To Do List ก่อนเกษียณ

เมื่อพูดถึงคำว่า “เกษียณ” บางคนอาจคิดถึงการพักผ่อนอยู่บ้านในวันธรรมดา หลายคนอาจนึกถึงการท่องเที่ยวไปทั่วโลกโดยไม่ต้องลางาน และอาจจะมีคนที่คิดถึงการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายและสงบสุขที่ไหนสักแห่ง ไม่ว่าใครจะให้นิยามอย่างไร การเกษียณอายุ คือ การสิ้นสุดของการทำงานเพื่อหารายได้ หรือช่วงเวลาแห่งอิสรภาพที่มนุษย์เงินเดือนต่างรอคอย และแต่ละคนจะมีชีวิตในช่วงวัยเกษียณอย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการวางแผนเกษียณ ซึ่งมีปัจจัยที่สำคัญหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง และสำหรับผู้ที่ต้องการเกษียณนั้น จะต้องเตรียมพร้อมอะไรกันบ้าง มาดูกัน


1.กำหนดอายุที่ต้องการเกษียณ

การตั้งเป้าหมายเกษียณอายุจะทำให้เกิดความกระตือรือร้นในการเตรียมตัว โดยอายุเกษียณคนไทยอยู่ในช่วง 55 - 60 ปี แม้จะมีประกาศขยายอายุเกษียณของข้าราชการเป็น 63 ปี แต่ก็ต้องใช้เวลาเปลี่ยนผ่านอีก 6 ปี ในขณะที่บางคนก็อาจอยากเกษียณอายุก่อน ซึ่งกรณีนี้ยิ่งต้องมีการวางแผนเพื่อเตรียมเงิน เตรียมร่างกาย เตรียมจิตใจให้พร้อมเมื่อถึงอายุที่ตั้งเป้าหมายไว้


2.สำรวจการเงิน

โดยประเมินจากรายได้ปัจจุบัน รายจ่ายปัจจุบัน ความสามารถในการออม และความมั่นคงของหน้าที่การงาน จากนั้นจึงคำนวณหาจำนวนเงินที่ต้องการใช้ช่วงวัยเกษียณโดยใช้กฎ 25 เท่า คือ รายจ่ายใน 1 ปี คูณด้วย 25 เช่น ถ้ารายจ่ายต่อปีเท่ากับ 360,000 บาท ควรมีเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณเป็นจำนวน 9,000,000 บาท หากปัจจุบันอายุ 41 ปี และต้องการเกษียณตอนอายุ 60 จะมีเวลาทั้งหมด 19 ปี เพื่อเก็บเงินให้ได้ 9,000,000 บาท


3.วางแผนการออม

โดยเริ่มต้นออมอย่างสม่ำเสมอ และยิ่งเริ่มออมเร็วเท่าไหร่ พลังดอกเบี้ยทบต้นก็จะทำให้เงินออมเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้อาจนำเงินมาลงทุนในกองทุนรวม พันธบัตร หรือหุ้นกู้ โดยคำนึงถึงอัตราความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ เช่น หากคาดหวังผลตอบแทนที่ 5% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1% จะต้องเลือกลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากกว่า 6% ต่อปี เพราะเมื่อหักอัตราเงินเฟ้อแล้ว ผลตอบแทนที่แท้จริงจะเป็น 5% ตามที่คาดหวัง

4.พร้อมรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดหวัง

ไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทนที่น้อยลง อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น หรือความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินที่ออมไว้ใช้ในช่วงเกษียณ โดยอาจต้องปรับเปลี่ยนแผนการเกษียณให้เหมาะสม เช่น เลื่อนช่วงเวลาที่จะเกษียณออกไปเพื่อทำงานและเก็บออมมากขึ้น ปรับเปลี่ยนวิธีการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ต้องการ วางแผนทางการเงินที่รัดกุมมากขึ้น โดยจดรายรับรายจ่าย เลือกซื้อของเท่าที่จำเป็นและใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า หรือลดค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะใช้ในช่วงเกษียณ ทั้งนี้เพื่อให้แผนการเกษียณอยู่บนพื้นฐานที่มั่นคงและสามารถเกิดขึ้นได้จริง


5.ยื่นภาษีเงินได้ก้อนสุดท้ายก่อนเกษียณ

5.1 เงินเดือนหรือเงินได้ต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้ตามปกติ

5.2 เงินชดเชยเพราะเหตุเกษียณอายุไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน จึงต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้ตามปกติ

5.3 เงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการจะได้รับการยกเว้นภาษี เมื่อสมาชิกมีอายุ 55 ปีขึ้นไป และเป็นสมาชิกกองทุนเกินกว่า 5 ปี


