อยากให้เป็นไปตามที่ตั้งใจ เขียนเงื่อนไขพินัยกรรมอย่างไรให้รอบคอบ (พร้อมกรณีศึกษา)

“ทองประศรี อยากยกที่ดินในจังหวัดกาญจนบุรีให้แก่หลานชาย คือ เด็กชายพลายงาม แต่ ทองประศรี ไม่อยากให้ ขุนแผน ลูกชายของตน ซึ่งเป็นพ่อ รวมถึง วันทอง แม่ของเด็กชายพลายงามมีอำนาจมายุ่งหรือจัดการที่ดินแปลงนี้ จึงทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้เด็กชายพลายงาม พร้อมตั้งให้ทนายความ ขุนช้าง เป็นผู้ปกครองทรัพย์สินตามพินัยกรรม พินัยกรรมที่ระบุแบบนี้มีผลตามกฎหมายหรือไม่? พ่อแม่ของเด็กชายพลายงามจะมาจัดการกิจใดๆ ในที่ดินนี้แทนเด็กชายพลายงามโดยใช้สิทธิความเป็นพ่อแม่ได้หรือไม่?”


เมื่อพูดถึงคำว่า ‘พินัยกรรม’ คนเรานึกถึงอะไรกันบ้างคะ ทรัพย์สิน, ลูกหลาน, การส่งต่อทรัพย์สิน, ทายาท, การเจ็บป่วย หรือ ความตาย คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้นึกถึงพินัยกรรมในความหมายแง่บวกเท่าใดนัก แต่จะนึกว่าเมื่อมีการทำพินัยกรรมแสดงว่ามีความตายรออยู่ตรงหน้าหรือลูกหลานทะเลาะกัน จัดการทรัพย์สินกันเองแบบโต้เถียงกัน แท้จริงแล้วพินัยกรรมไม่ได้เป็นตัวร้ายในนิยายขนาดนั้น


แต่พินัยกรรมสามารถช่วยออกแบบการส่งต่อมรดกให้เจ้าของทรัพย์สินได้ในหลายๆ รูปแบบ สมบัติของเรา เราย่อมจะดีไซน์และเลือกได้ว่าเราจะยกสมบัติของเราให้ใครและด้วยวิธีใด หากเป็นการส่งต่อมรดกที่ไม่ได้มีการทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์มรดกจะตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย แต่หากมีการทำพินัยกรรม เจ้าของทรัพย์สินจะสามารถกำหนดได้ว่ายกอะไรให้ใคร รวมถึงกำหนดเงื่อนไขในการยกทรัพย์สินให้ได้ด้วย บทความในวันนี้เราจะมาคุยกันถึงเงื่อนไขต่างๆ ในพินัยกรรมว่าอะไรที่ทำได้บ้าง โดยเราจะยกตัวอย่างเคสที่เคยเป็นคดีจริงๆ ในศาลมาบอกเล่ากันค่ะ


ก่อนอื่นเรามาทบทวนกันก่อนว่า พินัยกรรมคือคำสั่งสุดท้ายที่เจ้ามรดกทำไว้ก่อนเสียชีวิต โดยระบุว่าจะยกทรัพย์สินที่เป็นทรัพย์มรดกของตนให้กับใครบ้าง ทรัพย์สินที่จะยกให้กับผู้อื่นได้นั้นต้องเป็นทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้ามรดกในขณะที่เจ้ามรดกเสียชีวิต พินัยกรรมที่มีผลทางกฎหมายมี 5 แบบ แต่แบบที่ทำง่ายและเป็นที่นิยมมี 2 แบบคือ พินัยกรรมแบบธรรมดา และพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ


พินัยกรรมแบบธรรมดา

terms-of-the-will-proper-writing-02

พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ

เงื่อนไขต่างๆ ในพินัยกรรม


พินัยกรรมในหลายๆ กรณีสามารถช่วยให้เจ้ามรดกกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในการส่งต่อมรดกให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ เช่น ห้ามไม่ให้ลูกผู้รับมรดกขายทรัพย์มรดกประเภทอสังหาริมทรัพย์ (บ้านหรือที่ดิน) อย่างไรก็ตาม ต้องระวังว่าพินัยกรรมแบบมีเงื่อนไขดังกล่าวต้องทำให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดจึงจะมีผลใช้บังคับได้


