การลงทุนในหุ้นไทย ยุค New Normal

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 2563 ปรับตัวลดลง 1.8% เทียบกับการขยายตัว 1.5% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยด้านการใช้จ่าย ทั้งการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนภาครัฐและเอกชนก็ปรับตัวลดลง รวมถึงการส่งออกโดยรวมก็ปรับตัวลดลงตาม และถึงแม้ว่าการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐจะกลับมาขยายตัวได้ แต่ไตรมาส 2 ปี 2563 นี้ เศรษฐกิจไทยก็ยังปรับตัวลดลง 12.2% ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเกิดคำว่า “3 Lows, 3 Highs”


“3 Lows, 3 Highs” ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป

1.การเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ (Low GDP Growth)

2.อัตราดอกเบี้ยต่ำ (Low Interest Rate)

3.อัตราเงินเฟ้อต่ำ (Low Inflation)

4.อัตราว่างงานสูง (High Employment)

5.หนี้ภาคครัวเรือนสูง (High Household Debt)

6.หนี้สาธารณะสูง (High Public Debt)

วิกฤต COVID-19 ทําให้โครงสร้างและทิศทางธุรกิจเข้าสู่ยุค New Normal โดยกระตุ้นให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจใหม่ และทำให้ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเก่าๆ ปรับตัวลดลง เนื่องจากสภาวะแวดล้อมในการแข่งขันเปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกันก็กดดันให้สังคมและภาคธุรกิจต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลและระบบไร้สัมผัส และเกิดการเร่งเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล นอกจากนี้ยังทําให้วิถีชีวิตการทํางานและการปฏิสัมพันธ์เปลี่ยนไปจากเดิม


เช่นเดียวกัน ผลที่ตามมาจากวิกฤต COVID-19 ทำให้ดัชนีหุ้นไทยในไตรมาส 1 ปี 2563 ปรับตัวลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2562 ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้มีการใช้มาตรการหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราว (Circuit Breaker) 3 ครั้ง โดยสิ้นไตรมาส 1 ปีนี้ ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 1,126 จุด ลดลง 28.7% จากไตรมาสก่อนหน้า


อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยยังมีความแข็งแกร่งและทนทานต่อวิกฤตในครั้งนี้ ขณะเดียวกันบริษัทจดทะเบียนไทยได้เปลี่ยนแปลง พัฒนาและปรับตัวเข้าสู่ยุค New Normal อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นกับการลงทุน สังเกตได้จากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 1,339 จุด เพิ่มขึ้น 18.92% จากไตรมาสก่อนหน้า

ปัจจัยสำคัญมาจากประเทศไทยเริ่มผ่อนคลายให้ธุรกิจต่างๆ สามารถกลับมาประกอบการได้เช่นเดิม รวมทั้งการอนุมัติให้มีการเดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศได้อย่างจำกัด ส่งผลให้ดัชนีของตลาดและอุตสาหกรรมต่างๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งที่สุดจะอยู่ในผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคและอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร รวมถึงภาคธุรกิจอื่นๆ เช่น เทคโนโลยีดิจิทัล โลจิสติกส์ และบริการสุขภาพ ก็มีศักยภาพสูงในยุค New Normal


สะท้อนได้ว่า บริษัทต่างๆ พยายามหากลยุทธ์การดำเนินธุรกิจใหม่ สร้างฐานรายได้ใหม่ เพื่อการเติบโตในระยะยาว โดยการเปลี่ยนแปลงของบริษัทในประเทศไทยในยุค New Normal ได้แก่ การปรับตัว โดยบริษัทที่ต้องการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อสนองตอบต่อสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำการสำรวจความคิดเห็นจากผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนในช่วงเกิดวิกฤต COVID-19 พบว่า


บริษัทไทยมีความสามารถในการปรับตัว 4 ด้าน

1.การออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์และบริการได้รับการออกแบบใหม่เพื่อให้เหมาะกับยุค ตัวอย่างเช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ มีการวิเคราะห์ข้อมูล การปรับปรุงมาตรฐานสุขอนามัยนำเข้ามาใช้เพื่อให้สินค้าและบริการส่งไปยังลูกค้าโดยไม่มีข้อกังวลเกี่ยวกับสุขภาพใดๆ ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจโรงพยาบาล นำระบบเทคโนโลยีเข้ามาบริการให้คำปรึกษาแพทย์ออนไลน์แบบเรียลไทม์ เช่น การวินิจฉัยโรค ตรวจเลือดเพื่อส่งต่อข้อมูลจากบ้านผู้ป่วยสู่โรงพยาบาล รวมถึงส่งยาให้ผู้ป่วยถึงบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้ามาที่โรงพยาบาล


2.การปรับตัว
มีกระบวนการปรับตัวเพื่อประกันความต่อเนื่อง ความเชื่อมโยงและการเข้าถึงบริการทั้งหลายที่มีอยู่ ยกตัวอย่างเช่น การเน้นให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องผ่าน Call Center ช่องทางดิจิทัลในแพลตฟอร์มต่างๆ ลูกค้าสามารถชำระค่าบริการได้หลากหลายช่องทาง ติดต่อบริษัทได้โดยตรงและสะดวกและรวดเร็ว หรือสร้างระบบการให้บริการผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ให้มีความเชื่อมโยงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น


