มุ่งสู่ Net-Zero สร้างความยั่งยืนในระดับองค์กรเพื่ออนาคต

Highlight:
 
  • สถานการณ์ภาวะโลกร้อนระอุขึ้นเรื่อย ๆ อุณหภูมิของโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูง 1.5 องศาเซลเซียส ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด

  • ทั่วโลกต่างร่วมมือกันลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก โดยเฉพาะองค์กรต่างๆ

  • เป้าหมาย Net-Zero ระดับโลก มีแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการออกมาตรการการดูดกลับคาร์บอน หรือเลือกใช้ระบบพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2550

  • มาตรการที่เข้มข้นเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net-Zero ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศและโลก

  • การเก็บภาษีคาร์บอนเสมือนการกระตุ้นเตือนให้ทุกองค์กรที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตหันมาให้ความสำคัญกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ปรับตัว เพื่อลดต้นทุน

  • การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องเริ่มตั้งแต่ส่วนต้นไปยังส่วนปลายของห่วงโซ่การผลิต โดยสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อช่วยประหยัดต้นทุนสำหรับสร้างความยั่งยืนในอนาคตได้มากขึ้น

 

การสร้างความยั่งยืนให้กับโลกนั้น เป็นสิ่งที่หลายองค์กรกำลังเริ่มต้นทำให้เกิดขึ้น และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้โลก ธุรกิจ ผู้คน และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแนวทางการบรรลุเป้าหมาย Net-Zero ในระดับองค์กรที่ช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถวางแผนดำเนินการสร้างความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย คุณรองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้มาร่วมมอบความรู้ และตอบข้อสงสัยในเรื่องนี้ ภายใต้โครงการ MissionX - Roadmap to Sustainability Sustainable: Net Zero in Action ในวันที่ 15 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา

net-zero-in-action-01

  • สถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ในปัจจุบันโลกมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 420 ppm ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นมากจากช่วงปี 1850-1900 โดยในยุคดังกล่างเป็นช่วงที่มีการนำฟอสซิลหรือปิโตรเลียมมาใช้เป็นเชื้อเพลิง และมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 280 ppm โดยสาเหตุของการเกิดก๊าซเรือนกระจกนั้นเป็นผลมาจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ โดยเฉพาะการเผาไหม้ ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส และมีแนวโน้มเพิ่มสูงถึง 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งตามเป้าหมายหลักความตกลงปารีสนั้นได้มุ่งควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก๊าซเรือนกระจกในยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือในช่วงปี 1850-1900 และพยายามควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาเหนี่ยวนำและน้ำแข็งในชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (Permafrost) ละลาย ส่งผลให้เกิดการการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และใช้เวลาในการดูดกลับนานกว่าล้านปี


  • แนวทางการบรรลุเป้าหมาย Net-Zero ระดับโลก จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงปัญหานี้ และร่วมกันหาทางออก เพื่อชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก โดยในส่วนขององค์การพลังงานระหว่างประเทศหรือ International Energy Agency (IEA) ได้กำหนดแนวทางการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net-Zero ภายในปี 2550 ดังนี้ การผลิตพลังงานไฟฟ้า ยังสามารถใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการเผาไหม้ได้ แต่ต้องมีกระบวนการดูดกลับที่เรียกว่า Carbon Capture and Storage หรือ CCS หรือเลือกใช้ระบบพลังงานหมุนเวียน Renewable Energy ในการผลิต โดยมาตารการที่กำหนดขึ้นนั้นอาจเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับระบบการผลิต ระบบเศรษฐศาสตร์ และส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศและโลก แต่ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนที่ร่วมกันสนับสนุนเป้าหมายนี้จะได้รับผลประโยชน์ไม่มากก็น้อย แม้อาจมีบางส่วนที่เสียผลประโยชน์บ้าง แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ก็จะนำไปสู่การปรับตัวของธุรกิจประเภทใหม่ให้เกิดขึ้นได้


