ยุคแห่งการเปลี่ยนหนังสือให้เหมือนดูซีรีส์

เรื่อง: แชมป์ ทีปกร วุฒิพิทยามงคล


Hi-Light:

  • Serial Box เป็นบริษัทที่ตั้งใจผลิตหนังสือด้วยวิธีคิดแบบซีรีส์โทรทัศน์ ปัจจุบันซีเรียลบ๊อกซ์มี ‘ซีรีส์’ อยู่ในมือแล้ว 15 ‘รายการ’ และกำลังผลิตเพิ่มเรื่อยๆ อย่างแข็งขัน
  • Serial Box จะปล่อยบท (เอพิโสด) ใหม่ของซีรีส์ (หนังสือ) แต่ละเล่มออกมาทุกๆ สัปดาห์ หนึ่งซีซั่นจะมีความยาว 10-16 สัปดาห์ แต่ละบทจะจบด้วยจุดหักมุม (Cliffhangers) ให้คนอยากติดตามต่อในสัปดาห์ถัดไป โดยถูกออกแบบมาให้ใช้เวลาเสพราวบทละ 40 นาที พอๆ กับเวลาที่ใช้ดูซีรีส์แต่ละตอน


ผมอ่านหนังสือไม่จบ! ใช่! ผมอ่านหนังสือไม่จบ!


มันไม่ใช่เรื่องของการไม่มีเวลา มันไม่ใช่ข้ออ้างว่ายาวไปแล้วไม่อ่าน มันคือเรื่องที่ว่า พักหลังมานี้ เสน่ห์ของหนังสือเริ่มจืดจางหายไปตามกาลเวลาที่ผันผ่าน คุณรู้ความรู้สึกนี้ใช่ไหม, แรกพบสบตา คุณเห็นมันจากเว็บไซต์อย่าง Goodread หรือ Amazon, คุณอาจพบมันด้วยวิธีดั้งเดิมที่ชั้นหนังสือบนร้านคิโนะคุนิยะหรือซีเอ็ด, เมียงมองแล้วถูกใจ มันต้องเป็นหนังสือที่ใช่อย่างแน่นอน, คุณจ่ายเงินพามันใส่ถุงอ้วนๆ กลับบ้าน - พลิกอ่าน - พลิกอ่าน จบบทแรกยังคงรัก จบบทที่สองก็ยังคงรัก แต่เมื่อสายตาเคลื่อนผ่านบทที่สามในวันถัดมา คุณก็ตัดสินใจคว้ารีโมตขึ้นมากด Netflix ดู


ทำไม? ซีรีส์มันดึงดูดฉูดฉาดมากกว่าใช่ไหม? ตัวหนังสือเก่าเก็บคงไม่เซ็กซี่เท่าดาราหน้าสวยหล่อ เพลงตื่นเต้นและเรื่องราวกระชับที่โลดแล่นบนหน้าจอใช่หรือเปล่า?


อาจใช่! นั่นเป็นคำตอบหนึ่ง เป็นคำตอบที่จูเลียน แยป อดีตทนายจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐและมอลลี บาร์ตัน อดีตนักวางกลยุทธของสำนักพิมพ์เพนกวินแรนดอมเฮ้าส์มองเห็นโอกาส


พวกเขาคิดว่า ถ้าผู้คนมองว่าซีรีส์บนโทรทัศน์อย่างเกม ออฟ โธรนส์ หรือเฮ้าส์ ออฟ การ์ด เด็ดดวงกว่าหนังสือละก็ - ทำไมเราไม่จับจุดแข็งของซีรีส์พวกนั้น และครอบมันด้วยแพ็กเกจแบบหนังสือเสียเลย?


นั่นคือจุดกำเนิดของ Serial Box, บริษัทที่ตั้งใจผลิตหนังสือด้วยวิธีคิดแบบซีรีส์โทรทัศน์ - ปัจจุบันซีเรียลบ๊อกซ์มี ‘ซีรีส์’ อยู่ในมือแล้ว 15 ‘รายการ’ และกำลังผลิตเพิ่มเรื่อยๆ อย่างแข็งขัน


เหมือนกับซีรีส์โทรทัศน์, Serial Box จะปล่อยบท (เอพิโสด) ใหม่ของซีรีส์ (หนังสือ) แต่ละเล่มออกมาทุกๆ สัปดาห์ หนึ่งซีซั่นจะมีความยาว 10-16 สัปดาห์ แต่ละบทจะจบด้วยจุดหักมุม (Cliffhangers) ให้คนอยากติดตามต่อในสัปดาห์ถัดไป โดยถูกออกแบบมาให้ใช้เวลาเสพราวบทละ 40 นาที พอๆ กับเวลาที่ใช้ดูซีรีส์แต่ละตอน

