ซื้อ RMF ให้ลูก แต่ลดหย่อนภาษีให้พ่อแม่ --- แบบนี้ก็ได้ด้วยเหรอ?!

เรื่อง: พรี่หนอม TAXBugnoms


Hi-Light:

  • ถ้าเรามองวัตถุประสงค์การเงินเป็นหลัก เราจะสามารถหยิบจับเครื่องมือทางการเงินบางอย่างมาใช้ได้อย่างถูกต้อง นอกจากนั้น ข้อจำกัดทางกฎหมายและเงื่อนไขต่างๆ ของ RMF (ทั้งการซื้อในทุกๆ ปี การถือครองที่ไม่สามารถขายก่อนที่จะครบกำหนดตามกฎหมาย) จะเป็นตัวช่วยมาบังคับให้ตัวเราเองต้องพยายามบริหารจัดการเงินให้ได้ตามที่ตั้งใจไว้ แถมยังได้สิทธิลดหย่อนภาษีอีกต่อหนึ่งมาเป็นของแถม
  • สิ่งแรกที่คุณต้องถามตัวเองจริงๆ ในการลงทุนคือ เป้าหมายนั้นคืออะไร คำถามต่อมาคือ คุณมั่นใจที่จะทำตามเป้าหมายนั้นได้หรือเปล่า และคำถามสุดท้ายคือ คุณจะใช้เครื่องมืออะไรในการจัดการให้มันเป็นไปตามเป้าหมายนั้น

ปี 2562 นี้ LTF ซื้อได้ปีสุดท้ายแล้ว เราควรซื้อ RMF แทนดีไหม? มิตรสหายหลายคนของผมชอบถามอะไรแบบนี้มาเรื่อยๆ ทั้งทางกล่องข้อความแฟนเพจ TAXBugnoms ไปจนถึงคำถามตามงานสัมมนาเวลาที่มีโอกาสไปบรรยายในที่ต่างๆ

“เวลาตัดสินใจซื้ออะไรพวกนี้ ผมถามตรงๆ นะครับ ซื้อเพราะลดหย่อนภาษีหรือเปล่า” ถ้ามีเวลาคุยกันสักหน่อย ผมมักจะถามคำถามนี้กลับไป และมักจะได้คำตอบว่า “ใช่” เสมอ (บางทีในใจเค้าอาจจะคิดว่า ไม่ให้ซื้อเพื่อลดหย่อนภาษี แล้วจะให้ซื้อกองทุนพวกนี้ให้พ่อหรือไง?)

“โอ๊ย ถ้างั้นซื้ออะไรก็เหมือนกันครับ เพราะมันลดหย่อนภาษีได้เท่ากันหมดนั่นแหละ”

คำตอบนี้ของผมหมายความว่า จริงๆ แล้วการซื้ออะไรพวกนี้ จ่ายเงินไปเท่าไรก็ได้สิทธิลดหย่อนภาษีเท่าเดิมอยู่ดี แต่สิ่งที่จำเป็นมันคือ เราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าเราซื้อไปเพื่ออะไร?

rmf-choice-564373267

มาถึงตรงนี้คนที่ได้รับคำตอบก็มักจะผิดหวังไปตามกัน เพราะจริงๆ ตัวผมนั้นไม่มีอะไรเลยครับ มีอยู่เพียงข้อเดียวที่ผมใช้ตัดสินใจ นั่นคือ วัตถุประสงค์หลักในการลงทุน ซึ่งผมมองว่ามันสำคัญกว่าภาษี เพราะในเมื่อทุกอย่างลดหย่อนภาษีได้เท่ากัน (ตามเงินที่เราจ่ายไป) สิ่งที่เราจำเป็นต้องมี คือ หลักความคิดพร้อมกับเทคนิคการบริหารเงินให้เป็นไปตามเป้าหมายการเงิน โดยมองสิทธิประโยชน์ภาษีพวกนี้เป็นแค่ตัวช่วยเสริมเท่านั้น


เอาจริงๆ การซื้อกองทุนพวกนี้อาจจะไม่สามารถซื้อให้พ่อได้ แต่เราสามารถซื้อให้ลูกได้นะครับ (ฮั่นแน่!) เพราะผมเองก็ใช้หลักการที่ว่านี้ ตัดสินใจซื้อ RMF เพื่อวางแผนการเงินให้ลูกเหมือนกัน


อะไรนะ? RMF มันเอาไว้ใช้เกษียณไม่ใช่เหรอ ทำไมมาซื้อให้ลูกล่ะ แล้วลูกจะลดหย่อนภาษีได้เหรอ เดี๋ยวก่อนครับ อย่าเพิ่งคิดไปไกล ผมกำลังจะบอกว่า ผมซื้อ RMF ในชื่อผมนี่แหละ เพื่อใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษี แต่เป้าหมายของการใช้เงินก้อนนี้คือ ให้ลูกเอาไว้ใช้วันที่เขาโตเป็นผู้ใหญ่โดยสมบูรณ์


