มีลูกช้า ต้องวางแผนการเงินอย่างไร

เมื่อตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตในรูปแบบครอบครัว ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบก็เพิ่มสูงขึ้น เพราะเราไม่ได้ก้าวเดินตัวคนเดียวอีกต่อไป  เราต้องคิดถึงคู่ชีวิต และหากมีลูก การเดินแต่ละก้าวต้องเกิดจากการวางแผนการเงินที่ดี เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดโดยเฉพาะเรื่องเงินๆ ทองๆ


ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อคนเรามีครอบครัวจะมีภาระความรับผิดชอบที่สูงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีลูกช้า นอกจากที่จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น การวางแผนการเงินก็มีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออม การลงทุน การบริหารทรัพย์สินและหนี้สิน ค่าใช้จ่ายต่างๆ การวางแผนอนาคตให้ลูก ทั้งด้านการศึกษา การประกันชีวิต รวมถึงแผนสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ การวางแผนเกษียณอายุ ซึ่งนับว่ามีความละเอียดอ่อน และต้องวางแผนกันอย่างรอบคอบ เพราะเราจะไม่สามารถคาดหวังให้ลูกมาเลี้ยงดูเราได้ในยามแก่ชรา การที่มีลูกช้า กว่าที่ลูกจะเรียนจบ เราก็อาจจะเกษียณอายุไปแล้ว ดังนั้นแผนเกษียณอายุจึงเป็นแผนสำคัญสำหรับพ่อแม่ที่มีลูกช้า ซึ่งไม่ควรมองข้าม


การวางแผนการเงินสำหรับพ่อแม่ที่มีลูกช้า สามารถทำได้ดังนี้

1. อย่าใช้เงินเกษียณเป็นค่าเล่าเรียนลูก

ประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะพ่อแม่ที่มีลูกช้า ที่ผ่านมาอาจมีการเตรียมการเรื่องเงินมาเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามพอมีลูกแล้ว ก็อาจจะเอาเงินเก็บส่วนนั้นมาเป็นค่าเล่าเรียนลูก และเผลอคิดว่ากว่าจะเกษียณยังอีกตั้งนาน จึงละเลยการเก็บเงินเพื่อการเกษียณอายุของตัวเอง จนทำให้เกษียณไม่ได้ เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเรามักคิดว่าการเกษียณยังอีกนาน ยังพอมีเวลา แต่การศึกษาลูก เป็นเรื่องใกล้กว่า ต้องจัดการเลย เพราะต้องส่งลูกเรียนหนังสือแล้ว และหัวอกคนเป็นพ่อแม่ ก็ย่อมที่อยากให้ลูกได้รับในสิ่งที่ดีที่สุด พ่อแม่หลายคนก็เลยทุ่มไม่อั้นให้กับลูก


แต่ในความเป็นจริง สำหรับเด็ก เขายังมีทางเลือกมากมาย มีทั้งทุนการศึกษาต่างๆ และเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา แต่ผู้ใหญ่อย่างเราไม่มีเงินกู้ยืมเพื่อการเกษียณ นอกจากนี้เรายังต้องมีเงินใช้ไปอีกอย่างน้อย 20-25 ปี หลังเกษียณ เมื่อเทียบกับการศึกษาลูกช่วงมหาวิทยาลัยแค่ 4 ปี เราคิดว่าเป้าหมายไหนน่าจะบรรลุยากกว่ากัน


นอกจากนี้ การที่เรามีลูกช้า กว่าลูกจะเรียนจบ เราก็น่าจะใกล้เกษียณหรือเกษียณไปแล้ว เช่น สมมติว่าเพิ่งจะมีลูกตอนอายุประมาณ  35 – 40 ปี กว่าลูกจะเรียนจบปริญญาตรี คืออายุ 22 ปี ตอนที่ลูกเรียนจบ พ่อแม่ก็จะมีอายุประมาณ 57 – 62 ปี ทำให้เราไม่สามารถคาดหวังให้ลูกมาเลี้ยงดูเราในยามเกษียณได้เลย ดังนัเนการวางแผนเกษียณอายุจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ


2. แยกพอร์ตลงทุนหรือออมเงินเพื่อเกษียณอายุและเพื่อการศึกษาลูกให้ชัดเจน

หากต้องการวางแผนการเงินให้สำเร็จทั้ง 2 เป้าหมาย จำเป็นต้องมีการแยกพอร์ตการลงทุนสำหรับทั้ง 2 เป้าหมายให้ชัดเจน ความชัดเจนทั้งเป้าหมายและวิธีการจะช่วยให้โอกาสสำเร็จมีมากขึ้น เพราะไม่มีเครื่องมือการเงินชนิดใดที่จะสามารถตอบสนองได้ทุกเป้าหมาย ดังนั้นเมื่อเป้าหมายต่างกัน ระยะเวลาการลงทุนก็ต่างกัน เราจึงต้องใช้เครื่องมือที่แตกต่างกัน


