พัฒนาคุณภาพดินเพื่อเลี้ยงชีวิตหมื่นล้านคนบนโลกใบนี้

ในโลกที่จำนวนประชากรยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะทะลุหมื่นล้านคนในเวลาอีก 30 ปีข้างหน้า แต่รู้หรือไม่ว่าปัจจุบันโลกสร้างผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเป็นอาหารสำหรับ 80% ของประชากรโลกทั้งหมด ด้วยดินที่มีคุณภาพเพียงแค่ 11% นั่นหมายความว่าถ้าดินที่มีคุณภาพดีในการเพาะปลูกไม่เพิ่มจำนวนขึ้น ประชากรโลกในอนาคตจะต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนอาหารอย่างเลี่ยงไม่ได้ นักวิจัยชาวญี่ปุ่น Kazumichi Fujii ผู้อุทิศตัวเองในการศึกษาเรื่องวิจัยดินอย่างจริงจัง โดยหวังว่าจะสามารถพัฒนาคุณภาพดินที่เหลืออีก 89% ให้สามารถเป็นดินที่มีคุณภาพในการเพาะปลูก เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารของประชากรโลกในอนาคต เราจะมาตามติดผลการศึกษาของเขาที่มีเป้าหมายที่จะสร้างดิน สร้างอาหารให้เพียงพอกับมนุษยชาติต่อไป

Kazumichi Fujii ทำการศึกษาดินจากทั่วโลก ตั้งแต่แอฟริกาไปจนตอนเหนือของแคนนาดา เขาเป็นนักวิจัยเรื่องดินหนึ่งในเพียงไม่กี่คนในโลกที่ทำการศึกษาแบบลงพื้นที่อย่างจริงจัง โดยเป้าหมายของเขาคือการป้องกันการขาดแคลนอาหารของโลก เนื่องจากดินที่มีคุณภาพสามารถทำการเพาะปลูกได้มีน้อย และการจะป้องกันปัญหาอาหารขาดแคลนได้มีวิธีการเดียวคือการเพิ่มคุณภาพของดิน โดยทำการศึกษาว่าทำไมดินบางประเภทถึงทำการเพาะปลูกไม่ได้ เขากล่าวว่าถ้าเราสามารถทำให้ดิน 89% ที่ปัจจุบันไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ให้กลับมาทำการเพาะปลูกได้เราจะป้องกันปัญหาการอดอยาก ขาดแคลนอาหารในอนาคตได้ เขาทำการศึกษาเรื่องดินมานาน 10 ปีตั้งแต่จบจากมหาวิทยาลัย ถึงแม้จะเป็นงานที่ไม่ได้ค่าตอบแทนที่สูงหรือทำให้ร่ำรวย รวมทั้งเป็นการทำงานที่ค่อนข้างโดดเดี่ยว แต่นั่นไม่ได้ทำให้เป้าหมายของเขาเปลี่ยนไป


จากการศึกษาพบว่าดินทั่วโลกมีทั้งหมด 12 ชนิด เช่น พบว่าดินที่ยูเครนและทวีปอเมริกาเหนือมีความสมบูรณ์เหมาะกับการเพาะปลูก ในขณะที่ดินที่อลาสก้าและไซบีเรียไม่มีคุณสมบัติในการเพาะปลูก ดินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นดินสีเหลือง ในขณะที่ดินในญี่ปุ่นเป็นสีดำเพราะได้รับเถ้าจากภูเขาไฟและมีน้ำหนักเบา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าดินที่มีอยู่ทั่วโลกมีความแตกต่างกัน ดินที่แตกต่างกันเกิดจากการที่แต่ละภูมิภาคนั้นถือกำเนิดขึ้นมาอย่างไร รวมทั้งสภาพภูมิอากาศที่ต่างกัน โดยการแบ่งประเภทดินแบ่งตามคุณสมบัติ เช่น สี ผิวสัมผัส ปริมาณดินโคลน ปริมาณน้ำ และแร่ธาตุต่างๆที่เป็นองค์ประกอบ

