พินัยกรรม เรื่องสำคัญห้ามมองข้ามในยุคที่ชีวิตไม่แน่นอน

ในยุคปัจจุบันที่มีโรคระบาดและโรคภัยไข้เจ็บมากยิ่งขึ้น การทำพินัยกรรมนั้นได้รับการยอมรับจากวงการบริหารและส่งต่อความมั่งคั่งของครอบครัวว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ และเป็นสิ่งที่ไม่ควรคิดที่จะจัดทำตอนอายุมากเพื่อลดปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นหากเกิดเรื่องไม่คาดคิดขึ้น เช่น การเสียชีวิตก่อนทำพินัยกรรม เจ็บป่วยจนถึงขนาดที่ไม่สามารถทำพินัยกรรมได้ ดังนั้น การทำพินัยกรรมจึงเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาจัดเตรียมและจัดทำในทันทีสำหรับผู้ที่ต้องการส่งต่อมรดกให้แก่คนรุ่นหลัง


คำว่า ‘พินัยกรรม’ หมายความถึงอะไร?
พินัยกรรมก็คือหนังสือที่แสดงเจตจำนงของผู้ที่กำลังจะจากไปว่าต้องการให้ส่งต่อกองมรดกของตนอย่างไรถ้าตนเองได้จากไปแล้ว ส่วนคำว่า ‘กองมรดก’ คำนี้ก็จะรวมถึงสิทธิหน้าที่ ทรัพย์สิน รวมถึงของที่ต่อติดไปกับทรัพย์สิน เพื่อส่งต่อไปให้แก่ผู้รับพินัยกรรมหรือทายาทโดยธรรม

opinion-testament-03

ดร.สาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส Estate Planning And Family Office ธนาคารไทยพาณิชย์

หลายท่านอาจจะมีคำถามในใจว่าเราสามารถเขียนพินัยกรรมได้เองหรือไม่? เราจะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีข้อมูลการจัดทำพินัยกรรม รวมทั้งตัวอย่างพินัยกรรมมากมายในอินเทอร์เน็ตให้เราศึกษา ซึ่งถ้าเรามีความมั่นใจว่าสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในการทำพินัยกรรมได้อย่างถูกต้องตรงตามแบบที่กฎหมายกำหนด เราก็อาจจะเขียนพินัยกรรมด้วยตนเองได้


ในกรณีที่เราอยากทำพินัยกรรมด้วยตนเอง ประเด็นแรกที่เราควรทำความเข้าใจนั่นก็คือพินัยกรรมจะสามารถจัดการได้ เฉพาะทรัพย์สินของตัวเองเท่านั้น ดังนั้นเราจะต้องรู้ก่อนที่จะทำพินัยกรรมว่าเรามีทรัพย์สินเท่าไรกันแน่ คำว่าเท่าไรนั้นก็อาจจะไม่จำเป็นต้องรู้ในรายละเอียดว่ามีเงินจำนวนเท่าไร แต่เราควรจะรู้ว่าตนเองมีทรัพย์สินอะไรบ้าง ทรัพย์สินที่มีอยู่เป็นสินสมรสหรือไม่

อย่างในกรณีที่เป็นคู่สามีภรรยาจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย อยู่กินกันมายาวนาน ทรัพย์สินที่มีและหามาได้ร่วมกันก็เป็นสินสมรสทั้งหมด ซึ่งสินสมรสนั่นหมายถึงทรัพย์สินทั้งหมดที่ได้มาในระหว่างสมรส และเกิดจากการทำมาหากินร่วมกันหลังสมรสทั้งสิ้น โดยสามีมีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินอยู่ 30 หน่วย มีอยู่ในชื่อภรรยา 70 หน่วย เมื่อสามีจะทำพินัยกรรมก็อาจจะเข้าใจว่าทรัพย์สินที่สามารถส่งต่อให้แก่ผู้รับพินัยกรรมของตนมีแค่ 30 หน่วย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง เพราะว่าจริงๆ แล้วทรัพย์สินของผู้จากไปจะต้องคิดจากสินสมรสที่มีอยู่ร่วมกัน โดยต้องแบ่งสินสมรสคนละครึ่งให้ถูกต้องเสียก่อน ซึ่งในกรณีนี้ก็คือจะแบ่งได้คนละ 50 หน่วย ดังนั้นในกรณีนี้สามีจะทำพินัยกรรมเพื่อส่งต่อทรัพย์สินของตนได้ 50 หน่วยนั่นเอง


ประเด็นที่สอง เราสามารถกำหนดในพินัยกรรมได้ว่า คนใดจะเป็นผู้รับพินัยกรรมของเรา รวมทั้งสามารถกำหนดสัดส่วนทรัพย์สินให้แก่ผู้รับพินัยกรรมได้ด้วย ซึ่งผู้รับพินัยกรรมจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน


แต่อย่างไรก็ดี หากเราไม่ค่อยมีความแน่ใจในการทำพินัยกรรม และอยากที่จะได้กลยุทธ์ในการทำพินัยกรรมให้เหมาะกับการส่งต่อทรัพย์สิน การจ้างผู้เชี่ยวชาญซึ่งก็คือทนายความก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่หลายคนนิยมทำกัน


สำหรับท่านที่ยังลังเล ไม่แน่ใจว่าควรทำพินัยกรรมดีหรือไม่ ในกรณีนี้เราควรจะมีความรู้ความเข้าใจว่า ถ้าเราไม่ทำพินัยกรรมทรัพย์สินของเราจะตกไปสู่ทายาทโดยธรรม ซึ่งกฎหมายไทยก็จะกำหนดไว้เลยว่าใครบ้างที่เป็นทายาทโดยธรรม โดยจะแบ่งไว้เป็น 2 กลุ่มตามรูปภาพด้านล่างนี้

กลุ่มที่ 1 เราเรียกว่าทายาท 6 ลำดับ ส่วนกลุ่มที่ 2 คือคู่สมรส


หากผู้ที่จากไปมีทายาทโดยธรรมทุกลำดับ ผู้ที่มีสิทธิได้รับกองมรดกจะไม่ใช่ทุกลำดับที่มีอยู่ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่าทายาทโดยธรรมที่อยู่ในลำดับก่อนหน้าจะตัดสิทธิทายาทโดยธรรมลำดับหลัง ยกเว้นเพียงกรณีเดียวที่ไม่มีการตัดลำดับนั่นก็คือลำดับที่ 1 และลำดับที่ 2 มีสิทธิรับกองมรดกพร้อมกัน ซึ่งคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายจะถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งจะได้รับกองมรดกร่วมกับทายาทลำดับต่างๆ ตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด


ยกตัวอย่างเช่น กรณีผู้จากไปมีทรัพย์สินอยู่ 50 หน่วย มีคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยมีบุตร 2 คน บิดามารดาก็ยังมีชีวิตอยู่ กรณีนี้ทายาทลำดับที่ 1 จะมี 2 ท่าน บิดามารดาเป็นทายาทลำดับที่ 2 ก็มี 2 ท่าน เวลาแบ่งคู่สมรสจะได้แบ่งเท่าบุตร บิดามารดาของผู้จากไปก็จะได้แบ่งเท่าบุตรเช่นกัน เพราะฉะนั้นทั้ง 5 คนจะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ดังนั้นแต่ละท่านจะได้คนละ 10 หน่วย เป็นการแบ่งตามข้อสันนิษฐานของกฎหมาย


เพราะฉะนั้นท่านเห็นแล้วใช่หรือไม่ครับว่าพินัยกรรมมีความสำคัญ หากเราเขียนได้ถูกต้องหรือหากมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเขียน การส่งต่อกองมรดกของเราก็จะถูกต้องตรงกับเจตนา และลดภาระที่จะให้ลูกหลานมานั่งคุยกันหรือตกลงกันเอง เพราะพินัยกรรมเป็นเจตนาที่แท้จริงของเจ้าของทรัพย์ ทุกคนก็จะเคารพตามหลักพินัยกรรมนี้ ดังนั้นผมจึงขอเชิญชวนให้มาทำพินัยกรรม เพื่อทำให้ความมั่งคั่งนั้นส่งต่อไปยังลูกหลานได้ถูกต้อง เหมาะสม เป็นธรรม และลดการทะเลาะเบาะแว้งของแต่ละครอบครัวนะครับ


#SCBPrivateBanking #SCBWealth #FamilyWealthPlanning #SCBFamilyOffice


บทความโดย ดร.สาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส Estate Planning And Family Office ธนาคารไทยพาณิชย์


ข้อมูล ณ วันที่  17 พฤษภาคม 2566


ที่มา : T he Standard Wealth