ตอนนี้ลูกผมอายุ 2 ขวบกว่าแล้วครับ ในวันที่ RMF ก้อนนี้สามารถขายได้ทั้งหมด เขาจะมีอายุประมาณ 21 ปี ซึ่งก็เป็นเวลาที่ดีที่เขาจะได้เงินก้อนหนึ่งไปตั้งตัวเพื่อใช้ชีวิตอย่างที่เขาต้องการ (เอาจริงๆ คือ ลูกจะได้ไม่มายุ่งกับเงินของผม ในตอนนั้นผมจะตีหน้าเศร้าบอกว่า นี่คือเงินที่พ่อเก็บมาทั้งชีวิตให้ลูกนะ ฮ่าๆ)


จะเห็นว่า ถ้าเรามองวัตถุประสงค์การเงินเป็นหลัก เราจะสามารถหยิบจับเครื่องมือทางการเงินบางอย่างมาใช้ได้อย่างถูกต้อง นอกจากนั้น ผมยังมองว่า ข้อจำกัดทางกฎหมายและเงื่อนไขต่างๆ ของ RMF (ทั้งการซื้อในทุกๆ ปี การถือครองที่ไม่สามารถขายก่อนที่จะครบกำหนดตามกฎหมาย) จะเป็นตัวช่วยมาบังคับให้ตัวผมเองต้องพยายามบริหารจัดการเงินให้ได้ตามที่ตั้งใจไว้ แถมยังได้สิทธิลดหย่อนภาษีอีกต่อหนึ่งมาเป็นของแถม

ผมลองคำนวณคร่าวๆ ไว้ ในอีก 20 ปีข้างหน้าลูกผมจะได้รับเงินประมาณ 3 ล้านบาท (ซึ่งก็น่าจะพอที่จะช่วยให้ชีวิตเขาง่ายขึ้น) ถ้าหากทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ส่วนผมก็สามารถใช้สิทธิประโยชน์ส่วนนี้ในการลดหย่อนภาษีไปได้เรื่อย ๆ เช่นกัน


หลายคนคงคิดขึ้นมาต่อ อ้าว… แล้วพรี่หนอมแกเก็บเงินเกษียณด้วยอะไร? ใช่ไหมครับ (ถ้าหากคุณไม่คิดเรื่องนี้ ผมมองว่าคุณมีนิสัยที่ไม่อยากรู้เรื่องชาวบ้าน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีครับ แต่ถ้าหากคุณคิดอย่างที่ผมทักขึ้นมา ก็แปลว่า คุณมีความเป็นห่วงเป็นใยคนอื่น ซึ่งก็เป็นคุณสมบัติที่ดีอีกด้านหนึ่งเช่นเดียวกันครับ อิอิ)


ผมก็บอกตรงๆ อีกทีว่า ผมใช้ LTF ในการวางแผนเกษียณครับ ไอ้ LTF ที่กำลังจะหมดอายุในปี 2562 นี่แหละ ผมยังใช้มันวางแผนเกษียณต่อไป ซึ่งถ้า LTF หมดอายุไปจริงๆตามกฎหมาย สิ่งที่ผมจะวางแผนต่อก็คือ ผมจะลงทุนในกองทุน RMF หรือลงทุนในกองทุนหุ้นที่มีลักษณะเหมือนกับ LTF เพื่อสะสมต่อไป ถึงแม้ว่าจะไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเต็มที่ แต่เป้าหมายชีวิตของผมยังคงดำเนินต่อไปได้อยู่ครับ


ถ้าเราเอาเรื่องภาษีออกจากสมองไปบ้าง เราจะเห็นอะไรได้กว้างขึ้น อย่างน้อยก็เรื่องของการวางแผนและจัดการการเงินของตัวเองครับว่าจริงๆ แล้ว ต่อให้ประหยัดภาษีได้หรือไม่ ผมก็ไม่สนใจมากนัก ถ้าหากเป้าหมายการเงินของของผมนั้นยังเดินต่อไปได้อยู่ครับ


สิ่งที่ผมอยากจะฝากไว้เมื่อพูดถึงเรื่องของอนาคตการเงินกับการวางแผนภาษี สิ่งแรกที่คุณต้องถามตัวเองจริงๆคือ เป้าหมายนั้นคืออะไร คำถามต่อมาคือ คุณมั่นใจที่จะทำตามเป้าหมายนั้นได้หรือเปล่า และคำถามสุดท้ายคือ คุณจะใช้เครื่องมืออะไรในการจัดการให้มันเป็นไปตามเป้าหมายนั้น


ผมเคยเขียนเล่าไว้ว่า การทำแบบนี้ถือเป็นความสุขระหว่างทางในการทำตามเป้าหมายของผม เพราะถ้าเป้าหมายชัด และความพยายามของเรานั้นมันหนักหนาพอ เราจะไม่ย่อท้อที่จะทำมันต่อไป


ดังนั้น การตัดสินใจซื้อ RMF ให้ลูกของผมนั้นจึงกลายเป็นการสร้างวินัยในการทำเป้าหมายของผม พร้อมกับได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากเรื่องของภาษี ซึ่งเรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องผิดแต่ประการใด


และมันยังสร้างความสุขใจจนสามารถเอามาเขียนเรื่องเล่าให้คนอื่นอ่านได้อีกด้วยครับ