นักออกแบบเสียง กับชีวิตที่ออกแบบได้

กว่าจะกลายเป็นภาพยนตร์ให้ได้ดูกันสักเรื่อง เบื้องหลังต้องผ่านกระบวนการผลิตหลายขั้นตอน แน่นอนว่าต้องใช้บุคลากรในงานภาพยนตร์หลากหลายสาขาตั้งแต่ก่อนการผลิต ระหว่างการผลิตไปจนหลังการผลิต สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในวงการ เมื่อนึกถึง “คนทำหนัง” ก็มักจะนึกถึงนักแสดง ผู้กำกับ ผู้เขียนบท ช่างภาพ แต่ยังมีอีกจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้ “หนัง” สนุกได้อรรถรส ดูแล้วอิน หัวใจเต้นเป็นจังหวะเดียวกับหนัง นั่นก็คือ Sound Designer นักออกแบบเสียง


วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับอาชีพที่หลายๆ คนอาจไม่คุ้นหู โดยผ่านการพูดคุยกับนักออกแบบเสียงในภาพยนตร์แถวหน้าของเมืองไทย คุณณพวัฒน์ ลิขิตวงศ์ หรือคุณปั้น ผู้ออกแบบและดูแลการทำเสียงของภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง อาทิ สี่แพร่ง,ห้าแพร่ง, พี่มาก..พระโขนง , สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่า..รัก, กวน มึน โฮ, #BKKY, Die Tomorrow, BNK 48: Girls Don’t Cry, อนธการ และเรื่องล่าสุดมะลิลา หนังรางวัลสุพรรณหงส์ ประจำปี 2562  รวมไปถึงการร่วมงานกับผู้กำกับระดับโลกอย่างหว่อง กา ไหว่ (Wong Kar Wai)  ในเรื่อง Ashes of Time Redux และ The Grandmaster โดยมีรางวัลการันตีความสามารถอย่างรางวัลสุพรรณหงส์ สาขาบันทึกเสียงและผสมเสียงยอดเยี่ยม และหนังต่างประเทศก็กำลังเข้าชิงรางวัล Hong Kong Film Awards พร้อมกันถึงสองเรื่องคือ Operation Red Sea และ Project Gutenberg

นักออกแบบเสียงหรือ Sound Designer คืออะไร? คุณปั้นอธิบายได้อย่างเห็นภาพว่า สมมติว่าในหนังมีวัวอยู่สี่ ห้าตัว แต่มีตัวหนึ่งที่มันพิเศษกว่าตัวอื่น ถ้าในแง่ของภาพเราอาจใช้สีที่แตกต่าง แล้วถ้าเป็นเสียงเราจะออกแบบยังไงให้คนดูรู้ว่าวัวตัวนี้มันพิเศษกว่าตัวอื่น ลองนึกถึงหนังผีหรือหนังไซไฟ ซึ่งมันไม่ได้มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในโลกความจริง เราไม่รู้ว่าผีมีเสียงยังไง มนุษย์ต่างดาวมีเสียงแบบไหน มันไม่มีของจริงเราก็เลยต้องดีไซน์มันออกมา หรืออาจเป็นเสียงที่มีอยู่ในโลกความจริงแต่เราต้องการให้คนดูเห็นภาพอะไรบางอย่าง หรือสื่อสารในอีกมุมมอง ก็ต้องมีการออกแบบเสียงเช่นกัน


คุณปั้นก้าวเข้าสู่อาชีพนักออกแบบเสียงเพราะความหลงใหลในภาพยนตร์ จากจุดเริ่มต้นด้วยการเรียนด้านการออกแบบภายในและ Concept Design ทำให้ต้องศึกษาแนวคิดเรื่องศิลปะและการออกแบบแขนงต่างๆ ที่สะท้อนออกมาในภาพยนตร์ ยิ่งดูหนังมากก็ยิ่งอินมาก จนทำให้อยากเข้าใจโลกภาพยนตร์มากขึ้นเรื่อยๆ  จนในที่สุดจึงตัดสินใจที่จะไปเรียนต่อด้านภาพยนตร์ที่ต่างประเทศ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นตัวเขาเองและครอบครัวก็ยังไม่ได้มีความพร้อมทางการเงินมากพอ แต่ด้วยความมุ่งมั่นและการสนับสนุนจากครอบครัว คุณแม่จึงช่วยทำการกู้เงินเพื่อให้ได้ไปศึกษาต่อด้าน Sound Design ที่ Vancouver Film School ประเทศแคนาดา และวันนี้เขาก็ได้พิสูจน์แล้วว่านั่นเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า!


