Health Tech ธีมการลงทุนที่น่าสนใจในอนาคต

จากวิกฤตโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปี 2020 เป็นตัวเร่งให้คนทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต มาเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมากขึ้น และต้องคำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้สร้างโอกาสให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการแพทย์และสุขภาพ หรือที่เราเรียกว่า Health Tech


นอกจากนี้จากการที่ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี และการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ที่เข้าถึงค่อนข้างยาก ต้องใช้เวลารอคิวในการพบแพทย์ที่นาน ทางออกหนึ่งคือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในวงการสุขภาพ (Digital Healthcare Technology) ถือเป็นความหวังที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึงและมีต้นทุนที่ต่ำลง


แนวโน้มของ Health Tech นั้นเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี สอดคล้องกับการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศและเทรนด์การดูแลสุขภาพของคนทุกรุ่นในปัจจุบัน


ตัวอย่างของ Health Tech ในประเทศไทย
เช่น

  • แพลตฟอร์มบริหารจัดการร้านขายยา โดยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จัดทำใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ในการเชื่อมโยงข้อมูลใบสั่งยาของคนไข้จากโรงพยาบาลไปที่ร้านขายยา เพื่อคนไข้สามารถรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านโดยไม่ต้องเสียเวลารอคิวนานที่โรงพยาบาล
  • ระบบบริหารจัดการคิวในโรงพยาบาล ลดการแออัดและลดการรอคอย
  • แพลตฟอร์มให้บริการจิตแพทย์และนักจิตวิทยา เพื่อขอรับคำปรึกษาทางออนไลน์โดยไม่ต้องเดินทางไปพบแพทย์

ตัวอย่าง Health Tech ในต่างประเทศ เช่น

  • การปรึกษาแพทย์เบื้องต้นโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาล (Telehealth Consultation หรือ Telemedicine) ผ่านการใช้ Virtual Care ที่ทำให้แพทย์สามารถวิเคราะห์อาการได้อย่างชัดเจน และสามารถส่งเคสต่อไปยังแพทย์เฉพาะทางได้ทันที
  • เทคโนโลยีนี้ยังสามารถนำมาใช้ในการรักษาคนไข้เคสปกติที่ไม่ด่วนมาก โดยใช้การรักษาเสมือนจริง Virtual Care ผ่าน AI-based Diagnostic ซึ่งทำงานจากฐานข้อมูลที่อยู่ในคลาวด์ โดยในขั้นแรกของการรักษา คนไข้อาจจะเริ่มต้นจากการกรอกประวัติ บรรยายอาการต่างๆ เพื่อให้ AI วิเคราะห์อาการ ส่วนการรักษาในขั้นต้น ก็สามารถใช้ Home-based Monitoring Devices ได้
  • การคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ที่ใช้เทคโนโลยี Digital ในการรักษาโรคร้ายแรง เรื้อรัง เช่น มะเร็ง เบาหวาน ได้ดีมากขึ้น
  • Wearable Devices ที่วัดการเต้นของหัวใจและคลื่นไฟฟ้า วัด Oxygen ในเลือด หรือวิเคราะห์การนอนหลับ เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพตัวเองเบื้องต้น

health

ทางเลือกการลงทุนใน Health Tech

  • ลงทุนทางตรงในหุ้นที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Health Tech ซึ่งในประเทศไทย จะยังไม่ค่อยมีหุ้นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ Health Tech สักเท่าไหร่ ถ้าพูดถึงธุรกิจ Healthcare ในประเทศไทย ก็มักจะนึกถึงหุ้นโรงพยาบาลเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรายได้หลักยังมาจากจำนวนผู้ป่วยที่เข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเสียมากกว่า อีกทั้งการเข้าถึงแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทย เพื่อขอคำปรึกษาและรักษาอาการต่างๆ ง่ายกว่าในต่างประเทศมาก ทำให้ธุรกิจ Health Tech ไม่เติบโตเท่าในต่างประเทศ ดังนั้นหากนักลงทุนสนใจลงทุนทางตรงในหุ้นที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Health Tech อาจต้องพิจารณาการลงทุนในต่างประเทศแทน ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม พร้อมทั้งพิจารณาถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศประกอบการตัดสินใจด้วย

  • ลงทุนผ่านกองทุนรวม โดยพิจารณาลงทุนในกลุ่ม Digital Healthcare ที่มีการคิดค้นผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม Healthcare ทำให้มีโอกาสเติบโตสูงกว่าบริษัทในอุตสาหกรรม Healthcare แบบดั้งเดิมที่โดยมากมักเป็นบริษัทยาหรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่อัตราการเติบโตไม่สูงเท่า บริษัทในกลุ่ม Digital Healthcare นี้โดยมากมีขนาดเล็ก มีอัตราการเติบโตสูง และมีความหลากหลาย แต่หากจะจำแนกตามลักษณะของกลุ่มอุตสาหกรรมย่อยอาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่


1)   บริษัทที่เน้นในเรื่อง Research and Development เช่น บริษัทที่ให้บริการแก่บริษัทยาในเรื่องการทำวิจัยข้อมูลโดยใช้ AI

2)   บริษัทที่เน้นในเรื่องการคิดค้นนวัตกรรมด้านการรักษาโรค เช่น การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในการรักษาโรคมะเร็ง การใช้หุ่นยนต์ช่วยเหลือในการผ่าตัด

3)   บริษัทที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอุตสาหกรรม Healthcare เช่น การให้บริการการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่าน Video Call


ความเสี่ยงในการลงทุนใน Health Tech

  • เนื่องจากเป็นการลงทุนในต่างประเทศ นอกจากความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่ทางการของต่างประเทศอาจออกมาตรการในภาวะที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ ทำให้กองทุนไม่สามารถนำเงินกลับเข้ามาในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ลงทุนไม่ได้รับเงินคืนตามระยะเวลาที่กำหนด
  • ความเสี่ยงด้านการเมือง เศรษฐกิจสังคม สภาวะตลาด สภาพคล่อง กฎหมาย และ/หรือข้อจำกัดของประเทศที่กองทุนเข้าไปลงทุน ซึ่งอาจจะส่งผลต่อมูลค่าหน่วยลงทุน และ/หรือสภาพคล่องของกองทุน
  • หุ้นในกลุ่มนี้โดยมากมีขนาดเล็ก แม้ว่าจะมีอัตราการเติบโตที่สูง แต่ก็จะมีความผันผวนที่สูงตามไปด้วย ซึ่งระดับความเสี่ยงของกองทุนอยู่ที่ระดับ 7 จากความเสี่ยงสูงสุดระดับ 8 ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงที่สูงมาก และควรมีระยะเวลาลงทุนมากกว่า 5 ปีขึ้นไป
  • เป็นการลงทุนที่กระจุกตัวในกลุ่มอุตสาหกรรม (Sector Fund) คือ กลุ่ม Digital Healthcare นักลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย


การนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับการดูแลสุขภาพ เป็นการช่วยยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของกลุ่มเฮลท์แคร์อย่างไม่ต้องสงสัย อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรพิจารณาถึงเป้าหมายการลงทุน ระยะเวลาการลงทุน และความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตนเอง อีกทั้งควรศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวนให้เข้าใจ ก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง


บทความโดย :

นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC

นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร