เคล็ดลับสอนลูกให้เป็นเศรษฐี

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกคน ย่อมมีความมุ่งหมายอยากให้ลูกน้อยเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิต จึงตั้งใจที่จะเลี้ยงดูลูก และอบรมสั่งสอนลูกของตนอย่างดีที่สุด  และหนึ่งในเรื่องที่ควรสอนลูกตั้งแต่เด็กเลย คือ ความรู้เรื่องการวางแผนการเงิน  เพื่อฝึกให้ลูกของเรามีนิสัยเศรษฐีตั้งแต่เด็ก เรื่องที่ควรสอน มีดังนี้

 

1. ฝึกให้ลูกได้ลองบริหารการใช้เงินด้วยตนเอง

เมื่อลูกของคุณอยู่ในช่วงอายุที่เข้าเรียนชั้นประถมศึกษา คุณอาจเริ่มต้นโดยให้เงินลูกจำนวนหนึ่ง เพื่อให้เขาได้ฝึกบริหารการใช้จ่ายในโรงเรียน เช่น ถ้าให้เงินลูกไปโรงเรียนวันละ 20 บาท ก็ลองปล่อยให้ลูกได้ลองบริหารการใช้เงินของตัวเอง แล้วลองดูว่าเขาใช้ไปกับเรื่องอะไรบ้าง หลังเลิกเรียน คุณพ่อคุณแม่อาจจะชวนคุยและสอบถามการใช้เงินของลูก พร้อมทั้งสอดแทรกคำสอนหรือคำแนะนำต่างๆ ไปด้วย พยายามทำให้เรื่องการบริหารเงินเป็นเรื่องง่ายและสนุก โดยการให้เงินลูกนั้น ตอนเริ่มต้นอาจเป็นแบบรายวัน จากนั้นค่อยๆ ปรับเป็นรายสัปดาห์ และค่อยๆ ปรับมาเป็นรายเดือน วิธีการนี้จะช่วยฝึกให้ลูกรู้จักการบริหารเงิน และสร้างวินัยในการใช้เงินได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญคุณพ่อคุณแม่อย่าลืมปรับค่าขนมให้เหมาะสมกับแต่ละวัยด้วย

2. ทำให้ลูกสนุกและรู้สึกดีกับการออมเงิน

เมื่อลองให้ลูกบริหารค่าใช้จ่ายดูแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจจะแนะนำลูกว่า ถ้าเราได้เงินมา 20 บาท เราควรแบ่งเงินกี่บาทเพื่อเอามาออมก่อน แล้วเหลือกี่บาทเพื่อใช้จ่าย เพื่อฝึกลูกให้มีนิสัยของการ ‘ออมก่อนใช้’ นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกออมเงินเพื่อเป้าหมายต่างๆ ด้วย เพื่อเป็นการฝึกนิสัยให้ลูกรักการออม เช่น เมื่อลูกต้องการซื้อของเล่นราคา 500 บาท คุณพ่อคุณแม่ต้องสอนให้ลูกรู้จักออมเงินเพื่อเป้าหมายนั้นๆ โดยให้ลูกออมเงินจากค่าขนมอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ เก็บสะสมจนสามารถซื้อของเล่นที่ต้องการได้ และคุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีให้รางวัลด้วยการสมทบเงินออมให้ลูก หากลูกสามารถออมเงินได้ตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกดีกับการออมเงิน และมีความพยายามที่จะออมเงินเพื่อเป้าหมายที่ตัวเองต้องการมากขึ้น นอกจากนี้ หากลูกได้เงินพิเศษมา เช่น ได้อั่งเปาเนื่องในเทศกาลตรุษจีน ก็ควรสอนให้ลูกแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาออมไว้ก่อน เป็นต้น