โดยที่ทางเลือกแรกสำหรับการออมและลงทุนเพื่อการศึกษาลูก สามารถลงทุนผ่านสินค้าประกันชีวิต เช่น ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือประกันชีวิตแบบยูนิต ลิงค์ เนื่องจากมีส่วนของการออมและส่วนของความคุ้มครองควบคู่กันไปเพราะสิ่งสำคัญของการวางแผนการศึกษาลูก นอกจากมีเงินเพียงพอให้ลูกเรียนหนังสือจนจบการศึกษาตามที่ตั้งใจไว้แล้ว ยังต้องมีความคุ้มครองกรณีที่พ่อหรือแม่จากไปก่อนวัยอันควรด้วย ส่วนทางเลือกที่ 2 พ่อแม่อาจจะลงทุนผ่านกองทุนรวม และทำประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองรายได้และทุนการศึกษาลูก


ส่วนพอร์ตการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ พ่อแม่สามารถลงทุนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund ของบริษัท กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นต้น

3. ใช้ระบบการออมและการลงทุนอัตโนมัติ

การออมและการลงทุนแบบอัตโนมัติจะสร้างวินัย และช่วยขจัดอารมณ์ในการลงทุนออกไปได้ อีกทั้งยังเป็นระบบที่ทำให้เราได้ ‘ เก็บก่อนใช้ ’ เช่น การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือหากบริษัทไม่มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็อาจใช้วิธีหักเงินลงทุนอย่างสม่ำเสมอเพื่อลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออมหรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ การลงทุนแบบนี้จะเป็นการใช้ระบบการลงทุนแบบบังคับตนเอง และด้วยเงื่อนไขของกองทุนดังกล่าวข้างต้น จะทำให้เราไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ก่อนกำหนด หรือถอนยากขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้ง่ายยิ่งขึ้นนั่นเอง


4. วางแผนคุ้มครองรายได้และทุนการศึกษาด้วยประกันชีวิต

ไม่ว่าเราจะมีการวางเป้าหมายในเรื่องใดของชีวิต ประกันชีวิตก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยเราได้เสมอ ยิ่งเรามีลูกช้า บางคนมีลูกตอนอายุ 35 - 40 ปี ถัดไปอีก10 ปี ลูกเพิ่ง 10 ขวบ ยังไม่ทันเรียนจบม.ต้น เกิดโชคร้ายตรวจเจอว่าเป็นโรคร้ายแรงขึ้นมา ดับฝันทั้งครอบครัวเลย ตนเองก็ป่วยต้องใช้เงินรักษา ลูกก็ไม่มีเงินเรียน ดังนั้นทำประกันไว้ในวันที่ยังสุขภาพดี ไม่ใช่เพื่อตัวเราเองคนเดียว แต่เพื่อครอบครัวที่รักด้วย เพราะในเวลาที่เราจากไป หากมีประกันที่เหมาะสม อนาคตของครอบครัวและของลูกจะได้ยังเดินต่อไปได้อย่างดี


5. หารายได้เพิ่มและลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมื่อเรามีลูก เราก็จะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวี จะหวังให้ตนเองมีรายได้เท่าเดิม ทำทุกอย่างเหมือนเดิม แล้วให้พอกิน พอใช้ ก็ดูจะเกินไปหน่อย การหารายได้เพิ่ม หรือสร้างรายได้ทางที่ 2-3-4 ทั้งจากตนเอง ทั้งจากการลงทุน เป็นเรื่องที่ต้องทำ รวมทั้งเราอาจจำเป็นต้องเลื่อนเวลาเกษียณอายุออกไป หากลูกยังเรียนไม่จบก่อนที่จะเกษียณก็เป็นได้


กล่าวโดยสรุป พ่อแม่ต้องสร้างสมดุลระหว่างชีวิตของตนเองและชีวิตของลูก ไม่ให้เรื่องใดเรื่องหนึ่งหนักมากจนทำให้อีกเรื่องหนึ่งได้รับผลกระทบ เช่น การให้การศึกษาลูกต้องเหมาะสม ถ้าหากเน้นจนเกินกำลังความสามารถในการจ่าย โดยหลงลืมหรือละทิ้งการเก็บออมเพื่ออนาคตของตนเอง ย่อมไม่ส่งผลดีต่อใครในครอบครัวเลยแม้แต่คนเดียว


บทความโดย : นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC

นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร