Lean เพื่ออยู่รอด คำตอบของธุรกิจยุค New Normal

ในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ธุรกิจที่ปรับตัวได้เร็วย่อมได้เปรียบในการแข่งขัน แนวคิดการ Lean  ให้องค์กรทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุด ปราศจากความสูญเปล่า เปรียบเสมือนคนสุขภาพดี ร่างกายปราศจากไขมัน จึงเป็นการบริหารจัดการที่สำคัญในการทำธุรกิจ คุณปวีย์ภัทร วัฒนศิริเศรษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท  ควอลิวูด จำกัด ผู้ผลิตพาเลทไม้ ลังไม้ บรรจุภัณฑ์ไม้ใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก และดร.สุริยะ เลิศวัฒนพงษ์ชัย Course Director หลักสูตร NIA- SCB Innovation-Based Enterprise (IBE) รุ่นที่ 2  มาแบ่งปันหลักการและประสบการณ์การทำ Lean Management ที่ผู้ประกอบการธุรกิจ SME นำไปใช้ได้จริง


หัวใจ Lean กับการทำธุรกิจ


หลักการสำคัญที่เป็นหัวใจของ Lean คือการเพิ่มคุณค่าให้ลูกค้า ลดความสูญเปล่าในกระบวนผลิต เพราะความสูญเสียในกระบวนการผลิต เป็นช่องทางที่เงินรั่วไหลโดยที่เรามองไม่เห็น ซึ่งผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนได้ด้วยกับทำ Lean อย่างจริงจัง เพราะกำไรมาจากต้นทุนที่ลดลง ไม่ใช่การเพิ่มราคาขาย ยิ่งถ้าสามารถลดต้นทุนได้ดี จะสามารถลดราคาขายลงโดยยังได้กำไรเท่าเดิม ซึ่งราคาที่ถูกกว่าก็เป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทั้งนี้คุณปวีย์ภัทร กล่าวว่าหลักการ Lean ไม่ได้จำกัดแต่ธุรกิจการผลิต แต่สามารถนำไปใช้ในธุรกิจบริการ หรือธุรกิจซื้อมาขายไปก็ได้ โดยอ.สุริยะ อธิบายเพิ่มเติมว่า Lean สามารถนำมาปรับใช้ในเกือบทุกกระบวนการธุรกิจ เช่น Customer Journey, Production, Production Support, Logistics, Procurement, Supply Chain, HR Services, Financial and Accounting, IT และ Sales and Marketing

lean-to-survive-01

5 หลักการ 7 ความสูญเปล่า


หลักการของ Lean ประกอบด้วย 5 ข้อได้แก่


1) การระบุคุณค่า (Value)
โดยมองไปที่สิ่งที่ลูกค้าได้รับว่าได้ให้คุณค่าแก่ลูกค้าหรือไม่ ลูกค้าได้รับความคุ้มค่าหรือไม่ รวมถึงเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการหรือไม่ เพราะถ้าเป็นคุณค่าที่ลูกค้าไม่ต้องการ กลับทำให้สินค้าราคาสูงโดยไม่จำเป็น ดังนั้น ต้องส่งมอบคุณค่าที่เหมาะสมโดยยึดลูกค้าเป็นหลัก ซึ่งการฟังเสียงลูกค้าจะช่วยให้ผู้ประกอบการรับรู้ปัญหา หรือ Pain Point ของลูกค้า และส่งมอบคุณค่าที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ ในมุมมองของคุณปวีย์ภัทร ธุรกิจไม่ได้แข่งที่กำไร แต่เป็นเรื่องของคุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้า และสังคม

2) การสร้างกระแสคุณค่า เป็นการดู Flow การไหลของงาน สินค้า ลูกค้า ว่ามีการสูญเสียตรงไหนบ้าง โดยใช้เทคนิค Value Stream Mapping (VSM) – แผนผังสายธารคุณค่า เขียนแผนผังการไหลของงานเพื่อให้รู้ว่าเกิดความสูญเปล่าในขั้นตอนไหนบ้าง วิเคราะห์ว่าขั้นตอนไหนใช้เวลามากเกินไป ใช้คนมากเกินไป งานไหนมีมูลค่า งานไหนไม่มีมูลค่า Flow งานไปเจอคอขวดตรงไหน VSM เป็นการเช็คสุขภาพการผลิต บริการของธุรกิจว่าเป็นอย่างไร

