พอร์ตหุ้นที่ดี ต้องเลือกถูกกลุ่ม

นักลงทุนเคยมีประสบการณ์ดูเหมือนโชคไม่เข้าข้างบ้างหรือเปล่า เมื่อซื้อหุ้นแล้วราคาไม่ขยับขึ้น ขยับช้าหรือที่แย่ไปกว่านั้นราคาปรับลดลง ขณะที่หุ้นของคนอื่นๆ ราคากลับวิ่งขึ้นอย่างน่าประทับใจและขายทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ ทั้งๆ ที่ซื้อวันและเวลาเดียวกัน


ไม่ต้องโทษโชคชะตา แต่ควรทบทวนข้อมูลต่างๆ ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากปัจจัยอะไร ซึ่งประเด็นหนึ่งที่สำคัญที่มีผลต่อการลงทุนก็คือ การเลือกหุ้นเข้ามาไว้ในพอร์ต ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ นั่นคือ เมื่อเลือกหุ้นในหมวดธุรกิจ (Sector) หนึ่ง แต่เวลาผ่านไปสักระยะ เช่น 1 เดือน, 3 เดือน, 6 เดือน เป็นต้น ราคาหุ้นตัวนี้แทบไม่ขยับไปไหนเลยหรืออาจปรับลดลง ขณะที่ราคาหุ้นในหมวดธุรกิจอื่นๆ ปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว


เมื่อเป็นเช่นนี้ นักลงทุนมี 2 ทางเลือก นั่นคือ ถือหุ้นตัวนั้นต่อไป แต่คำถามที่ตามมาคือ ผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนโดยรวมจะเป็นอย่างไร หรืออีกทางเลือกคือ ขายหุ้นตัวนั้นแล้วไปซื้อหุ้นในหมวดธุรกิจอื่นที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าเข้ามาทดแทน

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หุ้นตัวหนึ่งๆ ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยพื้นฐานดี แต่ราคาไม่ขยับขึ้นหรือขยับช้า ก็คือ ภาพรวมด้านเศรษฐกิจ เช่น แนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณไม่ดี การส่งออกมีปัญหา ค่าเงินบาทแข็ง (หรืออ่อนค่า) อย่างรวดเร็ว รวมถึงปัจจัยด้านอื่นๆ เช่น ปัญหาทางการเมือง สงครามการค้า ราคาน้ำมัน เป็นต้น  


ยกตัวอย่าง หากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มซบเซา ส่งผลให้ภาคการส่งออกของประเทศหดตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากการส่งออกเป็นหลักได้รับผลกระทบ ส่งผลให้รายได้ไม่เติบโตและมีแนวโน้มปรับลดลง ตรงกันข้ามกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อภาคธุรกิจพลังงาน


ในกรณีข้างต้นนักลงทุนที่มีหุ้นส่งออกอยู่ในพอร์ต หากถือต่อไปอาจส่งผลเชิงลบต่อพอร์ตโดยรวม ก็ควรตัดสินใจขาย แล้วไปซื้อหุ้นกลุ่มพลังงานเข้ามาแทน

 
วิธีการดังกล่าว เรียกว่าการปรับพอร์ตลงทุนกลุ่มหุ้นตามวงจรเศรษฐกิจ (Sector Rotation) โดยส่วนใหญ่แล้วกลยุทธ์การลงทุนแบบนี้จะใช้การวิเคราะห์แบบบนลงล่าง (Top-Down Approach) คือวิเคราะห์จากภาพเศรษฐกิจของโลก เศรษฐกิจประเทศ ภาวะอุตสาหกรรม และภาวะบริษัท ตามลำดับ


 เมื่อวิเคราะห์แล้วว่าเศรษฐกิจในช่วงนั้นอยู่ในสภาวะแบบไหนก็ดูว่าธุรกิจไหนได้รับประโยชน์สูงสุด เพราะธุรกิจแต่ละประเภทจะสร้างยอดขาย กำไรได้ดีแตกต่างกันในแต่ละช่วงวงจรเศรษฐกิจ เช่น ราคาสินค้าเกษตรจะดีเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวดี ประชาชนจับจ่ายใช้สอยคล่องมือ ขณะที่ธุรกิจการท่องเที่ยวจะหดตัวหากเกิดปัญหาทางการเมือง หรือสินค้าประเภทฟุ่มเฟือย เช่น มือถือและอุปกรณ์เทคโนโลยี จะขายไม่ดีในช่วงเศรษฐกิจหดตัว ซึ่งสังเกตจากกำลังซื้อตกต่ำ ประชาชนจะซื้อเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเท่านั้น      


