค การปรับเปลี่ยนสายการผลิตเพื่อช่วยผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ขาดแคลน หากเป็นธุรกิจขนส่งสินค้าอาจช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดส่งสิ่งของที่จำเป็นให้แก่ชุมชนหรือตามสถานพยาบาล หรือแม้แต่วิธีง่ายๆ ด้วยการให้ความร่วมมือกับทุกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งเป็นการแสดงความช่วยเหลือและรับผิดชอบต่อสังคม เมื่อสังคมอยู่ได้ด้วยการเกื้อกูลกันและกัน ต่างฝ่ายต่างช่วยกันสร้างชุมชนที่แข็งแกร่งและปลอดภัย ธุรกิจซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนย่อมสามารถดำเนินต่อไปได้เช่นกัน


ทั้ง 4 ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นพนักงานที่มีคุณภาพ กระบวนการจัดการที่สอดคล้องกับ New Normal การวางแผนทางการเงินที่รัดกุม และการพึ่งพากันและกันของชุมชน ล้วนมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเพื่อพัฒนาธุรกิจให้ยั่งยืนได้ หากเจ้าของธุรกิจให้ความสำคัญกับทุกปัจจัย ไม่ว่าจะพบกับสถานการณ์ใด ย่อมสามารถรักษาธุรกิจไว้ได้อย่างแน่นอน