3) การทำงานอย่างต่อเนื่อง (Flow) การจัดการให้งานไหลไปอย่างรวดเร็ว กำจัดคอขวดไม่ให้งานหยุดชะงัก ตามหลัก 7 ความสูญเปล่า และใช้การจัดการ เทคโนโลยีต่างๆ แก้ไขให้ Flow ทำงานได้อย่างต่อเนื่องไม่ติดขัดจนจบกระบวนการ เช่นการมีมาตรฐานการทำงาน หลัก 5ส การเปลี่ยนผังการทำงาน ระบบเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) เป็นต้น

4) ระบบดึง Pull and Balance  เทคนิคขั้นสูงทำให้เกิดสมดุล Demand กับ Supply (Capacity) โดยใช้หลักการจัดการต่างๆ เช่น สมดุลกระบวนการ (Line Balance) Small Lot Production, Kanban และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ

5) ระบบที่สมบูรณ์  (Perfection)  การวัดผลการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  โดยทำ PDCA (Plan Do Check Act) ถ้าได้ผลดีก็ทำให้เป็นมาตรฐาน ถ้ายังไม่ดี ก็มาตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไข หาจุดบกพร่อง พัฒนาให้ดีขึ้น รวมถึงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือ อย่าพอใจอะไรง่ายๆ เพราะความพอใจเป็นศัตรูของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนา

หลักการ Lean 5 ข้อที่กล่าวมา ทำเพื่อขจัดความสูญเปล่า 7 ประการ (7 wastes) ที่บั่นทอนประสิทธิผลในการทำงาน  ได้แก่

1.  เวลา (Time)   การรอคอยเป็นความสูญเปล่าเรื่องเวลา เช่น รอคอยผลิต รอขนส่ง เป็นต้น

2. การเคลื่อนไหว (Motion) รูปแบบและแผนผังการทำงานที่ดี จะช่วยลดการเคลื่อนไหวร่างกายที่ไม่จำเป็น และช่วยให้การทำงานมีประสิทธิผลมากขึ้น เช่น การวางของในระดับความสูงพอดี พนักงานไม่ต้องเอื้อมหยิบของ หรือการจัดแผนผังในร้านอาหาร ให้พนักงานบริการลูกค้าได้อย่างคล่องตัว ฯลฯ

3. การขนส่ง (Transportation) จัดเส้นทางขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ

4. งานมีข้อผิดพลาด (Defect) ต้องมาเสียเวลา วัตถุดิบ กำลังคนเพื่อแก้ไขงาน

5. สินค้าคงคลัง (Inventory) มีสต๊อกของมากเกินไป

6. สินค้าผลิตมาเกิน (Over Production) สินค้าผลิตมามากเกินไป

7.  สินค้าเกินความต้องการของลูกค้า (Over Processing) สินค้าที่มีคุณค่าเกินความต้องการของลูกค้า หรือมีขั้นตอนมากเกินความจำเป็น ก็นับเป็นความสูญเปล่า


ดร.สุริยะ ได้เพิ่มเติมความสูญเปล่าอีกข้อหนึ่ง คือความสูญเปล่าด้าน Talent ที่เกิดขึ้นเมื่อองค์กรไม่ได้ให้ Talent ทำงานสมความสามารถของเขา


ตัวชี้วัดความ Lean


คุณคุณปวีย์ภัทรเน้นย้ำว่าสิ่งที่ต้องกำจัด คือ กระบวนการซ้ำซ้อน ที่เป็น 7 wastes เพื่อช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิผลการทำงาน ที่สะท้อนให้เห็นดัวยตัวชี้วัดต่างๆ เช่น Lead Time การทำงาน  (Manufacturing Cycle Time, Dock to Dock Time) ถ้า Lead Time สั้น แปลว่าสูญเปล่าน้อย ถ้า Lead Time มาก หมายถึงสูญเปล่ามาก รวมถึงตัวเลขเปอร์เซ็นต์ต่างๆ อย่าง Inventory Turn, On Time Delivery, Overall Equipment Effectiveness, Right First Time, People Productivity, Floor Space Utilization เป็นต้น

Lean เริ่มจากที่ไหน


สิ่งที่ยากในการทำ Lean Management คือการเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานที่เคยทำมาแต่เดิม เพราะบุคลากรเคยชินกับการทำงานแบบเดิม และรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานคือภาระ ซึ่งในมุมมองของคุณปวีย์ภัทร ที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงพัฒนาให้ระบบการทำงานดีขึ้นตลอดเวลา การทำ Lean จะประสบความสำเร็จได้ต้องเริ่มจากตัวเจ้าของกิจการ ที่ต้องริเริ่มและเป็นผู้นำลงมือเปลี่ยนแปลงองค์กรอย่างจริงจัง “เราต้องคิดแบบ Start Up (สร้างธุรกิจให้เติบโตแบบ Exponential) ทำแบบ SME (ผู้บริหารลงมือเอง เข้าถึงลูกค้าด้วยตัวเอง) และมีระบบแบบมหาชน (ระบบการทำงานที่มีมาตรฐาน ไม่จำเป็นต้องเป็นมีราคาสูง)”


