ลงทุนเดือนละ 20,000 แล้วไปเรียนฮาร์วาร์ดกันเถอะ!

เรื่อง: Buffetcode


Hi-Light:

  • การลงทุนไม่จำเป็นต้องทำเพื่อเป้าหมายในการเกษียณเสมอไป แต่อาจจะเอามาใช้เพื่อกำหนดเป้าหมายในการสร้างอนาคตที่ดีในระยะยาวให้กับตัวเองได้ด้วย อย่างเรื่องการหาเงินเรียนฮาร์วาร์ด
  • คนที่จบฮาร์วาร์ดได้เงินเดือนมากกว่าคนที่จบมหาลัยทั่วๆ ไป (ในอเมริกา) มากถึง 2-3 เท่าตัวเลยทีเดียว คนที่จบมหาวิทยาลัยทั่วๆ ไปได้เงินเดือนเฉลี่ยที่ 30,000 เหรียญ หรือประมาณ 930,000 บาทต่อปี แต่ถ้าเป็นคนที่จบฮาร์วาร์ดจะได้เงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 80,000 เหรียญ หรือประมาณ 2,400,000 บาท


ฮาร์วาร์ดคือหนึ่งในมหาวิทยาลัยในฝันของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เด็กๆ ก็อยากเข้าไปเรียนให้ได้ ผู้ใหญ่ก็อยากให้ลูกๆ ได้เรียน คนที่จะเข้าเรียนฮาร์วาร์ดได้แน่นอนว่าต้องไม่ธรรมดา เพราะต้องมีทั้งความรู้และความรวย (ในกรณีที่ไม่ได้ทุนการศึกษา)


แต่ละปีมีคนสมัครเข้าเรียนฮาร์วาร์ดประมาณปีละ 42,000 คน รับเข้าเรียนจริงๆ 1,900 คน นับเป็นอัตราการรับเข้าเรียนเพียง 4.6% นั่นหมายความว่าคนสมัครเรียน 100 คน โดยเฉลี่ยแล้วจะมีแค่ 5 คนเท่านั้นที่ได้เข้าเรียน


ถ้าวัดกันที่อัตราการรับเข้าเรียน ฮาร์วาร์ดถือว่าเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัย Ivy League ที่เข้าเรียนยากที่สุด เพราะอัตราการรับเข้าเรียนต่ำมากเมื่อเทียบกับ Cornell ที่ 10.3%, Yale 6.3% และ Princeton 5.5%


แค่เข้ายากยังไม่พอ ค่าเทอมและค่าใช้จ่ายในการกินอยู่ระหว่างเรียนก็โหดหินไม่แพ้กัน เพราะโดยเฉลี่ยแล้วนักเรียนที่ไปเรียนฮาร์วาร์ดจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยโดยรวมประมาณ 2,400,000 บาทต่อปี ถ้าเรียนป.โท 2 ปี ก็จะรวมเป็น 4,800,000 บาท ค่าใช้จ่ายเรียนโทฮาร์วาร์ดเทียบเท่ากับซื้อ Benz CLS 300d AMG 2018 ได้ 1 คันพอดีๆ

อย่างไรก็ตามจะพูดในแง่ค่าใช้จ่ายอย่างเดียวก็คงไม่ได้ต้องพูดถึงรายได้หลังจากที่เรียนจบแล้วด้วย เพราะจริงๆ แล้วการศึกษาถือว่าเป็นการลงทุนแบบหนึ่งซึ่งคนลงทุนทุกคนก็ต้องคาดหวังผลตอบแทน คนส่วนใหญ่มักจะละเลยส่วนนี้เพราะมัวแต่ไปคิดเรื่องค่าเรียนที่ดูแพงจนหลุดโลกเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยทั่วๆ ไป


รู้หรือไม่ว่าคนที่จบฮาร์วาร์ดได้เงินเดือนมากกว่าคนที่จบมหาวิทยาลัยทั่วๆ ไป (ในอเมริกา) มากถึง 2-3 เท่าตัวเลยทีเดียว คนที่จบมหาวิทยาลัยทั่วๆ ไป ได้เงินเดือนเฉลี่ยที่ 30,000 เหรียญ หรือประมาณ 930,000 บาทต่อปี แต่ถ้าเป็นคนที่จบฮาร์วาร์ดจะได้เงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 80,000 เหรียญ หรือประมาณ 2,400,000 บาท ตัวเลขดูคุ้นๆ ไหม? แน่นอนว่าต้องคุ้นเพราะตัวเลขตัวนี้คือค่าใช้จ่ายในการเรียนฮาร์วาร์ด 1 ปีที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น!


