อายุ 30 เก็บเงินอย่างไรให้กินอยู่สบายเมื่อถึงวัยเกษียณ

ทุกวันนี้คนไทยให้ความสำคัญกับคำว่า “วางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ” เพิ่มมากขึ้น เพราะเชื่อว่าหากลงมือทำก็ทำได้ง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงอะไร และหลายคนเริ่มต้นเก็บเงินตั้งแต่อายุน้อยๆ ทำให้มีอิสรภาพทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว


สำหรับคน ในวัยทำงานอายุประมาณ 30 ปี ที่มีเป้าหมายเกษียณจากการทำงานเมื่ออายุ 60 ปี จะมีเวลา 30 ปีในการเก็บเงิน และสมมติว่าจะมีชีวิตอยู่ถึงอายุ 80 ปี (ประมาณ 20 ปี หลังเกษียณ) ต้องเก็บเงินให้ได้เท่าไหร่ เพื่อใช้จ่ายในแต่ละวันอย่างสบายหลังเกษียณ


ก่อนอื่นต้องดูความต้องการเงินใช้จ่ายในแต่ละวันหลังเกษียณด้วย ถ้าต้องการใช้เงิน 20,000 บาทต่อเดือน (ประมาณ 667 บาทต่อวัน) จนถึงอายุ 80 ปี หมายความว่า ต้องมีเงินใช้ไปอีก 20 ปีหลังจากเกษียณอายุ = 20 ปี x 365 วัน หรือมีชีวิตอยู่อีก 7,300 วัน เท่ากับต้องมีเงินเก็บ 4,869,100 บาท เมื่ออายุ 60 ปี เพื่อใช้จ่ายวันละ 667 บาท (667 x 7,300)


ฉะนั้นหากปัจจุบันอายุ 30 ปี จะมีเวลา 30 ปี ในการเก็บเงินก้อนนี้ จะเก็บเงินอย่างไร


คำนวณโดย 4,869,100 บาท หาร 30 ปี เท่ากับต้องเก็บเงินให้ได้ 162,303 บาทต่อปี หรือประมาณ 13,525 บาทต่อเดือน

สำหรับช่องทางการลงทุน ควรจัดพอร์ตลงทุนให้เหมาะกับอายุและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่น อายุน้อยๆ เพิ่งเริ่มต้นทำงาน ยังไม่มีภาระที่ต้องรับผิดชอบมากนัก มีเวลาและกำลังในการหารายได้อีกนาน สามารถจัดสรรเงินไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงได้ เช่น กองทุนรวม SSF และ RMF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนหุ้นต่างประเทศ ทองคำ เป็นต้น


เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น (ประมาณ 40 ปี) อยู่ในช่วงกำลังสร้างครอบครัว แต่งงาน ค่าเทอมลูก ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เมื่อมีภาระที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ก็น้อยลง จึงควรลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงลง และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ – ปานกลาง เช่น กองทุนรวมผสม กองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นต้น


เมื่อถึงวัยใกล้เกษียณ (ประมาณ 50 ปี) ที่เหลือเวลาหารายได้อีกไม่กี่ปี ในช่วงนี้ควรเน้นจัดพอร์ตลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำในรูปของเงินฝากและพันธบัตรรัฐบาล แต่ใช่ว่าคนวัยนี้จะลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงไม่ได้ ก็อาจจัดสรรเงิน เช่น ไม่เกิน 10% ไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้น เพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น


จากตัวอย่างข้างต้น เริ่มต้นวางแผนการเงินเพื่อเกษียณตั้งแต่อายุ 30 ปี ด้วยการจัดพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมกับสไตล์การลงทุนของตัวเอง สมมติว่าได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี จะมีเงิน 4,869,100 บาท ตอนอายุ 48 ปี


ดังนั้น หากต้องการมีเงินใช้จ่ายสบายหลังเกษียณ ควรเริ่มเก็บเงินตั้งแต่อายุน้อยอย่างมีวินัย เพื่อให้มีเวลาในการเก็บเงินที่ยาวขึ้น นอกจากนี้ การเก็บเงินที่ตั้งไว้ในวันนี้อาจไม่เพียงพอใช้จ่ายในอนาคต เนื่องจากผลของเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในแต่ละปี เพื่อความมั่นใจมากขึ้นว่าจะมีเงินใช้จ่ายสบายหลังเกษียณ จึงต้องเก็บเงินให้มากกว่าเป้าหมายที่วางเอาไว้