คุณปวีย์ภัทรกล่าวถึง Zero Waste Wooden Pallet ที่ใช้หลักการ Optimization คิดค้นเทคนิคการตัดไม้ทำพาเลทให้เหลือเศษไม้น้อยที่สุด เพื่อลดความสูญเปล่าจากเศษไม้เหลือทิ้ง รวมถึงการนำเศษไม้เหลือทิ้งมาบดอัดรีไซเคิลกลับมาเป็นส่วนประกอบพาเลทไม้ได้ด้วย “ผู้ประกอบการต้องดูด้วยว่าอะไรที่เป็น waste อะไรที่ควรนำกลับมาใช้ได้ เพื่อช่วยลดความสูญเปล่า ซึ่งก็คือเงินที่รั่วไหลไปทั้งสิ้น” ทั้งนี้ เทคนิคดังกล่าวเน้นย้ำจุดยืนของควอลิวูดที่ต้องการเป็นองค์กรที่ดีต่อโลกใบนี้ ซึ่งธุรกิจการทำพาเลทไม้ของควอลิวูด เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องสิ่งแวดล้อม “ เทคนิคการ Lean ในขั้นตอนการผลิตของเรา สอดคล้องกับแนวคิด GO LEAN, GET GREEN ที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ในกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การตัดไม้ การผลิต การขนส่ง รวมไปถึงการกำจัดเศษไม้เหลือทิ้ง เป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและโลกของเรา สิ่งนี้คือ CSV (Creating Share Value) ที่ธุรกิจส่งคุณค่าสู่สังคม เป็นภาพลักษณ์ที่ดีของธุรกิจ โดยเราสามารถบอกลูกค้าได้ว่า การที่เขาเลือกใช้สินค้าของเราเป็นหนึ่งใน Green Supply Chain เขาได้ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลกด้วย ซึ่งลูกค้าองค์กรใหญ่จะชื่นชอบสิ่งนี้มาก นับเป็นข้อได้เปรียบที่เราสามาถใช้ดึงดูดลูกค้าได้”  

ในด้านการบริหารกิจการ คุณปวีย์ภัทรแนะนำว่า อย่าผูกขาดกับ Supplier รายเดียว ต้อง Diversify กลุ่มลูกค้าให้มีหลากหลายราย เพราะถ้ามีลูกค้ารายใหญ่ที่มาของรายได้ 50% ถ้าลูกค้ารายนั้นหายไป ก็เท่ากับรายได้หายไป 50% เลย “ในส่วนของควอลิวูดจะไม่ให้มีลูกค้ารายไหนใหญ่เกิน 50% และต้องมีลูกค้าในหลายกลุ่มธุรกิจด้วย รวมถึงการ Diversify Business มีสินค้าอย่างอื่นขาย อย่างควอลิวูดก็มีขายกล่องกระดาษ แม้ไม่ได้ผลิตเอง เป็นการรับมาจำหน่าย แต่ก็สร้างยอดขายดีมาก”


การปรับตัวคือสิ่งสำคัญที่ธุรกิจต้องทำเพื่อที่จะอยู่รอดในโลกการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลง องค์กรธุรกิจที่ผ่านการ Lean ให้มีคล่องตัว เปี่ยมประสิทธิภาพจะปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และเป็นองค์กรที่อยู่รอดและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพิ่มขีดความสามารถรับมือความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเข้ามาอย่างต่อเนื่องในอนาคต


หลักสูตร NIA- SCB Innovation-Based Enterprise (IBE) รุ่นที่ 2 มีระยะเวลา 10 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 – กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สนใจสามารถติดตามสรุปรายละเอียดเนื้อหาการอบรมได้ที่ www.scb.co.th และ https://scbsme.scb.co.th/


ที่มา : หลักสูตร NIA- SCB Innovation-Based Enterprise (IBE) รุ่นที่ 2 โดยคุณปวีย์ภัทร วัฒนศิริเศรษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท  ควอลิวูด จำกัด และ ดร.สุริยะ เลิศวัฒนพงษ์ชัย วันที่ 13 มกราคม 2564