กรณีศึกษา:
 ตามพินัยกรรมมีข้อกำหนดห้ามวินเชนโซ่ ซึ่งเป็นผู้รับทรัพย์สินตามพินัยกรรมโอนทรัพย์สินนั้น แต่พินัยกรรมไม่ได้กำหนดให้มีบุคคลใดนอกจากวินเชนโซ่ให้เป็นผู้รับทรัพย์สินนั้นต่อไป กฎหมายจึงถือว่าไม่มีการระบุข้อกำหนดห้ามโอนนั้นเลย ดังนั้นเมื่อเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินให้แก่วินเชนโซ่แล้ว วินเชนโซ่จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว มีสิทธิโอน ขาย หรือกระทำการใดๆ เกี่ยวกับที่ดินนั้นได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1480/2559) ดังนั้นหากต้องการระบุเงื่อนไขห้ามไม่ให้ผู้รับมรดกโอนขายทรัพย์สินมรดก เจ้ามรดกผู้ทำพินัยกรรมต้องกำหนดในพินัยกรรมด้วยว่า หากผู้รับมรดกนั้นฝ่าฝืนเงื่อนไขในพินัยกรรม เจ้ามรดกต้องการให้บุคคลใดเป็นผู้ได้รับทรัพย์สินนั้นต่อไป เช่น ข้าพเจ้าขอยกบ้านและที่ดินโฉนดเลขที่ 123 ตั้งอยู่ที่ XXX ให้แก่วินเชนโซ่ แต่ข้าพเจ้าขอห้ามมิให้วินเชนโซ่ขายบ้านและที่ดินดังกล่าวภายในระยะเวลา XXX ปี (หรือจะห้ามโอนตลอดชีวิตของวินเชนโซ่ก็ได้) โดยหากวินเชนโซ่ฝ่าฝืนข้อกำหนดในพินัยกรรม ข้าพเจ้าขอกำหนดให้ ชเวมยองฮี เป็นผู้ได้รับทรัพย์สินนี้แทน ข้อสำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือเมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รับทรัพย์สินดังกล่าวแล้วจะต้องนำไปจดทะเบียนห้ามโอนที่สำนักงานที่ดินตามความที่ระบุในพินัยกรรม


อีกเรื่องหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ยกตัวอย่างกรณีที่ข้อกำหนดในพินัยกรรมระบุว่า เมื่อเจ้ามรดกเสียชีวิตแล้ว เจ้ามรดกขอยกสิทธิอยู่อาศัยและสิทธิเก็บกินในบ้านและที่ดินให้แก่ ลือ และให้ ลือ มีสิทธิ์ครอบครองและเก็บกินได้จนตลอดชีวิต เมื่อลือเสียชีวิตเมื่อใด ขอให้บ้านและที่ดินดังกล่าวนี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์แก่บุตรที่เกิดจาก น้ำพิงค์ โดยให้บุตรของน้ำพิงค์ทุกคนมีส่วนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินดังกล่าวนี้เท่ากัน ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าว เจ้ามรดกไม่ได้ยกกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่ลือ เพียงแต่ให้สิทธิอยู่อาศัยและเก็บกินตลอดชีวิตแก่ลือเท่านั้น เมื่อลือเสียชีวิต กรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินจะต้องตกเป็นของบุตรของน้ำพิงค์ (คำพิพากษาฎีกาที่ 7199/2552)


นอกจากการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการยกมรดกอสังหาริมทรัพย์ในพินัยกรรมที่เล่าไปแล้ว พินัยกรรมยังสามารถกำหนดเกี่ยวกับสิทธิ์ในการตั้งผู้ปกครองบุตรผู้เยาว์ หรือการตั้งผู้ดูแลทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์ (ผู้ปกครองทรัพย์) ของผู้เยาว์ได้อีกด้วย ทั้งนี้การทำพินัยกรรมเกี่ยวกับสิทธิ์ของผู้เยาว์ดังกล่าวมีข้อควรระวังที่ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เช่น
 

