บทสรุป Begin Again เมื่อธุรกิจเริ่มฟื้นตัวอีกครั้งหลังโควิด-19

เมื่อการดำเนินธุรกิจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จะเริ่มต้นใหม่อย่างไรให้แข็งแกร่งกว่าเดิม  SCB Wealth Webinar ซีรี่ย์ BEGIN AGAIN วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นสำคัญจากบทสัมภาษณ์ผู้บริหารทั้ง 5 กลุ่มอุตสาหกรรมฟันเฟืองใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์ บันเทิง ร้านอาหาร และค้าปลีก พร้อมพูดคุยเรื่องแนวโน้ม ความเสี่ยง และโอกาสในแต่ละธุรกิจในยุค New Normal เมื่อธุรกิจเริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง โดย คุณศรชัย สุเนต์ตา กรรมการผู้จัดการ Chief Investment Office และคุณสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด

beginagain-scbtv-01

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  - การท่องเที่ยว


คุณพราวพุธ ลิปพัตพัลลภ กรรมการบริหารบริษัท พราว เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน)
กล่าวถึงสถานการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยการท่องเที่ยวทั่วไปและ Medical Tourism นักท่องเที่ยวยังเดินทางเข้ามาไม่ได้ ในส่วนภาคอสังหาริมทรพย์ที่ต้องการชาวต่างชาติเข้ามาทำธุรกรรมซื้อขายก็ยังเดินทางเข้ามาไม่ได้เช่นกัน  ธุรกิจโรงแรมในเครือที่หัวหินต้องปิดชั่วคราว และต้องมีการปรับตัว ทั้งนี้ ด้วยปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ทั้ง การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานเป็น Work from Anywhere ประกอบกับการคมนาคมที่สะดวกมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของหัวหินในการเป็น First Home ของคนที่อยากมาอาศัยที่หัวหินเป็นการถาวร ผนวกกับที่ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งด้าน Healthcare จึงน่าจะเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจประเภทลองสเตย์ เนิร์สซิ่งโฮม ตอบรับสังคมผู้สูงวัยให้ลูกค้าคนไทยและต่างประเทศ


นอกจากนี้ การสร้างสวนน้ำ ด้านในเป็นโรงแรมที่พัก ทำให้หัวหินเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวสำหรับครอบครัว และเมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้นก็มี Demand กลับมาอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่มาจากคนกรุงเทพที่ต้องการออกไปเที่ยว นำไปสู่การใช้จ่ายมากขึ้น ในส่วนการบริหารในสถานการณ์ไม่แน่นอน ก็ต้องปรับเปลี่ยนการบริหารตลอดเวลา แต่ก็มีโอกาสธุรกิจเกิดขึ้นได้เสมอ
(อ่านฉบับเต็ม >> The Rise Above The Rest : โอกาสใหม่หลังวิกฤตของพราว เรียล เอสเตท )


คุณสุกิจวิเคราะห์สถานการณ์บริษัทจดทะเบียนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ว่าตัวเลขกำไรปี 2563 ครึ่งปีแรกลดลง 47% เฉพาะในไตรมาส 2 ลดลง 58%  สำหรับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ขาดทุนทั้งไตรมาส2 และครึ่งปี เพราะคนไทยเที่ยวน้อย และไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา  จึงเป็น 2 กลุ่มธุรกิจที่โดนผลกระทบรุนแรง เพราะการจะนำนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเท่าเดิมทำได้ยาก ในกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ ก็ยังมีดีมานด์อยู่ เพราะอสังหาฯ ราคาลดลงและมีโปรโมชั่น ในปีนี้ ยอดขายอสังหาฯ ดีในกลุ่มสิ่งก่อสร้างแนวราบ เพราะปัจจัยใช้บ้านเป็นที่ทำงานมากขึ้น ขณะที่คอนโดบางส่วนสร้างมาสำหรับขายให้ต่างชาติ จึงได้รับผลกระทบเยอะเมื่อลูกค้าต่างชาติเข้ามาทำธุรกรรมไม่ได้ อย่างไรก็ดี การที่สินค้าราคาลดลง เช่น คอนโด รถยนต์ ห้องพักโรงแรม ก็เป็นโอกาสดีของคนที่มีกำลังซื้อ

ธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนท์


คุณอลิสา พันธุศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพีทีเอส โฮลดิ้ง กรุ๊ป จำกัด เจ้าของธุรกิจทิฟฟานี่โชว์ พัทยา
เล่าถึงภาพรวมธุรกิจในเครือ 3 อย่าง ได้แก่บันเทิง โรงแรม และร้านอาหาร  โดยวางแผนไว้ให้กระจายกลุ่มลูกค้า แแต่ละธุรกิจอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่สามารถเอื้อกันได้บ้าง  ด้วยความที่ธุรกิจอยู่ที่พัทยาเป็นหลัก จึงขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยว 100%  จุดแข็งของบริษัทคือสามารถรอสถานการณ์ฟื้นตัวได้ เพราะมีเงินทุนสำรอง


สำหรับทิฟฟานี่ ที่เป็นธุรกิจบันเทิง จุดแข็งอยู่ที่บุคลากร ที่มีความเป็นศิลปิน หาทดแทนไม่ได้ จึงมุ่งเน้นที่คอนเทนต์และการนำเสนอ มีการพัฒนาเรื่องราวใหม่รวมถึงปรับเนื้อหาสำหรับลูกค้าในประเทศ ในส่วนธุรกิจโรงแรมซึ่งเจาะกลุ่มลูกค้าตลาดบน ซึ่งในช่วงล็อกดาวน์ก็ได้ประโยชน์จากลูกค้ากรุงเทพที่มาพักยาว การปรับตัวของธุรกิจโรงแรมจึงมุ่งหน้าไปในรูปแบบลองสเตย์ รับกับ Aging Society


ในความเห็นของคุณอลิสา ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านงานบริการ ค่าครองชีพไม่แพง อาหารอร่อย อากาศดี ผู้คนเป็นมิตร มีการเทคแคร์ดูแลดีที่สุดในโลก เป็นศูนย์กลางสายการบินในภูมิภาคทำให้การเดินทางไม่ยาก แล้วยังมีการสื่อสารที่สะดวกสบาย ผู้คนจึงอยากมาพักอาศัยในประเทศไทย ในส่วนธุรกิจร้านอาหาร La Baguette ที่ตัวโปรดักส์ครัวซองค์มีชื่อเสียงมาก ก็ใช้การ Delivery เป็นช่องทางจัดจำหน่ายในกรุงเทพฯ  สรุปแล้ว 3 ธุรกิจ 3 แนวทางก็ต่างปรับตัวไปคนละแบบ ซึ่งก็มองเห็นโอกาสในทุกธุรกิจ
(อ่านฉบับเต็ม >> The Show must Go On! ก้าวต่อไปแห่งการเริ่มต้นใหม่ของทิฟฟานี่โชว์ )

ธุรกิจยานยนต์


ธุรกิจยานยนต์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-19 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้ผลิตเพื่อส่งออก โดยตัวตัวเลขในไตรมาส 2 ติดลบ ตัวเลขในช่วงครึ่งปี -80% กำไรสุทธิหายไป 80% ยอดขายลดลง 50% มีการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่ก็ลดได้ไม่มาก


จากบทสัมภาษณ์ ดร.สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทกลุ่มธุรกิจ มาสเตอร์ กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) ที่ในเครือมีธุรกิจยานยนต์ตั้งแต่กลางน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่ค้าปลีกรถยนต์หลากหลายยี่ห้อ ไปจนถึงบริการประกันรถยนต์ เช่ารถยนต์ ฯลฯ ซึ่งต้องการกำลังซื้อพอสมควร ในส่วนตลาดรถยนต์แบรนด์ระดับบนไม่ได้รับผลกระทบ แบรนด์พรีเมี่ยมได้รับผลกระทบบ้าง แต่แบรนด์อย่าง Honda ได้รับกระทบเยอะ เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตที่เกิดขึ้นรวดเร็ว การบริหารจัดการเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการตัดสินใจเร็วทำให้ต้นทุนลดลง เช่น SIXTH ธุรกิจเช่ารถยนต์เครือ ก่อนโควิดมีรถหลายพันคัน แต่ภายใน 1 เดือน สามารถระบายรถออกเหลือประมาณ 100 คัน การตัดสินใจเร็วจะช่วยให้ต้นทุนรถลดลงพอสมควร เพราะรถหนึ่งคันมีต้นทุนเยอะมาก


อีกปัจจัยสำคัญของธุรกิจค้าปลีกรถยนต์คือปริมาณสต๊อก ถ้าสต๊อกมากไปทุนก็จม ถ้าน้อยไปก็ไม่มีรถขาย และมีการใช้ Big Data มาใช้ประโยชน์ทำ CRM ช่วงไหนขายรถดี เพราะอะไร รวมถึงการบริหารจัดการสต๊อก การปรับเปลี่ยนวิธีการเข้าถึงลูกค้าก็มีความสำคัญในช่วงโควิด เพราะคนไม่อยากออกมาดูรถ แล้วหันมาช้อปออนไลน์กันหมด แต่สำหรับธุรกิจค้าปลีกรถยนต์ ใช้ออนไลน์ทั้งหมดแบบ End to End ไม่ได้ Online เป็นเพียงส่วนหนึ่ง เพราะลูกค้าต้องได้ ประสบการณ์สัมผัสรถยนต์จริง ถ้าลูกค้าไปมอเตอร์โชว์ไม่ได้ ทีมงานก็เอารถไปให้ดูที่บ้าน ทำยอดขายได้ตลอด และบริษัทก็มีบริการหลังการขาย มีโชว์รูมบำรุงรักษารถยนต์ ทุกอย่างต้องเหมาะกับสถานการณ์ ช่วยผู้บริโภคมากที่สุด สรุปคือ Design Journey เป็นเรื่องสำคัญ มีการนำข้อมูลเข้ามาช่วยและบริการลูกค้าได้ดีขึ้น
(อ่านฉบับเต็ม >> MGC-Asia สองทศวรรษแห่งการขับเคลื่อนธุรกิจยานยนต์ไทยทะยานไกลกว่าเดิม )

ธุรกิจร้านอาหาร


คุณแม่ทัพ ต.สุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัทอาฟเตอร์ยู จำกัด (มหาชน)
กล่าวถึงโจทย์ท้าทายของ After You ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ และการหายไปของนักท่องเที่ยวที่คิดเป็น 30% ของลูกค้าทั้งหมดส่งผลต่อสาขาแถวแหล่งท่องเที่ยวอย่างย่านราชประสงค์ ทั้งนี้คุณแม่ทัพไม่ได้คาดหวังว่าทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม แต่ต้องวางแผน Plan for the Worst Case อยู่กับความเป็นจริง ตามสิ่งที่เป็นอยู่ แล้วหันมาใช้การ  Delivery มากขึ้นให้นำสินค้าเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของลูกค้า อย่างไรก็ดี วิธีการนี้ทำให้ต้นทุนเยอะขึ้น แล้วสำหรับโปรดักส์ของ After You ที่เป็นขนมก็ใช้การ Delivery ได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น จากที่ลูกค้าอยู่บ้าน ทำงานที่บ้านมากขึ้น จึงต้องหาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ที่ลูกค้าสามารถจะนำไปทำรับประทานที่บ้านได้ แบ่งเป็นอาหารปรุงสำเร็จ ที่สามารถเก็บได้ระยะหนึ่ง รวมถึงการเปลี่ยนกลยุทธ์เน้น Delivery Hub ไม่ต้องมีหน้าร้านที่ต้นทุนถูกลง ไม่ต้องเช่าพื้นที่เป็นร้านมีที่นั่งที่ราคาสูง แต่เป็น Cloud Kitchen ไม่ต้องเป็น Prime Location มุ่งเน้นทำเลที่มีศักยภาพแทน
(อ่านฉบับเต็ม >> After You กับธุรกิจร้านอาหารในวันเวลาที่เปลี่ยนไป )