หนังสือที่อยู่ใน Serial Box ต่างเป็นเรื่องราวที่ดูเหมือนเอาพล็อตมาจากรายการโทรทัศน์แทบทั้งสิ้น เช่น ซีรีส์ BookBurners เป็นเรื่องเกี่ยวกับโลกที่เวทมนต์มีอยู่จริงและซุกซ่อนอยู่ในวัตถุและคาถาโบราณ แซล บรู๊คส์ นักสืบตัวเอกของเรื่องต้องเดินทางยังสถานที่ตื่นตาทั่วโลกเพื่อกำจัดวัตถุเวทมนต์ที่ชั่วร้ายเหล่านี้ หยุดยั้งไม่ให้มันครอบครองโลกของเรา, ซีรีส์ Remade เป็นเรื่องของเด็กวัยรุ่น 23 คนที่ตื่นขึ้นมาในโลกอนาคตที่มนุษยชาติล่มสลายไปแล้ว พวกเขาต้องค้นหาคำตอบขณะที่ต้องหลบหนีจากเครื่องจักรสังหารไปด้วย, ซีรีส์ Dead Air เล่าเรื่องของแมคเคนซี วอล์คเกอร์ ดีเจสาวของรายการวิทยุมหาวิทยาลัย ที่จับพลัดจับผลูต้องใช้รายการของตนเพื่อแก้ไขปริศนาฆาตกรรมอายุยาวนานกว่าทศวรรษ


ทั้งหมดคือพล็อตพร้อมสร้างซีรีส์ดีๆ สักเรื่อง!


ความเหมือนของหนังสือกับซีรีส์โทรทัศน์ของ Serial Box ไม่ได้หยุดอยู่ที่แค่ผลลัพธ์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงวิธีการด้วย, ใน Serial Box นักเขียนแต่ละคนจะไม่ได้ผลิตงานเขียนด้วยตนเองทั้งเล่ม แต่ในการเซตอัพซีรีส์แต่ละเรื่อง พวกเขาจะว่าจ้าง “เจ้าของรายการ” (Showrunner) ให้ทำหน้าที่ออกแบบโครงเรื่องทั้งหมด เขียนไกด์บุ๊กเพื่อบอกว่าในซีรีส์เรื่องนี้ อะไรที่ทำได้ อะไรที่ควรทำ และอะไรที่ทำไม่ได้ แล้วเขียนบทแรกเพื่อเป็นจุดเริ่มต้น หลังจากนั้นเจ้าของรายการอาจไม่จำเป็นต้องเขียนบท (เอพิโสด) ที่เหลือเอง แต่มอบหมายให้กับคนอื่นๆ เขียนแทนโดยตนทำหน้าที่ดูแลภาพรวม - คล้ายกับวิธีการที่เดวิด เบนอฟ และดี บี ไวส์ แห่งเกมออฟโธรนส์ ไม่ได้เขียนบทเองทุกเอพิโสด แต่อาจมอบหมายให้คนอย่างไบรอัน ค็อกแมน หรือวาเนสซา เทย์เลอร์ เขียนแทนบ้าง


Serial Box ประกาศพันธกิจของตนบนเว็บไซต์ (https://www.serialbox.com) ว่า “ขณะที่เทคโนโลยีรุดหน้าไปทุกวัน สำนักพิมพ์และนักเขียนกลับไม่รุดหน้าเลย เมื่อการเล่าเรื่องบนแพลตฟอร์มโทรทัศน์เริ่มมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น พอดแคสท์เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น แต่อีบุ๊กก็ยังยืนอยู่ที่เดิม มันไม่ง่ายขึ้น ไม่สนุกขึ้น ไม่มีความเป็นสังคมมากขึ้นเลย พวกเราต้องการเปลี่ยนแปลงจุดนั้นด้วยการผสมผสานข้อดีของซีรีส์โทรทัศน์และความสะดวกสบายของอีบุ๊กและออดิโอบุ๊กเข้าไว้ด้วยกันเพื่อนำเสนอการเล่าเรื่องรูปแบบใหม่ให้ผู้อ่าน”


แน่นอน - การเปลี่ยนแปลงของรักของใครหลายคนอย่างหนังสือต้องมีคำถามตามมา คอนสแตนซ์ เกรดี้ จากสำนักข่าว Vox ผู้ไม่ชินกับการอ่านในรูปแบบใหม่นี้ตั้งข้อสังเกตว่าหาก Serial Box เถลิงอำนาจขึ้นเป็น HBO แห่งวงการหนังสือได้จริง มันจะเปลี่ยนแปลงวิธีการเขียนกระแสหลักไปไหม (อย่างที่นักเขียนหนังสือพวก Page Turner อย่างแดน บราวน์ หรือ ไมเคิล โคเฮน ทำมาแล้ว) และมันจะเปลี่ยนแปลงวิธีการอ่านของคนรุ่นใหม่ไปหรือเปล่า?


จากยุคทองของโทรทัศน์ สู่วิธีการคิดหนังสือรูปแบบใหม่ จากหนังสือรูปแบบใหม่ อนาคตจะมีอะไรให้เราได้เห็นอีก?


การเคลื่อนผ่านของสิ่งหนึ่งนำไปสู่การเคลื่อนผ่านของอีกสิ่งเสมอ