3.  สอนลูกให้รู้จักคุณค่าของเงินและการทำงาน

การสอนให้ลูกรู้จักคุณค่าของเงินตั้งแต่เล็กๆ นั้น ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะเด็กจะรู้จักใช้เงินตั้งแต่เริ่มนับเงินได้      เคล็บลับง่ายๆ ในการสอนให้ลูกรู้จักคุณค่าของเงิน ก็โดยการมอบงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ให้ลูกได้รับผิดชอบ และเมื่อลูกทำงานสำเร็จหรือ ดูแลหน้าที่นั้นๆ ได้เป็นอย่างดี คุณพ่อคุณแม่จึงให้เงินค่าตอบแทน หรือนอกจากงานบ้าน คุณพ่อคุณแม่อาจเปิดโอกาสให้ลูกได้มาช่วยงานของตัวเอง (เท่าที่จะช่วยได้ตามความเหมาะสม) เช่น หากคุณพ่อคุณแม่เปิดร้านขายของ ก็ควรจะฝึกให้ลูกได้มาช่วยขายของ และมีเงินค่าตอบแทนให้ เพื่อเป็นการจำลองสถานการณ์การทำงานจริงในอนาคต และทำให้รู้จักคุณค่าของเงินที่ได้รับ และคุณค่าของงานที่ทำด้วย
 

4.   สอนลูกให้รู้จักการทำให้เงินงอกเงย

เมื่อลูกสามารถออมเงินได้ถึงระดับหนึ่ง (โดยมากเด็กจะออมเงินผ่านการหยอดกระปุกออมสิน) คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปเปิดบัญชีธนาคาร แล้วสอนเขาว่าทำไมเราจึงต้องนำเงินมาฝากไว้ที่ธนาคาร (เพื่อรับดอกเบี้ย) แม้ว่าดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบันนี้จะไม่ได้มากมายอะไร แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่คุณพ่อคุณแม่จะสอนเรื่องการลงทุนให้กับลูกได้ โดยคุณพ่อคุณแม่อาจจะเริ่มจากสอนลูกให้ลูกรู้จักความแตกต่างระหว่างการออมและการลงทุนก่อน อธิบายให้ลูกฟังว่าทำไมเราต้องลงทุน นอกจากนี้เพื่อให้การลงทุนเป็นเรื่องง่าย อาจสอนลูกผ่านการเล่นบอร์ดเกม เช่น เกมเศรษฐี เกมกระแสเงินสด เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันก็มีบอร์ดเกมสอนการวางแผนการเงิน และการลงทุนอยู่มากมาย ซึ่งนอกจากจะได้ความรู้แล้วยังได้ความสนุกสนาน  และเป็นการใช้เวลาร่วมกันที่ดีของสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย

 

5.   สอนลูกให้รู้จักการให้

เป็นการสอนให้ลูกรู้จักการให้ การแบ่งปัน และการบริจาคช่วยเหลือสิ่งต่างๆ ให้กับผู้ด้อยโอกาส ซึ่งจะทำให้ลูกรู้จักและเข้าใจคุณค่าของเงินอย่างแท้จริง
 

ในการสอนลูกให้รู้จักการบริหารเงิน นอกจากเคล็ดลับทั้ง 5 ข้อที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น สิ่งที่สำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ควรทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่างด้วย เพราะเด็กจะซึมซับจากสิ่งที่เห็นมากกว่าเฉพาะแค่คำสั่งสอน นั่นก็แปลว่าอยากให้ลูกมีนิสัยทางการเงินอย่างไร คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องมีนิสัยการเงินอย่างนั้นเช่นกัน ที่สำคัญที่สุด คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรละเลยที่จะสอนให้ลูกรู้จักเรื่องของการใช้เงิน การบริหารเงิน และความรู้ทางการเงินต่างๆ ตั้งแต่ที่ลูกอายุยังน้อย เพราะถ้ายิ่งปล่อยให้โต เด็กจะยิ่งเรียนรู้ได้ยากขึ้น แล้วอาจจะกลายเป็นคนที่ใช้เงินฟุ่มเฟือยก็เป็นได้ ดังนั้นคำสอนต่างๆ ประกอบกับการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง จะช่วยหล่อหลอมให้ลูกรู้ค่าเงิน และรักการบริหารเงินได้อย่างแน่นอน


บทความโดย: นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร