เรียนรู้บทเรียนจากจีนในวิกฤตโควิด-19 : ชีวิตคนจีนในช่วงปิดเมือง

ตอนที่ 1

จากเหตุการณ์ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และลุกลามอย่างรวดเร็วทำให้รัฐบาลจีนตัดสินใจปิดเมืองหรือที่เรียกว่าล็อกดาวน์เมืองอู่ฮั่น และเมืองต่างๆ ในมณฑลหูเป่ยที่เป็นศูนย์กลางการระบาดเป็นเวลามากกว่า 2 เดือน ในวันนี้ที่สถานการณ์ในประเทศจีนเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี ในฐานะที่เป็นประเทศแรกในโลกที่เจ็บก่อนคนอื่น แก้ไขได้ก่อนคนอื่น มีบทเรียนก่อนคนอื่น เราจะเรียนรู้อะไรได้จากจีนบ้าง ทั้งในมุมมองของผู้ประกอบการ และพนักงานทำงานประจำ ฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจจีน คุณมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจจีน SCB และคุณธนมน สุธีรภาคย์ ผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ SCB สาขาเซี่ยงไฮ้ ที่เล่าประสบการณ์จริงของคนที่อยู่ในจีนตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตจนสถานการณ์คลี่คลาย

ก่อนล็อกดาวน์เกิดอะไรขึ้นกับจีน

จีนพบผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกเมื่อช่วงเดือนธ.ค. 2019 ซึ่งในตอนนั้นก็ยังไม่ตื่นตระหนกมาก จนมาเริ่มมาตรการปิดเมืองในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ตรงกับเทศกาลตรุษจีน ซึ่งตอนนั้นแม้จะมีผู้เสียชีวิตเพียงเลขหลักตัวเดียว แต่คุณมาณพให้ความเห็นว่าจากที่จีนเคยมีประสบการณ์เมื่อตอนโรคซาร์สระบาดหลายปีก่อน จึงตัดสินใจใช้มาตรการหนักไว้ก่อน โดยดำเนินการปิดเมืองอย่างจริงจังมาก คือห้ามการเข้าออกเมืองอู่ฮั่นที่มีประชากรกว่า 10 ล้านคนและเมืองต่างๆ ในมณฑลหูเป่ย และแม้นอกมณฑลหูเป่ยจะไม่ได้ประกาศปิดเมืองอย่างเป็นทางการแต่ในทางปฏิบัติก็ทำเหมือนล็อคดาวน์ ซึ่งนอกจากห้ามการเดินทางข้ามเมืองแล้ว ก็จำกัดไม่ให้ผู้คนออกจากบ้าน โดยออกได้เฉพาะเวลาที่กำหนด และการเข้าเขตที่พักอาศัยแต่ละแห่งก็ต้องมีการตรวจสอบว่าเป็นคนที่อาศัยอยู่ในอาคารหลังนั้นๆ จริงหรือเปล่า

สำหรับคุณมาณพซึ่งคร่ำหวอดในธุรกิจประเทศจีนกว่า 16 ปีและเป็นผู้บุกเบิกตลาดจีนให้กับ SCB มองว่าการปิดเมืองของจีนเพราะไวรัสโควิด-19 เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น เพราะยากที่จะบอกได้ว่าการที่ผู้คนกว่า 1.4 พันล้านคนต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่จะมีผลกระทบอะไรบ้าง อย่างไรก็ตาม องค์กรอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่าการที่จีนนำร่องปิดเมืองก่อนหน้านี้เป็นการช่วยชะลอการแพร่ระบาด เป็นการซื้อเวลาประมาณ 1 เดือนให้ประเทศอื่นเตรียมตัวรับมือไวรัส ซึ่งในจุดนี้สำคัญที่ผู้นำจะต้องตระหนักว่าวิกฤตนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเตรียมการรับมือ มาตรการต่างๆ จึงจะตามมา

วิถีชีวิตผู้คนเปลี่ยนไปอย่างไรระหว่างล็อกดาวน์

จากที่คุณธนมน ประจำการอยู่ที่ SCB สาขาเซี่ยงไฮ้เป็นระยะเวลาได้ 5-6 เดือน คุณธนมนเล่าว่าตอนช่วงก่อนตรุษจีนก็มีคนพูดถึงบ้าง และในช่วงหลังตรุษจีนข่าวก็แพร่สะพัดในวงกว้าง สำหรับตนที่อาศัยอยู่ในเมืองเซี่ยงไฮ้ เขตที่อยู่ก็เริ่มมีมาตรการตรวจตราที่เข้มงวด ไปที่ไหนก็มีการวัดอุณหภูมิทุกที ถ้าถามความรู้สึกในสถานการณ์วิกฤตนี้ ช่วงแรกก็มีความกังวลใจ แต่ก็ได้ติดตามข้อมูลข่าวสาร และตั้งสติเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ ซึ่งก็คลายความวิตกไปได้เพราะที่ผ่านมาคุณธนมนได้เห็นการปฏิบัติที่สำคัญ 3 อย่างได้แก่
 

