China Game Changer ล้วงเคล็ดลับปั้น SME ให้ปังฉบับ Made in China

ก่อนหน้านี้ จีนเป็นจุดหมายปลายทางของธุรกิจทั่วโลกที่อยากบุกตลาด นำสินค้าเสนอขายให้ผู้บริโภค 1.3 พันล้านคน แต่จีนใน พ.ศ.นี้ ได้พลิกบทบาทเป็นผู้ผลิตส่งออกสินค้าหลายอุตสาหกรรม มีแบรนด์สินค้าจีนได้รับการยอมรับในตลาดโลกมากมาย โดยหลายๆ รายก็เติบโตจากการเป็นธุรกิจ SME มาก่อน แล้วยังมีผู้ประกอบการธุรกิจ SME เกิดใหม่จำนวนมหาศาลที่ มุ่งสร้างธุรกิจซึ่งเป็นส่วนสำคัญผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ


ในงาน Digital SME Conference Thailand 2020 คุณณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม นายกสมาคมการค้าดิจิทัลไทย Chief EduTech Officer ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี e-Commerce อดีต CTO พัฒนาแพล็ตฟอร์ม Lazada ฯลฯ เคยทำงานที่ประเทศจีนกว่า 7 ปีรวมถึงประสบการณ์ทำงานกับ AliExpress ในเครือ Alibaba จึงมีความรู้เข้าใจตลาดจีนอย่างลึกซึ้ง มาร่วมแบ่งปันความรู้และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจ SME ในประเทศจีน

china-gamechanger-01

ปัจจัยความเติบโตของธุรกิจ SME จีน


1) การสนับสนุนให้ลงมือปฏิบัติงานจริง : ตอนที่อยู่ประเทศจีน คุณณัฐพรเคยฝึกงานโครงการที่เปลี่ยนคนธรรมดาให้เป็นผู้ประกอบการ SME ด้วยการลงมือฝึกทำธุรกิจจริง โดยให้นักศึกษาปวช.ปี 1 ไปฝึกงานขายของ กำหนดเป้าการขายให้ได้ 100,000 หยวนจึงจะได้ผ่านขึ้นชั้นปวส. ซึ่งก็จะมีการกำหนดเป้าการขายอีก และเมื่อทำสำเร็จก็จะได้รับเงินกู้จำนวนครึ่งหนึ่งของยอดขายที่ทำได้ นำไปเป็นทุนสร้างธุรกิจของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลจีนช่วยผู้ประกอบการจีนอีกด้วย


2) การใช้ Data-Driven สนับสนุนในทุกอุตสาหกรรม : ปัจจุบัน นิคมอุตสาหกรรมของจีนได้พัฒนาในรูปแบบ e-Industrial Park ที่มีการใช้ Big Data กำหนดแผนการผลิตและทางการตลาด เช่น ที่ e-Park แฟชั่น การผลิตเสื้อผ้าจะมาจากการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ทำ Predictive Data ล่วงหน้า 12 เดือน เช่น ดูจาก Data ว่าเสื้อผ้า 10 อันดับแรกแบบไหนจะเป็นที่ต้องการของลูกค้าในอีก 12 เดือนข้างหน้า ต้องการกี่ตัว ต้องการสีอะไร โดยสามารถดูข้อมูลได้ทั่วโลก หรือการกำหนดราคาทุเรียน ที่ใช้ Data วิเคราะห์รู้ล่วงหน้าว่าครัวเรือนจีนแต่ละมณฑลจะต้องการทุเรียนเท่าไร และนำข้อมูลมากำหนดตั้งราคา จีนใช้ Data วิเคราะห์ในลักษณะนี้กับสินค้าทุกประเภทในโลก ซึ่ง Data มาจาก Search Engine ทั้งหมดที่มีอยู่และนำมาใช้วิเคราะห์สนับสนุนแผนธุรกิจต่างๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงสามารถวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3) e-Industrial Park/e-Platform/e-Payment : นอกเหนือจากเรื่อง Big Data แล้ว e-Industrial Park ของจีนที่มีอยู่ 4,000 กว่าแห่งในหลากหลายอุตสาหกรรมยังเป็นศูนย์รวม Industrial Cluster ระบบ Supply chain สถานที่จัดเก็บสต๊อกสินค้า การขนส่ง Logistic รวมถึงศูนย์ข้อมูลความรู้การส่งออกประเทศต่างๆ ทั่วโลก  และบริการ Share Service รวบรวมออเดอร์ของผู้ประกอบการ SME เพื่อส่งออกไปตลาดต่างประเทศ e-Industrial Park เป็นสถานที่บ่มเพาะผู้ประกอบการจีนจนเติบโตเป็นธุรกิจระดับโลก เช่น Huawei, OPPO, Meizu, Vivo และ Xiaomi ก็ล้วนแต่เติบโตจาก e-Industrial Park