ดินที่สามารถเพาะปลูกได้จะมีคุณลักษณะที่เหมือนกัน คือปริมาณดินโคลน ส่วนประกอบของหินและทรายที่เหมาะสม และมี Humus ซึ่งคือองค์ประกอบอื่นๆ ที่อยู่ในดิน เช่น ใบไม้ที่แห้งทับถม ใบไม้ที่เปื่อยย่อยสลายและมูลของสัตว์ ซึ่งยิ่งดินมีปริมาณของ Humus เหล่านี้มากเท่าไหร่ยิ่งเป็นดินคุณภาพดีเหมาะกับการเพาะปลูกมากเท่านั้น พบว่าดินดำที่พบในยูเครนและอเมริกาเหนือเป็นประเภทที่เหมาะกับการเพาะปลูกมากที่สุด เรียกว่า Chernozem หรือเรียกว่าดินจักรพรรดิ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับดินญี่ปุ่นที่มีสีดำกว่าแต่มีความสมบูรณ์สู้ดินในยูเครนและอเมริกาเหนือไม่ได้ ซึ่งดินในยูเครนหรืออเมริกาเหนือ จะมีความชื้นที่พอดีและแร่ธาตุที่เหมาะสม แต่ว่าปัจจุบันดินประเภทนี้ค่อยๆ หายไปเพราะดินแดนเหล่านี้เป็นภูมิภาคที่แห้งและน้ำที่ใช้ในการเกษตรถูกปั๊มมาใช้จากใต้ดินซึ่งมีเกลือผสมอยู่มาก ถ้าน้ำไม่ถูกระบายอย่างเหมาะสมจะเกิดเกลือสะสมบริเวณผิวดินทำให้ดินเค็มและดินนั้นจะไม่สามารถเพาะปลูกได้อีก และนอกจากนั้นการทำการเพาะปลูกถี่เกินไปจะทำให้เกิด Wind erosion คือลมที่พัดเอาหน้าดินดีออกไป ซึ่งก็ทำให้ดินไม่สามารถทำการเพาะปลูกอีกได้เช่นกัน นั่นแปลว่าถึงเดิมจะเป็นดินที่ดีเหมาะกับการเพาะปลูกแต่ก็ใช่ว่าจะคงสภาพเช่นนั้นตลอดไป ถ้าใช้ดินไม่ถูกวิธี  วิธีการแก้ปัญหาคือเรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้นและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านั้นขึ้นอีก ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นคือการให้ข้อมูลความรู้กับเกษตรกร เพราะไม่ว่าเดิมดินจะดีแค่ไหนถ้าใช้ดินอย่างไม่เหมาะสมดินก็แปรสภาพได้ คุณ Kazumichi เดินทางไปทำการสำรวจที่อเมริกาเหนือและพบว่าดินคุณภาพดีหายไปกว่า 33% ในเวลาเพียง 40 ปี แต่ในขณะที่ต้องใช้เวลาเป็นพันๆ ปีกว่าที่ธรรมชาติจะสร้างดินดีๆ แบบนี้กลับมาแค่ความหนาไม่กี่เซนติเมตร

ในขณะที่ดินที่ดีลดปริมาณลงแต่ตรงข้ามกับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา The United Nation คาดการณ์ว่าจะมีประชากรโลกถึง หมื่นล้านคน ในปี 2050 ซึ่งถ้าจำนวนประชากรโลกเป็นไปตามที่คาดการณ์จริงจะเกิดปัญหาการขาดแคลนอาหารหรือ Food crisis  คุณ Kazumichi จึงศึกษาเพื่อหาวิธีในการใช้ดินดีให้เกิดประโยชน์มากขึ้น  เราเลี้ยงประชากรโลก 6 พันล้านคน ด้วยดินที่ดีเพียง 11% ของดินทั่วโลก ถ้าเราพัฒนาดินอีก 89% ให้เพาะปลูกได้เราจะแก้ปัญหาความอดอยากได้  กว่าก้อนหินก้อนหนึ่งจะสามารถเปลี่ยนเป็นดินได้ต้องใช้เวลานับพันๆ ปี ซึ่งเราคงรอธรรมชาติสร้างอย่างเดียวไม่ได้แน่นอน  และเขามองว่าการศึกษาเพียงอย่างเดียวไม่เกิดประโยชน์อะไรแต่ต้องนำไปสู่การปฏิบัติจริงด้วย