หลังจากเรียนจบคุณปั้นก็เริ่มทำงานตามที่เรียนมา ในยุคนั้น (เกือบ 20 ปีที่แล้ว) งานด้าน Sound Design ยังเป็นอาชีพที่คนทั่วไปยังไม่รู้จัก มีเพียง 3-4 บริษัทในประเทศไทยที่ทำงานด้านนี้  คุณปั้นเริ่มงานกับบริษัท Technique Color บริษัทอเมริกัน ในประเทศไทย ที่ที่ทำให้ได้เริ่มฝึกฝนในสิ่งที่ร่ำเรียนมา คุณปั้นบอกว่าโชคดีที่ได้มาเริ่มงานที่นี่เพราะเป็นบริษัทต่างชาติที่มีมาตรฐานในการทำงานและเครื่องมืออุปกรณ์ระดับสากล หลังจากทำเสียงให้กับภาพยนตร์ต่างประเทศเป็นหลักมากว่า 3 ปี คุณปั้นเล่าต่อว่า “เริ่มอยากทำหนังไทยบ้าง อยากแสดงฝีมือในหนังไทย ให้คนรอบข้าง ให้แม่ได้ดู ให้เพื่อนได้ดูบ้าง” ทำให้ย้ายมาทำงานกับบริษัท กันตนา และที่นี่เป็นที่ที่ทำให้เขาเริ่มมีชื่อเสียง ภาพยนตร์เรื่อง “สี่แพร่ง” หนังไทยแนวสยองขวัญ 4 เรื่อง โดย 4 ผู้กำกับ ออกฉายเมื่อปี 2551 เป็นผลงานที่ทำให้เขาเป็นที่ยอมรับในวงการภาพยนตร์ไทย  และการเป็นที่ยอมรับในวงการหนังระดับสากลก็ตามมาเมื่อได้มีโอกาสทำงานกับผู้กำกับระดับโลก ชาวฮ่องกงอย่าง หว่อง กา ไหว่  หลังจากประสบความสำเร็จกับหนังเรื่องแรก ก็มีการบอกต่อกันในตลาดภาพยนตร์ต่างชาติว่าคนไทยก็ทำได้ดี จึงเริ่มมีลูกค้าต่างชาติทยอยเข้ามา

ชีวิตไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ กว่าจะประสบความสำเร็จมายืนในจุดนี้ คุณปั้นเคยผ่านช่วงเวลาที่หนัก จนถึงขั้นเสียน้ำตาก็เคยมี ตอนทำหนังฮ่องกงเรื่องแรกๆ ลูกค้ามี requirement สูงมาก เคยทำงานหนักแบบหามรุ่งหามค่ำ ทำงานจนตีห้าแล้วต้องตื่นมาทำต่อตอนเก้าโมงเช้าติดต่อกันสามเดือน แต่เขาบอกว่านั่นทำให้ได้ประสบการณ์ที่ดี ทำให้เรียนรู้ว่าต้องวางแผนให้พร้อมรับมือกับงานให้ดีขึ้น ต้องมองอะไรรอบๆ ด้าน อย่ามองแค่ว่าลูกค้าใช้งานเราหนักอย่างเดียว “เราไม่ควรทรีทงานให้ง่าย เราต้องตั้งสแตนดาร์ดให้สูงไว้ก่อน แต่ถ้าเจอลูกค้าที่สแตนดาร์ดสูงกว่านั้นอีกเราก็ต้องปรับให้ได้ ”


เมื่อถามถึงความสุข รางวัลที่ได้รับจากการทำงานคุณปั้นตอบได้ดีจนเห็นภาพว่า “เมื่องานเสร็จมันแฮปปี้มาก มันไม่ได้จบแค่เรา พอมันออกไปสู่โรงภาพยนตร์มีคนดู เวลาที่เราไปดูหนังในโรงพร้อมกับคนดู เรารู้สึกโอ้! มีคนสนุกกับมัน ร้องไห้กับมัน ตกใจกับมัน นั่นถือว่าฟิน! ยิ่งกลับมาบ้านเห็นภรรยา เห็นลูก เห็นแม่เราได้ดู เอ้ย! แล้วพอเครดิตเราขึ้นมา แม่ก็จะชี้ใหญ่ว่านี่ชื่อลูก เราก็เออดีเหมือนกันนะความรู้สึกแบบนี้” คำตอบทำให้เห็นถึงอีกมุมของผู้ชายคนนี้ มุมที่บ้าน กับบทบาทของการเป็นลูก เป็นสามีและการเป็นคุณพ่อลูกสอง ความสุขและความสำเร็จในงานที่สามารถแชร์กับคนในบ้านได้อย่างกลมกลืน