ดังนั้น หากสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลง นักลงทุนสามารถเปลี่ยนหมวดธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อประสิทธิภาพและเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนให้มากขึ้น

สำหรับวงจรเศรษฐกิจ แบ่งออกได้เป็น 4 ช่วง


1.  เศรษฐกิจตกต่ำ (Trough) เป็นช่วงที่การเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบ ข้าวยากหมากแพง สินค้าแทบจะขายไม่ได้เลย ผลประกอบการของบริษัทขาดทุน ไม่มีการจ้างงานใหม่ๆ คนตกงาน ดอกเบี้ยต่ำและเงินเฟ้อต่ำ


หากสนใจหุ้นจะเป็นช่วงยากลำบากในการลงทุน เพราะเต็มไปด้วยปัจจัยลบเต็มตลาด ดังนั้น นักวิเคราะห์มักแนะนำให้ลดพอร์ตหุ้น อย่างไรก็ตาม หุ้นที่ยังคงสามารถลงทุนได้ในช่วงนี้ ได้แก่ หุ้นบลูชิป (Blue Chip Stock) คือหุ้นธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นผู้นำตลาด ปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง ฐานะทางการเงินมั่นคง มีกระแสเงินสดระดับสูง หนี้สินต่ำ และหากมีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลก็ยิ่งดี นอกจากนี้ ธุรกิจที่ประชาชนต้องกินต้องใช้ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเฟื่องฟูหรือตกต่ำก็น่าสนใจ เช่น ธุรกิจอาหาร โรงพยาบาล ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคต่าง ๆ เป็นต้น


2.  เศรษฐกิจฟื้นตัว (Recovery)
เป็นช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวหลังจากเผชิญกับภาวะตกต่ำถึงขีดสุด จะสังเกตว่าตัวเลขทางด้านเศรษฐกิจเริ่มปรับเพิ่มขึ้น สินค้าเริ่มขายได้ ราคาสินค้าเริ่มปรับสูงขึ้น ผลประกอบการของบริษัทดีขึ้น เริ่มมีการจ้างงานสูงขึ้น ประชาชนมีรายได้ดีขึ้น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคขยับขึ้น ธนาคารพาณิชย์เริ่มปล่อยสินเชื่อมากขึ้น


การลงทุนหุ้นในช่วงนี้ถือว่ามีความเหมาะสมมากที่สุด เพราะในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ราคาหุ้นได้ปรับลดลง และเมื่อสัญญาณทางเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ราคาหุ้นก็จะเริ่มปรับขึ้นตามไปด้วย จึงเป็นช่วงทยอยซื้อหุ้น โดยเน้นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง และได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจในช่วงนี้ เช่น กลุ่มพลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภค

3.  เศรษฐกิจเฟื่องฟู (Peak) เป็นช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตเต็มที่ อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง การผลิตขยายตัวสูง การจ้างงานโตเต็มที่ ประชาชนมีรายได้สูง จับจ่ายใช้สอยคล่องมาก ราคาสินค้าและบริการอยู่ในระดับสูงมาก


สำหรับหุ้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุดในเศรษฐกิจช่วงนี้ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน เทคโนโลยี ธุรกิจค้าปลีก สินค้าอุปโภคบริโภค


4.  เศรษฐกิจถดถอย (Recession) 
เป็นช่วงที่เกิดขึ้นหลังจากเศรษฐกิจเฟื่องฟูเต็มที่ โดยในช่วงนี้จะเห็นตัวเลขทางเศรษฐกิจเติบโตแบบชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับลดลง ผลประกอบการบริษัทเริ่มหดตัวลง การผลิตสินค้าและการจ้างงานส่งสัญญาณไม่ค่อยดี รายได้ประชาชนและความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มลดลง


โดยหุ้นที่ยังได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจช่วงนี้ ได้แก่ หุ้นที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากวงจรเศรษฐกิจ นั่นคือ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำหรือเฟื่องฟู สินค้าก็มีความจำเป็นต่อประชาชน ได้แก่ สินค้าหมวดอาหาร โรงพยาบาล หมวดสาธารณูปโภค เช่น น้ำ ไฟฟ้า


การเลือกหุ้นให้สอดคล้องกับวงจรเศรษฐกิจ เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งของการลงทุน ซึ่งนักลงทุนต้องทำความเข้าใจเศรษฐกิจให้แม่นยำว่าในช่วงนั้นเศรษฐกิจอยู่ในภาวะแบบไหน เพราะความสำเร็จของการลงทุนต้องเลือกหุ้นให้ถูกต้องถูกช่วงเวลาและซื้อในราคาที่เหมาะสม