เมื่อความสัมพันธ์สิ้นสุดที่การ “หย่า”

ในโลกใบนี้มีผู้คนมากมายมาพบเจอกันจนสมัครรักใคร่ และสร้างเป็นครอบครัวด้วยกันในที่สุด


ในทางกฎหมาย มีการกำหนดเรื่องการอยู่ร่วมกันฉันท์สามีภรรยา หน้าที่ความรับผิดชอบ ภาระต่าง ๆ ไว้เช่นกัน และถึงแม้ความรักนั้นจะสิ้นสุดลง ก็มีบทกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการสิ้นสุดลงของความผูกพันในหน้าที่ ความรับผิดชอบ ภาระต่าง ๆ เช่นกัน เรียกว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ว่าด้วยครอบครัว การเริ่มต้นความสัมพันธ์ในทางกฎหมายจนก่อร่างสร้างเป็นครอบครัว เป็นเรื่องราวของเจตนาตกลงสมัครใจเป็นสามีภริยากัน จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย และเมื่อยุติความสัมพันธ์
โดยมิได้มีเจตนาจะอยู่กินฉันท์สามีภริยาแล้ว กฎหมายกำหนดเรื่องการหย่าไว้เช่นกัน ขออธิบายสองส่วน คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา และการสิ้นสุดการสมรส ให้เข้าใจเบื้องต้น ดังนี้


1. ความสัมพันธ์ระหว่างสามีและภริยา

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 “สามีภริยาต้องอยู่กินกันฉันสามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน”


กฎหมายกำหนดถึงภาระหน้าที่สำหรับสามีและภริยาที่ต้องปฏิบัติต่อกัน และเนื่องจากภาระหน้าที่นี้ สามีและภริยาจะต้องจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย เมื่อจดทะเบียนสมรสกัน บุตรที่เกิดมาระหว่างสมรสจะชอบด้วยกฎหมายไปด้วย

นอกจากนี้ ชายและหญิงที่จดทะเบียนสมรส นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างสามีและภริยา บุตรที่เกิดมาระหว่างสมรสจะชอบด้วยกฎหมาย และจะมีผลในทางกฎหมายด้านทรัพย์สินและความเป็นทายาทต่อกัน เรื่องสินส่วนตัว สินสมรส สัญญาระหว่างสมรส สัญญาก่อนการสมรส หนี้สินส่วนตัว หนี้สินร่วมอีกด้วย เป็นต้น

ความสัมพันธ์ระหว่างสามี ภริยา จะชอบด้วยกฎหมายก็ต่อเมื่อมีการจดทะเบียนสมรสแล้ว เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้ว มีผลในเรื่องของนิติกรรม เท่ากับว่า การจดทะเบียนสมรสนั้น มีรูปแบบที่กฎหมายกำหนด มีเรื่องของอายุ เพศ และที่สำคัญมีเรื่องของความยินยอมของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงเป็นสำคัญด้วย รวมทั้งความยินยอมของผู้ปกครองของทั้งสองฝ่ายด้วยในกรณีที่คู่สมรสยังไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นต้น


2. การสิ้นสุดแห่งการสมรส

เมื่อความสัมพันธ์ในฐานะสามีภริยาไปต่อไม่ไหว ไม่สามารถตกลงปลงใจจะอยู่ร่วมกันต่อไปได้ กฎหมายกำหนดเรื่องของการสิ้นสุดของการสมรสหรือที่เรียกว่าหย่า แต่หากก่อนจะตัดสินใจสิ้นสุดการสมรสหรือหย่ากันตามกฎหมายแล้ว ยังมีกรณีขอแยกกันอยู่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1462 “ในกรณีสามี ภริยา ไม่สามารถที่จะอยู่กินด้วยกันฉันท์สามีภริยาโดยปกติสุขได้ หรือการอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือทำลายความผาสุกอย่างมาก สามีหรือภริยาฝ่ายที่ไม่สามารถที่จะอยู่กินด้วยกันฉันท์สามีภริยา โดยปกติสุขได้ หรือฝ่ายที่จะต้องรับอันตรายหรือถูกทำลายความผาสุข อาจร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตให้ตนอยู่ต่างหากในระหว่างที่มีเหตุนั้น ๆ ยังมีอยู่ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ศาลอาจจะกำหนดจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูให้อีกฝ่ายหนึ่งจ่ายให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง ตามสมควรแก่พฤติการณ์ก็ได้

