5 เรื่องต้องรู้ ก่อนซื้อ RMF ลดหย่อนภาษี

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ Retirement Mutual Fund (RMF) เป็นรูปแบบการลงทุนที่คนอายุน้อยๆ มักจะมองข้าม เพราะคิดว่ากว่าจะได้ขายคืนเพื่อนำเงินออกมา ต้องรอจนถึง อายุ 55 ปีบริบูรณ์ และต้องลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปีอีกด้วย แต่จริงๆ แล้วความเข้าใจนี้อาจไม่ถูกนัก หากได้เจาะลึกลงไปที่ตัว RMF อีกสักนิด คุณอาจเปลี่ยนใจมาเริ่มต้นลงทุนใน RMF เป็นตัวเลือกแรกๆ เลยก็ได้

 

เริ่มซื้อ RMF ตอนไหนดี

RMF เป็นผลิตภัณฑ์การออม การลงทุน ตัวแรกๆ ที่ควรซื้อเก็บไว้ยิ่งเร็วยิ่งดี เพราะจะมีเวลาให้ผู้ลงทุนได้ทยอยใส่เงินเก็บไว้ใช้ยามเกษียณแบบสบายๆ และเงินที่ลงทุนไปนั้นก็จะมีเวลาสร้างดอกออกผลได้เต็มที่ รวมถึงได้ฝึกวินัยในการออมและการลงทุนตั้งแต่ยังหนุ่มสาว เพราะต้องซื้อต่อเนื่องแบบเก็บสะสมไปเรื่อยๆ อีกทั้งการเริ่มลงทุนเร็ว ยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้หลายปีด้วย

rmf-567123898

นับครบ 5 ปีลงทุนอย่างไร ไม่ผิดเงื่อนไข

ระยะเวลาถือครอง RMF มีเงื่อนไขคือ ต้องลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปีบริบูรณ์ แบบวันชนวัน ปีชนปี สามารถเว้นการลงทุนได้ไม่เกิน 1 ปีติดต่อกัน (ซื้อปีเว้นปีได้) โดยการนับอายุของ RMF จะนับจากกองทุน RMF กองแรกที่เราซื้อเข้ามาอยู่ในพอร์ต จากนั้นจะทยอยซื้อ RMF กองเดิม หรือกองใหม่ๆ เพิ่มก็ได้ ไม่แยกนับอายุรายกองทุนเหมือนการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ


หากอายุผู้ลงทุนยังไม่ครบ 55 ปีบริบูรณ์ จะไม่สามารถขายคืนได้ หรือหากอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ แต่ระยะเวลาลงทุนไม่ครบ 5 ปี ก็จะต้องถือต่อให้ครบ เช่น เริ่มซื้อ RMF เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2565 และมีการซื้อต่อเนื่อง ไม่ว่าจะซื้อกองเดิม หรือซื้อกองใหม่ๆ ภายหลังก็ตาม ทุกกองที่ซื้อ จะถือว่าครบกำหนดตามเงื่อนไขในวันที่ 10 ม.ค. 2570 และจะสามารถขายหน่วยลงทุนทั้งหมดโดยไม่ผิดเงื่อนไขการถือครองในวันที่ 11 ม.ค. 2570 ยกเว้นผู้ที่ไม่ได้ลงทุนต่อเนื่อง เช่น ลงทุนแบบปีเว้นปี ก็จะต้องถือครองเป็น 10 ปี เพราะการนับระยะเวลาของ RMF จะนับเฉพาะปีที่มีการซื้อหน่วยลงทุนเท่านั้น

 

ซื้อเกินเงื่อนไขทางภาษีได้หรือไม่

เราสามารถซื้อ RMF เพื่อลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมินก่อนหักภาษีและค่าลดหย่อนต่างๆ  และเมื่อรวมกับการออมเพื่อเกษียณอื่นๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน รวมถึงประกันแบบบำนาญ และ SSF ต้องไม่เกิน 500,000 บาท


หากลงทุนเกินเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนดข้างต้น จะได้รับการยกเว้นกำไรจากการขายเมื่อถือครบกำหนดเฉพาะส่วนที่นำมาลดหย่อนภาษีได้เท่านั้น กำไรส่วนที่ซื้อเกินจะไม่ได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษี อีกทั้งยังต้องนำกำไรในส่วนที่เกินนั้นไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ด้วย ซึ่งจะยุ่งยากในการย้อนกลับไปดูรายละเอียดในส่วนที่เกินเงื่อนไขภาษีของแต่ละกองทุนในแต่ละปี ดังนั้นจึงไม่ควรซื้อเกินกว่าสิทธิที่กฎหมายกำหนด

 

ทำไมจึงควรทยอยซื้อตั้งแต่ต้นปี

การลงทุนใน RMF ก็เหมือนกับการลงทุนรูปแบบอื่นๆ ที่ต้องศึกษานโยบายของกองทุนว่านำไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดบ้าง มีการกระจายในหลากหลายอุตสาหกรรมมากน้อยเพียงใด มีสัดส่วนการลงทุนอย่างไร มีเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยในการทยอยเข้าซื้อ RMF แต่ละตัวในจังหวะที่เหมาะสมได้ หรือจะใช้วิธีทยอยซื้อแบบเฉลี่ยต้นทุน ด้วยการลงทุนเท่าๆ กันทุกเดือนแบบ DCA ก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นการหาจังหวะลงุทน หรือทยอยซื้อแบบ DCA หรือผสมทั้งสองแบบ ก็ควรคำนวณไว้ก่อนว่า เราสามารถซื้อได้เท่าไหร่ถึงจะไม่เกินสิทธิทางภาษี ส่วนเงินลงทุนส่วนที่เกินนั้นจะได้นำไปวางแผนลงทุนในรูปแบบอื่นๆ ควบคู่กันไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ครบกำหนดขายคืน ควรขายทั้งก้อน หรือทยอยขาย

ผู้ลงทุนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และได้มีการลงทุนใน RMF ต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปีเต็มแล้ว แต่ยังมีรายได้ และต้องการใช้สิทธิลดหย่อนทางภาษีอยู่ กรณีนี้ไม่ควรรีบขายคืน เพราะหากผู้ลงทุนมีการซื้อ RMF เพิ่มเติมหลังจากได้ขาย RMF ที่ครบเงื่อนไขไปแล้ว ไม่ว่าจะขายทั้งหมด หรือบางส่วนก็ตาม การนับระยะเวลาการลงทุน RMF ทั้งหมดที่ถืออยู่ จะต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด ทำให้ผู้ลงทุนต้องรออีกอย่างน้อย 5 ปีเต็ม ถึงจะขาย RMF กองที่ยังถืออยู่ได้อีกครั้งโดยไม่ผิดเงื่อนไขการนำไปลดหย่อนทางภาษี


ส่วนใครที่ไม่มีรายได้แล้ว กรณีนี้สามารถเลือกขายเพื่อนำเงินออกมาทั้งหมด หรือทยอยขายก็ได้ เพราะไม่มีเงื่อนไขทางภาษีมาเกี่ยวข้องแล้ว โดยเงินที่นำออกมานั้น ควรใช้ตามวัตถุประสงค์ของกองทุน เพื่อเป็นแหล่งรายได้เก็บไว้ใช้ในช่วงหลังเกษียณอย่างแท้จริง