ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
03-07-2568
หลายท่านอาจเคยสงสัยว่า หากบุคคลในครอบครัวที่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมเสียชีวิตไปก่อนเจ้ามรดก แล้วมรดกนั้นจะตกทอดอย่างไร? ลูกหลานของผู้เสียชีวิตจะได้รับมรดกแทนหรือไม่? คำตอบคือ "ได้" ครับ ทางกฎหมายเรียกว่า "การรับมรดกแทนที่" ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่ทุกคนควรเข้าใจ
สำหรับท่านที่ไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้เพราะต้องการให้มรดกของท่านตกทอดไปยังทายาทโดยธรรมตามลำดับและตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนดไว้ บางท่านก็อาจจะเข้าใจว่ามรดกนี้จะตกทอดเฉพาะทายาทโดยธรรมที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น แต่ตามหลักกฎหมายแล้วก็ยังมีเรื่องการรับมรดกแทนที่ที่จะทำให้ผู้สืบสันดานของทายาทโดยธรรมที่เสียชีวิตไปแล้วมีสิทธิรับมรดกแทนที่ได้ มาติดตามสาระสำคัญของการรับมรดกแทนที่ในบทความนี้นะครับ
ทายาทโดยธรรมตามกฎหมายมีอยู่ 6 ลำดับ ดังนี้
ตามหลักกฎหมาย หากมีทายาทโดยธรรมในลำดับก่อน ทายาทโดยธรรมลำดับก่อนนั้นจะตัดทายาทโดยธรรมลำดับหลัง ยกเว้นแต่ลำดับที่ (1) ผู้สืบสันดาน และ ลำดับที่ (2) บิดามารดา ที่จะไม่ตัดกันทำให้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันนั่นเองครับ สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายก็จะเป็นทายาทโดยธรรมลำดับพิเศษที่มีสิทธิรับมรดกร่วมกับทายาทโดยธรรมลำดับต่างๆ และตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด
ในเรื่องของการรับมรดกแทนที่จะเกิดเฉพาะในกรณีที่ทายาทโดยธรรมในลำดับที่ (1) ผู้สืบสันดาน ลำดับที่ (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ลำดับที่ (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน หรือ ลำดับที่ (6) ลุง ป้า น้า อา ได้เสียชีวิตก่อนเจ้ามรดกหรือถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกเสียชีวิต ถ้าทายาทโดยธรรมท่านที่เสียชีวิตหรือถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ในกรณีที่ผู้สืบสันดานก็เสียชีวิตหรือถูกกำจัดไม่ให้รับมรดก กฎหมายก็ได้กำหนดให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่จนหมดสาย การถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกก็จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทายาทท่านนั้นถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร เช่น ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำหรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิรับมรดกก่อนตัวเองเสียชีวิตโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ผมขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนนะครับ นาย ก. มีทายาทโดยธรรมตามกฎหมายอยู่เพียงลำดับเดียวคือ ลำดับที่ (1) บุตรชาย 2 คน ได้แก่นายโต และ นายเล็ก นายโตยังมีชีวิตอยู่ ส่วนนายเล็กเสียชีวิตไปแล้ว นายเล็กมีผู้สืบสันดานคือบุตรสาวเพียงคนเดียวชื่อ นางสาวเอ
หากนาย ก. เสียชีวิตโดยไม่ได้ทำพินัยกรรม มรดกจะตกทอดไปยังทายาทกี่ท่าน? สำหรับกรณีนี้มรดกของนาย ก. ก็จะตกทอดไปยังนายโต และ นางสาวเอ ในจำนวนเท่าๆ กัน โดยนางสาวเอมีสิทธิรับมรดกของนาย ก. ก็เพราะการรับมรดกแทนที่จากนายเล็กที่ได้เสียชีวิตไปแล้วนะครับ
หากท่านไม่ต้องการให้มรดกของท่านตกทอดไปยังทายาทโดยธรรม หรือ มีการรับมรดกแทนที่ของผู้สืบสันดาน ท่านก็อาจจะพิจารณาทำพินัยกรรมเพื่อให้มรดกของท่านตกทอดไปยังทายาทตามพินัยกรรมตามเจตนารมณ์ของท่าน เนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำพินัยกรรมท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/protect-my-family/family-wealth-preservation-will
บทความโดย : ดร.นิติ เนื่องจำนงค์ ผู้อำนวยการอาวุโส Wealth Planning and Family Office
ลูกค้า SCB PRIVATE BANKING ที่สนใจในเรื่องบริหารสินทรัพย์ครอบครัวเพื่อส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น สามารถติดต่อ Wealth Planning and Family Office Division ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ที่อีเมล familyofficeteam@scb.co.th หรือที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน (RM) ของท่าน