 

โดยเหตุที่จะร้องขอต่อศาลให้ศาลสั่งแยกกันอยู่ชั่วคราว ได้แก่

  • สามี หรือ ภริยา ไม่สามารถจะอยู่ด้วยกันอย่างปกติสุขได้ หรือ
  • การอยู่ร่วมกันเป็นอันตรายแก่กาย หรือ
  • การอยู่ร่วมกันเป็นอันตรายต่อจิตใจ หรือ
  • การอยู่ร่วมกันจะทำลายความผาสุขอย่างมาก


กรณีไม่สามารถอยู่ร่วมกันอีกต่อไปได้ ก็จะต้องพูดเรื่องการหย่า ซึ่งกฎหมายกำหนดรูปแบบการหย่าไว้ 2 รูปแบบด้วยกัน คือ การหย่าด้วยความยินยอม โดยทั้งสองฝ่ายทำเป็นหนังสือ มีพยาน 2 คน และมีหนังสือหย่าโดยความยินยอมนั้นไปจดทะเบียนหย่า ณ หน่วยงานราชการสำนักงานเขต สำนักงานทะเบียนอำเภอ โดยกฎหมายได้กำหนดการหย่าโดยความยินยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1515 การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีและภริยาได้จดทะเบียนการหย่าแล้ว

การหย่าอีกลักษณะหนึ่งคือ กรณีที่ตกลงกันไม่ได้ หรือมีเหตุอื่นแห่งการหย่า

ซึ่งกรณีนี้จะต้องร้องหรือฟ้องร้องต่อศาลให้มีคำพิพากษา โดยกฎหมายกำหนดเหตุแห่งการฟ้องหย่าไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในมาตรา 1516 ดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
 

(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

      (ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง

      (ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ

      (ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบอีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
 

(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาท หรือเหยียดหยาม

อีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรงอีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
 

(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิด
ที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
 

(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
 

(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบอีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้


(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี
และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้


(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ
อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้


(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง
อันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้


(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล
อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้


โดยมีเหตุยกเว้นในเหตุฟ้องหย่าได้ คือ

  • การยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจของฝ่ายที่มีสิทธิ์ฟ้องหย่า
  • เหตุหย่าเป็นเหตุเล็กน้อย
  • ฝ่ายที่มีสิทธิ์ฟ้องหย่าให้อภัยแล้ว
  • การกระทำของฝ่ายที่มีสิทธิ์ฟ้องหย่าเป็นเหตุให้เกิดเหตุหย่านั้น


ท้ายนี้ เคยมีคำกล่าวว่า สามีและภริยาเหมือนลิ้นกับฟันที่อยู่คู่กัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน บางครั้งอาจกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่ทั้งสองฝ่ายก็ต้องพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน


ฉะนั้น ความรักก็เป็นสิ่งสำคัญที่สามีภริยาควรเติมให้กันเสมอเรื่องความรักนี้ ศาลฎีกาเคยให้นิยามเรื่องความรักไว้อย่างน่าสนใจในคดีสำคัญคดีหนึ่ง โดยขอยกมาบางส่วนว่า “ความรักเป็นสิ่งที่เกิดจากใจไม่อาจบังคับกันได้ ความรักที่แท้จริงคือความปราถนาดีต่อคนที่ตนรัก ความยินดีที่คนที่ตนรักมีความสุข การให้อภัยเมื่อคนที่ตนรักทำผิด และความเสียสละความสุของตนเพื่อคนที่ตนรัก” (คำพิพากษาฎีกาที่ 6083/2546) ดังนี้ ความรักระหว่างสามีภริยา จึงเป็นสิ่งสวยงาม ไม่จำกัดกาลเวลา บางครั้งความรักอาจไม่ต้องอาศัยเหตุผล แต่อาศัยความรู้สึกทางจิตใจในแง่คุณงามความดีต่อกันเท่านั้น เพราะที่สำคัญสามีภริยา บุตร และครอบครัวนั้น เป็นหน่วยสำคัญมากในสังคม หากครอบครัวมีความรักใคร่ สามัคคี เข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน จะเป็นผลดีต่อสังคมต่อไป

บทความโดย : นคร วัลลิภากร*

* คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

Pridi Banomyong Faculty of Law, Dhurakij Pundit University