เจรจาธุรกิจ พิชิตใจชาวกัมพูชา (Business Culture and Eiquette)

มารยาทในการติดต่อเจรจาธุรกิจ เป็นเรื่องที่นักธุรกิจต้องทำความรู้จัก โดยเฉพาะการเจรจาธุรกิจกับต่างชาติ ซึ่งมีความแตกต่างกับเราทั้งในด้านภาษาและวัฒนธรรม แม้ว่าบางส่วนอาจมีความคล้ายคลึงกัน แต่รายละเอียดของความหมายอาจมีความแตกต่างกัน อันเป็นความละเอียดอ่อนของแต่ละท้องถิ่น การได้ทำความเข้าใจถึงวัฒนธรรมในแต่ละประเทศเป็นส่วนสำคัญที่จะประสบผลสำเร็จในการเจรจาธุรกิจ เรียกได้ว่า “เจรจาดีมีชัยไปกว่าครึ่ง”

วันนี้เราจะพามาดูกันว่ากัมพูชา ประเทศที่มีชายแดนติดกับไทย มีภาษาและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกับไทย และที่สำคัญยังเป็นแหล่งที่ประเทศชั้นนำหลากหลายประเทศตัดสินใจเลือกเป็นจุดหมายปลายทางทางด้านการลงทุนปักหลักตั้งฐานการผลิตนั้น มีข้อธรรมเนียมปฏิบัติในการติดต่อธุรกิจที่ควรรู้อะไรบ้าง


1. การทักทาย ภาษาแขมร์เรียก “ซัมเปี๊ยะห์”

  • ทักทายสวัสดีโดยการพนมมือขึ้นระดับหน้าอก คล้ายๆ กับคนไทย หากคู่สนทนาเป็นผู้ชายทั้งคู่ หลังจากพนมมือไหว้แล้วจะมีการจับมือกัน แต่หากเป็นชายกับหญิงจะใช้การพนมมือไหว้อย่างเดียว

  • การกล่าวสวัสดี ผู้ชายจะพูดว่า “จุม เลียบชัว บาด” แปลว่า สวัสดีครับ และผู้หญิงจะพูดว่า “จุม เลียบชัว จ๊ะ” แปลว่า สวัสดีค่ะ


2. คนกัมพูชาให้ความสำคัญกับคำนำหน้านาม ซึ่งประกอบไปด้วย ยศ ตำแหน่ง อาชีพ การศึกษา และเพศ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีคำเรียกเฉพาะแตกต่างกันไป สำหรับในการเจรจาธุรกิจกับคนกัมพูชานั้น ควรกล่าวคำนำหน้านามอย่างถูกต้องเพื่อเป็นการให้เกียรติคู่สนทนาของเรา

  • ข้าราชการระดับสูง จะมีคำนำหน้านามพระราชทาน คือคำว่า “เอกอุดม” จะต้องเรียกทุกครั้ง แทนคำว่า “คุณ” หรือ “นาย”

  • นักธุรกิจ มีคำนำหน้านามพระราชทาน คือคำว่า “อกญา” แปลว่า “พระยา” หรือ “เนี้ยะอกญา” แปลว่า “เจ้าพระยา” จะต้องกล่าวคำนำหน้านามก่อน แล้วตามด้วยชื่อ หรืออาจกล่าวสั้นๆ ว่า “โลกอกญา” หรือ “โลกเนี้ยะอกญา” แปลว่า “ท่าน” แทนก็ได้

  • สำหรับผู้หญิง จะเรียกคำนำหน้านามว่า “โลกจุมเตียว” แปลว่า “คุณหญิง” แม้ว่าเราจะไม่ทราบรายละเอียดที่ถูกต้อง ก็อาจใช้คำว่า “โลกจุมเตียว” ไว้ก่อน เพื่อเป็นการให้เกียรติ
     

3. คนกัมพูชานิยมเจรจาติดต่อทางธุรกิจแบบพบปะเจอหน้ากัน และควรมีล่ามไปด้วย เพื่อการสื่อสารที่ถูกต้อง เกิดความเข้าใจที่ไม่คลาดเคลื่อน แม้ว่าคู่สนทนาจะใช้ภาษาอังกฤษได้ดีก็ตาม
 

4. ไม่นิยมใช้มือซ้ายในการรับหรือยื่นนามบัตร เนื่องจากเป็นข้างที่ใช้ชำระสิ่งสกปรกออกจากร่างกาย ควรใช้มือขวา หรือทั้งสองข้าง


5. เก็บรักษานามบัตรอย่างให้คุณค่า เพื่อเป็นการแสดงความนับถือและให้เกียรติต่อเจ้าของนามบัตร
 

6. ตามธรรมเนียมช่วงปีใหม่จะมีการมอบของขวัญให้แก่กัน เช่น การแลกขวัญเล็กๆ น้อยๆ ในการพบปะกันครั้งแรกหลังเทศกาลปีใหม่ เป็นต้น


7.  ในการพบกัน ควรจะมีของฝากติดมือไปด้วย เพื่อแสดงไมตรีจิตต่อกัน คนกัมพูชาส่วนใหญ่นิยมมอบกระเช้าผลไม้ หรือดอกไม้ให้แก่กัน


8. ไม่ควรเชิญทานมื้อกลางวัน เนื่องจากคนกัมพูชานิยมนอนหลับพักผ่อนหลังมื้อกลางวัน เพื่อความสดชื่นในการทำงาน การเชิญทานมื้อกลางวัน จะทำให้ไม่ได้พักผ่อน และจะส่งผลกระทบต่อการทำงาน


9. ควรเข้าร่วมงานที่ได้รับเชิญ การได้รับเชิญในพิธีมงคลแสดงถึงการเป็นบุคคลสำคัญที่เจ้าภาพงานให้เกียรติ ผู้ถูกเชิญควรไปร่วมงานทุกครั้งแม้ว่าจะอยู่ในงานได้ไม่เสร็จสิ้นพิธีก็ตาม เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ และให้เกียรติแก่เจ้าภาพ


การติดต่อธุรกิจนั้น นอกเหนือจากผลประโยชน์สูงที่แต่ละฝ่ายได้รับแล้ว การเข้าใจธรรมเนียมปฏิบัติของแต่ละประเทศ ก็จะทำให้การเจรจาธุรกิจราบรื่น ปราศจากอุปสรรคหรือกำแพงทางด้านวัฒนธรรม ธุรกิจก็จะถึงเส้นชัยได้โดยง่าย

ลูกค้าที่สนใจประกอบธุรกิจใน CLMV หรือประเทศเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Subregion: GMS) ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขาต่างประเทศที่พร้อมจะดูแลและให้บริการ สนใจติดต่อ https://www.scb.co.th/en/corporate-banking/international-network.html


ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก: ธนาคารกัมพูชาพาณิชย์ กัมพูชาพาณิชย์ (Cambodia Commercial Bank – CCB)

 


ข้อมูลอ้างอิง

DITP. “มารยาททางธุรกิจและวัฒนธรรม”. https://www.ditp.go.th/contents_attach/92258/92258.pdf (30/10/2020)