มีเงินแค่ไหนถึงมีความสุข และการวางแผนการเงินในวิถีพุทธ

ทุกวันนี้ คนเรามีความทุกข์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรื่องเงิน มีเงินน้อยก็ทุกข์  มีเงินมากก็ทุกข์ เพราะเราปล่อยให้เงินกลายเป็นนายของเรา บางคนหาได้น้อย ก็ยอมทุจริตเพื่อให้ได้เงินมาก บางคนหาได้มากแต่ก็ยังไม่พอ อยากมีมากกว่าเดิม และบางคนก็ต้องดิ้นรนเพื่อหาเงินเป็นรายวันเพื่อให้พอประทังชีวิต จะเห็นได้ว่าความทุกข์ของคนเรานั้น ส่วนหนึ่งล้วนมีเงินเป็นองค์ประกอบ 


สำหรับมหาเศรษฐี  เงินจำนวน 1 ล้านบาท อาจเป็นเพียงแค่เศษเงิน แต่สำหรับบางคน อาจหมายถึงเงินก้อนมหาศาล ที่สามารถใช้เลี้ยงดูตัวเองได้นานนับสิบปี เมื่อเป็นเช่นนี้ ชีวิตคนเราจะต้องมีเงินจำนวนเท่าไหร่ ถึงจะเรียกว่าเพียงพอและสามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ที่เกิดขึ้น จากสิ่งภายนอกกายที่ทุกคนเรียกว่า “เงิน”  คำว่า “รวย” จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่มีอยู่ในกระเป๋า แต่หมายถึง ความ “พอดี” และ “พอใจ” ของเราต่างหาก  

ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ทรงสอน เรื่องการวางแผนการเงิน ตามหลักโภควิภาค 4  ได้ทรงสอนให้รู้จักการแบ่งทรัพย์สินออกเป็น 4  ส่วน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตแบบไม่ขัดสน ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ดังนี้

  • 1 ส่วน (25%)  ใช้เลี้ยงดูตัวเองและดูแลบุคคลผู้ที่ควรดูแล เช่น สามี-ภรรยา บุตร-หลาน พ่อ-แม่  และเพื่อการทำประโยชน์ เช่น การทำบุญกุศล เป็นต้น

  • 2 ส่วน (50%) ใช้ลงทุนจากการนำเงินที่หามาได้ เพื่อทำให้เงินนั้นงอกเงย เช่น การลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่เรามีความเชี่ยวชาญ

  • 1 ส่วน (25%) ใช้เพื่อเป็นเงินเก็บฉุกเฉินในยามจำเป็น เช่น อาจตกงาน  ต้องเข้าโรงพยาบาล หรือเกิดอุบัติเหตุแบบไม่คาดฝัน


นอกจากนี้ การใช้เงินแบบมีเหตุมีผล ให้เหมาะสมตามฐานะของแต่ละบุคคล จึงเป็นสิ่งสำคัญ มากกว่าการหาเงินให้ได้จำนวนมากๆ   เพราะถ้าหากหาเงินได้มาก แต่ไม่รู้จักเก็บ ไม่รู้จักใช้  ไม่รู้จักทำให้งอกเงย เงินที่หามาได้นั้น ก็ไม่มีวันเพียงพอ ซึ่งในความเป็นจริง คนเราต้องการอาหารแค่วันละ 3 มื้อ ต้องการที่อยู่อาศัยเพื่อให้หลบแดดหลบฝน ต้องการเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเพื่อปกปิดเรือนร่างและให้ความอบอุ่น เพียงแค่นี้ คนเราก็สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้แล้ว 


แต่ทุกวันนี้ มีสิ่งยั่วเย้าก่อให้เกิดกิเลส คำพูด “ของมันต้องมี” คอยกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา ผ่านเครื่องมือทางการตลาดที่ปลูกฝังภายใต้จิตใต้สำนึก จนทำให้เรา ให้คุณค่ากับสิ่งของหรือวัตถุที่อยู่ภายนอก มากกว่าสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ  ที่ทำให้ต้องดิ้นรนหาทางปั๊มเงินให้ได้มาก ๆ เพื่อเป็นเครื่องมือ ตอบสนองกิเลสตันหาจนเกินความจำเป็น และกลายเป็นทาสของเงินไปในที่สุดซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเรานั้นเกิดความทุกข์  ดังนั้น ถ้าเรายึดถือปฏิบัติตามแนวคำสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมทำให้เราสามารถมีเงินเก็บ มีเงินใช้ไม่ขัดสน และมีชีวิตที่มีความสุขตามอัตภาพของตัวเอง