ช่องทางลงทุน หลังเกษียณ

คนวัยเกษียณจำเป็นต้องหาช่องทางการลงทุนเพื่อรักษาเงินต้นไว้ไม่ให้ลดลง พร้อมกับการหาทางเพิ่มผลตอบแทนเพื่อเป็นรายได้สำหรับการใช้จ่ายสบายหลังเกษียณ ดังนั้น การเลือกลงทุนจึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ


1.ลงทุนในตราสารที่ปราศจากความเสี่ยง

ความเสี่ยงจากการลงทุนมีหลากหลาย เช่น ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคา (Price Risk) ความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเงินคืนจากการลงทุน (Default Risk) ดังนั้น ไม่ว่าจะเลือกลงทุนในตราสารอะไรย่อมมีโอกาสเจอกับความเสี่ยงประเภทใดประเภทหนึ่ง ดังนั้น เมื่ออยู่ในวัยเกษียณควรเน้นลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล ถือเป็นตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำที่จะไม่ได้รับชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นคืน หรือการฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์ (คุ้มครองวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทจนถึง 10 สิงหาคม ปี 2564 และวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ตั้งแต่ 11 สิงหาคม  ปี 2564 เป็นต้นไป)


2.ไม่ควรลงทุนในตราสารที่มีเงื่อนไขระยะเวลา

การลงทุนจะมีเรื่องของระยะเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ฝากเงินประจำ 2 ปี จะทำให้ไม่สามารถถอนเงินออกมาใช้ในช่วงก่อนครบกำหนดได้ (ถ้าถอนออกมาก่อนจะทำให้ไม่ได้รับอัตราดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้) หรือลงทุนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ถ้าขายพันธบัตรก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอน ก็จะมีความเสี่ยงในเรื่องของราคาซื้อขายในตลาดรองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือยาวขึ้นจะมีความเสี่ยงในด้านความผันผวนของราคามากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ในวัยเกษียณควรเลือกลงทุนในตราสารที่สามารถซื้อขายได้ตลอดเวลา เช่น กองทุนรวมทั่วไป


3.ลงทุนที่เสี่ยงสูงได้

กองทุนรวมหุ้นยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่วัยเกษียณยังสามารถลงทุนได้ แต่ต้องมีสัดส่วนการลงทุนที่ไม่มากเกินไป เพราะให้ผลตอบแทนที่ดีหากลงทุนในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ควรเลือกกองทุนที่ปลอดภัย มีประวัติการดำเนินงานที่เติบโตสม่ำเสมอ เป็นต้น


สำหรับวิธีคำนวณเพื่อเตือนตัวเองว่าไม่ควรทำให้เงินต้นลดลง คือ นำรายได้ทั้งหมด เช่น ดอกเบี้ย กำไรจากการลงทุน เงินปันผล หาร 12 ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นรายได้ต่อเดือน หากใช้จ่ายแต่ละเดือนไม่เกินรายได้ที่ได้รับมาก็จะไม่ทำให้เงินต้นลดลง


เช่น ได้รับดอกเบี้ย กำไรจากการลงทุน เงินปันผลปีละ 240,000 บาท เมื่อนำมาหาร 12 จะเท่ากับ 20,000 บาท ดังนั้น หากใช้จ่ายแต่ละเดือนไม่เกิน 20,000 บาท ก็ไม่กระทบกับเงินต้น


การลงทุนในวัยเกษียณ จะมีความแตกต่างจากช่วงก่อนเกษียณ คือ ต้องเน้นความปลอดภัยของเงินต้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้ความละเอียดรอบคอบและพิจารณาตราสารการลงทุนอย่างระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนที่ได้รับควรเท่ากับหรือมากกว่าเงินเฟ้อเพื่อไม่ให้สูญเสียอำนาจการซื้อ หากทำได้จะทำให้มีเงินกินอยู่สบายหลังเกษียณอย่างแน่นอน