นอกจากนี้ ในปาร์คยังมีชุมชน โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ศูนย์การค้า สถานที่จำหน่ายสินค้าปลอดภาษี สิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจรในพื้นที่ คุณณัฐพรกล่าวว่าการตั้งนิคมเลือกจากภูมิศาสตร์ เช่น เมืองหางโจว เป็นนิคมแฟชั่นเสื้อผ้า ทั้งนี้ รัฐบาลออกกฎให้แบรนด์แฟชั่นจากต่างประเทศที่จะขายสินค้าในจีน จะต้องส่งดีไซเนอร์ระดับหัวหน้ามาสอนนักศึกษาจีน


ในส่วน e-Platform ในที่นี้ไม่ใช่แพล็ตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ตามที่คนไทยเข้าใจ สำหรับคนจีน e-Platform หมายถึง การใช้ออนไลน์เป็นศูนย์กลางในการแชร์คอนเทนต์และยอดขายไปทุกแพล็ตฟอร์มทั่วโลก ส่วน e-Payment ไม่ใช่แค่การจ่ายทาง QR Code ออนไลน์ หรือบัตรเครดิต แต่เป็นเรื่อง Digital Currency ที่จะใช้สกุลเงินที่ผู้ประกอบการได้ Margin สูงสุด ถูกหักค่าธรรมเนียมต่ำที่สุด

4) หมู่บ้านอีคอมเมิร์ซ :  นอกเหนือจาก e-Industrial Park ที่พัฒนาผู้ประกอบการ SME เพื่อส่งออก ประเทศจีนยังพัฒนาผู้ประกอบการ SME ในชนบทท้องถิ่นสำหรับจำหน่ายสินค้าในประเทศ โดยผู้ประกอบการจะรวมตัวกันเป็นหมู่บ้าน เช่น Taobao Village ทำธุรกิจลักษณะเดียวกัน แต่แตกต่างในรายละเอียดของแต่ละบ้าน แล้วใช้ประโยชน์จากพลังการต่อรองราคาวัตถุดิบและแรงงานช่วยลดต้นทุนทำธุรกิจ ทุกครอบครัวในหมู่บ้านจะช่วยกันไลฟ์สดขายของ รับออเดอร์ แพ็คกิ้งส่งสินค้า ฯลฯ มีการใช้เทคโนโลยีทันสมัยอย่าง Mini Arm Robot Chain เข้ามาช่วยด้วย


5) Future Area 10 Years Plan : รัฐบาลจีนมีการทำแผน China Future Area 10 Years Plan บอกรายละเอียดแผนการพัฒนาเมืองในพื้นที่ต่างๆ ให้ประชาชนรู้ว่าเมืองไหนเป็นโอกาสให้ SME เติบโตในอนาคต สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนที่จะไปหาความรู้ประสบการณ์ในเมืองใหญ่กลับไปตั้งธุรกิจพัฒนาบ้านเกิด

ทำตลาดจีนด้วยการใช้ Local KOL (Key Opinion Leader)


คุณณัฐพรเล่าถึงประสบการณ์ใช้ KOL คนไทยโปรโมทสินค้าไทยที่ประเทศจีน เช่น น้องจอย รัชดา แม่ค้าที่ตลาดรถไฟรัชดาที่โด่งดังในสื่อโซเชี่ยลของจีนมาก เพราะมีใบหน้าเหมือนรูปปั้นไซซี 1 ใน 4 สาวงามในตำนานของจีนที่อยู่ริมทะเลสาบซีหู  ต่อมาคือพี่ปิงปิง แม่ค้าขายมะพร้าวที่ตลาดร่มหุบ สมุทรสงคราม ที่มีลีลาสับมะพร้าวโดนใจนักท่องเที่ยวจีน จนโด่งดังเป็นที่รู้จักของคนจีนจำนวนมาก ขนาด Alibaba ยังเลือกพี่ปิงปิงเป็นพรีเซนเตอร์โปรโมทการจ่าย Alipay ในประเทศไทย และคนจีนก็ติดภาพลักษณ์พี่ปิงปิงเป็น Queen of Coconut


คนถัดมาคืออาเหมย ที่โด่งดังจากคลิปไวรัลยาดมโป๊ยเซียน นมอัดเม็ดจิตรลดา และยาหม่องตราถ้วยทอง ล่าสุดคือน้ององุ่นแห่งตลาดน้ำสี่ภาคพัทยา ที่คนจีนรู้จักหมดเพราะหน้าตาเหมือนลูกสาวประธานาธิบดีสีจิ้นผิง และคนจีนที่มาเมืองไทยล้วนอยากมาถ่ายรูปด้วย ฉะนั้น การใช้ KOL ที่ใช่ ก็เป็นโอกาสที่จะพาผลิตภัณฑ์และบริการจาก SME ไทยไปครองใครคนจีนได้


ที่มา : SME Conference Thailand 2020 : China Game Changer  โดยคุณณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม นายกสมาคมการค้าดิจิทัลไทย Chief EduTech Officer