  • แนวทางการบรรลุเป้าหมาย Net-Zero ระดับองค์กร ในปี 2030 องค์กรต่าง ๆ มีเป้าหมายในการลด Carbon Emission ให้ได้ 40-50% เมื่อเทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2020 การบรรลุเป้าหมายในช่วงนี้จะช่วยให้ต้นทุนของแต่ละองค์กรมีความเหมาะสมมากที่สุดตามที่บริษัท Science Based Targets ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการมุ่งสู่ Net Zero โดยสำหรับภาคการผลิตอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่ทำได้ยากที่สุด เพราะประชากรโลกมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความต้องการในการใช้ทรัพยากรและอาหารมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่เรายังจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อการผลิตอาหารหนึ่งหน่วยให้ได้มากที่สุด ซึ่งจากความแตกต่างกันของการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละอุตสาหกรรม จึงส่งผลให้เกิดการกีดกันทางการค้า เพื่อให้ผู้ผลิตในสหภาพยุโรปและผู้นำเข้าสินค้าแบกรับต้นทุนการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างเท่าเทียมกัน เช่น การใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) หรือตั้งแต่ปี 2569 การส่งสินค้าไปสหภาพยุโรปต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้น ๆ และจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอนสำหรับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในประเทศต้นทางของสินค้านำเข้าด้วย จากสาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้จึงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตในธุรกิจต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น


    สำหรับการเก็บภาษีคาร์บอนนั้น หากเราต้องการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2550 IMF ได้ศึกษาว่าควรกำหนดอัตราภาษีคาร์บอนให้มากกว่า 75 เหรียญต่อตัน โดยผลกระทบจากการเก็บภาษีในอัตรานี้ จะทำให้ค่าไฟแพงขึ้น 43% น้ำเชื้อเพลิงสำหรับการขนส่งแพงขึ้น 14% ดังนั้น เราจึงต้องเตรียมความพร้อมด้วยการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตสินค้าและบริการขององค์กร เพราะองค์กรที่อยู่ส่วนปลายของ Supply Chain หรือ Downstream นั้น จะต้องลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกสำหรับการส่งออก เพื่อลดต้นทุน แต่ถ้าหากเราประเมินเรื่องนี้ไว้ตั้งแรก ก็จะสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ต้นทางหรือ Upstream และทำให้องค์กรที่อยู่ในส่วนปลายทางไม่ต้องแบกรับภาระมากเกินไป เพราะสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่แตกต่างกันย่อมมีมูลค่าทางการตลาด และต้นทุนที่แตกต่างกันด้วย

ความแตกต่างระหว่าง Carbon Neutral และ Net Zero Carbon

 

ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หมายถึง การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ โดยแบ่งออกเป็น การลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา โดยการชดเชยคาร์บอนเครดิต (Carbon Offsets) และการซื้อคาร์บอนเครดิต และสำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) นั้นคือ การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปล่อยออกและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกให้เท่ากัน เพื่อให้ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาสู่สิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์ โดยสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตได้เฉพาะส่วนที่มาจากภาคป่าไม้เท่านั้น ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ทำได้ยากกว่า มีต้นทุนสูงกว่า และไม่มีองค์กรไหนสามารถทำสำเร็จได้เพียงองค์กรเดียว แต่ต้องเป็นการร่วมมือกันระหว่างองค์กรต่าง ๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต เพื่อช่วยกันลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด ทั้งนี้ การจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero จึงต้องเริ่มต้นด้วยการสำรวจปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำ Carbon Footprint ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธี คือ


1. Carbon Footprint Organization (CFO) คือ มาตรฐานการประเมินปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกขององค์กร โดยมีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า แบ่งออกเป็น 3 ขอบเขต คือ


1.1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงจากแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกซึ่งองค์กรเป็นเจ้าของหรือควบคุมการดำเนินงานโดยองค์กร เช่น การเผาไหม้ การรั่วไหล และอื่น ๆ


1.2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้า ความร้อน ความเย็นหรือไอน้ำ ซึ่งองค์กรซื้อหรือรับมาเพื่อใช้ประกอบกิจการของตน


1.3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นใด นอกเหนือจากขอบเขตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ 2 เช่น กิจกรรมการจ้างเหมาหรือนอกขอบเขตองค์กร


2. Carbon Footprint Product (CFP)
คือ มาตรฐานการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฐจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้ 1.การจัดหาวัตถุดิบ 2.การผลิต 3.การกระจายสินค้า 4.การใช้งาน/บริโภค 5.การจัดการของเสียหลังการใช้งานผลิตภัณฑ์ โดยทั้งสองวิธีนี้เป็นวิธีการที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกให้การรับรอง และสามารถใช้ฐานข้อมูลเดียวกันในการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตทั้งต่อผลิตภัณฑ์หรือต่อทั้งองค์กรได้

