ศาลาเฉลิมกรุง โรงมหรสพแห่งแรกของไทย

แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไป แต่ศาลาเฉลิมกรุง หรือโรงมหรสพหลวง ศาลาเฉลิมกรุง ก็ยังคงตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่คู่กรุงเทพมหานครเหมือนเช่นในอดีต สถานที่แห่งนี้มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ของวงการบันเทิงไทยยิ่งนัก ด้วยเป็นโรงมหรสพแห่งชาติแห่งแรกที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทยทุกคนทุกชนชั้น เป็นอนุสรณ์สถานคู่กับสะพานพุทธยอดฟ้าและพระบรมราชานุเสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชในการเฉลิมฉลองพระนครซึ่งมีอายุครบ 150 ปี โดยทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงินกว่า 9 ล้านบาทเพื่อใช้ในการก่อสร้าง นับเป็นโรงมหรสพที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียในยุคนั้น ลักษณะการก่อสร้างและออกแบบเป็นการผสมผสานศิลปะไทยและศิลปะตะวันตกเข้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืนและงดงาม ตัวอาคารมีรูปทรงโอ่อ่าทันสมัย ภายในตกแต่งไว้อย่างวิจิตรงดงาม ไม่มีเสาเลยสักต้นเดียว มีระบบไฟ แสง สีเสียงที่ทันสมัยและสมบูรณ์แบบมาก และสามารถจุผู้ชมได้มากกว่า 1,000 ที่นั่ง และเป็นโรงมหรสพแห่งแรกที่ได้รับการติดตั้งเครื่องปรับอากาศอีกด้วย ผู้ออกแบบคือ หม่อมเจ้าเฉลิมสมัย กฤดากร ซึ่งสำเร็จวิชาสถาปัตยกรรมจากต่างประเทศมาหมาดๆ

ในอดีตที่นี่เคยจัดกิจกรรมมหรสพครบทุกรูปแบบทั้งการแสดงหน้าม่าน ละคร ภาพยนตร์ โขน และดนตรี โดยเปิดฉายภาพยนตร์เป็นปฐมฤกษ์ในปี พ.ศ.2476 เป็นภาพยนตร์ฝรั่งเสียงในฟิล์ม ชื่อเรื่อง มหาภัยใต้ทะเล โดยส่วนใหญ่ศาลาเฉลิมกรุงจะฉายภาพยนตร์ต่างประเทศ มีเพียงบางครั้งที่ฉายภาพยนตร์ไทย เพราะขณะนั้นภาพยนตร์ไทยที่สร้างในระบบ 35 มม. เสียงในฟิลม์มีปีละ 2-3 เรื่องเท่านั้น


โรงมหรสพแห่งแรกของไทยได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างดีเยี่ยม รอบๆ บริเวณศาลาเฉลิมกรุงจึงมีโรงภาพยนตร์เกิดขึ้นอีกหลายแห่ง แต่ต่อมาวิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป การหาความเพลิดเพลินจากการชมภาพยนตร์ก็ถูกย้ายสถานที่จากศาลาเฉลิมกรุงไปยังสยามแควร์แทน โรงภาพยนตร์หลายโรงในย่านนั้นจึงปิดตัวไป ยกเว้นศาลาเฉลิมกรุง แต่ก็เงียบเหงาไม่ครึกครื้นเหมือนเดิม จนกระทั่งได้มีการพลิกฟื้นศาลาเฉลิมกรุงให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อสืบสานแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงปรารถนาจะให้ศาลาเฉลิมกรุงเป็นโรงมหรสพเชิดหน้าชูตาของประเทศและเพื่อดำเนินกิจกรรมการแสดงอันเป็นการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมและนาฏศิลป์ของไทย

ศาลาเฉลิมกรุงในปัจจุบันกลายเป็น เฉลิมกรุง โรเยล เธียเตอร์ ซึ่งมิได้มุ่งเน้นในด้านภาพยนตร์อย่างเดียวเช่นแต่ก่อน หากมุ่งเน้นในด้านศิลปการแสดงอันมีคุณค่าเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ รวมถึงการแสดงแบบสากลด้วย โดยกลับมาเปิดใหม่ให้ประชาชนได้มาหาความบันเทิงจากสถานที่แห่งนี้อีกครั้งเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2546 เริ่มด้วยการแสดง โขนจินตนฤมิต เป็นการนำโขนมาประยุกต์กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ประกอบแสงสีและเทคนิคพิเศษซึ่งควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ นอกจากนั้น ยังจัดการแสดงอีกหลายรูปแบบ ทั้งรายการศาลาเพลง การแสดงละครชายจริงหญิงแท้ การจัดฉายภาพยนตร์การกุศล งานรำลึกความหลัง เป็นต้น

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามโปรแกรมกิจกรรมของศาลาเฉลิมกรุงเพื่อเดินทางย้อนไปหาความรื่นรมย์และสัมผัสความโก้หรูสุดคลาสิกจากโรงมหรสพแห่งแรกของไทยกันได้ที่ http://www.salachalermkrung.com/


ที่ตั้ง ถนนเจริญกรุง แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