เมื่องานก็ดีมานด์มากและต้องใช้ความรับผิดชอบสูง แล้วคุณปั้นเองบริหารเวลาอย่างไรให้ลงตัวระหว่างงานและครอบครัว คุณปั้นเล่าว่าพอมีลูกมุมมองเรื่องเวลาก็เปลี่ยนไป จะใช้ชีวิตเหมือนเดิมลุยๆ แต่งานไม่ได้ ดังนั้นอะไรที่ไม่สำคัญจะตัดออกทันที มีสิ่งที่โฟกัสในชีวิตไม่กี่อย่าง แต่ถ้าช่วงไหนจำเป็นต้องทุ่มเทเวลาให้งานมากก็จะบอกที่บ้านให้เข้าใจก่อนทุกครั้ง และคอยอัพเดทกันตลอดว่าตอนนี้ทำอะไรอยู่  เมื่อถามต่อไปว่าได้เตรียมความพร้อมเรื่องความมั่นคงให้กับครอบครัวอย่างไรบ้าง เขาตอบว่าก่อนมีลูกไม่เคยคิด ไม่เคยมีแผน แต่พอมีลูก ก็ต้องคิดถึงลูก คิดถึงเรื่องการศึกษา คุณภาพชีวิตของลูก จึงตัดสินใจซื้อบ้านใหม่ที่อยู่ใกล้โรงเรียนที่ดี มีพื้นที่เพียงพอ มีอากาศและสภาพแวดล้อมที่ดี อีกสิ่งที่คุณปั้นให้ความสำคัญมากคือเรื่องสุขภาพของคนในครอบครัว ตัวเขาเองก็หันมาดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้นเพราะเป็นเสาหลักของที่บ้าน และเพื่อเป็นหลักประกันและความคุ้มครองให้กับครอบครัวก็ได้ทำประกันประเภทต่างๆ ทั้งประกันสุขภาพ ประกันชีวิต รวมทั้งประกันภัยต่างๆ เพื่อจะได้คลายกังวลและสร้างความมั่นคงเพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน คุณปั้นบอกว่าการวางแผนทางการเงินเป็นเรื่องจำเป็นมาก เพราะเงินเป็นเรื่องที่จะมาซัพพอร์ตเป้าหมายอื่นๆ ในชีวิตให้เป็นจริงได้


เมื่อถึงคำถามสุดท้ายที่ว่า คิดว่าอะไรที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จเป็นเบอร์ต้นๆ ในอาชีพ Sound Designer คุณปั้นตอบอย่างรวดเร็วว่าคือ “ความอดทน” ไม่ใช่แค่อดทนทำงานหนัก แต่หมายถึงอดทนฟัง ฟังเพื่อทำความเข้าใจกับโจทย์กับความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า เพื่อเข้าใจปัญหา งานจะออกมาดีหรือตรงใจลูกค้าไม่ได้ถ้าเราไม่ทำความเข้าใจกับโจทย์ก่อน ต้องฟังให้เข้าใจและย่อยมันออกมา เพื่อเอามาสื่อสารต่อได้อย่างถูกวิธี  “บางทีลูกค้าก็ไม่ได้เข้าใจงานของเราทุกอย่าง อาจใช้คำพูดถูกบ้างผิดบ้าง เป็นหน้าที่ของเราที่จะฟังและอธิบายให้เขาเข้าใจ งานของเราเป็นงานเซอร์วิส ดังนั้นเราต้องมี Service Mind ที่ดีด้วย”

มีแพสชั่นในสิ่งที่ทำ มุ่งมั่นและอดทน งานจะมีความหมายกับชีวิตมากขึ้นไปอีก ถ้าสามารถนำความสำเร็จนั้นกลับมาเป็นรอยยิ้มและความภูมิใจให้คนในครอบครัว ความสมดุลระหว่างงานกับครอบครัวนำมาซึ่งความสุขและเป็นพลังงานย้อนกลับไปสู่การทำงาน แต่สมดุลจะเกิดได้ต้องรู้จักบริหารเวลาและจัดการความรู้สึกของคนรอบตัวทั้งที่บ้านและที่ทำงาน โดยใช้การสื่อสารและรับฟัง เต็มที่กับงานที่รับผิดชอบแต่ก็ไม่ลืมที่จะวางแผนชีวิตเพื่อความมั่นคงในอนาคตของตัวเองและครอบครัว นั่นเป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้จากคุณณพวัฒน์ ลิขิตวงศ์ นักออกแบบเสียงคนไทย ฝีมือระดับสากล และแฟมิลี่แมน ผู้นำความสุข ความภูมิใจและความมั่นคงให้กับครอบครัว เพราะชีวิตออกแบบได้