การดูดกลับก๊าซเรือนกระจก หรือ Carbon Sink นั้น สามารถทำได้ด้วยการปลูกป่า โดยกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่อยู่ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เปิดโอกาสให้องค์กรจองพื้นที่สนับสนุนการปลูกป่าเพื่อการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก และปริมาณการดูดกลับก๊าซที่เกิดจากการปลูกป่านั้นจะถูกแบ่งให้กับองค์กรที่ร่วมสนับสนุนจำนวน 90% เพื่อนำไปอ้างอิงในการดำเนินการด้านความยั่งยืนขององค์กร และอีก 10% เป็นสัดส่วนสำหรับภาครัฐ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้วิธีการทำ Carbon Credit นั่นคือการประเมินผลการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในระดับโครงการ โดยก๊าซต่างๆ ที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกซึ่งองค์กรสามารถลดได้ต่อปี หากประเมินแล้วว่าน้อยกว่าเกณฑ์ จะถูกตีราคาเป็นเงิน ก่อนจะถูกขายเป็นเครดิตให้กับองค์กรอื่นได้ ทั้งนี้ องค์กรที่สนใจทำโครงการในลักษณะนี้ สามารถใช้คู่มือการพัฒนาโครงการก๊าซเรือกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER : Thailand Voluntary Emission Reduction Program) เพื่อประกอบการทำโครงการได้ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้วิธี Renewable Energy Certificates (RECs) หรือใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน โดยวิธีนี้จะทำผ่านกลไกการซื้อ-ขายใบรับรอง เพื่อยืนยันแหล่งผลิตว่ามาจากพลังงานธรรมชาติ เช่น พลังงานลม, น้ำ และแสงอาทิตย์ ด้วยการรับรองจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นผู้แทนอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ หากองค์กรไหนปรับเปลี่ยนมาใช้ RECs ซึ่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ก็จะสามารถนำหน่วยพลังงานนั้นมาชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้อีกทางหนึ่งด้วย


การบริหารจัดการด้านการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในระดับ Supply Chain
องค์กรต้องมองหาและนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้เหมาะสมในแต่ละจุดตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร และมองหาจุดคุ้มทุนไปด้วย โดยทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้สามารถมุ่งสู่ Net Zero ได้ในปี 2550 ซึ่งตลอดระยะเวลาในการสร้างความยั่งยืนนั้นเทคโนโลยีต่าง ๆ ย่อมพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้องค์กรสามารถประหยัดต้นทุนในการสร้างความยั่งยืนได้มากขึ้นในอนาคต


นอกจากนี้ ในระบบการขนส่ง ทั้งภาคการบิน International Aviation GHG Emission Pathways (ICAO) และองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ International Maritime Organization (IMO) ได้กำหนดเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งสินค้า เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์อากาศยานให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 37% การนำเชื้อเพลิงชีวภาพ หรือ Sustainable Biofuel มาใช้ เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซลง 34% การใช้มาตรการทางเศรษฐกิจที่สนับสนุนการการลดก๊าซเรือนกระจกลง 8% รวมถึงการปรับปรุงด้านการจัดการจราจรทางอากาศ เพื่อช่วยลดปริมาณก๊าซลง 6% ในส่วนของภาคการเดินเรือนั้นมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระบบการขนส่งให้ได้อย่างน้อย 50% ในปี 2050 (เทียบจากปริมาณการปล่อยก๊าซในปี 2008) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนของไทยที่นำ Bio-Circular & Green Economy (BCG) หรือโมเดลเศรษฐกิจ ที่ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก มาใช้ คือ 1.Bio Economy คือ เศรษฐกิจชีวภาพ 2.Circular Economy คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน 3.Green Economy คือ เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งถือได้ว่าแนวทางหลักในการสร้างความยั่งยืนของไทยนั้นสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับบริบทการสร้างความยั่งยืนของโลกด้วย

ปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญ เพราะการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกในปัจจุบันล้วนเกิดขึ้นจากฝีมือของมนุษย์ และอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 0.1 องศาล้วนส่งผลต่อความเป็นอยู่ของเราทุกคนและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ บนโลกในอนาคตด้วย ดังนั้น หากทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญและร่วมมือกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต ก็จะทำให้สามารถเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลง ส่งผลให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายในการสร้างความยั่งยืนให้กับโลกของเราได้

 

ที่มา : การสัมมนา Mission X Roadmap to Sustainability : Sustainable: Net Zero in Action โดยคุณรองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก, วันที่ 15 มิถุนายน 2566