  • พินัยกรรมกำหนดตัวผู้ปกครองบุตรผู้เยาว์จะมีผลในกรณีที่บิดาหรือมารดาผู้ทำพินัยกรรมเสียชิวิตพร้อมกัน หรือกรณีที่ผู้เยาว์มีบิดาหรือมารดาที่มีชีวิตอยู่เพียงคนเดียวแล้ว (เพราะหากลูกยังมีพ่อหรือแม่ที่มีชีวิตอยู่ ผู้มีอำนาจปกครองบุตรย่อมต้องเป็นพ่อหรือแม่ที่ยังมีชีวิต ณ ขณะนั้น) และบุตรผู้เยาว์เต็มใจให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ปกครอง โดยบุคคลที่จะมาเป็นผู้ปกครองก็ต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดด้วย เช่น ผู้ปกครองต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว หรือต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเป็นบุคคลที่เคยมีคดีความกับผู้เยาว์ เป็นต้น
     
  • พินัยกรรมตั้งผู้ดูแลทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์ (ผู้ปกครองทรัพย์) เป็นกรณีที่เจ้ามรดกต้องการยกทรัพย์สินให้แก่ผู้เยาว์ แต่ไม่ต้องการให้ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์มีสิทธิ์จัดการทรัพย์มรดก จึงกำหนดตั้งผู้ปกครองทรัพย์ไว้ เช่น ทองประศรีอยากยกที่ดินในจังหวัดกาญจนบุรีให้แก่หลานชายคือ เด็กชายพลายงาม แต่ทองประศรีไม่อยากให้ ขุนแผน ลูกชายของตน ซึ่งเป็นพ่อ หรือ วันทอง แม่ของเด็กชายพลายงามมีอำนาจมายุ่งหรือจัดการที่ดินแปลงนี้ จึงทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้เด็กชายพลายงาม พร้อมตั้งให้ทนายความ ขุนช้าง เป็นผู้ปกครองทรัพย์คือที่ดินกาญจนบุรีตามพินัยกรรม ดังนั้นพ่อแม่ของเด็กชายพลายงามก็ไม่สามารถจัดการใดๆ ในที่ดินนี้แทนเด็กชายพลายงาม ได้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายยังกำหนดให้การตั้งผู้ปกครองทรัพย์ตามพินัยกรรมต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินด้วยจึงจะสมบูรณ์และใช้กล่าวอ้างกับบุคคลภายนอกที่สุจริตได้


ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างยอดฮิตที่ว่าพินัยกรรมมีประโยชน์กับการจัดการทรัพย์สินของเราๆ อย่างไรบ้าง


ที่สำคัญคือพินัยกรรมสามารถทำได้ด้วยตนเองและไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ อย่าคิดว่าพินัยกรรมเป็นเรื่องที่ไกลตัวและไม่เกี่ยวข้องกับเรา เพราะการทำพินัยกรรมไว้ก่อนไม่ได้มีผลเสียอะไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากเจ้าของทรัพย์สินที่รู้ตัวว่าตนเองมีทรัพย์สินจำนวนมาก มีเงื่อนไขที่ค่อนข้างพิเศษ หรืออยากจัดการทรัพย์สินในยามที่จากไปให้รัดกุม เป็นไปตามแบบที่กฎหมายกำหนดและไม่เป็นที่ถกเถียงของเหล่าผู้รับมรดก การมีทนายความที่ปรึกษากฎหมายผู้เชี่ยวชาญก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้การเขียนพินัยกรรมง่ายขึ้นได้


อ้างอิง : ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวดพินัยกรรม และการตั้งผู้ปกครองคำพิพากษาฎีกาจากเวปไซต์เนติบัณฑิตยสภา


บทความโดย คุณกมลชนก รามโกมุท ผู้อำนวยการ Estate Planning and Family Office ธนาคารไทยพาณิชย์
 

*ข้อมูล ณ วันที่ 19 เมษายน 2564


ขอบคุณข้อมูล/ภาพ : The Standard Wealth