6.ดูว่ารายได้หลังเกษียณต้องเสียภาษีหรือไม่

ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี

ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี

1. ดอกเบี้ยเงินฝากประจำไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี

1. เงินปันผลจากหุ้น หรือกองทุน (สามารถเลือกหักภาษี ณ ที่จ่ายได้)

2. เงินคืนประกันบำนาญ

2. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8)

3. กำไรจากการขายหุ้นหรือกองทุน

3. เงินบำนาญข้าราชการ ถ้าถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี กรมบัญชีกลางจะคำนวณและหักภาษีไว้ในแต่ละเดือน

4. การขายคืนหน่วยลงทุนในกองทุน RMF

5. บำเหน็จ บำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคม

6. บำเหน็จดำรงชีพของข้าราชการ

7. หากอายุเกิน 65 ปี และมีรายได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี จะได้รับสิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาท เช่น หากมีเงินได้ 240,000 บาท สามารถใช้สิทธิยกเว้นเงินได้สำหรับ 190,000 บาทแรก และจะเหลือรายได้ที่ต้องไปคำนวณภาษีเพียง 50,000 บาท

8. หากอายุเกิน 60 ปี และมีรายได้ไม่เกิน 30,000 ต่อปี บุตรสามารถใช้สิทธิเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีได้ 30,000 บาท

7.เตรียมงานเสริมไว้ทำช่วงเกษียณ

วัยเกษียณไม่ได้หมายความว่าต้องหยุดทำงานทุกอย่าง ในทางกลับกัน การเลือกทำงานเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่เครียดมาก หรือทำงานเพื่อสังคม จะช่วยทำให้ช่วงเวลาว่างมีคุณค่ามากขึ้น และจากงานวิจัยของ The International Journal of Aging and Human Development พบว่า คนที่ทำงานในช่วงวัยเกษียณมักมีสุขภาพที่ดีขึ้นทั้งด้านร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ระดับความพึงพอใจในชีวิตยังเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย


8.วางแผนลงทุนช่วงเกษียณ

ในกรณีที่ถือครองกองทุน RMF อยู่และยังมีรายได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี แนะนำให้ลงทุนต่อเนื่องใน RMF เพื่อใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษี นอกจากนี้ ควรลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงน้อย เน้นรักษาเงินต้น และได้รับผลตอบแทนแม้จะไม่สูงมากแต่สม่ำเสมอ เช่น การซื้อพันธบัตร กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ หรือการลงทุนในกองทุนที่จ่ายเงินปันผล สิ่งที่สำคัญอีกประการ คือ การกระจายความเสี่ยงโดยเน้นลงทุนให้หลากหลายเพื่อป้องกันการสูญเสียเงินออมทั้งหมดในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน


9.เตรียมเงินสำหรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ

เมื่ออายุมากขึ้น ย่อมมีปัญหาด้านสุขภาพบ้าง จึงควรกันเงินส่วนหนึ่งไว้เพื่อตรวจสุขภาพประจำปี และใช้จ่ายยามเจ็บป่วย หากเคยใช้บริการสถานพยาบาลของประกันสังคมและอยากรักษาสิทธินี้ไว้ สามารถเปลี่ยนสิทธิผู้ประกันตนจากมาตรา 33 ที่เคยใช้ตอนทำงานมาเป็นมาตรา 39 ได้ โดยจ่ายเงินสมทบ 432 บาทต่อเดือน เพื่อรักษาสิทธิการรักษาพยาบาลไว้ได้จนกระทั่งเสียชีวิต ถ้าไม่อยากใช้สิทธิประกันสังคม สามารถใช้สิทธิบัตรทองแทนได้ นอกจากนี้การซื้อประกันสุขภาพนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง โดยเน้นแบบการันตีการต่ออายุเทียบเท่าอายุขัยเฉลี่ยของคนไทย ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะต้องเริ่มทำประกันสุขภาพก่อนอายุ 65 ปี อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสามารถลดลงได้ หากรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยควรเริ่มต้นดูแลตัวเองตั้งแต่ตอนนี้


การวางแผนเกษียณตั้งแต่วันนี้ คือ การเตรียมความพร้อมให้กับตนเองในด้านร่างกาย จิตใจ และสถานะทางการเงิน การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่าแผนการเกษียณที่วางไว้นั้นเหมาะสมแล้ว และการทำ To-Do List จะช่วยให้แน่ใจมากขึ้นว่าไม่ตกหล่นเรื่องสำคัญ และพร้อมก้าวสู่อิสรภาพในช่วงวัยเกษียณอย่างแท้จริง