3.สภาพคล่องของกระแสเงินสดและการกระจายตัวของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)
เพื่อให้มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และ Startup ยกตัวอย่างเช่น การให้ความสำคัญในเรื่องการลดต้นทุนและการรักษาเงินสดในระยะสั้น คาดการณ์กระแสเงินสดและสภาพคล่องอย่างละเอียด โดยการจำลองสถานการณ์ที่ต่างกันและคำนึงถึงโครงสร้างต้นทุนที่สูงขึ้น เพื่อให้มีสภาพคล่องพอที่จะดำเนินการผลิตต่อไปได้ สำหรับ Supply Chain ให้ย้อนกลับไปพิจารณาห่วงโซ่อุปทานและทำการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกระบวนการและเครือข่ายของห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสร้างความยืดหยุ่น รวมถึงหลีกเลี่ยงการพึ่งพาแหล่งวัตถุดิบ หรือผู้จัดหาวัตถุดิบเจ้าใดเจ้าหนึ่งมากเกินไป


4.การบริหารคน
เป็นกลยุทธที่สำคัญสำหรับบริษัทที่จะเคลื่อนไปข้างหน้า เพราะพนักงานเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของบริษัท มีมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีความสุขและปลอดภัย

จัดพอร์ตหุ้นไทย ยุค New Normal

คำถามของนักลงทุนในช่วงวิกฤติ คือ หากสนใจลงทุนในหุ้นไทย ควรจะทำอย่างไร แน่นอนว่าการที่จะไปต่อได้ ต้องสามารถสร้างพอร์ตลงทุนให้ทนต่อภาวะวิกฤต โดยฝ่ายวิจัย บลจ.ไทยพาณิชย์ แนะนำการลงทุนด้วยการคัดเลือกหุ้นที่แตกต่างกัน เพื่อให้พอร์ตลงทุนมีความสมดุลและเหมาะสมกับสถานการณ์


1.พอร์ตลงทุนหลัก (Core Portfolio)
เน้นไปที่หุ้นปลอดภัย (Defensive Stock) คุณภาพสูง มีมูลค่าทางปัจจัยพื้นฐานระยะยาวและแข็งแกร่ง ควรอยู่ในอุตสาหกรรมที่แสดงการเติบโตทางโครงสร้าง มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังวิกฤต COVID-19 มีความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว และมีศักยภาพที่จะสร้างกําไร แม้ว่าอุปสงค์ที่มีอยู่ในตอนนี้จะเผชิญกับแรงกดดันขาลงจากวิกฤต หุ้นกลุ่มนี้ได้แก่ หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มสื่อสาร


โดยให้ระมัดระวังต่อธุรกิจภาคบริการ เนื่องจากฟื้นตัวช้า อัตราการผิดนัดชําระหนี้ที่สูงขึ้นของธุรกิจขนาดเล็กและกลาง และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในสภาวะแวดล้อมเช่นนี้


2.พอร์ตลงทุนเชิงกลยุทธ์ (Tactical Portfolio)
มุ่งเน้นหุ้นที่ปรับตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจโลกและวัฏจักรเศรษฐกิจในประเทศที่มีคุณภาพดีและตํ่ากว่ามูลค่า โดยใช้การวิเคราะห์หุ้นรายตัว (Bottom-up) เพื่อหาหุ้นที่มีปัจจัยขับเคลื่อนเฉพาะตัวและมีการป้องกันความเสี่ยง จากความไม่แน่นอนเมื่ออิงกับข้อมูลในอดีต เช่น หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี และธนาคาร


การวิเคราะห์หุ้นรายตัว (Bottom-up) เพื่อคัดกรองหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งหรือมูลค่าพื้นฐานต่างๆ เช่น ผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น (ROE), อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) หรืออัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ยังอยู่ในระดับที่ดี หมายความว่า อุตสาหกรรมโดยรวมมีแนวโน้มเติบโตได้ดีท่ามกลางวิกฤต แต่ในช่วงวิกฤติ COVID-19 ราคาหุ้นปรับลดลงตามสภาวะตลาดโดยรวม


ดังนั้น ถ้าราคาหุ้นปรับลดลงไปมากกว่าปัจจัยพื้นฐาน แสดงว่าหากลงทุนก็มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้


การผสมผสานพอร์ตลงทุนทั้ง 2 ประเภท ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงของนักลงทุนว่าสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ถ้ารับความเสี่ยงได้น้อยก็เน้นหุ้นปลอดภัยมากที่สุด ขณะเดียวกัน


ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 นักลงทุนอาจลังเลว่าควรมีหุ้นประเภทไหนในพอร์ตลงทุน และหุ้นแต่ละประเภทควรมีสัดส่วนเท่าไหร่ ในเบื้องต้นควรเริ่มจากการศึกษาหาข้อมูล และประเมินว่าหุ้นประเภทไหนมีโอกาสสร้างผลตอบแทนในระดับที่น่าประทับใจได้