1. การที่รัฐบาลจีนมีความเข้มงวดจริงจังกับการให้ผู้คนอยู่บ้านเพื่อควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อ

2. การสนับสนุนบุคลากรการแพทย์โดยการทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อรักษาผู้ป่วยให้หายเร็วที่สุด เช่นการสร้างโรงพยาบาลสนามอย่างเร่งด่วนรองรับผู้ติดเชื้อ เร่งระดมแพทย์ พยาบาลจากทั่วประเทศไปช่วยกู้สถานการณ์ที่เมืองอู่ฮั่น ตลอดจนมีทีมสนับสนุนการวิจัยต่างๆ รวมไปถึงแพทย์แผนจีนก็มีบทบาทในการฟื้นฟูสุขภาพและใช้สมุนไพรเพิ่มภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อ และถ้าเกิดป่วยขึ้นมาก็มีรถพยาบาลมารับถึงบ้าน จัดสรรทีมแพทย์พยาบาลดูแลอย่างดี ประชาชนก็รู้สึกสบายใจ และให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการอยู่บ้านหยุดเชื้อ

3. การใช้ชีวิตประจำวันที่สำคัญอย่างเช่น หาซื้ออาหารการกิน ซื้อของ ฯลฯ จะมีการแย่งซื้อของจนขาดตลาดกันหรือไม่ แต่เนื่องจากสังคมจีนเป็นสังคมที่แทบจะไม่ใช้เงินสด เป็น Cashless Society เกือบจะสมบูรณ์แบบ การซื้อของทุกอย่าง รวมทั้งของสดจึงทำได้สะดวกผ่านการซื้อและจ่ายเงินออนไลน์ และสินค้าก็มาส่งถึงที่พัก สิ่งนี้ทำให้คนไม่รู้สึกว่าการดำเนินชีวิตติดขัดลำบากจนเกินไป ซึ่งเมื่อประเทศเกิดวิกฤต ทุกคนก็พร้อมให้ความร่วมมือ ซึ่งคุณธนมนมองว่าสิ่งเหล่านี้สร้างความรู้สึกเชื่อมั่นว่าประเทศจีนจะผ่านพ้นวิกฤตไปได้

บทบาทของ Big Data และแพล็ตฟอร์มออนไลน์กับวิกฤตโควิด-19

จากการที่ประเทศจีนเป็นสังคมไร้เงินสด ธุรกรรมทุกอย่างทำผ่านแอปในมือถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ประเทศจีนผ่านพ้นวิกฤตการณ์โควิด จากที่ก่อนหน้านี้ประเทศจีนมีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึง Big Data ซึ่งเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคน โดยแอปพลิเคชั่นที่คนจีนใช้ถูกออกแบบมาอย่างดีให้มีการใช้งานครอบคลุมทุกรายละเอียดในชีวิตประจำวัน ผ่านการสแกน QR Code เป็นหลัก ตัวอย่างเช่นการชำระเงินที่ต้องจ่ายผ่านแอป Alipay , WeChat หรือ UnionPay แอปใดแอปหนึ่ง และเมื่อใช้มือถือทำธุรกรรมทุกอย่าง จึงสามารถตรวจสอบกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ว่าเราเสี่ยงต่อการติดโควิด-19 หรือเปล่า เช่นใช้จ่ายซื้อตั๋วเครื่องบิน ตั๋วรถไฟไปพื้นที่เกิดการระบาดมาหรือไม่ ข้อมูลเหล่านี้เชื่อมโยงกันได้หมด รัฐบาลจีนจึงร่วมมือกับเอกชน นำข้อมูลออนไลน์ต่างๆ เหล่านี้มาสร้างฟังก์ชั่น Health Code ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการติดตามผลและลดความเสี่ยงติดเชื้อ