ธุรกิจค้าปลีก


คุณวุฒิเกียรติ เตชะมงคลาภิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน)
กล่าวถึงกลยุทธ์และจุดแข็งของโรบินสันที่มีการกระจายครอบคลุมหลายพื้นที่ มีสาขาในต่างจังหวัดมากกว่ากรุงเทพฯ  ซึ่งในช่วงโควิดไม่ใช่ทุกจังหวัดที่แย่ กระทบหนักเฉพาะเมืองท่องเทียว แต่เมืองที่ไม่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวยังมียอดขายดี และสินค้าที่โรบินสันขายก็เป็นสินค้าจำเป็น เช่นเครื่องสำอาง เครื่องครัว ช่องทางการจำหน่ายเป็น Omni-Channel ผสมผสานออนไลน์และออฟไลน์ เพราะการขายออฟไลน์หรือออนไลน์อย่างเดียวมีข้อดีข้อเสีย ช่องทางออนไลน์ สินค้าราคาถูก บริการส่งของถึงบ้าน แต่ไม่ได้เห็นของก่อน ได้ของมาไม่ตรงใจ ไม่รู้จะเปลี่ยนอย่างไร แต่โรบินสันมีช่องทางออฟไลน์ปิด Pain Point จุดนี้ ลูกค้าอยากเปลี่ยนก็ไปที่สาขา แล้วก็มีสาขาให้เห็นของก่อน  Positioning ของห้างก็สำคัญ โรบินสันไม่ได้เป็นห้างลักชัวรี่ แต่ขายของที่จำเป็นจริง ประกอบกับการใช้ Big Data และการออกแบบ Customer Experience ให้ตรงกับที่ลูกค้าต้องการ
(อ่านฉบับเต็ม >> โรบินสัน : อนาคตค้าปลีกไทยหลังโควิด-19 )

สรุป Key Point ใน 5 ธุรกิจ

กลยุทธ์การลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2563


ที่ผ่านมาหุ้นที่ราคาปรับขึ้นเยอะมาก ได้แก่ กลุ่ม Defensive (สินค้าจำเป็น) และหุ้นเทคโนโลยี คุณศรชัยและคุณสุกิจมองว่าในอนาคต ธุรกิจน่าจะกลับมาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป  รวมถึงหากสามารถค้นพบวัคซีนที่มีประสิทธิภาพป้องกันโควิด-19 ได้ ก็จะส่งผลให้การบริโภค การใช้จ่าย และธุรกิจเหมือนเดิมบ้าง ก็เป็นโอกาสที่หุ้นกลุ่ม Property,  Auto , Entertainment, Restaurant และ Retail  ซึ่งเป็นหุ้นที่ราคาปรับตัวขึ้นช้ากว่าหุ้นกลุ่มอื่น (Laggard) อยู่ในขณะนี้ สามารถกลับมาได้เมื่อสถานการณ์ธุรกิจฟื้นตัว โดยเฉพาะบริษัทที่เป็นผู้นำของกลุ่มธุรกิจดังกล่าว ที่น่าจะผ่านพ้นภาวะวิกฤตไปได้ จึงต้องรอดูโอกาสในอนาคตต่อไป


ติดตามชม  SCBTV BEGIN AGAIN เดอะซีรีส์ EP.6 Let’s Begin Again วิเคราะห์ทิศทางการลงทุน เมื่อธุรกิจเริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง - ที่นี่ -