การค้นพบครั้งใหญ่ของเขาเกิดขึ้นที่อินโดนีเซีย เขาเดินทางไปที่เกาะบอร์เนียวโดยไปทำการศึกษากับนักวิจัยในพื้นที่ ดินในบอร์เนียวเป็นดินแบบป่าฝนที่หนักมีความชื้นสูง ซึ่งประสิทธิภาพในการทำการเกษตรไม่ดีนัก ซึ่งเดิมคุณ Kazumichi คิดว่าดินในเขตป่าฝนน่าจะเป็นดินที่ดี แต่จากการตัดไม้ทำลายป่าทำให้ดินที่ดีเหลือความหนาเพียง 3 เซนติเมตร ถ้าทำการเพาะปลูกเพียง 2-3 ปี ดินดีเหล่านั้นจะหมดไป พวกเขาต้องทำการเกษตรบนดินสีเหลืองและสีแดงซึ่งไม่มีพืชชนิดไหนจะโตได้ ดังนั้นพวกเขาจึงต้องลุกล้ำพื้นที่ป่าและทำลายป่าไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการเกษตรและมันก็ขยายวงออกไปเรื่อยๆ ซึ่งนั่นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เขาทำการศึกษากับนักวิจัยท้องถิ่นเพื่อปรับปรุงคุณภาพของดินโดยที่ไม่ต้องทำลายป่าไม้ โดยการศึกษาพันธุ์ไม้พื้นเมืองต่างๆ ที่เติบโตบริเวณนั้น เขาพบว่าหญ้าชนิดหนึ่งที่ขึ้นปกคลุมดิน (Cogon Grass) มีโพแทสเซียมสูง ถ้าเผาหญ้าเหล่านั้นเถ้าจากการเผาจะเพิ่มโพแทสเซียมให้ดิน และพบพืชอีกชนิดคือ Legume ที่มีไนโตรเจนสูง และใบไม้ชนิดหนึ่งคือ Macaranga มีฟอสฟอรัสสูง นั่นแปลว่ามีแหล่งแร่ธาตุอาหารของดินอยู่ถึงสามชนิด คือ โพแทสเซียม ไนโตรเจนและฟอสฟอรัส และรากของพืชสามารถสร้างคาร์บอน ซึ่งทั้งหมดจะช่วยสร้างดินดำและองค์ประกอบอื่นๆ ที่จำเป็นในการเพาะปลูก จึงเริ่มพัฒนาการเพิ่ม Humus (เศษใบไม้ทับถมเน่าเปื่อย มูลสัตว์) และแร่ธาตุอาหารเข้าไปในดิน ซึ่งการใช้ใบไม้ต่างๆที่ร่วงแล้ว รวมทั้งหญ้าที่ปกคลุมดิน ทำให้การพัฒนาดินมีราคาไม่แพง ไม่ต้องซื้อสารเคมีซึ่งมีราคาแพงกว่าและไม่เป็นผลดีต่อดินในระยะยาว


คุณ Kazumichi กล่าวว่าเราต้องช่วยให้เขาทำการเพาะปลูกได้ 100 ปี ไม่ใช่แค่สามปี ถ้าดินที่ไม่ดีสามารถพัฒนาทำให้ใช้เพาะปลูกได้นานๆ ก็จะทำให้คนในพื้นที่อื่นๆ มีความหวังในการพัฒนาดินในภูมิภาคของตัวเอง หลังจากมีชื่อเสียงในการเป็นผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาดิน เขาได้ร่วมโครงการพัฒนาดินกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก  ความช่างสังเกตและช่างสงสัยทำให้การทำงานของเขาเดินหน้าต่อไป ถึงแม้วันนี้อาจยังไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาดินอีก 89% ที่เหลือ แต่อย่างน้อยความมุ่งมั่นทำงานเพื่อพัฒนาสิ่งที่ดีกว่าเพื่อโลกใบนี้ ก็อาจจุดประกายให้คนอีกหลายพันล้านคน ลุกขึ้นมาร่วมมือกันเพื่อพัฒนาโลกใบนี้ให้น่าอยู่ขึ้น


จะทำอย่างไรให้เราใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดและทำให้ดินมีคุณภาพสูงสุด ในทุกวันคุณ Kazumichi ยังคงทำการศึกษาอย่างมุ่งมั่นต่อไปเพื่อทำให้ประชากรหมื่นล้านคนอยู่อย่างมีความสุข ไม่อดอยากในอนาคต ในวันหยุดที่ไม่ได้ทำการวิจัยเขาจะบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องดิน “ ยิ่งมีคนให้ความสนใจกับเรื่องการวิจัยดินและพัฒนาดินมากเท่าไหร่ นั่นทำให้ผมมีกำลังใจที่จะทำงานต่อไป” คุณ Kazumichi กล่าว


อ้างอิง

https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/en/ondemand/video/2015241/