ตอนนี้ผมอยากให้คุณจินตนาการว่าตัวเองพึ่งจบฮาร์วาร์ดและได้เงินเดือนปีละ 2,400,000 บาท คุณใช้จ่ายไปซักครึ่งหนึ่ง เหลือเก็บ 1,200,000 บาท นั่นหมายความว่าคุณจะสามารถคืนทุนค่าเรียนฮาร์วาร์ดของคุณได้ภายใน 4 ปี (เก็บได้ปีละ 1.2 ลบ. ค่าเรียน 4.8 ล้านบาท ก็เท่ากับคืนทุน 4 ปีพอดีๆ ) หลังจาก 4 ปีเงินทั้งหมดที่คุณได้คือเงินที่คุณจะเก็บออม, ลงทุน หรือใช้จ่ายอะไรก็ได้อย่างสบายๆ นี่ยังไม่นับรวมว่าบางสาขาของฮาร์วาร์ดได้เงินเดือนสูงถึงปีละ 200,000 เหรียญ หรือประมาณ 6,200,000 บาทไทย สามารถคืนทุนค่าเรียนได้ในระยะเวลาเพียง 1-2 ปี เท่านั้น


มาถึงตรงนี้ทุกคนคงเห็นตรงกันแล้วใช่ไหมครับว่าการลงทุนกับการศึกษานั้นมีคุณค่า และคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปขนาดไหน ทีนี้ถ้าเราเป็นคนไม่ได้มีเงินถุงเงินถึงขนาดนั้นล่ะ จะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายค่าเรียนหลักล้านขนาดนั้นได้? คำตอบของผมคือถ้าคุณไม่มีเงิน คุณก็ต้องใช้เวลาเข้ามาช่วยครับ! งงไหมเวลาจะช่วยอะไรได้? สิ่งที่ผมทำไม่ใช่ให้เอาเวลาไปทำงานเพื่อหาเงินเพิ่ม แต่เป็นการใช้เวลามาช่วยประหยัดเงินให้คุณโดยการเอาเงินของคุณไปลงทุนนั่นเอง!

ใครจะคิดว่าเงินเพียงแค่ 20,000 บาทต่อเดือน จะทำให้คุณไปตามฝันที่ฮาร์วาร์ดได้? โดยปกติแล้วหากคุณไม่ทำอะไรกับเงินของคุณเลย ทำแต่เพียงเก็บไปเรื่อยๆ เดือนละ 20,000 บาท คุณต้องใช้เวลาเก็บเงินถึง 20 ปีจึงจะครบ 4,800,000 บาท (ใครล่ะที่จะวางแผนเก็บเงินได้ถึง 20 ปี?)


แต่เชื่อหรือไม่ว่าถ้าคุณเอาเงิน 20,000 ก้อนนั้นไปลงทุนทุกๆ เดือน โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 12% ต่อปี คุณจะเก็บเงินได้ครบ 4,800,000 บาทได้ภายในระยะเวลาเพียง 11 ปีเท่านั้น ร่นระยะเวลาได้มากถึง 9 ปีดูเป็นไปได้มากกว่ากันเยอะ และถ้าคุณทำผลตอบแทนได้ต่ำกว่านั้น อาจจะได้แค่ 7% คุณก็ยังใช้เวลาเก็บเงินแค่ 13 ปียังคงร่นระยะเวลาได้มากถึง 7 ปี


ถ้าคุณสามารถลงทุนได้มากกว่า 20,000 และลงทุนที่ 30,000 บาทต่อเดือนแทน ด้วยผลตอบแทนที่ 12% คุณจะใช้เวลาเก็บเงินไปเรียนฮาร์วาร์ดแค่ 8 ปีเท่านั้น ในขณะที่ถ้าคุณไม่เอาเงินไปลงทุนอะไรเลยคุณต้องใช้เวลาเก็บเงินถึง 14 ปี! นี่ล่ะครับคือสิ่งที่ผมจะบอกว่าเราสามารถใช้ “เวลา” มาจ่ายเงินแทนเราได้ถ้าเรารู้จักเอาเงินของเราไปลงทุนให้งอกเงยอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ฝากออมทรัพย์ให้เสียโอกาสไปวันๆ


แม้คนส่วนใหญ่มักจะชอบโปรโมทการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ แต่ในความเป็นจริงนั้น การลงทุนไม่จำเป็นต้องทำเพื่อเป้าหมายในการเกษียณเสมอไป แต่อาจจะเอามาใช้เพื่อกำหนดเป้าหมายในการสร้างอนาคตที่ดีในระยะยาวให้กับตัวเองได้ด้วย อย่างเรื่องการหาเงินเรียนฮาร์วาร์ดนี้เป็นต้น ทำไปทำมาอาจจะได้ผลพลอยได้เป็นการเกษียณเร็วกว่าคนที่วางแผนลงทุนเพื่อการเกษียณโดยตรงซะอีกก็เป็นได้


อ้างอิง :