Health Code แบ่งเป็นสีเขียว (ปลอดภัย) สีเหลือง (มีการเดินทางมาจากนอกพื้นที่ที่อาศัยอยู่) สีแดง (มีการเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงและยังไม่ได้กักตัว) โดยสถานที่ทุกแห่งจะมีการขอตรวจ Health Code ให้เฉพาะคนที่มี Health Code สีเขียวเท่านั้นจึงเข้าไปได้ ซึ่งตรงนี้ คุณมาณพให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า QR Code เป็นฟังก์ชั่นที่มีอยู่ในแอปต่างๆ อยู่แล้ว เป็นความโชคดีที่จีนได้พัฒนาเทคโนโลยีและ Big Data ก้าวหน้ามากมาก่อนแล้ว และในช่วงโควิด-19 จีนก็ได้ปรับฟังก์ชั่นเหล่านี้มาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันในมิติและแง่มุมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก

อะไรคือธุรกิจดาวรุ่งในยุคโควิด

จากประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในธุรกิจจีน คุณมาณพมองว่าธุรกิจที่จะมาแรงคือธุรกิจที่อยู่บนแพล็ตฟอร์มออนไลน์ เช่นธุรกิจสังคมออนไลน์ มีตัวเลขการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างมาก และจากแต่ก่อนที่มียักษ์ใหญ่ในวงการ 2 รายแข่งขันกัน ได้แก่ Tencent ในอันดับ 1 และ Alibaba อยู่ในอันดับ 2 ปัจจุบันมีค่าย ByteDance เจ้าของแอป Tiktok กำลังมาแรง ตัวเลขผู้ใช้และชั่วโมงการใช้ออนไลน์กระโดดแซง Alibaba มาอยู่อันดับ 2 ไล่หลัง Tencent มาติดๆ โดยภาพรวมแล้วมีการใช้งานธุรกิจสังคมออนไลน์เพิ่มขึ้นมาก รวมไปถึงธุรกิจ e-commerce ที่ก่อนจะเกิดโควิด-19 มีสัดส่วนประมาณประมาณ 20% ของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด ในช่วงโควิดนี้ คาดว่าขยายตัวมากกว่า 20% และในระยะยาวจะขยายตัวไปถึง 50% อย่างแน่นอน


ในส่วนธุรกิจการศึกษาออนไลน์ และติวเตอร์ออนไลน์ เช่นแอปพลิเคชั่นการเรียนการสอนออนไลน์ ก็มีใช้กันอย่างแพร่หลายมาก่อนหน้านี้แล้ว แล้วมาในช่วงโควิด แอปเรียนออนไลน์ต่างๆ เหล่านี้ก็มีการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โปรแกรมประชุมออนไลน์ อย่าง Zoom ก็มีการใช้งานแพร่หลายในประเทศจีนและเป็นหนึ่งในแอปที่ไม่ใช่ของจีนโดยตรงเพียงไม่กี่ตัวที่ได้รับอนุญาตให้ใช้งานในจีนได้

คุณมาณพกล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจออนไลน์ต่างๆ มีมาก่อนอยู่แล้ว แต่ตัวโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้มีการใช้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถ้ามองไปข้างหน้าแล้วจะเห็นว่าธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องเป็นห่วงโซ่ซัพพลายเชนกับธุรกิจออนไลน์จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และน่าสนใจมาก เช่น การทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง รวมไปถึงธุรกิจ Influencer หรือเน็ตไอดอล ทำ Livesteam ขายสินค้าเป็นต้น


คุณธนมนมีมุมมองเช่นเดียวกันว่า ธุรกิจออนไลน์เหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้อยู่ในความสนใจจนกระทั่งในวิกฤตโควิด-19 ที่ผู้คนต้องอยู่บ้านก็มีเวลามาใช้ใช้แอปออนไลน์ต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไม่เคยใช้ Tiktok มีเวลาก็ลองมาใช้ เรียกว่าวิกฤตทำให้เรามองเห็นสิ่งที่มีอยู่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะเป็นตัวเร่งให้มีการปรับตัว เช่นในกลุ่มผู้สูงอายุที่เคยใช้แต่เงินสดก็เพื่อความอยู่รอดในภาวะวิกฤตก็ต้องปรับตัวมาใช้จ่ายเงินทางแอปเป็นต้น


เหตุการณ์โควิด-19 ระบาดในประเทศจีนเป็นทั้งวิกฤตและโอกาส มาดูกันต่อว่ามีสิ่งสำคัญอะไรที่เราควรเรียนรู้จากจีน หลังจากผ่านมาตรการล็อกดาวน์ใน “เรียนรู้บทเรียนจากจีนในวิกฤตโควิด-19 ตอนที่ 2 : ชีวิตคนจีนหลังเปิดเมือง” -ที่นี่-

                            

ที่มา : SCBTV ชีวิตคนจีนหลังเปิดเมือง บทเรียนจากประเทศจีน รายงานสดตรงจาก SCB Shanghai ทาง Facebook SCB Thailand วันที่ 5 พฤษภาคม 2563