‘3 อด’ สำคัญของจุดเริ่มต้น การลงทุน ที่นักลงทุนควรมี

ถ้าพูดถึง การลงทุน นักลงทุนหลายคนอาจมีประสบการณ์การกระจายการลงทุนไปในหลากหลายสินทรัพย์กันไปบ้างแล้ว บางคนอาจประสบความสำเร็จจากการลงทุน บางคนอาจบาดเจ็บจากการลงทุนเช่นกัน แต่จะมีใครที่รู้บ้างว่าหัวใจสำคัญของการลงทุนคืออะไร วันนี้เรามาดูกัน


คำว่า ‘การลงทุน’ นั้นหมายถึง การนำเงินที่เก็บสะสมไว้ไปสร้างผลตอบแทนให้งอกเงยต่อเนื่องระยะยาว เช่น การลงทุนในพันธบัตร หุ้นกู้ หุ้น ตราสารหนี้ หรือกองทุนรวม เป็นต้น สำหรับการลงทุนที่ดีนั้นนักลงทุนควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ ระยะเวลาการลงทุน ผลตอบแทน และความเสี่ยงที่รับได้ของตนเอง โดยเฉพาะในเรื่องของความเสี่ยงนี้ นักลงทุนควรให้ความสำคัญที่สุด เนื่องจากผลิตภัณฑ์การลงทุนต่างๆ นั้นมีความเสี่ยงมากน้อยตามประเภทและลักษณะของหลักทรัพย์ที่ลงทุน ซึ่งถ้าละเลยข้อนี้ไปอาจทำให้นักลงทุนพลาดท่าได้ เช่น การลงทุนในหุ้น หากมีระยะเวลาลงทุนไม่ยาวพอ เมื่อหุ้นตัวที่ลงทุนมีมูลค่าลดลงในช่วงสั้น ก็อาจจะเริ่มมีความตื่นตระหนก และรีบขายหุ้นเพราะกลัวจะมีมูลค่าลดลงไปมากกว่านี้ ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เสียโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากการเติบโตของบริษัทในระยะยาวได้เช่นกัน


การลงทุนที่ดีนั้นควรกำหนดเงินลงทุนให้เหมาะสม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการลงทุน นักลงทุนควรเผื่อเงินให้เหลือสำหรับใช้จ่ายไว้ด้วย ไม่ควรนำเงินมาลงทุนมากเกินกว่าความเสี่ยงที่รับได้ เพราะอาจทำให้ขาดสภาพคล่องได้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการกู้ยืมโดยไม่จำเป็น แต่ถ้าจัดสรรเงินลงทุนน้อยเกินไปก็อาจทำให้เสียโอกาสในการสร้างผลตอบแทนตามควรที่จะได้รับ ดังนั้น การจัดสรรเงินลงทุนนั้นควรเป็นเงินส่วนที่เกินจากการออมและเป็นเงินสำรอง ซึ่งควรเผื่อเงินฉุกเฉินที่เหลือจากเป้าหมายในการออมเงิน และเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายประมาณ 3-6 เดือน ถึงจะนำเงินที่เหลือจากการออมนี้ไปใช้ลงทุนได้ เพราะการลงทุนในหลายประเภทสินทรัพย์ย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดความผันผวน และอาจทำให้สูญเสียเงินลงทุนได้เช่นกัน

investment-starting-point-investors-should-have-01

นอกจากการจัดสรรเงินลงทุนแล้ว การติดตามข่าวสารเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนก็เป็นสิ่งที่นักลงทุนไม่ควรมองข้ามเช่นกัน เพราะการศึกษาข้อมูลต่างๆ หรือสภาวะตลาด ก็จะช่วยให้เราเลือกลงทุนได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในกรณีที่ไม่มีเวลาติดตามข่าวสารด้วยตนเอง นักลงทุนก็สามารถลงทุนผ่านกองทุนรวม หรือลงทุนผ่านที่ปรึกษาการเงินส่วนบุคคล ที่มีมืออาชีพคอยเป็นผู้ดูแลพอร์ตการลงทุนแทนเราได้ หรือนักลงทุนจะเลือกลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Averaging หรือ DCA) เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีสม่ำเสมอได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งสามารถลงทุนผ่านแอปพลิเคชันที่หลายค่ายนำเสนอออกมาเพื่อสร้างความสะดวกให้กับนักลงทุนยิ่งขึ้น


สำหรับประเภทของนักลงทุน หลักๆ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. นักลงทุนประเภทรอรับผล (Passive Investor) เป็นบุคคลที่หลีกเลี่ยงความเสี่ยงหรือยอมรับความเสี่ยงได้ไม่มากนัก และ 2. นักลงทุนประเภทมุ่งหวังผล (Active Investor) เป็นบุคคลที่จะคอยมองหาโอกาสในการลงทุนเสมอ กล้าที่จะเสี่ยงเพื่อรับผลตอบแทนได้มากขึ้น ซึ่งถ้าหากนักลงทุนต้องการให้เงินลงทุนงอกเงย ต้องศึกษาถึงระดับความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์และเครื่องมือการลงทุนต่างๆ ให้ดี เพราะความเสี่ยงที่รับได้จะอยู่ระดับใดนั้นจะขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นๆ ที่เป็นคนกำหนด


นอกจากระดับความเสี่ยงที่รับได้ของตนเองแล้ว ในการลงทุนแต่ละประเภทก็มีความเสี่ยงอื่นๆ ที่นักลงทุนต้องเผชิญเช่นกัน เช่น ความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ ความเสี่ยงทางตลาด ความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ย หรือความเสี่ยงด้านเครดิต


จากข้อมูลข้างต้น ขอสรุปสั้นๆ ว่า จุดเริ่มต้นการลงทุนที่ดีที่นักลงทุนควรต้องมี คือ 3 อด ซึ่งประกอบด้วย

 

·  อดออมให้มาก

นักลงทุนควรหักเงินออมออกจากรายได้ที่ได้รับต่อเดือนก่อนนำไปใช้จ่ายอย่างน้อย 10% และที่สำคัญควรสร้างวินัยในการออมอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรผลัดวันประกันพรุ่งที่จะออม

 

·  อดทนให้ได้

นักลงทุนควรอดทนต่อสิ่งเร้าที่ไม่ควร เช่น เห็นเพื่อนลงทุนในหุ้น A แล้วได้รับผลตอบแทนสูง จึงลงทุนตามโดยไม่ศึกษาเกี่ยวกับหุ้นตัวนั้นเลย ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดพลาด ทำให้เข้าลงทุนในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เช่น ในช่วงที่ราคาหุ้นปรับขึ้นมาสูงสุดแล้วก็ได้ ดังนั้น นักลงทุนไม่ควรละเลยกับการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลการลงทุน หรือผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุน

 

·  อดกลั้นให้อยู่

เมื่อเราตั้งเป้าหมายการลงทุนที่ชัดเจนแล้ว ก็ควรที่จะกำหนดระยะเวลาในการลงทุน และเมื่อลงทุนแล้วไม่ควรเปลี่ยนแปลงเป้าหมายกลางคัน เพราะจะทำให้เราเสียโอกาสในการสร้างผลตอบแทนได้

 

เพียงแค่ 3 อดนี้ ไม่ว่าเราจะลงทุนอะไรก็เป็นหนทางที่สามารถทำให้การลงทุนของเรางอกเงยได้


ข้อมูล ณ วันที่  7 กรกฎาคม 2565


บทความโดย SCB Wealth Research


ที่มา : The Standard Wealth